03 มีนาคม 2556

ฤาจะสูญสิ้น กลิ่นกาแฟไทย (ตอนที่ 2) - The End of Thai Coffee



(ภาพจาก http://www.chiangraibulletin.com)

กาแฟไทยหอมๆ ช่วยเติมเต็มชีวิตของเราให้มีความสดชื่น เบิกบานทุกๆ เช้า นี่หล่ะครับ พระเอกตัวจริงที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย วันนี้เรามาคุยกันต่อเรื่องกาแฟไทยกันนะครับ

กาแฟไม่ใช่พืชพื้นเมืองของไทยก็จริง แต่เชื่อกันว่ามีการปลูกกาแฟในเมืองไทยกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วครับ เมื่อประมาณห้าสิบกว่าปีที่แล้ว (พ.ศ. 2503) ประเทศไทยเคยมีพื้นที่ปลูกกาแฟเพียง 19,000 ไร่ โดยให้ผลผลิตได้แค่ 750 ตันเท่านั้น ทำให้ในช่วงนั้นประเทศไทยต้องนำเข้ากาแฟมากถึง 6,000 ตัน ทำให้รัฐบาลไทยเริ่มรณรงค์การปลูกกาแฟอย่างจริงจังนับตั้งแต่นั้น เพื่อจะเพิ่มพื้นที่ปลูกกาแฟให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ นับตั้งแต่นั้นพื้นที่เพาะปลูกกาแฟก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2540 ปีเดียวกับวิกฤตการต้มยำกุ้ง ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟมากถึง 500,000 ไร่ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ แต่ทว่าหลังจากนั้น พื้นที่กาแฟไทยก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ จนคาดว่าในปีนี้น่าจะเหลือไม่ถึง 280,000 ไร่ โดยมีผลผลิตเหลือเพียง 40,000 ตัน จากที่เคยผลิตได้ 9 หมื่นตัน ซึ่งสวนทางกับความต้องการบริโภคกาแฟของคนไทยที่นับวันจะมีแต่มากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ทำให้คนไทยทุกวันนี้บริโภคกาแฟโดยเฉลี่ย 200 แก้วต่อคนต่อปี ซึ่งยังถือว่าสามารถเติบโตได้อีกนะครับ เพราะประเทศที่เป็นสังคมเมือง และมีคนชั้นกลางเป็นฐานเศรษฐกิจชาติอย่างญี่ปุ่นเขาดื่มกันมากถึง 500 แก้วต่อคนต่อปี ส่วนสหรัฐอเมริกายิ่งมากเข้าไปอีก ซดกันเป็นน้ำถึง 800 แก้วต่อคนต่อปีกันเลยทีเดียว

พื้นที่ปลูกกาแฟในประเทศไทยนั้น แบ่งออกเป็นโรบัสต้ามากถึง 95% มีกาแฟอราบิก้าเพียง 5% เท่านั้น โดยกาแฟโรบัสต้าปลูกมากทางภาคใต้ โดยเฉพาะชุมพรกับระนอง แต่ในระยะหลังๆ พื้นที่ปลูกลดลงไปเรื่อยๆ ทุกปี ส่วนกาแฟอราบิก้าที่มีความหอมละมุน และรสชาติอร่อยนั้น ชอบอากาศเย็น จึงมักปลูกในภาคเหนือ แถวจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน เป็นกาแฟที่คนไทยนิยมบริโภค ขายได้ราคาดี  แนวโน้มมีความนิยมในการปลูกเพิ่มขึ้น แต่มีต้นทุนการดูแลรักษามากกว่ากาแฟจากประเทศลาว และ เวียดนาม กาแฟอราบิก้าไทยจึงต้องพยายามแข่งขันด้วยการชูเอกลักษณ์ด้านกลิ่น และ รสชาติ ที่ค่อนข้างแตกต่าง เพื่อให้สามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่า จะว่าไป ใช่ว่าผมจะเข้าข้างประเทศตัวเองนะครับ แต่กาแฟไทยอร่อยกว่ากาแฟของลาว และ เวียดนามจริงๆ แต่เพราะการบริโภคของคนไทยในขณะนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกาแฟอราบิก้าไทยมีไม่เพียงพอ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องนำเข้ากาแฟจากลาว และ เวียดนาม เพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี และหลังจากปี พ.ศ. 2558 เมื่อมีการเปิด AEC อย่างเต็มรูปแบบ กาแฟจากลาวและเวียดนามจะทะลุกเข้ามาเหมือนสึนามิ และอาจทำให้กลิ่นกาแฟไทยอันหอมกรุ่นเจือจางมากขึ้นไปกว่านี้อีก 

สินค้าที่ขายกลิ่นอย่างกาแฟ ให้ความสำคัญในเรื่องของกลิ่นในทุกขั้นตอนการผลิต เช่นในกระบวนการผลิตกาแฟ  ‘การคั่ว’ เป็นกระบวนการสำคัญที่สุดซึ่งกลิ่นรสสุดท้ายของกาแฟจะขึ้นอยู่กับวิธีการคั่ว ตลอดจนถึงสภาวะที่ใช้คั่ว   อีกทั้งยังมีขั้นตอนของการแยกสารที่ให้กลิ่นหอมเพื่อเป็นการถนอมกลิ่นไม่ให้สูญเสียไประหว่างการผลิต และพอหลังจากเมล็ดกาแฟผ่านการระเหยน้ำเพื่อสกัดความชื้นเรียบร้อยแล้วจึงทำการฉีดสารที่ให้กลิ่นหอมเข้ามา จนไปถึงกระบวนการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับเรื่องกลิ่นของเมล็ดกาแฟเป็นอย่างมาก  การตรวจวัดคุณภาพกลิ่นของกาแฟ ในปัจจุบันยังคงใช้ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก ซึ่งผลการตรวจวัดกลิ่นนั้นมาจากความรู้สึก และประสาทสัมผัสของผู้ตรวจวัดที่ใช้คัดแยกระหว่างกลิ่นของกาแฟธรรมชาติกับกลิ่นของสิ่งแปลกปลอมอื่น โดยการตรวจวัดดังกล่าวนั้นย่อมเกิดความไม่แน่นอนของข้อมูลได้ง่ายเพราะผู้ตรวจวัดแต่ละบุคคลย่อมมีมาตรฐานที่ไม่เหมือนกัน  อีกทั้งยังส่งผลให้การกำหนดมาตรฐานกาแฟ ไม่มีความชัดเจนอีกด้วย โดยเมื่อประเทศไทยต้องเปิดประเทศเพื่อทำการค้าเสรี การตรวจวัดที่ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน ย่อมส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจกาแฟ ของไทยลดลง ทางภาควิชาฟิสิกส์และศูนย์นาโนเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้พัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Nose) ขึ้นมา โดยหวังจะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถยกระดับมาตรฐาน และยกระดับอุตสาหกรรมกาแฟได้ในอนาคต  อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางนโยบายของรัฐที่จะยกระดับคุณภาพ และประสิทธิภาพการผลิตอุตสาหกรรมกาแฟในประเทศเพื่อแข่งขันกับตลาดโลกอีกด้วย โดยจมูกอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้นนี้ จะเลียนแบบการดมกลิ่นของมนุษย์ แต่มีข้อดีกว่าตรงที่มันสามารถจดจำกลิ่นในรูปของข้อมูลดิจิตอล และสามารถนำข้อมูลกลิ่นมาเปรียบเทียบและแสดงผลในรูปของกราฟ หรือ การแสดงผลที่เข้าใจง่าย ทำให้คนที่ทำงานเพื่อควบคุมหรือพัฒนากลิ่นกาแฟ สามารถที่จะทำงานได้อย่างมีมาตรฐาน

วันหลังมาคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น