16 สิงหาคม 2551

หุ่นยนต์ควบคุมด้วยสมองชีวะ


เรื่องของ Man-Machine Interface หรือการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับจักรกล กำลังกลายมาเป็นกระแสสำคัญของเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 ครับ การเชื่อมต่อระหว่างโลกของสิ่งมีชีวิตทำได้ทั้งการทำให้จักรกลมีความเป็นสิ่งมีชีวิต ด้วยการเอาความเป็นชีววิทยาไปใส่ให้มัน (เช่น Biomimetics, Biorobotics, Natural Intelligence) หรือ การทำให้สิ่งมีชีวิตมีความเป็นจักรกล ด้วยการเอาอุปกรณ์เสริมไปเติมแต่งให้สิ่งมีชีวิต (เช่น Bionics, Biomechatronics) หรืออาจเป็นแค่การประสานการทำงานระหว่างมนุษย์กับจักรกล (เช่น Haptics, Brain-Computer Interface) วันนี้ผมจะมาเล่าถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญ โดยการนำเอาเซลล์ประสาทสมองที่เลี้ยงขึ้นมา เพื่อไปทำงานควบคุมหุ่นยนต์ครับ


ผลงานนี้เป็นของ Professor Kevin Warwick แห่งมหาวิทยาลัยรีดดิ้งส์ ประเทศอังกฤษ ท่านได้นำผลงานหุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วยประสาทสมองมาแสดงในการประชุม European Robotics Symposium 2008 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 ท่านได้เลี้ยงเซลล์ประสาทบนแผ่นวงกลมที่มีขั้วไฟฟ้า 60 ขั้ว ซึ่งจะคอยรับส่งสัญญาณไฟฟ้าจากเซลล์ประสาทไปสู่หุ่นยนต์ ผ่านทางสัญญาณบลูทูธ ซึ่งจะคอยควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ เมื่อหุ่นยนต์วิ่งมาใกล้กับวัตถุ เซ็นเซอร์ที่ตรวจสอบวัตถุจะส่งสัญญาณไปยังเซลล์ประสาทผ่านขั้วไฟฟ้า 60 ขั้วนั้น เซลล์ประสาทจะสนองตอบด้วยการสั่งให้หุ่นยนต์ลองเคลื่อนที่เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา จนกว่าจะสามารถหลบหลีกวัตถุได้ ผลงานนี้ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เราเริ่มเข้าใจการทำงานของสมอง ด้วยเฉพาะในเรื่องของการเรียนรู้ และความจำ ซึ่งก็จะมีประโยชน์ทางการแพทย์ในเรื่องของการรักษาโรคสมองด้วยครับ ในอนาคตเราคงได้เห็นสมองชีวะที่สร้างจากการเลี้ยงเซลล์ประสาท เพื่อนำมาควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้น เมื่อถึงวันนั้น เราอาจจะต้องเริ่มตั้งคำถามในนิยามของชีวิตแล้วล่ะครับว่า ความเป็นสิ่งมีชีวิตจะเริ่มนับจากจุดไหน ...........