วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
26 พฤษภาคม 2556
ฤาจะสูญสิ้น กลิ่นกาแฟไทย (ตอนที่ 3) - The End of Thai Coffee
(Picture from http://depositphotos.com/)
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2556 ที่ผ่านมา ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จากพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) อย่างเป็นทางการจากสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะทำให้ไทยสามารถส่งออกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ไปยังกลุ่มตลาดบนของสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้น
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นการให้ความคุ้มครองชื่อหรือเครื่องหมายต่างๆ ที่เป็นชื่อเมือง หรือท้องถิ่น ที่ใช้บนฉลากของสินค้าต่างๆ โดยจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันทางภูมิศาสตร์ ทั้งนี้ GI มีความแตกต่างจากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เป็นกลุ่มชุมชน หรือ ผู้ประกอบการใดๆ ก็ตาม ที่มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้นๆ จึงจะสามารถใช้ชื่อ GI สำหรับผลิตสินค้านั้นได้ เช่น ไข่เค็มไชยา เฉพาะชาวไชยาเท่านั้นที่ทำขายได้ คนแถวราชบุรีมาทำขายแล้วใช่ชื่อไข่เค็มไชยา ถือว่าว่าละเมิดสิทธิ์ สิทธิในลักษณะดังกล่าวนี้ นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “สิทธิชุมชน” ซึ่งไม่สามารถนำสิทธิที่ได้รับไปอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ต่อได้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ เท่านั้นที่มีสิทธิใช้
จากข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ทำให้ทราบว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีการประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI ในประเทศไทยแล้วจำนวน 38 รายการ ซึ่งเป็นทั้งสินค้าที่มาจากภาคเกษตรกรรมโดยตรง และสินค้าที่มาจากภาคหัตถกรรมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น ส้มโอนครชัยศรี ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ สับปะรดภูแลเชียงราย กาแฟดอยตุง ศิลาดลเชียงใหม่ ผ้าไหมยกดอกลำพูน เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง ร่มบ่อสร้าง สับปะรดนางแล ไวน์ที่ราบสูงภูเรือ ไข่เค็มไชยา ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ หมูย่างเมืองตรัง มะขามหวานเพชรบูรณ์ ชมพู่เพชร เป็นต้น
จากความสำเร็จที่ประเทศไทยสามารถขึ้นทะเบียน GI ของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ใน EU ได้ ทำให้กรมทรัพย์สินทางปัญญามีดำริที่จะยื่นจดสินค้าอีก 2 ชนิดเพิ่มเติม ได้แก่ กาแฟดอยตุง และ กาแฟดอยช้าง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะกาแฟไทย โดยเฉพาะกาแฟ 2 ยี่ห้อนี้ ขึ้นชื่อในเรื่องของความหอมและรสชาติที่อร่อย เปรียบเทียบกับกาแฟที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว และ เวียดนาม แล้ว เหมือนฟ้ากับเหว การจด GI ในยุโรป จะช่วยทำให้กาแฟไทยได้รับความยอมรับในเรื่องคุณภาพ และจะสามารถขายใน EU ที่ราคาแพงๆ ได้ เป็นการยกระดับกาแฟไทยให้ขึ้นไปอยู่แนวหน้าของโลก หนีประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามที่ผลิตกาแฟคุณภาพต่ำในปริมาณมากๆ แน่นอนหล่ะ ... ในอนาคตคนไทยก็คงจะต้องจ่ายแพงขึ้นเพื่อบริโภคกาแฟคุณภาพดีของไทย แต่ผมคิดว่ากาแฟรสชาติดีๆ แล้วจ่ายแพงอีกสักนิด ก็น่าจะดีกว่ากาแฟรสชาติทั่วๆ ไปแต่ขายราคาสตาร์บัค ที่มีอยู่ดาษดื่นตามร้านกาแฟทั้งหลาย
สำหรับกาแฟแล้ว การมี GI หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ถือว่าเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น กาแฟดอยตุง ปลูกในสภาพแวดล้อมที่เป็นดอย สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 800 เมตร อยู่ในละติจูดที่เหมาะสม มีอากาศเย็นและปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสม ทำให้เมล็ดกาแฟมีการสะสมสารหอมระเหย (Aroma Molecules) เข้าไปในเมล็ดในจำนวน และสัดส่วนของสารหอมระเหยแต่ละชนิด ที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง นั่นคือ แม้จะเป็นกาแฟพันธุ์เดียวกัน คัดเอาเมล็ดพันธุ์เหมือนๆ กัน แต่ไปปลูกที่อื่น เช่น บนดอยในประเทศเวียดนาม ก็ไม่สามารถที่จะผลิตกา แฟที่มีกลิ่นและรสชาติเหมือนกันได้ .... นั่นคือ กาแฟดอยตุง ต้องปลูกที่ดอยตุงเท่านั้น ที่อื่นเอาไปปลูกยังไง ก็ไม่มีทางทำให้รสชาติเหมือนกาแฟดอยตุง เช่นเดียวกับกาแฟดอยช้าง ที่เมื่อได้ดื่มแล้ว สำหรับคนที่มีความสามารถในการจดจำรสชาติ ก็จะสามารถจำแนกได้ว่าเป็นกาแฟมาจากดอยช้าง ทั้งนี้เป็นเพราะสภาพแวดล้อมของพื้นที่ปลูก ทำให้รสชาติของกาแฟมีความแตกต่างกันนั่นเอง เช่นเดียวกับ เครื่องดื่มประเภทไวน์ ที่มีรสชาติแตกต่างกันตามพื้นที่เพาะปลูก
ดูเหมือนการสร้างอัตลักษณ์ให้แก่กาแฟไทยด้วยการจดทะเบียน GI จะค่อนข้างมาถูกทางแล้ว เพราะถือเป็นการยกระดับมาตรฐานของแบรนด์ไทย หนีคู่แข่งจากประเทศเวียดนาม แต่การมี GI เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถจะการันตีความได้เปรียบในระยะยาวได้ เพราะคู่แข่งก็สามารถจด GI ในภูมิศาสตร์ของเขาได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นกาแฟไทยจะต้องพยายามพัฒนา และรักษาคุณภาพของกลิ่นและรสชาติให้ดีกว่าคู่แข่ง พยายามนำความได้เปรียบในเรื่องของภูมิศาสตร์ที่ทำให้กาแฟของเรามีเอกลักษณ์เหนือคู่แข่งมาใช้ประโยชน์ พยายามรักษาเอกลักษณ์นั้นไว้ ซึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นแล้วในบ้านเราอย่างระบบ Smart Farm หรือ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ จะสามารถเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตรงนี้ได้
ป้ายกำกับ:
business,
climate change,
crisis,
Economy,
electronic nose,
food,
plant,
smart farm
25 พฤษภาคม 2556
Digital Food - อาหารดิจิตอล (ตอนที่ 1)
(Picture from http://www.dreamstime.com/)
หลายๆ ครั้งที่ผมสังเกตพฤติกรรมการทานอาหารของลูก โดยเฉพาะของกินเล่น หรือ ของหวาน เวลาคุณยายซื้อของหวานมาจากตลาด เช่น ขนมเทียน ข้าวเหนียวถั่วดำ ลอดช่อง ปลากริมไข่เต่า แล้วนำมาเสนอให้เด็กๆ ทาน .... ลูกๆ ของผมจะบอก "กินไม่เป็น" แล้วก็วิ่งไปหยิบเถ้าแก่น้อย หรือ เลย์ คนละถุงแล้วหนีไปเลย ไม่น่าเชื่อว่าขนมไทยเหล่านี้อีกไม่นานก็จะสูญพันธุ์ เพราะเด็กๆ ที่เกิดมาในยุค The New Millenium หรือปี ค.ศ. 2000 ที่เราเรียกว่า Gen M หรือ Gen Z นี้ พวกเขาไม่รู้จักของกินยุคที่ผมเป็นเด็กอีกแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่คนรุ่นผมตายกันหมด ก็คงไม่มีใครมาทำ ข้าวเหนียวถั่วดำขายแล้วหล่ะครับ คงจะเหลือแต่ขนมถุงอุตสาหกรรมแบบที่ขายในเซเว่น
แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ผมรู้สึกกังวล เพราะพฤติกรรมการกินอาหารของมนุษย์มันก็เปลี่ยนไปตามบริบทโลก และวิถีชีวิตในยุคต่างๆ ไม่เช่นนั้น เราก็คงต้องไปอนุรักษ์การกินเนื้อสัตว์ดิบๆ ของมนุษย์ยุคก่อนค้นพบไฟกันเป็นแน่ และสิ่งที่ผมจะเขียนในบทความซีรีย์นี้ ท่านผู้อ่านจะได้พบกับแนวคิดอันยิ่งสุดโต่งเข้าไปอีก แบบว่าพลิกโลกเลย เพราะอาหารในอนาคต ที่มนุษย์ยุคลูกๆ ของผมจะรับประทาน มันจะเปลี่ยนไปจากอาหารยุคของเราอย่างสิ้นเชิง เราจะกินอาหารที่มีลักษณะเดิมจากวัตถุดิบตั้งต้น เช่น เมล็ดข้าว ขาไก่ ปีกไก่ น้อยลง เราจะกินอาหารแบบที่เรียกว่า processed food เช่น แป้งจากข้าว นักเก็ตจากไก่ กันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาหารเหล่านั้นจะผลิตขึ้นมาจากกระบวนการใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น
- Vertical Farming หรือ การทำไร่ทำนาบนตึกสูง การผลิตอาหารจะเปลี่ยนจากการปลูกพืชผักกลางแจ้ง (Outdoor Agriculture) มาสู่ระบบ (Indoor Agriculture) กันมากขึ้น และจะเริ่มเปลี่ยนจากเกษตรในชนบท มาสู่เกษตรในเมือง (Urban Farming) เพราะอะไรหรือครับ เพราะว่าแนวโน้มในอนาคตนั้น ผู้คนจะย้ายเข้าสู่เมืองมากขึ้น (Urbanization) โดยสหประชาชาติประมาณว่าในปี ค.ศ. 2030 จะมีประชากรอาศัยในเมืองใหญ่ 5,000 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 8 พันล้านคน ดังนั้น หากกิจกรรมการผลิตอาหารย้ายมาอยู่ในเมือง จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน และเป็นการคืนพื้นที่เกษตรกรรมให้กลับสู่ธรรมชาติ การเกิด Vertical Farming ทำให้การผลิตทำในระบบปิด ในอาคารที่ควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งแน่หล่ะครับ ระบบดิจิตอลต่างๆ จะเข้ามาช่วยทำให้สิ่งที่เป็นไปได้
- In Vitro Meat หรือ การผลิตเนื้อแบบหลอดแก้ว เป็นการผลิตเนื้อสัตว์ขึ้นมาโดยไม่ต้องเลี้ยงสัตว์ ไม่ต้องฆ่าสัตว์ อยากจะกินอะไร ก็ผลิตสิ่งนั้นขึ้นมา เช่น เนื้ออกไก่ หรือ ปีกไก่ ผลิตขึ้นมาโดยเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้นขึ้นมา เป็นการเปลี่ยนจากเลี้ยงสัตว์ -> ปลูกสัตว์ แทน เหมือนปลูกต้นไม้ยังไงยังงั้นล่ะครับ และแน่นอน สิ่งนี้จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับ Vertical Farming คือระบบผลิตสามารถทำในอาคารสูง ในเมือง ไม่มีการปล่อยกลิ่นเหม็นสู่สิ่งแวดล้อมเหมือนฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ ในปัจจุบัน และแน่นอนครับ การทำ In Vitro Meat จะต้องมีระบบดิจิตอลเข้ามาช่วยดูแล ถึงจะเป็นไปได้
- Synthetic Biology หรือ ชีววิทยาสังเคราะห์ เป็นการผลิตอาหารโดยการไปดัดแปลงให้สิ่งมีชีวิตบางชนิด เช่น จุลินทรีย์ ทำงานเป็นโรงงานในการผลิตสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ยา วิตะมิน อาหารเสริม ต่างๆ ทั้งโดยการดัดแปลงพันธุกรรม การไปเปลี่ยนเมตาบอลิซึม หรือ การสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่ (Novel Organism) ซึ่งแน่นอน ระบบดิจิตอลจะเข้ามาช่วยในการตรวจวัด ควบคุม การผลิตแบบใหม่นี้
- Desktop Manufacturing และ 3D Printing เป็นการผลิตอาหารขึ้นมาด้วยกระบวนการพิมพ์แบบ 3 D เช่น เราสามารถดาวน์โหลดสูตรการทำคัพเค้กมาจากอินเตอร์เน็ต แล้วส่งสูตรนี้ผ่าน WiFi ไปยังเครื่องพิมพ์ 3D ในครัวของเรา จากนั้นเครื่องพิมพ์จะทำการพิมพ์ขนมเค้กออกมา ซึ่งก็จะมีรสชาติ ความอร่อย ไม่ต่างจากเค้กที่เราไปซื้อกินตามร้านเบเกอรี่ แต่เราสามารถพิมพ์ทานเองที่บ้าน
นี่เป็นแค่ตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาให้เห็นภาพนะครับ ต่อไปเทคโนโลยี Digital Food จะค่อยๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย เตรียมตัวรับกับของอร่อยๆ ใหม่ๆ อาหารของคนยุคอนาคตกันครับ
ป้ายกำกับ:
food,
nano-agriculture,
new paradigm,
synthetic biology
24 พฤษภาคม 2556
Micro Air Vehicle (ตอนที่ 4)
(Picture from http://www.kilowattrc.com/)
ตั้งแต่ต้นปี 2556 เป็นต้นมา หน่วยวิจัยของผมได้เริ่มทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานขนาดจิ๋ว (MAV หรือ Micro Air Vehicle) โดยหวังจะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้งานทางด้านการเกษตร การตรวจวัดสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงงานตรวจเฝ้าระวังภัยคุกคาม จะว่าไป ... ระดับของเทคโนโลยี MAV ในโลกก็พัฒนาไปค่อนข้างมากแล้ว ถ้าเรามัวแต่ไปพัฒนาเทคโนโลยีของเราเองก็ไม่มีทางทันฝรั่งแน่ หน่วยวิจัยของผมจึงเน้นการต่อยอดเทคโนโลยีของฝรั่ง โดยนำเทคโนโลยีของฝรั่งมาเพิ่มเติมเทคโนโลยีของเราเข้าไป เช่น การพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัด การใส่ไบโอเซ็นเซอร์ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ เข้าไป การพัฒนาระบบควบคุม ระบบซอฟต์แวร์ และระบบอัจฉริยะ เข้าไป ซึ่งก็จะทำให้เราตามหลังฝรั่งในบางเรื่อง แต่ก็เท่าทันหรือก้าวล้ำฝรั่งในบางเรื่องได้ เพราะในเรื่องของ MAV นี้ ต่อไปอีกไม่นาน มันจะเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญของโลก เรียกว่า ประเทศไหนไม่มีใช้ ประเทศนั้นจะกลายเป็นประเทศล้าหลังไปเลยหล่ะครับ
MAV เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก มันจะทำให้ภูมิทัศน์ของอำนาจ เศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนไปได้พอๆ กับการค้นพบดินปืน และ เครื่องจักรไอน้ำเลยหล่ะครับ ทุกวันนี้ รอบๆ ตัวเราก็มีอากาศยานขนาดจิ๋วบินไป บินมา ไปทั่วอยู่แล้ว ทั้งนก แมลงต่างๆ ผึ้ง แมลงปอ ผีเสื้อ ยุง จะว่าไปแล้ว สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากหุ่นยนต์บินได้ (Flying Robots) หากแต่อากาศยานจิ๋วเหล่านี้ เราไม่สามารถควบคุมและนำมันมาใช้งานได้ ลองคิดดูสิครับ ว่าหากเราสามารถควบคุมอากาศยานจิ๋วเหล่านี้ให้ทำงานตามที่เราต้องการ หรือ เราสามารถสร้างอากาศยานจิ๋วเหล่านี้ขึ้นมาใช้งานเองได้ วิถีชีวิตของมนุษย์เราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน ลองคิดดูว่าความเป็นส่วนตัวของเราจะหายไปหรือไม่ หากเราไม่สามารถแยกแมลงในธรรมชาติ ออกจากแมลงกล หรือ อากาศยานขนาดจิ๋วที่กำลังบินไปบินมา
ปัจจุบัน การพัฒนา Flying Robots ขนาดจิ๋วนั้น แบ่งออกเป็น 2 แนวทางครับคือ
(1) Bionic Insects คือการนำเอาแมลงในธรรมชาติมาดัดแปลง ด้วยการปลูกถ่ายวงจรอิเล็กทรอนิกส์ลงไปในตัวแมลง แล้วทำให้เราสามารถควบคุมแมลงนั้นให้ทำงานตามคำสั่ง ซึ่งสามารถทำสำเร็จกับแมลงหลายชนิดแล้ว เช่น ด้วง ผีเสื้อ แมลงสาบ เป็นต้น ข้อดีของแนวทางนี้คือ แมลงในธรรมชาติทำตัวเป็นหุ่นยนต์ตามคำสั่งของเราได้ โดยการดัดแปลงระบบประสาท ทำให้เราไม่ต้องไปพัฒนาระบบพลังงานของแมลง รวมทั้งระบบการบินที่มีความซับซ้อน เรียกว่าเป็นการหลอกแมลงในธรรมชาติมาใช้งาน แต่ปัญหาก็คือ แมลงเป็นสัตว์ที่มีอายุสั้น ทำให้อายุการใช้งานแมลงเหล่านี้มีความจำกัด นอกจากนั้น แมลงยังมีความอดทนต่ออุณหภูมิค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในอากาศเย็น มันจะมีความตื่นตัวน้อยลง ซึ่งทำให้การใช้งานในสภาพแวดล้อมแบบโหดร้ายทำได้ยาก ต่างจากหุ่นยนต์แมลงที่เป็นจักรกล 100 เปอร์เซ็นต์
(2) Micro/Nano Drones เป็นการสร้างหุ่นยนต์บินได้ (Flying Robots) หรือ อากาศยานจิ๋วขึ้นมา โดยอาจจะเลียนแบบธรรมชาติ (Biomimetics) เช่น รูปแบบการบิน หรือ ลักษณะปีกของแมลง แนวทางนี้มีข้อได้เปรียบในเรื่องของอายุการใช้งานที่เหนือแมลงในธรรมชาติ แต่ระดับของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ถูกจำกัดด้วยความจุของแบตเตอรีที่ค่อนข้างน้อย ทำให้การปฏิบัติงานในแต่ละครั้งมีระยะเวลาไม่กี่นาที แต่เชื่อว่าในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีของนาโนแบตเตอรีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น อากาศยานจิ๋วเหล่านี้จะมีเวลาในการบินนานขึ้นจนใช้งานได้จริง
จากการที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามา ได้ลงนามในกฎหมายที่จะมีการอนุญาตให้อากาศยานไร้นักบิน (Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV) หรือ drone สามารถใช้งานในสหรัฐอเมริกาได้นั้น ทำให้ตลาดของ drone ทั้งแบบที่เป็น UAV และ MAV จะเกิดการเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล ปัจจุบันมีการออกใบอนุญาตให้หน่วยงานรัฐ 56 แห่ง หน่วยงานด้านยุติธรรม 22 แห่ง มหาวิทยาลัยอีก 24 แห่ง สามารถใช้งาน drone ได้บนน่านฟ้าสหรัฐฯ นี่ยังไม่นับรวมบริษัทเอกชน และ การใช้งานส่วนบุคคลที่จะเกิดขึ้นอีกมากมายมหาศาล รวมไปถึง nano drone ซึ่งจะมีขนาดที่เล็กกว่า MAV เข้าไปอีก ซึ่งไม่จำเป็นต้องขออนุญาต ทำให้เทคโนโลยีนี้มีมูลค่าตลาดอีกมากมายเหลือเกินครับ ... แน่นอนนี่ยังไม่นับรวมหุ่นยนต์แบบฝูง (Swarm Robots) อื่นๆ ที่ทำงานบนบก และ ในน้ำ ซึ่งจะทำให้สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา มีสภาพแวดล้อมแบบอัจฉริยะ (Ambient Intelligence) เต็มไปหมด
ป้ายกำกับ:
intelligent battlefield,
MEMS,
military,
sensor networks,
swarm intelligence
13 พฤษภาคม 2556
3rd World Congress on Information and Communication Technologies (WICT 2013)
เมื่อปลายปี ค.ศ. 2015 มาถึง ประเทศอาเซียนจะรวมเป็นทองแผ่นเดียวกัน เกิดการแลกเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การใช้ชีวิต การท่องเที่ยว การศึกษา ซึ่งจะทำให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ กันมากขึ้นด้วย น่าแปลกใจว่า ในวงการวิชาการ หรือ ในวงการมหาวิทยาลัย เรามีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างประเทศอาเซียนน้อยมากๆ ไม่เหมือนทาง EU ซึ่งก่อนจะรวมเป็นสหภาพยุโรป เค้ามีการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการอย่างเข้มแข็งมานานแล้ว และเมื่อมาถึงการรวมเป็น EU อย่างสมบูรณ์ แม้แต่ตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย ของเค้าก็เปิดเสรีให้ประเทศสมาชิกสามารถสมัครได้ แต่ในอาเซียนของเราเองนั้น เรามีกิจกรรมทางวิชาการน้อยมากๆ ไม่ว่าจะเรื่องของความร่วมมือทางวิชาการ การจัดประชุม การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา ทุนการศึกษาต่างๆ เรายังมีจำนวนของนักศึกษาจากในอาเซียนมาเรียนน้อยมากๆ แต่ผมก็หวังว่า หลังจากเราเปิด AEC อย่างสมบูรณ์ สิ่งนี้น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
สำหรับประเทศใน AEC ด้วยกัน ที่ผ่านมาเรื่องของวิชาการ และ เทคโนโลยีแข่งกันอยู่แค่ 3 ประเทศคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ไทย การประชุมต่างๆ ที่เป็นงานประชุมระดับนานาชาติ หรือ ระดับโลก มักจะเลือกมาจัดกันใน 3 ประเทศนี้ นานๆ ทีก็มีบ้างที่ไปจัดที่อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ แต่ในระยะหลังๆ นี้ ผมเริ่มสังเกตเห็นการประชุมนานาชาติทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะภายใต้แบรนด์ดังอย่าง IEEE (Institute of Electrical and Electronics Engineers) มาจัดในเวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นการชี้เทรนด์ให้เห็นว่าชาวเวียดนามเริ่มมีกิจกรรมคึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ ทางด้านวิศวกรรม และในเวทีนานาชาติ
วันนี้ผมขอเสนอการประชุมหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาก จะจัดขึ้นที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2556 โดยการประชุมนี้จัดพร้อมกัน 2 งานประชุมในที่เดียวกัน และตอนนี้ก็กำลังเปิดรับผลงานวิจัยฉบับเต็มอยู่ครับ ไปจนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2556 งานประชุมทั้ง 2 งานมีรายละเอียดของเนื้อหาการประชุมที่เป็นที่สนใจดังนี้ครับ
3rd World Congress on Information and Communication Technologies (WICT 2013)
มีหัวข้อที่สนใจดังนี้ (รายละเอียดของแต่ละ Track สามารถเข้าไปที่ website ได้ครับ)
Track 1 - Bioinformatics and Computational Biology
Track 2 - Computer Graphics and Virtual Reality
Track 3 - Data Mining
Track 4 - e- Learning
Track 5 - e- Business
Track 6 - e- Goverment
Track 7 - Artificial Intelligence
Track 8 - Web Services and Semantic Web
Track 9 - Grid and Cloud Computing
Track 10 - Ambient Intelligence
Track 11 - Body Sensor Networks
Track 12 - Computational Finance and Economics
Track 13 - Cybercrime (Legal and Technical Issues)
Track 14 - Computer Network Security
Track 15 - Data Mining for Information Security
Track 16 - Academic Integrity, Plagiarism Detection and Software Misuse
Track 17 - Intrusion Detection and Forensics
Track 18 - Scheduling for large scale distributed system
Track 19 - The Role of Technology in Education and Health
Track 20 - Nature Inspired Optimization Algorithms and their Applications
Track 21 - Data management
Track 22 - Collaborative Design in Knowledge-based Environment
Track 23 - Software Engineering
Track 24 - Networking and Communication
The International Conference of Soft Computing and Pattern Recognition (SoCPaR 2013)
มีหัวข้อที่สนใจดังนี้
Soft Computing and Applications (but not limited to):
Evolutionary computing
Swarm intelligence
Artificial immune systems
Fuzzy Sets
Uncertainty analysis
Fractals
Rough Sets
Support vector machines
Artificial neural networks
Case Based Reasoning
Wavelets
Hybrid intelligent systems
Nature inspired computing techniques
Machine learning
Ambient intelligence
Hardware implementations
Pattern Recognition and Applications (but not limited to):
Information retrieval
Data Mining
Web Mining
Image Processing
Computer Vision
Bio-informatics
Information security
Network security
Steganography
Biometry
Remote sensing
Medical Informatics
E-commerce
Signal Processing
Control systems
ป้ายกำกับ:
artificial intelligence,
conference,
machine vision,
Vietnam
09 พฤษภาคม 2556
Spy Technology for Farming (ตอนที่ 6)
แม้เกษตรกรรมจะไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจที่เป็นรายได้หลักของประเทศไทยอีกต่อไป แต่ภาคเกษตรก็ยังมีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงปากท้องประเทศ เป็นภาคส่วนที่มีฐานประชากรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และน่าจะยังเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แม้ว่าประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ใน AEC จะพยายามแข่งขันกันเพื่อให้มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ต่างคนต่างมุ่งพัฒนาเพื่อไปเป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่เอาเข้าจริงเราก็ไม่สามารถทิ้งรากเหง้าของเราได้ ด้วยความที่ประเทศไทยมีที่ตั้งที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีสภาพภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศที่เหมาะจะทำไร่ ทำนา ทำสวน ดังนั้นอย่างไรเสีย เราก็จะยังคงโดดเด่นในเรื่องเกษตรต่อไปอีกนาน ทางที่ดีเราควรจะนำความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นการคิดเอง หรือต่อยอดจากคนอื่น มาเสริมสร้างเกษตรกรรมของเราให้มันมีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เราเองยิ่งมีความได้เปรียบ และมีความโดดเด่นในสินค้าเกษตรอาหารมากยิ่งขึ้น
แนวคิดหนึ่งที่ทีมวิจัยของผมกำลังพัฒนาอยู่ ก็คือการนำเอาเทคโนโลยีทางการทหารมาใช้ในทางการเกษตร เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นไร่นา ทหารเค้ามี 3 เหล่าทัพคือทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ ผมก็คิดจะพัฒนาฝูงหุ่นยนต์การเกษตรนี้ให้มี 3 ทัพเหมือนกัน โดยที่จะนำมาเล่าในบทความตอนนี้ จะเป็นหุ่นยนต์ลาดตระเวณทั้ง 3 เหล่าทัพเลย ซึ่งจะเข้ากับหัวข้อ Spy Technology for Farming
(1) หุ่นยนต์ลาดตระเวณทัพบก
เจ้าหุ่นทัพบกนี้ จะวิ่งออกทำงานกันเป็นฝูง เพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติต่างๆ ในไร่ หรือ สุ่มตัวอย่างๆ ในไร่ ไม่ว่าจะเป็นความชื้นในอากาศเหนือผิวดิน ความชื้นในดิน สภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความอุดมสมบูรณ์ของพืช ลักษณะใบ สภาพผลผลิต และภัยคุกคามต่างๆ โรคพืช วัชพืช และแมลง หัวใจของกองทัพบกคือเซ็นเซอร์หลากหลายชนิดที่ติดตั้งบนหุ่นยนต์ ความสามารถในการสื่อสารและทำงานเป็นฝูงที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ที่สำคัญคือการที่มันต้องทำงานได้ด้วยตนเอง (autonomous) ซึ่งทำให้หุ่นยนต์ต้องมีพลังงานเพียงพอที่จะทำงานทั่วไร่ โดยจะต้องมีสถานีให้แวะเติมพลังงาน เมื่อหุ่นยนต์มีแบตเตอรีอ่อน หุ่นยนต์สามารถแวะมาเติมพลังงานได้ ซึ่งหากแบตเตอรีมีไฟไม่เพียงพอ หุ่นยนต์จะหยุดทำงานชั่วคราวในพิกัดที่เหมาะสม เพื่อชาร์จไฟจากแสงอาทิตย์ให้เพียงพอที่จะเดินทางมายังสถานีเติมพลังงานได้
(2) หุ่นยนต์ลาดตระเวณทัพเรือ
เจ้าหุ่นทัพเรือนี้ จะถูกปล่อยให้ลอยออกไปตรวจตราและเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำ ไม่ว่าจะเป็นความขุ่น ความลึก ปริมาณออกซิเจนในน้ำ ค่า pH ความเค็ม ปริมาณอินทรีย์สาร ก๊าซแอมโมเนีย เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมันไปปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบเหนือเขื่อน บึงต่าง ทะเลชายฝั่ง หรือแม้แต่ในพื้นที่บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่ โดยเจ้าหุ่นทัพเรือสามารถจะลอยไปตามพิกัดต่างๆ ที่กำหนด ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมันจะทำงานเป็นเครือข่าย ส่งข้อมูลแบบไร้สายมายังคอมพิวเตอร์ศูนย์กลาง ซึ่งผู้ใช้สามารถติดตามคุณภาพของน้ำได้อย่างเรียลไทม์
(3) หุ่นยนต์ลาดตระเวณทัพอากาศ
เจ้าหุ่นทัพอากาศนี้ มีหน้าที่ตรวจตราทางอากาศ ซึ่งสำหรับการเกษตรจะมีประโยชน์หลายอย่างเลยครับ เช่น การถ่ายภาพสภาพความอุดมสมบูรณ์ของต้นพืช สภาพผลผลิตต่างๆ โดยหากมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่เหมาะสม มันก็สามารถจะตรวจตราหาความผิดปกติในไร่นาได้ จากการที่มันมีต้นทุนที่ต่ำมากๆ ทำให้การบินขึ้นของมันทำได้บ่อยครั้ง และสามารถเก็บภาพของไร่นาได้มากเท่าที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถที่จะเก็บข้อมูลสภาพการเจริญเติบโตของพืชในบริเวณกว้างเพื่อเปรียบเทียบทั้งไร่ได้ง่ายขึ้น เจ้าหุ่นทัพอากาศยังสามารถใช้สนับสนุนทัพบก และทัพเรือได้เป็นอย่างดี เช่น เราอาจจะดัดแปลงให้หุ่นยนต์ทัพบก หรือ หุ่นยนต์ทัพเรือสามารถปล่อยเจ้าหุ่นทัพอากาศจากพิกัดใดๆ ก็ได้ แล้วให้บินกลับมาลงบนหุ่นยนต์แม่ ทำให้เราสามารถมีข้อมูลทั้งบนบก ในน้ำ และทางอากาศของพื้นที่การเกษตรได้ครบถ้วน
จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีทางการทหาร เมื่อนำมาปรับใช้สำหรับการเกษตร มันก็สามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้มากมายจริงๆ ครับ
ป้ายกำกับ:
agritronics,
precision agriculture,
precision farming,
robotics,
smart farm
03 พฤษภาคม 2556
IEEE Robio 2013 - International Conference on Robotics and Biomimetics
Biomimetic Engineering หรือ วิศวกรรมเลียนแบบธรรมชาติ เป็นศาสตร์ที่กำลังมาแรงแซงขวาขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลกวิศวกรรม อยู่ ณ ขณะนี้ Biomimetics อาจแบ่งออกได้เป็น 3 แนวทาง ได้แก่
(1) Mechanism-driven Biomimetics เป็นแนวทางที่ต้องการแก้ปัญหาทางวิศวกรรม โดยแสวงหาตัวอย่างในธรรมชาติ เข้าไปศึกษามันเพื่อให้เข้าใจ จากนั้นนำองค์ความรู้มาแก้โจทย์ที่ตั้งไว้แล้ว เช่น Self-cleaning Materials (Lotus Effect) ที่พยายามหาวัสดุที่ทำความสะอาดตัวเองได้เหมือนใบบัว
(2) Organism-Driven Biomimetics เป็นการศึกษาสิ่งมีชีวิตเพื่อเสาะหา สมบัติเด่นๆ ของมันสักอย่าง แล้วนำคุณสมบัตินั้นมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ตีนตุ๊กแก
(3) Integrative Biomimetics เป็นแนวทางที่ผสมผสานแนวทางทั้งคู่ที่กล่าวมาข้างต้น เช่น การศึกษาการเคลื่อนที่ของแมลงสาบ เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่ สามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีข้างเคียง เช่น เซ็นเซอร์ มอเตอร์จิ๋ว กล้ามเนื้อเทียม ก็สามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้ด้วย
ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมเลียนแบบธรรมชาติ (Biomimetic Engineering) ชีววิศวกรรมศาสตร์ (Bioengineering) และ หุ่นยนต์ศาสตร์ (Robotics) รวมไปถึงการหลอมรวมของศาสตร์เหล่านี้เข้าด้วยกัน ได้รับการคาดหมายว่าจะเข้าครอบครองหัวข้อวิจัยในทศวรรษนี้ (ค.ศ. 2010-2020) วันนี้ผมขอนำการประชุมทางวิชาการในศาสตร์แนวหน้าเหล่านี้ มาแนะนำ เผื่อมีใครสนใจจะไปเข้าร่วมนะครับ
การประชุม IEEE Robio 2013 - International Conference on Robotics and Biomimetics ในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2556 ที่เมืองเสินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีกำหนด Full Paper ในวันที่ 15 สิงหาคม 2556 ซึ่งนับว่ายังมีเวลาอีกสักระยะ สำหรับผู้ที่สนใจจะส่งผลงานเข้าร่วมประชุมนะครับ หัวข้อประชุมว่ามีอะไรบ้างยังไม่ประกาศในรายละเอียด แต่โดยทั่วไป เนื้อหาก็จะเป็นเรื่องราวทั้งหลายเกี่ยวกับ Robotics และ Biomimetics รวมถึงหัวข้อที่เกิดจากการแต่งงานข้ามศาสตร์กัน ระหว่าง 2 สาขานี้ครับ ซึ่งภาพรวมที่เป็นที่สนใจ หรือ Theme ของการประชุมครั้งนี้คือ "Robots living with human being in modern society"
ป้ายกำกับ:
biomimetics,
biorobotics,
conference,
robotics
02 พฤษภาคม 2556
Water Monitoring Sensor Networks - เครือข่ายเซ็นเซอร์ในน้ำ (ตอนที่ 4)
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ชีวิตกับน้ำ หรือเกี่ยวข้องกับน้ำเป็นอย่างมาก ภาคเกษตรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะมีชีวิตและความเป็นอยู่ดีหรือไม่ก็ขึ้นกับน้ำ คนกรุงเทพจะนอนหลับฝันดีมีความสุขหรือไม่ ก็ขึ้นกับว่าปีนั้นน้ำเหนือจะลงมามากเกินไปหรือไม่ ทว่า ... สภาวะโลกร้อนที่นับวันจะรุนแรงขึ้น ได้ทำให้คนไทยจะต้องใช้ชีวิตบนความเสี่ยงและเดิมพันมูลค่าสูงขึ้น ๆ ทุกปี ต้องคอยลุ้นกันว่าปีนี้น้ำจะแล้งหรือน้ำจะท่วม หรือจะมีทั้ง 2 อย่างมาพร้อมๆ กันเลย ทั้งๆ ที่เรื่องของน้ำมีความสำคัญกับคนไทยมากถึงเพียงนี้ แต่ประเทศเรากลับไม่ค่อยมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับน้ำของตนเองเลย เครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศและค่อนข้างล้าสมัย เพราะเครื่องมือที่ทันสมัยส่วนใหญ่ของต่างประเทศยังอยู่ในขั้นของการวิจัยและยังไม่นำออกขาย ดังนั้นหากประเทศไทยอยากจะมีเครื่องมือที่ทันสมัยในการตรวจวัดน้ำ เราก็จะต้องพัฒนาขึ้นเอง ซึ่งการที่เราพัฒนาเทคโนโลยีตรวจวัดน้ำขึ้นมาในสภาพแวดล้อมจริงของประเทศไทย ก็จะทำให้เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่าของต่างประเทศ ในบริบทของประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะใช้ได้ในประเทศแล้ว ยังสามารถส่งออกไปขายในกลุ่มประเทศอาเซียน (AEC) อินเดีย บังคลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศเขตร้อนที่มีปัญหาเรื่องน้ำอย่างรุนแรงได้อีกด้วย
แม้บ้านเราจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำมากมาย แต่เรากลับไม่ค่อยมีเทคโนโลยีที่จะใช้ในการ "รู้" ข้อมูลที่เกี่ยวกับน้ำเท่าใดนัก ในช่วงที่เกิดมหาอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 ประเทศเราพึ่งพาข้อมูลจากดาวเทียมเป็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็น Remote Sensing หรือ เทคโนโลยีรับรู้ระยะไกล ซึ่งทำให้เราไม่สามารถรู้ข้อมูลน้ำ ณ เวลาจริง (Real Time) ไม่สามารถรู้การไหลของน้ำ ระดับความลึกของน้ำ คุณภาพของน้ำ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีรับรู้ระยะใกล้ (Proximal Sensing) ในที่สุดก็สะท้อนออกมาเป็นความล้มเหลวในการจัดการน้ำ ท่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเราจึงควรมีเทคโนโลยีทั้ง 2 แบบ เพื่อเอาไว้ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ เครื่องมือทั้ง 2 อย่างนี้ ความรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้
• เทคโนโลยีรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลน้ำสำหรับพื้นที่กว้าง โดยอาศัยคลื่นแสงในช่วงความยาวคลื่นต่างๆ และ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ เช่น เรดาห์ ไมโครเวฟ คลื่นวิทยุ เป็นต้น โดยอุปกรณ์รับรู้เหล่านั้นมักจะติดตั้งบนอากาศยาน ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องบินทางอุตุนิยมวิทยา อากาศยานไร้นักบิน (Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV) และ ดาวเทียม เป็นต้น เทคโนโลยี Remote Sensing เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่กว้าง จึงมักจะขาดรายละเอียดในพื้นที่เฉพาะที่ใดที่หนึ่ง ข้อมูลที่ได้มีขีดจำกัดมาก เช่น อาจรู้แค่เพียงปริมาณที่น้ำครอบคลุมพื้นที่ แต่ไม่สามารถรู้ข้อมูลการไหล รวมทั้งพารามิเตอร์อื่นๆ เช่น ความลึก คุณภาพความสะอาดของน้ำ ปริมาณออกซิเจน ค่า pH อัตราการระเหยของน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้เทคโนโลยี Remote Sensing ค่อนข้างมีราคาสูง ทำให้ผู้ที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้มีจำกัด ซึ่งมักจะเป็นหน่วยงานรัฐ
• เทคโนโลยีรับรู้ระยะใกล้ (Proximal Sensing) อาศัยเซ็นเซอร์ตรวจวัดข้อมูลต่างๆ ได้โดยตรงในจุดที่สนใจ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจอากาศบนผิวน้ำ (Weather Station) เซ็นเซอร์ตรวจวัดการไหลของน้ำ เซ็นเซอร์ตรวจวัดความลึก เซ็นเซอร์ตรวจวัด pH เซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในน้ำ เป็นต้น เซ็นเซอร์เหล่านี้สามารถที่จะนำไปติดตั้งไว้ตามจุดตรวจวัดข้างแม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หรืออาจจะนำไปลอยในน้ำ แล้วปล่อยให้เคลื่อนที่ไปทำงานเพื่อครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย เครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายที่วงการอุตสาหกรรมเรียกกันว่า “ฝุ่นฉลาด” (Smart Dust) เหล่านี้สามารถคุยกันและส่งผ่านข้อมูลให้แก่กันและกันได้ หากเราสอบถามข้อมูลไปยังเซ็นเซอร์ที่อยู่ใกล้ที่สุดเพียงตัวเดียว ข้อมูลทั้งหมดของเซ็นเซอร์ทุกตัวก็จะสามารถถ่ายทอดมายังศูนย์ข้อมูลได้ทันที เนื่องจากเทคโนโลยีแบบ Proximal Sensing มีราคาถูกกว่าเทคโนโลยีแรกมาก จึงทำให้ผู้ที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้มีความกว้างขวางกว่า เช่น ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ โรงงานอุตสาหกรรม เทศบาล มหาวิทยาลัย และหน่วยงานท้องถิ่นที่ต้องการดูแลและจัดการน้ำ ทั้งนี้จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องพัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์แบบ Proximal Sensing ขึ้นใช้งานให้ได้
ในช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปี พ.ศ. 2554 นั้น ได้แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานจัดการน้ำท่วมของรัฐบาลนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลจาก Remote Sensing เป็นหลัก ทำให้มีขีดจำกัดในการจัดการน้ำท่วมเป็นอย่างมาก เพราะไม่ทราบว่าน้ำที่วิ่งอยู่ในทุ่งต่างๆ นั้นมีระดับความลึกเท่าใด อีกทั้งเซ็นเซอร์แบบ Proximal Sensing นั้น ส่วนใหญ่ติดตั้งอยู่กับที่ ตามสถานีชลประทานต่างๆ ริมแม่น้ำสายหลัก เซ็นเซอร์เหล่านี้ใช้ตรวจวัดการไหลของน้ำ ทำให้ทราบปริมาณน้ำที่ไหลในแม่น้ำสายต่างๆ แต่เซ็นเซอร์เหล่านี้จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อน้ำยังไม่เอ่อล้นแม่น้ำ ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมนั้น น้ำได้เอ่อล้นแม่น้ำไปแล้ว ทำให้การคาดการณ์ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าท่วมทุ่งภาคกลาง ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์เหล่านี้อีกต่อไป แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นอีกประการที่ประเทศเราจะต้องมีเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่สามารถลอยตามน้ำได้
นอกจากนี้ เทคโนโลยีแบบ Proximal Sensing ที่ประเทศไทยมีใช้อยู่โดยกรมชลประทาน และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร นั้นเน้นการตรวจวัดความมีอยู่ของน้ำ เช่น อัตราการไหล ความลึก เพื่อบริหารการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ และจัดการกับภัยพิบัติ (น้ำท่วม) ไม่ค่อยให้ความสนใจไปที่คุณภาพของน้ำ (อุณหภูมิ ความขุ่น ความเป็นกรดด่าง ค่าออกซิเจน แอมโมเนีย ความลึก การไหลของน้ำ อุณหภูมิและความชื้นในอากาศ ปริมาณแสง กลิ่น ความเร็วและทิศทางลมเหนือผิวน้ำ ความกดอากาศ อัตราการระเหย ปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำ ฯลฯ) ทำให้ผมมีแนวคิดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีแบบ Proximal Sensing ที่เน้นการตรวจวัดพารามิเตอร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพน้ำ รวมทั้งข้อมูลน้ำแบบเดิมด้วย โดยจะพัฒนาให้เป็นระบบเซ็นเซอร์ลอยน้ำ ที่สามารถปล่อยให้ลอยน้ำไปเก็บข้อมูลยังพิกัดที่ต้องการ เซ็นเซอร์ลอยน้ำเหล่านี้สามารถสื่อสารเป็นระบบเครือข่ายกับพวกเดียวกันเอง และกับศูนย์รับข้อมูล เมื่อนำข้อมูลจากพื้นที่จริงมาประกอบกับข้อมูลดาวเทียม เราก็จะได้ข้อมูลน้ำท่วมที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การจัดการที่ถูกต้องกว่าที่เป็นอยู่ได้
ป้ายกำกับ:
sensor networks,
smart environment,
water
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)