19 มิถุนายน 2556

Disruptive Education - การศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก (ตอนที่ 5)


(Picture from www.stanford.edu)

เห็นเด็กมัธยมสมัยนี้แห่กันไปเรียนกวดวิชา  เพื่อที่จะสามารถทำคะแนนสอบเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัย แล้วผมรู้สึกสงสารประเทศไทยเหลือเกินครับ สถาบันกวดวิชาที่เปิดเป็นดอกเห็ดเหล่านั้น ก็ไม่ได้สอนให้เด็กฉลาดหรือเก่งขึ้นเลย แต่เป็นการสอนเคล็ดลับการทำโจทย์ข้อสอบมากกว่า ซึ่งเด็กที่ไปเรียน นอกจากเสียทั้งเงินจำนวนมากแล้ว ยังเสียเวลา แทนที่จะเอาเวลาเหล่านั้นไปเรียนรู้สิ่งที่จะมีประโยชน์ ที่จะสามารถใช้ทำมาหากินในอนาคตได้ ทว่า ... เด็กๆ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ยอมเสียเงิน เสียเวลา ด้วยความหวังว่า การได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยมีชื่อ จะช่วยคืนทุนในอนาคตได้ .... แต่เปล่าเลยครับ เด็กๆ ที่เคยชินกับการป้อนความรู้แบบจานด่วนเหล่านี้ จะไม่มีทักษะในการเรียนรู้เองได้ในระดับมหาวิทยาลัย เขาเหล่านั้นจะมุ่งเรียนเพื่อเอาเกรดไม่ใช่ความรู้ หรือ ทักษะที่ทำให้เกิดการได้เปรียบในการทำงานในอนาคต เมื่อเด็กเหล่านี้จบมาก็จะรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เหมือนคนอื่นๆ 

น่าสงสารประเทศไทยที่เราเลี้ยงดูเด็กด้วยระบบติวเตอร์ แทนที่จะให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างนะครับ การแข่งขัน คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาโอลิมปิก ประเทศไทยมีเด็กไปได้เหรียญทอง เงิน ทองแดง มานับไม่ถ้วน บางปีเราได้เหรียญมากกว่าประเทศที่ฉลาดกว่าเรา ไม่ว่าญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น เราอาจจะเผลอคิดว่า เด็กไทยเราฉลาดนะเนี่ยสามารถคว้าเหรียญมาได้ตั้งเยอะ แต่ .... เปล่าเลยครับ เด็กโอลิมปิกเหล่านั้นไม่ได้ฉลาดกว่าเด็กประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น แต่เพราะการติวโจทย์ต่างหาก เราใช้ทีมอาจารย์มหาวิทยาลัย ครูพี่เลี้ยง จำนวนมาก เพื่อติวข้อสอบเด็กเหล่านั้นจนได้เหรียญ ไม่ใช่เพราะเด็กเหล่านั้นฉลาด ... ไม่งั้นประเทศไทยก็คงเจริญกว่านี้ไปไหนต่อไหนแล้วครับ ไม่ต้องเป็นประเทศรายได้ปานกลางแบบนี้หรอกครับ แล้วไงครับ ผ่านมาหลายๆ ปีแล้ว เด็กเหรียญทองโอลิมปิกพวกนี้หายไปไหนกันหมด ทำไมเราไม่มีนักประดิษฐ์ นวัตกร วิศวกรเก่งๆ ที่มาจากเด็กเหล่านี้เลย กลายเป็นว่า คนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ สร้างตัว สร้างกิจการ เป็นวัยรุ่นพันล้าน กลับเป็นคนที่ครั้งหนึ่งเกือบเรียนไม่จบ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ลองมาดูอีกตัวอย่างหนึ่งกันครับ ในยุคหลังเราเริ่มมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น บางโรงเรียนก็เป็นระบบกิน-นอน คือ เรียนและใช้ชีวิตในโรงเรียนไปเลย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กที่ไปเรียนโรงเรียนเหล่านี้ ก็ไม่พ้นถูกครอบงำด้วยระบบติวเตอร์ เด็กๆ ถูกอัดด้วยเนื้อหาวิชาอย่างเข้มข้น อีกทั้งยังเรียนเกินวัย เช่น เรียนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ที่สอนในชั้นปี 2 ของมหาวิทยาลัย โรงเรียนมีการส่งเด็กเหล่านี้ไปฝึกทำวิจัยกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วย สิ่งที่ผมได้มีโอกาสเรียนรู้จากเด็กๆ 2-3 รุ่นก็คือ

- เด็กเหล่านี้ไม่มีความเป็นเด็ก ขาดจินตนาการ คิดนอกกรอบไม่เป็น
- เด็กเหล่านี้ไม่มีความสดชื่น หน้าตาตึงเครียดตลอดเวลา พูดเล่นด้วยไม่หัวเราะ
- เด็กเหล่านี้มีความคิดว่าตนเองเก่ง ฉลาด และมีความคาดหวังสูงในการได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง เมื่อได้รับคำชมเด็กเหล่านี้จะรู้สึกว่าตนเองสมควรได้รับอยู่แล้ว แต่เมื่อได้รับการติเตียน เด็กเหล่านี้จะทำใจไม่ได้
- เด็กเหล่านี้ถูกโอ้โลมมาเยอะ ได้รับการเอาใจใส่สูงในระบบติวเตอร์ เด็กจึงไม่พร้อมจะผิดพลาดหรือล้มเหลว ทั้งๆ ที่การล้มเหลวคือกระบวนการเรียนรู้ และสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน แก่ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเกือบทั้งนั้น
- เด็กเหล่านี้มีจริยธรรมในการทำงานไม่ได้มาตรฐาน เด็กมีตารางกิจกรรมแน่น แต่อยากจะทำให้ได้ทุกอย่าง ทำให้มากหรือเก่งกว่าเพื่อน เด็กหลายคนไม่รู้จักเรื่องของบุญคุณ
- เด็กเหล่านี้ขาดทักษะทางสังคม มีปัญหาในการสื่อสารกับคนอื่นๆ

สำหรับเด็กๆ ของ คุณพ่อ คุณแม่ทั้งหลาย ที่ไม่ได้ใช้บริการระบบติวเตอร์เหล่านี้ ผมก็ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ ที่บุตรหลานของท่านมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในตลาดแรงงานยุคใหม่ในอีก 10 ปีข้างหน้าครับ เพราะยุคหน้า เด็กๆ ที่เรียนรู้แบบทะลุทะลวงโลกเท่านั้นครับ จึงจะประสบความสำเร็จ !!!

13 มิถุนายน 2556

HRI 2014 - The 9th International Conference on Human-Robot Interaction



(Picture from http://www.wired.com/)

เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว 70% ของคนอเมริกันทำงานอยู่ในฟาร์ม แต่หลังจากการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งนำมาสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอีกไม่กี่สิบปีต่อมา ระบบอัตโนมัติได้เข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ของอาชีพมนุษย์ และทำให้อาชีพชาวไร่ ชาวนา ของชาวอเมริกันหดหายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกามีเกษตรกรเพียง 1% เท่านั้ แล้วคน 69% เหล่านั้นเปลี่ยนไปทำมาหากินอะไรหล่ะครับ ... ก็มาเป็นคนขับรถแท็กซี่ นักบิน โบรคเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์ ช่างภาพ นักเคมี นักออกแบบเว็บไซต์ วิศวกรหุ่นยนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนเป็นอาชีพที่ไม่เคยมีมาก่อน ชาวไร่ ชาวนา เหล่านั้น คงคาดไม่ถึงว่างานที่หายไปเพียงอาชีพเดียว จะถูกแทนที่ด้วยอาชีพที่มากมายจนยากที่จะจินตนาการ

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 มากกว่า 70% ของอาชีพและงานที่เรารู้จักในปัจจุบัน จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์  และสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับอาชีพที่หายไปในสมัยที่เกษตรกรครองโลก ก็จะเกิดขึ้นอีกครั้ง กล่าวคือ อาชีพที่หายไปก็จะถูกแทนที่ด้วยอาชีพใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งมันก็ยากที่จะจินตนาการตอนนี้ว่าอาชีพนั้นจะมีอะไรบ้าง ขนาดผมซึ่งเป็นคนที่ค่อนข้างจะจินตนาการสูง ก็คิดไม่ออกเหมือนกันครับว่าอีก 80 ปีข้างหน้า มันจะมีอาชีพอะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ อาชีพที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์นี่มีมากมายเลยครับ ได้แก่ นักบิน (ถูกแทนที่ด้วย auto-pilot และพวก drone ทั้งหลาย) ทหาร (ถูกแทนที่ด้วยกองทัพหุ่นยนต์) ศัลยแพทย์ (ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัด) พยาบาล (ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์พยาบาล) โบรคเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์ (ถูกแทนที่ด้วยโปรแกรมบอท) คนขับรถบรรทุก (ถูกแทนที่ด้วยรถบรรทุกขับเอง)  เภสัชกรร้านขายยา (ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์จ่ายยา) ชาวสวน (ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์เกษตรกร) แม่บ้านทำความสะอาด (ถูกแทนที่ด้วยฝูงหุ่นยนต์ดูดฝุ่น หุ่นทำความสะอาด) พนักงานจัดการของในโกดัง (ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์เก็บ/หา/โหลด ของ) เมื่อเร็วๆ นี้มีการพูดถึงการจะนำหุ่นยนต์แบบบินได้ หรือ drone มาใช้สำหรับส่งหนังสือพิมพ์ แทนพนักงานส่งหนังสือพิมพ์ 

โลกอนาคตเป็นโลกที่มนุษย์จะต้องใช้ชีวิตร่วมกับหุ่นยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะใกล้ชิดกับหุ่นยนต์มากขึ้นไปเรื่อยๆ แม้แต่อาจจะอยู่กับมันฉันท์ชู้สาวก็อาจเป็นไปได้ นักเทคโนโลยีหุ่นยนต์จึงต้องพยายามพัฒนาให้หุ่นยนต์มีความรู้สึก สัมผัส สามารถเข้าใจมนุษย์ จึงทำให้เกิดสาขาวิชาการที่เรียกว่า Human Robot Interactions เรียกย่อๆ ว่า HRI ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์ กับ มนุษย์ ซึ่งรวมถึงการสื่อสารระหว่างกัน การใช้ชีวิตร่วมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อให้สังคมมนุษย์สามารถใช้ชีวิตร่วมกับสังคมของหุ่นยนต์ได้อย่างปกติสุข

ในประชาคมวิจัยทางด้าน HRI เขามีการจัดการประชุม รวมตัวกัน เพื่ออัพเดตความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนความรู้กันทุกปีครับ ในปีหน้างานนี้จะไปจัดที่เมือง Bielefeld ประเทศเยอรมัน งาน HRI 2014 หรือชื่อเต็มว่า The 9th International Conference on Human-Robot Interaction จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 มีนาคม 2557 ครับ กำหนดส่งบทความฉบับเต็มคือวันที่ 9 กันยายน 2556

หัวข้อที่การประชุมนี้สนใจ ได้แก่

Socially intelligent robots
Robot companions
Lifelike robots
Assistive (health & personal care) robotics
Remote robots
Mixed initiative interaction
Multi-modal interaction
Long term interaction with robots
Awareness and monitoring of humans
Task allocation and coordination
Autonomy and trust
Robot-team learning
User studies of HRI
Experiments on HRI collaboration
Ethnography and field studies
HRI software architectures
HRI foundations
Metrics for teamwork
HRI group dynamics
Individual vs. group HRI
Robot intermediaries
Risks such as privacy or safety
Ethical issues of HRI
Organizational/society impact

12 มิถุนายน 2556

Digital Food - อาหารดิจิตอล (ตอนที่ 2)



เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสเข้าไปในงานเลี้ยงงานหนึ่ง ซึ่งมีไวน์ต่างๆ ให้ชิมฟรีตลอดงาน ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ในสังคมของคนดื่มไวน์นี้ มันมีอาชีพหนึ่งที่เรียกว่า ซอมเมอลิเยร์ (Sommelier) ซึ่งหน้าที่ของคนทำอาชีพนี้คือ เป็นผู้ดูแลและให้คำแนะนำลูกค้าที่เข้ามารับประทานอาหารในร้าน (ซึ่งแน่ละ ต้องเป็นร้านหรูๆ ระดับภัตตาคาร หรือ โรงแรมหรู) โดยพิจารณารสนิยมการดื่มไวน์ของลูกค้า ว่าลูกค้าชอบดื่มไวน์แนวไหน สไตล์การดื่มเป็นอย่างไร ชอบไวน์บอดี้หนักหรือเบา มีองุ่นพันธุ์อะไรชอบเป็นพิเศษมั้ย จากนั้นก็นำเสนอไวน์ที่มีในร้านให้ลูกค้าเลือก ซึ่งจริงๆ แล้ว ซอมเมอลิเยร์ที่เก่ง นอกจากจะรู้เรื่องไวน์ขั้นเซียนแล้ว ยังจะต้องมีจิตวิทยาในการนำเสนอด้วยนะครับ เช่น ซอมเมอลิเยร์ไม่จำเป็นต้องนำเสนอไวน์ตัวที่แพงที่สุด ดีที่สุดในร้าน แต่ต้องนำเสนอไวน์ที่เหมาะสมที่สุด สำหรับความต้องการของลูกค้า ต้องดูว่าลูกค้าเป็นมือใหม่หรือป่าว จะได้แนะนำไวน์ที่ในระดับ Introduction เพื่อให้ลูกค้าเรียนรู้กลิ่นและรสชาติ ถือเป็นการ learning ของลูกค้าไปในตัว ทั้งนี้ หากลูกค้าสนใจอยากรู้อะไร สามารถสอบถามซอมเมอลิเยร์ได้ทุกเรื่อง และซอมเมอลิเยร์จะยินดีให้บริการตอบคำถามที่เขารู้ นี่คือความเป็นมืออาชีพของซอมเมอลิเยร์ เลยครับ นอกจากนี้แล้ว ซอมเมอลิเยร์ ยังรับหน้าที่ดูแล บริหารจัดการไวน์ในร้าน ทั้งการสั่งไวน์มา การเก็บรักษา เพื่อรักษามาตรฐานของร้านอีกด้วย

อีกเรื่องที่ผมเกือบลืมกล่าวถึง (ถ้าลืมหล่ะ แย่เลย) ก็คือ นอกจากซอมเมอลิเยร์จะนำเสนอไวน์ในร้านให้ตอบสนองต่อรสนิยม และความต้องการของลูกค้าแล้ว ซอมเมอลิเยร์ยังจะต้องเลือกไวน์ให้เข้ากับอาหารที่ลูกค้าจะสั่งมารับประทานอีกด้วย ซอมเมอลิเยร์ต้องพิจารณาว่าไวน์ขวดไหนจึงจะเหมาะกับอาหารที่สั่งมา ดื่มแล้วมันจะเข้ากันมั้ย อะไรแบบนี้ครับ อันนี้สิครับ เป็นศาสตร์ที่ผมต้องตั้งข้อสงสัยขึ้นมาแล้วหล่ะสิว่า ซอมเมอลิเยร์ใช้ทักษะอะไร มาตรฐานอะไร มากำหนดว่าอะไรที่เรียกว่าเข้ากัน หรือไปด้วยกันได้ อะไรที่เข้ากันไม่ได้ ดื่มและทานร่วมกันไม่ได้ .... หลักการอะไรล่ะ ที่บอกว่ามันเข้ากันได้ กลมกล่อม หรือ ไม่ได้เรื่อง .... หรือว่าสิ่งนี้มันเป็นแค่ความรู้สึกของซอมเมอลิเยร์เท่านั้น

จริงๆ แล้ว เรื่องของตำรับอาหารที่เป็นที่ชื่นชอบในเรื่องรสชาติ ความเอร็ดอร่อย ความกลมกล่อมและติดลิ้นนั้น จะว่าไปก็อาจจะเป็นเรื่องของภูมิปัญญาชาวบ้านก็ว่าได้ เพราะแต่ก่อนนั้น การที่จะรู้ว่าส่วนประกอบอะไร ควรจะใช้กับอาหารอะไร การจับคู่เอาวัสดุทางอาหาร นู่น นี่ นั่น มาผสมกัน โดยผ่านกระบวนการทางอาหารที่แตกต่างกัน จะตำ คลุก ทอด ปิ้ง ย่าง จนกระทั่งได้ตำรับอาหารที่เป็นที่ถูกอกถูกใจนั้น ล้วนผ่านวิวัฒนาการ การลองผิด ลองถูก มาหลายชั่วคน จนกระทั่งคนรุ่นหลังที่จดจำมา ก็ไม่รู้หรอกว่า ทำไมส่วนประกอบนี้ถึงต้องคู่กับอันนั้น ถึงจะอร่อย

ถ้าเรามองอาหารทั้งจาน เป็นเหมือนที่รวมของวัสดุต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือโมเลกุลชนิดต่างๆ นั่นเอง การที่โมเลกุลต่างๆ เหล่านั้นมาอยู่รวมกัน แล้วทำให้ประสาทสัมผัสทางลิ้น และ จมูกที่ได้กลิ่นของเราเกิดชื่นชอบขึ้นมา ล้วนมีเหตุผล มีหลักการในตัวของมันเอง เช่น ต้มยำกุ้ง มีโมเลกุลอาหารและโมเลกุลกลิ่นชนิดต่างๆ ที่สร้างรสชาติและความอร่อยขึ้นมา ซึ่งสัดส่วนที่เหมาะสมของโมเลกุลเหล่านั้นที่มีอยู่ในตัวต้มยำกุ้ง ย่อมทำให้ต้มยำกุ้งเกิดความอร่อยขึ้นมา ทีนี้ หากเราใส่โมเลกุลที่แปลกๆ ลงไป หรือเปลี่ยนสัดส่วนของโมเลกุลที่เหมาะสม ก็อาจทำให้รสชาติของต้มยำกุ้งเปลี่ยนไปจนกระทั่ง "แหลกม่ายล่าย" เลยก็เป็นได้นะครับ

ถ้าสมมติฐานที่ผมกล่าวมามันมีหลักการที่เป็นไปได้ ทำไมเราจะไม่สามารถสร้างอาหารขึ้นมาจากการเอาโมเลกุลต่างๆ มาผสมกันล่ะครับ ดีไม่ดี เราอาจจะได้ตำรับอาหารแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน แถมอร่อยด้วย เผลอๆ ทำออกมาขายดีเป็นเทน้ำ เทท่า รวยไม่รู้เรื่องเลยนะครับ การที่เราสามารถสร้างอาหารด้วยการนำเอาโมเลกุลต่างๆ มาผสมกัน มีข้อดีมากมายคือ

(1) เราสามารถสร้างอาหารอะไรออกมาก็ได้ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สามารถทำงานแบบอัตโนมัติ เช่น การพิมพ์อาหารออกมาด้วย 3D Printing

(2) เราสามารถทดลองผสมนั่น ผสมนี้ เพื่อให้ได้สูตรอาหารที่อร่อย กลมกล่อม เป็นที่ชื่นชอบ โดยอาจทำบนคอมพิวเตอร์ด้วย Computer Simulation หรือ อาจจะใช้ระบบหุ่นยนต์ทำการทดลองผสมโมเลกุลอาหารในสูตรต่างๆ (Combinatorial Chemistry) เพื่อหาตำรับอาหารที่อร่อย

(3) อาหารจะเป็นสิ่งที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น สามารถส่งสูตรอาหารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อไปทำการผลิตที่ใดก็ได้ ต้มยำกุ้งก็จะมีรสชาติเดียวกันทั่วโลก (แน่นอน สามารถเปลี่ยนแปลงตามรสนิยมของแต่ละชาติได้ โดยให้คอมพิวเตอร์ออกแบบ)

สำหรับวันนี้ แค่นี้ก่อนนะครับ วันหลังผมค่อยมาคุยต่อเรื่องนี้ครับ