19 สิงหาคม 2551

Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงโลก (ตอนที่ 6)


วิศวกรรมดาวเคราะห์เป็นศาสตร์ในการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ หลากหลายชนิดทั้ง ฟิสิกส์ โยธา อวกาศวิศวกรรมธรณี เคมี นาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และอื่นๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเคราะห์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำให้ดาวเคราะห์เป้าหมายเหมาะที่สิ่งมีชีวิตจะอยู่ได้ ในอดีตแนวคิดของวิศวกรรมดาวเคราะห์เกิดขึ้นเพราะมนุษย์มีความใฝ่ฝันจะไปตั้งรกรากในอวกาศ เช่น ดาวอังคาร ซึ่งก็มีการเสนอวิธีการต่างๆ ขึ้นมามากมายเพื่อเปลี่ยนสภาพของดาวอังคารให้เหมาะสมที่สิ่งมีชีวิตจะสามารถดำรงอยู่ได้ เช่น การสร้างพื้นผิวต่าง (Terraforming) การสร้างทะเลสาบ การปรับเปลี่ยนบรรยากาศ ปรับอุณหภูมิของดาวเคราะห์ ซึ่งทำเพื่อให้เหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตจะอยู่อาศัย แล้วก็สร้างนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตขึ้นมา (Ecopoiesis) นาซ่าได้แอบดำเนินโครงการวิจัยลับๆ เกี่ยวกับการทำวิศวกรรมดาวเคราะห์เพื่อสร้างโลกใหม่บนดาวอังคาร โดยมีเป้าหมายทำให้ดาวอังคารกลายเป็นโลกของสิ่งมีชีวิตให้ได้ แต่ทว่า ……. ตอนนี้ดาวเคราะห์ที่อาจจะได้ทดสอบเทคโนโลยีนี้กลับไม่ใช่ดาวอังคาร แต่จะเป็นโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่นี่เอง บทความตอนนี้ ผมจะมาเล่าต่อครับว่าในขณะนี้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมดาวเคราะห์ มีความก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว ……

อีกไอเดียแก้โลกร้อนเป็นของนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษที่ชื่อว่า โรเจอร์ แองเจิ้ล (Roger Angel) ด้วยการกางร่มหรือสร้างม่านบังแดดให้โลกโดยการนำแผ่นกระจกสะท้อนแสงประมาณ 16 ล้านล้านชิ้นขึ้นไปลอยในอวกาศเพื่อบังแสงอาฑิตย์ไม่ให้ตกกระทบผิวโลก โรเจอร์คำนวณว่าถ้าเราสามารถกั้นแสงแดดสัก 2 เปอร์เซ็นต์ไม่ให้มาถึงโลกก็น่าจะแก้โลกร้อนได้ แต่การทำเช่นนั้น หากต้องทำใกล้กับพื้นผิวของโลก ก็ต้องใช้ม่านบังแดดที่มีพื้นที่ถึง 100,000 ตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว โรเจอร์เสนอให้คิดค้นวิธีการส่งจรวดแบบใหม่โดยอาศัยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อส่งกระจกจำนวนมากไปลอยโคจรในวงโคจรระหว่างโลกกับดวงอาฑิตย์ ที่ระยะประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตรจากโลก เขาประมาณการว่าอภิมหาโปรเจคต์นี้อาจต้องใช้เงินถึง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และใช้เวลาดำเนินการประมาณ 30 ปี