(Picture from http://captainkimo.com)
ผมคิดว่าช่วงนี้คนไทยคงจะรู้สึกสับสนเกี่ยวกับดิน ฟ้า อากาศ กันไม่น้อย ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่สัปดาห์ในเดือนสิงหาคม มีการปลุกกระแสขึ้นมาโจมตีรัฐบาลว่า "รัฐบาลประสบปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ไปปล่อยน้ำในเขื่อนออกหมดจนทำให้อาจไม่มีน้ำใช้ในหน้าแล้งปีหน้า รัฐบาลไม่รู้เหรอว่าปีนี้มันแล้ง" ซึ่งในภายหลังคุณปลอดประสพก็ได้ออกมาต่อว่าสื่อมวลชนว่า ฤดูฝนมันยังไม่หมดเลย จะมาบ่นอะไรตอนนี้ว่าแล้ง ให้ฤดูฝนหมดไปก่อนแล้วค่อยมาพูด .... และก็เหมือนคุณปลอดประสพจะสั่งฟ้าฝนได้ เพราะหลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ ฝนก็ตกอย่างหนักในภาคเหนือ จนกระทั่งน้ำท่วมหนักที่สุโขทัย ส่วนคนกรุงเทพฯ ก็เริ่มเป็นกังวลอย่างเห็นได้ชัดว่าน้ำกำลังจะท่วมภาคกลางและกรุงเทพฯ อีกครั้ง ทั้งๆ ที่น้ำในเขื่อนหลักๆ ที่มีผลต่อการควบคุมจัดการน้ำสำหรับที่ราบลุ่มภาคกลางนั้น ยังมีระดับน้ำเพียง 50-60% เท่านั้น
ความสับสนของคนไทยนี้เกิดขึ้น เพราะพวกเรามีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า "มรสุม" ทั้งๆ ที่พวกเราอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มันเป็นเจ้าของ มรสุมเป็นระบบภูมิอากาศที่มีความซับซ้อนมาก แต่เป็นเรื่องที่ยังศึกษาและมีความเข้าใจน้อยมากอีกด้วย ทำให้นาซ่าเกิดความสนใจที่จะเข้ามาสำรวจและเก็บข้อมูลในบริเวณนี้ ภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นนี้เชื่อว่าจะทำให้ระบบมรสุมมีความซับซ้อนและเข้าใจยากขึ้นไปอีก ... ดังนั้น หากพวกเรายังไม่พยายามที่จะค้นคว้าศึกษาเรื่องมรสุม พวกเราก็จะทุกข์กับมันไปอีกนานเลยครับ
ในช่วงที่สื่อมวลชนและคนไทยกำลังด่าคุณปลอดประสพ เรื่องฝนแล้งอยู่นั้น คนไทยส่วนใหญ่คงไม่รู้ว่าข้ามไปในฝั่งพม่านั้นมีน้ำท่วมใหญ่ ทำลายพื้นที่การเกษตรหลายแสนไร่ ผู้คนต้องอพยพออกนอกพื้นที่หลายหมื่นคน แหล่งข่าวบางแหล่งบอกว่ามากถึง 85,000 คน แต่ในประเทศไทยบอกว่าฝนแล้ง ทำไมเป็นอย่างนั้นหล่ะครับ มันเกิดขึ้นได้อย่างไรที่เมืองไทยฝนแล้ง แต่ที่พม่าน้ำท่วม .... แต่ที่ทำให้สงสัยขึ้นไปอีกก็คือ เพียงแค่ 2 สัปดาห์ต่อมา พื้นที่ที่เราบอกว่าฝนแล้งไม่มีน้ำใช้ ได้กลายมาเป็นพื้นที่อุทกภัย เมื่อก่อนฝนแล้งกับน้ำท่วมจะเกิดคนละปี แต่เดี๋ยวนี้ฝนแล้งกับน้ำท่วมสามารถเกิดได้ในปีเดียวกัน แถมห่างกันแค่ 2 อาทิตย์ !!!
จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่คนไทยหรอกครับที่ งง ... ในปีนี้ประเทศอินเดียประสบปัญหาฝนแล้งถึงกับไม่มีน้ำมาปั่นไฟฟ้าใช้ จนเกิดไฟฟ้าดับในอินเดียลามไปถึง 22 รัฐ มีคนได้รับผลกระทบจากไฟฟ้าดับถึง 620 ล้านคน คิดเป็นจำนวนประชากร 9% ของทั้งโลกเลยครับ ภาวะฝนแล้งนี้ยังอาจทำให้ข้าวปลา อาหาร ในอินเดียมีราคาสูงขึ้นในหน้าแล้งปีหน้า ซึ่งอาจจะลามไปทั้งโลกด้วยก็ได้ เชื่อไหมล่ะครับว่า อินเดียเจอกับฝนแล้งสลับไป สลับมา ในปีนี้แบบตั้งตัวตั้งใจแทบจะไม่ทันเลย คือเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนก็เกิดน้ำท่วม แล้วก็แล้ง แล้วก็มาท่วมในเดือนสิงหาคมอีก เมื่อวันสองวันที่ผ่านมาก็มีน้ำท่วมทางตอนเหนือ ในบริเวณที่ก่อนหน้านี้แล้งมากๆ
ระบบมรสุมที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลของเค้านี้มีอยู่ 2 ชนิดครับ คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง กันยายน) และ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ระหว่างเดือน ตุลาคม ถึง กุมภาพันธ์) ประเทศไทยเรานี้ถือว่าเป็นไข่ในหิน เพราะดินแดนภาคกลางและภาคเหนือของเราถูกปกป้องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้โดยประเทศพม่า ทำให้ในขณะที่พม่าน้ำท่วมเละตุ้มเป๊ะ แต่ของเรายังท่วมแบบเอาอยู่ ส่วนทางด้านตะวันออก เรามีเวียดนาม ลาว เขมร คอยปกป้องทำให้พายุที่เข้ามาจากแปซิฟิกลดความรุนแรงลง ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีน้ำในระดับพอดี ไม่มากเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นี่คือสิ่งที่เป็นความได้เปรียบของประเทศไทย ที่ทำให้การเกษตรของเราน่าจะเป็นผู้นำของอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ระบบมรสุม ที่เป็นทั้งผู้ให้คุณและให้โทษนี้ กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมไป อนาคตของประเทศไทยและพวกเราคนไทย ก็ขึ้นอยู่กับว่า เรามีความรู้ความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แค่ไหน และเราจะจัดการกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้หรือไม่ .....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น