วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
24 เมษายน 2555
อาภรณ์อัจฉริยะ - Wearable Intelligence (ตอนที่ 1)
ทุกครั้งที่ผมเดินทางไปทำงานหรือท่องเที่ยวในจังหวัดที่มีชนเผ่า หรือ ชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ ผมมักจะต้องหาโอกาสไปดูผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าเหล่านั้น เพราะผ้าทอของแต่ละชนเผ่าได้เก็บสารสนเทศ หรือ DNA ของวิถีชีวิตที่เป็นรากเหง้าของแต่ละชาติพันธุ์เอาไว้ และถ้าหากเราวิเคราะห์ลายผ้าเหล่านั้นด้วยหลักคณิตศาสตร์ เราจะสามารถติดตามวิวัฒนาการของผ้า และความเชื่อมโยงของลายผ้าแต่ละลาย ของแต่ละเผ่าพันธุ์ได้เลย ทั้งนี้ ลายผ้าทอของชนเผ่าต่างๆ ได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนฮาร์ดดิสก์หรือศิลาจารึกที่เก็บข้อมูล ความเป็นมาของเผ่าพันธุ์และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ผ้าทอเหล่านี้จึงไม่ได้มีหน้าที่เพียงแต่เป็นอาภรณ์สำหรับนุ่งห่มปกปิดผิวกายเท่านั้น แต่มันยังเก็บสารสนเทศและทำหน้าที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของสังคมหนึ่งๆ ได้อีกด้วย นี่จึงนับว่าผ้าทอพวกนี้มีความฉลาดเฉียดๆ มาใกล้ๆ ความเป็นอาภรณ์อัจฉริยะ (Wearable Intelligence) เลยทีเดียวครับ
ถ้าจะให้ผมลองแบ่งยุคของเสื้อผ้าออกตามระดับวิวัฒนาการ ผมก็จะแบ่งออกเป็น 2 ยุคครับ คือ ยุคเสื้อผ้าโง่ (Dump) กับยุคเสื้อผ้าฉลาด (Smart Garment) เสื้อผ้าโง่คืออะไร ... ก็คือเสื้อผ้าที่ไม่มีความฉลาดเลยครับ คือเราเอามันมาใส่เพื่อปกปิดผิวกายของเราเท่านั้น มากไปกว่านั้นหน่อย เราอาจจะเอาไว้อวดสวย อวดร่ำอวดรวย แต่ตัวเสื้อผ้าไม่ได้มีสมองหรือระดับความสามารถในการประมวลผลอะไรเลย นับตั้งแต่มนุษย์คนแรกได้เริ่มใส่เสื้อผ้าเมื่อประมาณ 1-2 แสนปีที่แล้ว เสื้อผ้าในปัจจุบันก็ยังไม่ได้ฉลาดขึ้นเลยครับ เรายังคงใช้ให้มันทำงานด้วยหลักพื้นฐานเดิมๆ คือเอาไว้ปกปิดผิวกายของเรา
แต่เสื้อผ้าฉลาดจะมีความสามารถมากเกินไปกว่าการทำหน้าที่แค่ทำไม่ให้เราโป๊ หรือดูอนาจาร ในปี ค.ศ. 2002 ได้มีภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องหนึ่งที่มีชื่อว่า The Tuxedo ซึ่งนำแสดงโดย เฉิน หลง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เปิดแนวคิดของเสื้อผ้าที่มีหัวคิด สามารถรับสัมผัส คำนวณวิเคราะห์ ประมวลผล และปฏิบัติงานตามคำสั่งซึ่งทำให้ผู้สวมใส่ที่เป็นคนธรรมดา กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ไปเลยครับ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เราจะเห็น เฉิน หลง เรียกใช้โปรแกรมที่ทำให้เขาสามารถเต้นลีลาศได้ ทั้งที่ไม่เคยเรียนเต้นมาก่อน รวมทั้งสามารถต่อสู้ เตะ ต่อย ชก ได้ เหนือมนุษย์ธรรมดา เทคโนโลยีแบบนี้เราเรียกว่า เทคโนโลยีเพิ่มสมรรถภาพของมนุษย์ (Human Performance Enhancement) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน เป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้คนพิการกลายมาเป็นคนธรรมดา และคนธรรมดากลายมาเป็นมนุษย์พิเศษ นักพัฒนาเทคโนโลยีทั่วโลก กำลังขะมักเขม้นแข่งขันกันวิจัยและพัฒนาเจ้าเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้นี้ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา ส่วนในประเทศไทยของเรานั้น ทีมงานของศูนย์นาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับสนับสนุนจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ให้ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกกระแสที่กำลังมาแรงนี้ครับ
ในตอนต่อๆ ไปของบทความซีรีย์นี้ ผมจะทยอยนำเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาภรณ์อัจฉริยะจากกลุ่มวิจัยทั่วโลก มาเล่าให้ฟังกันครับ
** โครงการ Wearable Intelligence ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ **
ป้ายกำกับ:
nano-fabrics,
textile,
wearable intelligence
21 เมษายน 2555
The Future of City - อนาคตของเมืองใหญ่ (ตอนที่ 1)
สหประชาชาติได้ประมาณการว่า ในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า โลกจะมีประชากรจำนวน 8,100 ล้านคน มากกว่าครึ่งคือประมาณ 5,000 ล้านคน จะเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ตัวเลข 5 พันล้านนี้ น่าจะยังเป็นตัวเลขที่ถือว่าต่ำไปนะครับ ในความรู้สึกของผม แนวโน้มของคนอยู่ในเมือง น่าจะมากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ ถ้าพิจารณาจากแนวโน้มความก้าวหน้าของเทคโนโลยี วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม อาหาร และพลังงาน มนุษย์น่าจะมีแนวโน้มที่จะมากระจุกตัวอยู่กันเยอะๆ มากยิ่งขึ้น การที่คนเราไปอาศัยกันอยู่ห่างไกล ทำให้การใช้พลังงานไม่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรรมในชนบทและที่ห่างไกล ทำให้ต้องมีการขนส่ง ถ้าหากเกษตรกรรมสามารถทำในเมือง และใกล้ๆ เมือง การขนส่งก็จะลดลง พื้นที่เกษตรกรรมที่มนุษย์ไปรุกล้ำจากป่า จะสามารถคืนสู่ธรรมชาติ ให้เป็นที่กักเก็บคาร์บอนได้ (Carbon Storage) ถ้ามองในมุมนี้ การที่เมืองใหญ่ขึ้น การที่ผู้คนมาอาศัยในเมืองมากขึ้น ดูเหมือนจะแก้ปัญหาได้หลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม การเกิดชุมชนเมืองหนาแน่น เป็นการนำมนุษย์ออกมาจากธรรมชาติที่เคยเข้าไปรุกล้ำ ถ้าทำได้จริง ปัญหาต่างๆ ของมนุษย์จะถูกจำกัดวง ให้มาแก้กันในบริเวณเมืองที่มีขอบเขต
เรื่องเกี่ยวกับ Future City นักคิดนักเทคโนโลยีทั่วโลกที่มีวิสัยทัศน์เขามองว่าเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ ครับ เรียกว่าเป็น Megatrend อันหนึ่งเลยทีเดียว มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกตั้งศูนย์วิจัยที่เกี่ยวกับ Future City นี้ เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแองเจลีส (UCLA) สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาจูเสตต์ (MIT) และใกล้ๆ บ้านเรานี่เอง สถาบันเทคโนโลยีแห่งสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้มาตั้งศูนย์วิจัยเกี่ยวกับเมืองอนาคตที่สิงคโปร์ (Future Cities Laboratory หรือ FCL) โดยมีการว่าจ้างนักวิจัยมากถึง 200 คนเพื่อทำงานวิจัยเทคโนโลยีเมืองโดยเฉพาะ หัวข้อก็มีการทำระบบอาคารอัจฉริยะ (Intelligent Building) ซึ่งจะช่วยทำให้อาคารใช้พลังงานอย่างประหยัด โดยเฉพาะเมืองในเขตร้อนอย่างสิงคโปร์ ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ สามารถที่จะขยับขยายนำไปใช้กับเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพ มนิลา ไซง่อน จาร์กาตา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศกันเยอะมาก
งานวิจัยของ FCL ที่น่าสนใจก็คือ การทำระบบซอฟต์แวร์เพื่อจัดการเมืองใหญ่ โดย FCL จะทำการวิเคราะห์เรื่องการใช้น้ำ ไฟฟ้า การจราจรขนส่งในเมือง ซึ่งจะเก็บข้อมูลจากระบบดิจิตอลต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเดิม โดยการสนับสนุนข้อมูลจากรัฐบาลสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังจะมีการนำหุ่นยนต์บินได้ขนาดเล็ก (Flying Robots) แบบเป็นฝูงมาใช้เพื่อบินสำรวจบนท้องฟ้า โดยจะเก็บข้อมูลเชิงรายละเอียดของสิงคโปร์ทั้งหมด ทั้งในเรื่องของภาพและแง่มุมต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของการเกิดชุมชนต่างๆ เพื่อนำมาสู่การวางแผนการจัดโซน การวางแผนการจัดการพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
ในขณะที่กรุงเทพฯ กำลังสาละวนอยู่กับเรื่องทำยังไงไม่ให้น้ำท่วม สิงคโปร์กำลังพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ....
ป้ายกำกับ:
new paradigm,
Singapore,
smart city
17 เมษายน 2555
Water Monitoring Sensor Networks - เครือข่ายเซ็นเซอร์ในน้ำ (ตอนที่ 3)
3 ใน 4 ของพื้นผิวโลกถูกปกคลุมด้วยน้ำ และนับวันพื้นผิวที่ปกคลุมด้วยน้ำนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมนุษย์เราอาศัยอยู่บนบกที่นับวันทรัพยากรบนพื้นดินจะร่อยหลอหมดไปเรื่อยๆ ในอนาคต ทรัพยากรธรรมชาติในน้ำจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเราจะเริ่มใช้ชีวิตในน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ หรืออย่างน้อยก็ต้องมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมาได้สอนให้เรารู้ว่า เรามีความใกล้ชิดกับน้ำมากแค่ไหน และต่อแต่นี้ เราต้องรู้จักจัดการน้ำไม่อย่างนั้น น้ำก็จะจัดการเรา
การที่จะจัดการน้ำได้ เราต้องสามารถติดตามข้อมูลที่เกี่ยวกับน้ำให้ได้อย่างใกล้ชิด ต้องสามารถ monitor หรือตรวจวัดข้อมูลน้ำได้อย่างเวลาจริง (real time) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ แหล่งทุนวิจัยในต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าสูง เช่น สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ได้ให้เงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายเซ็นเซอร์ในน้ำอย่างขนานใหญ่ เช่น ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย บอร์คลีย์ (University of California Berkeley) มหาวิทยาลัยฟอริด้า สหรัฐอเมริกา ส่วนในสหภาพยุโรปก็มี มหาวิทยาลัยวาเลนเซีย แห่งสเปน และบริษัท CSEM ในสวิสเซอร์แลนด์ เป็นแกนนำในการพัฒนา ส่วนประเทศที่ต้องอยู่กับน้ำค่อนข้างมากอย่าง เนเธอร์แลนด์ เขาก็มีการสนับสนุนโครงการวิจัยเรื่องนี้ขึ้นมาต่างหาก นำโดยมหาวิทยาลัยทเวนเต้ (University of Twente) รวมทั้งฮ่องกงก็มีงานวิจัยโดย Hong Kong University of Science and Technology (HKUST)
จะว่าไป ประเทศไทยของเราก็เป็นประเทศที่ใช้ชีวิตกับน้ำ หรือเกี่ยวข้องกับน้ำไม่แพ้ชาวดัทช์ หรือ ชาวฮ่องกง ตั้งแต่นี้ต่อไป เราต้องใช้ชีวิตบนความเสี่ยง พร้อมเดิมพันมูลค่าสูง ว่าปีนี้น้ำจะแล้งหรือน้ำจะท่วม หรือจะมีทั้ง 2 อย่างพร้อมๆ กัน แต่เรากลับไม่ค่อยมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับน้ำเท่าไหร่เลยครับ เครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ และล้าสมัย เพราะเครื่องมือที่ทันสมัยยังอยู่ในขั้นของการวิจัยและยังไม่นำออกขาย ดังนั้น หากเราอยากมีเครื่องมือที่ทันสมัยในการตรวจวัดน้ำ เราก็จะต้องพัฒนาขึ้นเอง ซึ่งจริงๆ แล้วก็ยังไม่สายที่นักเทคโนโลยีจะมาให้ความสนใจเรื่องนี้ ไม่ต้องห่วงครับ เพราะในอนาคต พวกเราจะต้องเกี่ยวข้องกับน้ำมากขึ้น ๆ เรื่อยๆ
เมื่อตอนผมเป็นเด็ก ทุกปิดเทอมใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ของผมจะพาผมไปส่งที่บ้านคุณย่า ที่ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี แล้วท่านจะมารับผมกลับตอนใกล้ๆ เปิดเทอม บ้านคุณย่าของผมเป็นครอบครัวชาวประมง มีเรืออวนลากที่จะออกไปรอนแรมในทะเลได้หลายๆ วัน ภาพกุ้งหอยปูปลาที่ติดมากับอวนเป็นภาพที่เจนตา คุณย่าผมเคยพูดว่าท่านมีที่ในทะเลหลายร้อยหลายพันไร่ ที่บนบกไม่ค่อยมีหรอก ท่านถามผมว่า "เอามั้ย ท่านจะยกที่ในทะเลให้" ผมคิดในใจว่า ตลกล่ะ ที่ในทะเลเนี่ยนะเป็นเจ้าของได้ด้วยเหรอ แล้วจะเอาไปทำอะไรได้ .... แต่ ..... ท่านผู้อ่านเชื่อไหมหล่ะครับว่า ทุกวันนี้ ที่ในทะเลมีเจ้าของกันหมดแล้วนะครับ ถึงจะยังไม่มีการทำรังวัดกันอย่างชัดเจนโดยกรมที่ดิน แต่หลายๆ แห่งนอกชายฝั่งทะเลในอ่าวไทยนั้น ถูกจับจองหมดแล้ว เดี๋ยวนี้ปลา กุ้ง หอย ที่เรารับประทานกัน มีจำนวนมากที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงในกระชังที่เลี้ยงกันในแหล่งน้ำ ซึ่งทำให้ประหยัดต้นทุนค่าอาหารและการกำจัดของเสีย ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำที่อยู่นอกแนวชายฝั่ง นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีเครือข่ายเซ็นเซอร์ที่ใช้ตรวจวัดน้ำ หากถูกนำมาใช้กับฟาร์มเพาะเลี้ยง ก็จะทำให้ฟาร์มเหล่านั้นกลายเป็น Smart Farm หรือ Smart Aquaculture ได้ เพราะจะทำให้เจ้าของฟาร์มรู้สภาพแวดล้อมในฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ ความเค็มของน้ำ ค่า pH ค่าอ็อกซิเจนในน้ำ กระแสการไหลของน้ำ ความหนาแน่นของปลาในน้ำ รวมไปถึงการมาของคลื่นและพายุ ซึ่งจะมีผลต่อการเพาะเลี้ยงได้ โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถส่งขึ้นมาสู่บ้านเจ้าของฟาร์มบนชายฝั่งได้
Water Monitoring Sensor Networks ถือเป็นเทคโนโลยีเอนกประสงค์ เพราะสามารถใช้ได้ทั้งในยามสงบ เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เช่น ทะเลนอกชายฝั่ง แม่น้ำ ทะเลสาบ บึง แหล่งน้ำประปา หรือการตรวจวัดน้ำในแหล่งบำบัดน้ำของโรงงานอุตสาหกรรม ในยามที่เกิดภัยพิบัติ เราสามารถปล่อยมันออกไปเก็บข้อมูลการไหลของน้ำ ระดับความลึกของน้ำ ความเป็นพิษ เป็นต้น ตลอดระยะเวลา 45 วันที่ผมติดอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วม มันได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ได้ ผมได้ก่อร่างสร้างไอเดียนี้ขึ้นมาในช่วง 45 วันนี้เอง และผมหวังว่าโครงการ Water Monitoring Sensor Networks น่าได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคนที่โดนน้ำล้อมเหมือนกัน .....
ป้ายกำกับ:
sensor networks,
smart environment,
water
07 เมษายน 2555
IEEE NANO 2012 - 12th International Conference on Nanotechnology
ในปีหนึ่งๆ นั้น มีงานประชุมวิชาการทางนาโนเทคโนโลยีไม่รู้กี่งาน แต่งานใหญ่ๆ ที่จัดมาตั้งแต่เรื่องของนาโนเทคโนโลยียังบูมใหม่ๆ และต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักนาโนเทคโนโลยีว่าถ้ามีโอกาสแล้วก็ต้องไปให้ได้คือ IEEE Nano ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 12 แล้วครับ โดย IEEE NANO 2012 ปีนี้จะจัดที่ประเทศอังกฤษ ที่เมืองเบอร์มิงแฮม ระหว่างวันที่ 20-23 สิงหาคม พ.ศ. 2555 โดยมีกำหนดส่งบทคัดย่อภายในวันที่ 16 เมษายน 2555 ซึ่งจะตอบรับว่าผลงานผ่านมาตรฐานหรือไม่ในวันที่ 25 เมษายน โดยผู้ที่ได้รับการตอบรับว่าผ่านนั้น จะต้องส่งผลงานฉบับเต็มภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ครับ
สิ่งที่น่าสนใจของการประชุมนี้คือ องค์ปาฐกเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 2010 ท่านเซอร์ คอนสแตนติน โนโวเซลอฟ (Sir Konstantin Novoselov) แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) ประเทศอังกฤษ ซึ่งโด่งดังในเรื่องของเตรียมโครงสร้างกราฟีนชั้นเดียว ซึ่งเป็นโครงสร้างนาโนที่มีความโดดเด่น และมีอนาคตสามารถนำไปใช้งานประยุกต์ได้มากมาย นอกจากนั้นยังมีผู้บรรยายพิเศษท่านอื่นที่น่าสนใจ เช่น Professor Zhong Lin Wang จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งจอร์เจีย (Geogia Institute of Technology) ซึ่งท่านมีชื่อเสียงในเรื่องของอุปกรณ์นาโนที่ใช้เปลี่ยนพลังงานกล ไปเป็นพลังงานไฟฟ้า เช่น การนำอุปกรณ์เหล่านี้มาบูรณาการใส่ในเสื้อผ้า รองเท้า เพื่อเปลี่ยนการเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกายให้เป็นพลังงานไฟฟ้า สำหรับชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เป็นอุปกรณ์แบบสวมใส่ได้ (wearable devices)
หัวข้อที่เป็นที่สนใจของการประชุม IEEE NANO 2012 นั้นค่อนข้างกว้างมากครับ การประชุมแบบนี้ พักหลังๆ ผมก็ไม่ค่อยอยากไปแล้วครับ เพราะเนื้อหาบางทีก็กว้างเกินไปแบบน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหลงเหลง ซึ่งผมชอบไปการประชุมประเภทเจาะลึกในเนื้อหาเชิงเทคนิคไปเลยเสียมากกว่า ทั้งที่เป็นในสาขาเดียวกับที่ผมทำ หรือข้ามสาขาไปก็ยิ่งดี จะได้รู้เรื่องที่คนอื่นๆ ทำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่แสวงหาไอเดียจากคนอื่นๆ เพื่อนำมาต่อยอดงานวิจัยของตัวเอง การประชุมกว้างๆ นี้ก็มีประโยชน์มากๆ ครับ
Education
Energy: Photovoltaics, Storage
Environment health safety (EHS) and standards
Heat dissipation in nanocomputing
Industrial applications and commercialization
Nano/bio-medicine
Nanoelectronics: Devices - SETs, RTDs, QDs, Molecular etc
Nanoelectronics: Graphene, CNTs, Nanowires
Nanoelectronics: Nanocircuits, Architectures
Nanoelectronics: Reliability and Yield
Nanofabrication
Nanofluidics
Nanomagnetics
Nanomaterials: Nanomaterial/nanoparticles synthesis
Nanomaterials: Nanomaterials/nanoparticles, Characterization and Application
Nanometrology, Characterization
Nanopackaging
Nanophotonics and plasmonics
Nanorobotics, Nanomanufacturing
Nanosensors, Actuators
Quantum computing
Simulation and modelling of nanostructures and nanodevices
Spintronics
ป้ายกำกับ:
conference
04 เมษายน 2555
Making Things Love - ทำโลกนี้ให้มีแต่รัก (ตอนที่ 5)
เมื่อไม่นานมานี้มีคำศัพท์ใหม่คำหนึ่งเกิดขึ้น คำว่า Living Technology ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยีที่มีความเป็นชีวิต หรือ รวมเอาความสามารถของสิ่งมีชีวิตเข้าไป ทำให้เทคโนโลยีนั้นมีความเป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิต และสนองตอบความต้องการต่อสิ่งมีชีวิต ในฐานะที่ตัวมันเองก็มีส่วนหนึ่งมาจากความเป็นชีวิต ไม่เหมือนเทคโนโลยีสมัยก่อนที่มีลักษณะทื่อๆ เหมือนจักรกลที่ไม่มีหัวจิต หัวใจ แต่เทคโนโลยีในอนาคตจะต้องทำตัวเสมือนกับตัวมันเองมีจิตใจอยู่ภายในด้วย
Living Technology นี่ก็ว่าเจ๋งแล้วนะครับ แต่ยังไม่พอหรอกครับ เพราะว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น อลังการกว่านั้นกำลังจะเกิดขึ้น ผมขอเรียกสิ่งนั้นว่า Loving Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใส่อารมณ์ ความรู้สึก ความผูกพัน ความห่วงหาอาทร เข้าไปข้างในได้ ทำให้นอกจากมันจะ Living แล้ว มันยังมีความสามารถในการ Loving ได้อีกด้วย ซึ่ง Loving Technology นี้เอง ทางกลุ่มวิจัยของ Center of Intelligent Materials and Systems คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็กำลังทำการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีนี้ด้วย เราคงจะได้ยินเรื่องของ เทคโนโลยี Kinect ซึ่งสามารถที่จะเรียนรู้และจดจำลักษณะท่าทางของมนุษย์ เราสามารถสื่อสารทางเสียงกับโปรแกรม Siri ซึ่งมีลักษณะเป็นปัญญาประดิษฐ์แบบหนึ่ง ต่อไปอุปกรณ์ต่างๆ จะไม่เพียงแต่จดจำคำพูดของเราเท่านั้น แต่มันจะสามารถแปลความหมายทางอารมณ์ ที่ซ่อนมากับคำพูดได้ด้วย หรือ มันจะมีสามารถในการรับรู้และสื่อสารทางอารมณ์กับเราได้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง น้ำเสียงที่พูด ซึ่งจะทำให้การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ เช่น มือถือในอนาคต เปลี่ยนจากการ "ใช้" เป็นการ "สื่อสาร" กันและกันแทน โทรศัพท์จะกลายเป็นอุปกรณ์ที่มีชีวิตชีวา เป็น Living Objects หรือ Living Phone ขึ้นมาเลยล่ะครับ
ล่าสุดข่าวแว่วๆ มาว่า ทาง Apple กำลังจะใส่ Siri เข้าไปในเครื่องรับโทรทัศน์ รวมทั้งซัมซุง และ LG เองนั้นก็เพิ่งเปิดตัวโทรทัศน์ที่รับคำสั่งด้วยเสียงเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง ทั้งนี้บริษัทฟิลิปส์เองก็กำลังพัฒนาโทรทัศน์ที่สามารถคุยกับ ระบบแสงสว่างในบ้านด้วย โดยเมื่อโทรทัศน์กำลังเปิดรายการที่มีเนื้อหาต่างๆ อยู่นั้น มันจะคุยกับแสงสว่างในห้องนั่งเล่น ให้เปลี่ยนสี และความเข้มแสง รวมทั้งโทนของสี ให้เหมาะกับอารมณ์ของเนื้อหาที่กำลังฉายอยู่ในจอทีวี เห็นไหมครับว่า ต่อไปห้องนั่งเล่น หรือ Living Room ของเรา จะมีชีวิตชีวาขึ้นอีกเป็นกอง มีความเป็น Living ขึ้นจริงๆนอกจากนั้นบริษัท BMW ก็ได้พัฒนาระบบรับคำสั่งด้วยเสียงที่มีชื่อว่า iDrive โดยวางแผนจะบูรณาการระบบนี้ที่ทำงานด้วยอัลกอริทึมของ Siri เข้าไปในรถยนต์ของ BMW นี่ยังแค่เริ่มๆ นะครับ ต่อไปรถยนต์จะมีความฉลาดมากขึ้นไปอีก เช่น เบาะที่ปรับที่นั่งตามอารมณ์ของผู้ขับขี่ ระบบปรับอากาศและฟิล์มกรองแสงตามสภาพแวดล้อมได้เอง เป็นต้น
Loving Technology จะมีความก้าวหน้ากว่า Living Technology เยอะครับ เพราะ Loving Technology ไม่เพียงแต่มีการใส่ความเป็นชีวิตเข้าไป ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ มีความฉลาด เหมือนสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติแล้ว มันยังมีการเพิ่มอารมณ์ ผัสสะ ความรู้สึกเข้าไป ทำให้อุปกรณ์สื่อสารทางวิญญาณกับมนุษย์ได้ สามารถรับรู้อารมณ์ และตอบสนองเชิงอารมณ์กับมนุษย์ได้ โดยเฉพาะวิถีชีวิตของมนุษย์เราในศตวรรษนี้ คนเราจะอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น แต่ไม่ต้องกลัวเหงานะครับ เพราะ Loving Technology จะทำให้สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นทีวี เฟอร์นิเจอร์ หมอน เตียงนอน แสงสว่าง รถยนต์ ของเรามีความใส่ใจ ห่วงหาอาทรผู้ใช้ เราจะอยู่ในบ้านเสมือนมีความรู้สึกว่า สิ่งรอบๆ ตัวเรานั้นห่วงใยเรา และมีการสื่อสารกับเราตลอดเวลา เหมือนมีคนคอยดูแลยังไงยังงั้น เพื่อนรอบกายภายในบ้านที่มองไม่เห็นนี้ จะรับรู้ความรู้สึกของเรา และแสดงออกความรู้สึกนั้นออกมา ผ่านการเรืองแสงที่หมอน การปรับโทนแสงไฟ การเปิดเพลงคลอ การส่งรูปหัวใจบนกระจก และอื่นๆ อีกมากมาย จนทำให้สิ่งแวดล้อมที่มีแต่รักนี้ ไม่ทำให้เรารู้สึกเดียวดายอีกต่อไป .......
ป้ายกำกับ:
artificial intelligence,
cognitive science,
love,
smart environment,
smart object
01 เมษายน 2555
The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 4)
เวลาพูดถึงเรื่องโลกร้อน อุตสาหกรรมต่างๆ มักตกเป็นจำเลย แต่จริงๆ แล้วเรื่องภาวะโลกร้อนนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจาก การเสื่อมถอยทางด้านสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากปัจจัยผสมผสาน รวมกันหลายๆ อย่าง ด้านหนึ่งที่เรามักจะลืมไปก็คือ การทำเกษตรแบบเก่าๆ นี่แหล่ะที่เป็นสาเหตุร่วมแห่งความเสื่อมถอยนั้น นับแต่อดีตที่ผ่านมา ผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ถูกย่ำยีจากเกษตรกรรมที่ไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพ ทุกๆ ปีมีคนเกิดขึ้นบนโลก 70 ล้านคน และคนที่เกิดใหม่ ต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น เนื้อและผักที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงพลังงานชีวภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เราต้องทำการเกษตรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจะเลี้ยงเด็กที่เกิดใหม่ หากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป เราต้องเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้ได้ 2 เท่า หรือ อาจจะต้อง 3 เท่า ให้ได้ในอีก 30-40 ข้างหน้า ... เห็นไหมครับว่า เกษตรคืออนาคต หรือ อนาคตคือเกษตร ซึ่งเป็นความอยู่รอดของมนุษย์เลยทีเดียว .... แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า .... วันนี้เรายังไม่รู้จะทำยังไงกันเลยครับ
ปัจจุบันนี้ พื้นที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์บนผิวโลกที่ไม่ใช่น้ำ และไม่มีน้ำแข็งปกคลุม ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมไปเรียบร้อยแล้ว คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 60 เท่าของพื้นที่ที่เป็นเมืองและหมู่บ้าน ที่มนุษย์อาศัยอยู่ นับตั้งแต่ยุคน้ำแข็งสิ้นสุดเป็นต้นมา ไม่เคยมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงผิวโลกได้ยิ่งใหญ่กว่าเกษตรกรรม ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าหากเราต้องการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มอาหารให้ได้อีก 2-3 เท่า พื้นที่ส่วนที่เหลือของโลกจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเกษตรกรรม มนุษย์เราก็คงไม่พ้นการบุกรุกพื้นที่ที่เหลืออยู่ ซึ่งเมื่อหักพื้นที่แห้งแล้งและทะเลทรายออกแล้ว ก็เหลือแต่พื้นที่ป่าเขตร้อนเท่านั้นแหล่ะครับ
มาดูเรื่องการใช้น้ำกันบ้างครับ ปัจจุบันทั้งโลกใช้น้ำจืดกันทั้งหมด 4,000 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี (เท่ากับน้ำในเขื่อนภูมิพลทั้งหมด 400 เขื่อน) โดย 70 เปอร์เซ็นต์ ใช้ไปกับการรดน้ำพืชผลต้นไม้ต่างๆ ในทางเกษตร น้ำเหล่านี้ถูกดึงจากแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบต่างๆ มีการสร้างเขื่อนที่บิดเบือนการไหลของน้ำ ดูอย่างแม่น้ำโขงของเราก็ได้ครับ ไม่มีใครทำนายได้ว่าเมื่อไหร่น้ำจะมา เมื่อไหร่น้ำจะแห้ง เมื่อไหร่น้ำจะท่วม การใช้สารเคมีต่างๆ ในการเกษตร ทั้งปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ได้ปลดปล่อยสารเคมีเหล่านี้เข้าสู่แหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำสะอาดลดลงทุกวันด้วย สารเคมีเหล่านี้ได้ไหลออกทะเลทำให้สัตว์น้ำที่เป็นอาหารของเราพลอยมีปัญหาไปด้วย
นี่ยังไม่รวมถึงการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนโดยตรงนะครับ เชื่อมั้ยครับว่าเกษตรกรรมของเราเนี่ย รับผิดชอบการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยครับ มากกว่ารถยนต์ทุกคัน เรือและเครื่องบินทุกลำในโลกรวมกันเสียอีก ไม่มีกิจกรรมอะไรอีกแล้วของมนุษย์ ที่จะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าเกษตรกรรม
ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องมีการปฏิวัติเกษตรกรรม ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดที่จะนำมาเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตร ให้มีการเพิ่มผลผลิตแบบจุดพลุ โดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ปัจจุบันนี้ พื้นที่ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์บนผิวโลกที่ไม่ใช่น้ำ และไม่มีน้ำแข็งปกคลุม ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมไปเรียบร้อยแล้ว คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 60 เท่าของพื้นที่ที่เป็นเมืองและหมู่บ้าน ที่มนุษย์อาศัยอยู่ นับตั้งแต่ยุคน้ำแข็งสิ้นสุดเป็นต้นมา ไม่เคยมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงผิวโลกได้ยิ่งใหญ่กว่าเกษตรกรรม ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าหากเราต้องการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มอาหารให้ได้อีก 2-3 เท่า พื้นที่ส่วนที่เหลือของโลกจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเกษตรกรรม มนุษย์เราก็คงไม่พ้นการบุกรุกพื้นที่ที่เหลืออยู่ ซึ่งเมื่อหักพื้นที่แห้งแล้งและทะเลทรายออกแล้ว ก็เหลือแต่พื้นที่ป่าเขตร้อนเท่านั้นแหล่ะครับ
มาดูเรื่องการใช้น้ำกันบ้างครับ ปัจจุบันทั้งโลกใช้น้ำจืดกันทั้งหมด 4,000 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี (เท่ากับน้ำในเขื่อนภูมิพลทั้งหมด 400 เขื่อน) โดย 70 เปอร์เซ็นต์ ใช้ไปกับการรดน้ำพืชผลต้นไม้ต่างๆ ในทางเกษตร น้ำเหล่านี้ถูกดึงจากแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบต่างๆ มีการสร้างเขื่อนที่บิดเบือนการไหลของน้ำ ดูอย่างแม่น้ำโขงของเราก็ได้ครับ ไม่มีใครทำนายได้ว่าเมื่อไหร่น้ำจะมา เมื่อไหร่น้ำจะแห้ง เมื่อไหร่น้ำจะท่วม การใช้สารเคมีต่างๆ ในการเกษตร ทั้งปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ได้ปลดปล่อยสารเคมีเหล่านี้เข้าสู่แหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำสะอาดลดลงทุกวันด้วย สารเคมีเหล่านี้ได้ไหลออกทะเลทำให้สัตว์น้ำที่เป็นอาหารของเราพลอยมีปัญหาไปด้วย
นี่ยังไม่รวมถึงการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนโดยตรงนะครับ เชื่อมั้ยครับว่าเกษตรกรรมของเราเนี่ย รับผิดชอบการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยครับ มากกว่ารถยนต์ทุกคัน เรือและเครื่องบินทุกลำในโลกรวมกันเสียอีก ไม่มีกิจกรรมอะไรอีกแล้วของมนุษย์ ที่จะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าเกษตรกรรม
ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องมีการปฏิวัติเกษตรกรรม ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดที่จะนำมาเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตร ให้มีการเพิ่มผลผลิตแบบจุดพลุ โดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ป้ายกำกับ:
crisis,
precision agriculture,
precision farming,
smart farm
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)