วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
17 กุมภาพันธ์ 2556
Spy Technology for Farming (ตอนที่ 5)
เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้ทยอยสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อมาประกอบเป็นอากาศยานจิ๋ว (Micro Air Vehicle หรือ MAV) ซึ่งจริงๆ ก็คืออากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV หรือเรียกกันทั่วไปว่า drone) แบบหนึ่งนั่นเอง เพียงแต่มันมีขนาดที่เล็กลงไปมากๆ ในปีที่ผ่านมากระแสในเรื่องของ drone นี่ถือว่าจุดพลุกันดังระเบิดเถิดเถิง ถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นกิจกรรม drone ในภาคพลเรือนอย่างแท้จริง เกิดธุรกิจที่ขาย drone สำหรับพลเรือนอย่างเป็นจริงเป็นจัง สามารถสั่งซื้อได้ทางออนไลน์ อย่างของผมที่สั่งไปนี่ สั่งจากประเทศสหรัฐอเมริกาคืนวันอาทิตย์ ตอนบ่ายวันพฤหัสบดีของก็มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว พอเช้าวันศุกร์ บริษัท FedEx ก็นัดขอเอาของเข้ามาส่งเลย เด็กๆ ในแล็ปดีใจกันใหญ่ เอาของออกมาประกอบแล้วเอาออกไปลองบินเล่นที่สนามหญ้าของคณะวิทยาศาสตร์ในอีกวันต่อมา ตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างสั่งชิ้นส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม พร้อมทั้งเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมการบิน และการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เช่น การเก็บภาพ การเก็บข้อมูลต่างๆ จากนั้นก็จะสามารถนำไปใช้ทดลองปฏิบัติงานที่ไร่ได้ โดยทางทีมวิจัยจะมีการดัดแปลงตัว drone รวมทั้งการพัฒนาเซ็นเซอร์ต่างๆ ติดตั้งเข้าไปที่ตัว drone นี้ เพื่อให้เหมาะกับการปฏิบัติภารกิจทางด้านการเกษตร
สมาคมระบบอากาศยานไร้คนขับนานาชาติ (Association for Unmanned Vehicle Systems International หรือ AUVSI) คาดหมายว่าตลาดของ drone ในอนาคตอันใกล้นี้จะเริ่มเคลื่อนย้ายจากการทหารและการป้องกันประเทศ กลับมาใช้งานในประเทศมากขึ้น ถึงแม้กองทัพอากาศในสหรัฐฯ ในอนาคตจะมีเป้าหมายที่จะเป็นกองทัพแห่งเครื่องบินไร้นักบินก็ตาม จำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้นนอกกองทัพจะมีมากมายเหลือคณานับในภาคประชาชน จนทำให้ตลาดเชิงพาณิชย์ของภาคพลเรือนน่าเร้าใจสำหรับบริษัทผู้ผลิตมากกว่า โดยตลาดในปีนี้น่าจะเริ่มจากความต้องการในด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของตำรวจหน่วยต่างๆ รวมทั้งตำรวจหน่วยปราบปรามยาเสพติด ตำรวจตระเวณชายแดน แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ทาง AUVSI มั่นใจเป็นอย่างมากว่า ผู้ใช้ที่จะมีอัตราการเติบโตในการใช้ drone มากที่สุด น่าจะเป็นชาวไร่ชาวนา จากการสำรวจจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการใช้งาน drone อย่างเป็นทางการโดย FAA (องค์การบริหารการบิน) พบว่าในปี ค.ศ. 2012 มีผู้มาขอและได้ใบอนุญาตในการใช้งาน drone ซึ่งเป็นองค์กรตำรวจจำนวน 17 หน่วยงาน และ มหาวิทยาลัย 21 หน่วยงาน โดยผู้ได้รับใบอนุญาตที่เป็นมหาวิทยาลัยทั้งหมด ต้องการนำไปใช้ทางด้านการเกษตร
ข้อมูลจากทางญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มเดียวกัน กล่าวคือ ในปี ค.ศ. 2010 มีการนำ drone ไปใช้ในการพ่นยาและสารเคมีทางการเกษตรในญี่ปุ่นจำนวน 2,300 ลำ ทำให้ตัวเลขการใช้เฮลิคอปเตอร์ในการพ่นสารเคมีในญี่ปุ่นที่เคยมีมากถึง 1,328 เฮกตาร์ในปี 1995 ลดเหลือเพียง 57 เฮกตาร์ในปี 2011 โดยมีจำนวนการใช้ drone เพื่อทำงานแทนมากถึง 1,000 เฮกตาร์ บริษัท CropCam ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำตลาดเครื่องบินเล็ก drone สำหรับการถ่ายภาพทางอากาศในไร่นาด้วยสนนราคา 200,000 - 300,000 บาท ซึ่งขายดิบขายดีมาก แม้แต่ข้างบ้านเราคือประเทศมาเลเซียก็เป็นตัวแทนจำหน่าย ทำให้น่าคิดว่า การใช้งาน drone ทางด้านการเกษตรในประเทศมาเลเซียน่าจะกำลังเติบโต drone ของบริษัทนี้มีน้ำหนักเกือบ 3 กิโลกรัม มีความยาวของลำตัว 4 ฟุต ความยาวปีก 8 ฟุต แต่บริษัทบอกว่าเครื่องบิน drone ตัวนี้สามารถที่บินสู่อากาศด้วยการปล่อยด้วยมือ ไม่ต้องใช้รันเวย์แต่อย่างใด สามารถบินได้สูงตั้งแต่ 400 จนถึง 2,200 ฟุต ได้นานถึง 55 นาที วัตถุประสงค์หลักของ drone ตัวนี้จะเน้นไปที่การถ่ายภาพทางอากาศสำหรับใช้งานทางด้านการเกษตร สำหรับผมแล้ว ด้วยภารกิจที่ทำได้เพียงอย่างเดียว กับเงินที่ต้องลงทุนเป็นแสนๆ นี้ รู้สึกว่าจะไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ดังนั้น ทีมวิจัยของเราจึงสนใจเทคโนโลยีแบบเครื่องบินปีกหมุนมากกว่า ซึ่งสามารถควบคุมให้ปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายกว่า ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก
ในไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า เราจะต้องเปิดประเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคม AEC การเกษตรถือว่าเป็นด้านหนึ่งที่ประเทศมีความได้เปรียบเหนือประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน drone เพื่อการเกษตรจึงเป็นความจำเป็น ที่เราจะต้องพยายามพัฒนาให้ถึงจุดที่เราสามารถส่งออกเทคโนโลยีดังกล่าวไปสู่ประเทศใน AEC ได้
ป้ายกำกับ:
agritronics,
precision agriculture,
precision farming,
robotics,
smart farm
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น