24 กุมภาพันธ์ 2556

ฤาจะสูญสิ้น กลิ่นกาแฟไทย (ตอนที่ 1) - The End of Thai Coffee




เกือบทุกครั้งที่ผมเดินทางไปทำงานภาคสนามหรือไปตระเวณไหว้พระตามต่างจังหวัด สิ่งที่นักเดินทางอย่างพวกเรา มักจะขาดไม่ได้ก็คือ กาแฟอเมซอน โดยเฉพาะเมนูอเมซอนปั่น ผมถือว่าเป็นกาแฟปั่นที่อร่อยที่สุดในโลก ด้วยสูตรปั่นเข้มข้นหวานมันที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทำให้คนที่กินกาแฟแล้วใจสั่นอย่างผม ไม่อาจจะอดใจไหว ยอมใจสั่นทุกครั้งที่เข้าปั๊ม ปตท. แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รสชาติอเมซอนปั่นสุดโปรดของผมเริ่มเพี้ยนๆ ไป ถึงแม้จมูกของผมจะไม่ใช่ขนาด supersentitive แบบนักชิมไวน์มืออาชีพก็ตาม แต่ประสบการณ์เรื่องกลิ่นที่เกิดจากการทำวิจัยทางด้านนี้ของผมมาหลายปี ก็ทำให้ผมรู้สึกได้ว่ามันเริ่มมีอะไรทะแม่ง ๆ แล้วหล่ะ ผมได้ตระเวณชิมกาแฟอเมซอนปั่นหลายๆ ปั๊ม จากภาคกลางไปภาคเหนือ ก็ยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่ารสชาติอมเซอนปั่นได้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมอย่างมาก จากเดิมที่เคยหอมหวานมันอร่อย กลายเป็นเหลือแต่ หวานมัน แต่ความหอมอร่อยนั้นรู้สึกจะจืดจางไป สิ่งที่ผมได้ยินมาก็คือ กาแฟไทยเริ่มขาดตลาดเนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ผู้ประกอบการไทยจึงเริ่มนำเข้ากาแฟจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่า แต่ก็มีคุณภาพที่ต่ำกว่ากาแฟไทยด้วย ดูเหมือนว่าปัญหานี้จะยิ่งวิกฤตในอนาคต เพราะกาแฟไทยจะมีผลผลิตต่ำลงเรื่อยๆ แต่การบริโภคของคนไทยนั้นกลับเพิ่มทุกปี ทำให้กาแฟ AEC เข้ามาตีตลาดจนทำให้คนไทยได้รับกลิ่นกาแฟไทยน้อยลงเรื่อยๆ น่าเสียดายมากครั

กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ทรงเสน่ห์ที่สุดในโลก ชาวตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกาเป็นกลุ่มประชากรที่บริโภคกาแฟมากที่สุดในโลก แต่พวกเขากลับปลูกมันไม่ได้ เพราะว่ากาแฟปลูกได้เฉพาะในพื้นที่เขตทรอปิกส์หรือเขตร้อนเท่านั้นครับ แม้ว่าบางสายพันธุ์จะชอบอากาศเย็นก็ตาม แล้วพวกเราเป็นเผ่าพันธุ์ที่ปลูกกาแฟได้ จะไปซื้อกาแฟจากยุโรปมากินทำไมหล่ะครับ จะว่าไปคนยุโรปก็เพิ่งจะรู้จักกาแฟหลังจากที่ชาวมุสลิมนำไปให้ลองชิม วัฒนธรรมไฮโซหลายๆ อย่างนั้น ในครั้งอดีตกาลก็ไม่ได้เจริญในยุโรปนะครับ ในยุคที่ชาวเยอรมันยังอาศัยอยู่บนต้นไม้หน่ะ ชาวอาหรับมีมหาวิทยาลัยกันแล้วด้วยซ้ำ ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า ร้านกาแฟแบบ Starbuck หรือ True Coffee เนี่ยมันมีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1473 หรือ พ.ศ. 2016 ก่อนที่ไทยเราจะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 เสียอีก โดยร้านนี้เปิดในนครอิสตันบูล เมืองหลวงของประเทศตุรกีในปัจจุบัน โดยผู้คนที่มานั่งที่ร้านนี้ เขาจะมาสรวลเสเฮหากัน ดื่มไปคุยไป ถึงแม้ในสมัยนั้นจะไม่มี Wi-Fi แต่การแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร กันก็เกิดขึ้นในร้านแบบนี้ นอกจากร้านกาแฟแล้ว อาณาจักรออตโตมัน หรือ ตุรกีในปัจจุบันยังเป็นต้นกำเนิดของ Social Networks หลายๆ เรื่องเลยครับ ไม่ว่าจะเป็น  การสร้างรีสอร์ทริมทะเล สปา สวนสาธารณะ ถนนคนเดิน ร้านโชว์ห่วย หรือแม้แต่ตลาดกลางทางด้านการเกษตร (อ.ต.ก.) 

จากข้อมูลในปี 2009 ประชากรโลกดื่มกาแฟกันวันละ 2 พันล้านกว่าถ้วย โดยมีวิสาหกิจที่ทำมาหาเลี้ยงชีพอันเกี่ยวข้องกับกาแฟอยู่ 25 ล้านแห่ง เฉพาะในประเทศบราซิลที่เดียว มีแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการเก็บเกี่ยวกาแฟ 5 ล้านคน ซึ่งต้องดูแลต้นกาแฟที่มีมากถึง 3 พันล้านต้น ทั้งนี้การเพาะปลูกกาแฟต่างจากพืชอย่าง อ้อย หรือ มันสำปะหลัง ที่ยังต้องใช้แรงงานในการเก็บเกี่ยว และดูแลอย่างสม่ำเสมอ ยังไม่สามารถใช้เครื่องจักรกลมาทดแทนแรงงานมนุษย์ และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กาแฟไทยมีพื้นที่เพาะปลูกลดน้อยถอยลงทุกๆ ปี ผลผลิตโดยรวมของกาแฟทั่วทั้งโลกมีจำนวน 7.8 ล้านตัน (ข้อมูล 2009) โดยมีบราซิลผลิตมากที่สุดคือ 2.44 ล้านตัน เวียดนาม 1.18 ล้านตัน โคลัมเบีย 0.89 ล้านตัน อินโดนีเซีย 0.70 ล้านตัน อินเดีย 0.29 ล้านตัน สำหรับประเทศไทยเองเราเคยปลูกกาแฟได้เป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากเวียดนาม และอินโดนีเซีย อีกทั้งยังเคยเป็นประเทศส่งออกสำคัญในอาเซียน แต่ด้วยความต้องการบริโภคของคนไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง และ พื้นที่เพาะปลูกกาแฟไทยลดลง ทำให้เรากลายเป็นประเทศนำเข้าเมล็ดกาแฟ 

แล้วค่อยคุยกันต่อในตอนต่อไปนะครับผม

17 กุมภาพันธ์ 2556

Spy Technology for Farming (ตอนที่ 5)




เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้ทยอยสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อมาประกอบเป็นอากาศยานจิ๋ว (Micro Air Vehicle หรือ MAV) ซึ่งจริงๆ ก็คืออากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV หรือเรียกกันทั่วไปว่า drone) แบบหนึ่งนั่นเอง เพียงแต่มันมีขนาดที่เล็กลงไปมากๆ ในปีที่ผ่านมากระแสในเรื่องของ drone นี่ถือว่าจุดพลุกันดังระเบิดเถิดเถิง ถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นกิจกรรม drone ในภาคพลเรือนอย่างแท้จริง เกิดธุรกิจที่ขาย drone สำหรับพลเรือนอย่างเป็นจริงเป็นจัง สามารถสั่งซื้อได้ทางออนไลน์ อย่างของผมที่สั่งไปนี่ สั่งจากประเทศสหรัฐอเมริกาคืนวันอาทิตย์ ตอนบ่ายวันพฤหัสบดีของก็มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว พอเช้าวันศุกร์ บริษัท FedEx ก็นัดขอเอาของเข้ามาส่งเลย เด็กๆ ในแล็ปดีใจกันใหญ่ เอาของออกมาประกอบแล้วเอาออกไปลองบินเล่นที่สนามหญ้าของคณะวิทยาศาสตร์ในอีกวันต่อมา ตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างสั่งชิ้นส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม พร้อมทั้งเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมการบิน และการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เช่น การเก็บภาพ การเก็บข้อมูลต่างๆ จากนั้นก็จะสามารถนำไปใช้ทดลองปฏิบัติงานที่ไร่ได้ โดยทางทีมวิจัยจะมีการดัดแปลงตัว drone รวมทั้งการพัฒนาเซ็นเซอร์ต่างๆ ติดตั้งเข้าไปที่ตัว drone นี้ เพื่อให้เหมาะกับการปฏิบัติภารกิจทางด้านการเกษตร

สมาคมระบบอากาศยานไร้คนขับนานาชาติ (Association for Unmanned Vehicle Systems International หรือ AUVSI) คาดหมายว่าตลาดของ drone ในอนาคตอันใกล้นี้จะเริ่มเคลื่อนย้ายจากการทหารและการป้องกันประเทศ กลับมาใช้งานในประเทศมากขึ้น ถึงแม้กองทัพอากาศในสหรัฐฯ ในอนาคตจะมีเป้าหมายที่จะเป็นกองทัพแห่งเครื่องบินไร้นักบินก็ตาม จำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้นนอกกองทัพจะมีมากมายเหลือคณานับในภาคประชาชน จนทำให้ตลาดเชิงพาณิชย์ของภาคพลเรือนน่าเร้าใจสำหรับบริษัทผู้ผลิตมากกว่า โดยตลาดในปีนี้น่าจะเริ่มจากความต้องการในด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของตำรวจหน่วยต่างๆ รวมทั้งตำรวจหน่วยปราบปรามยาเสพติด ตำรวจตระเวณชายแดน แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ทาง AUVSI มั่นใจเป็นอย่างมากว่า ผู้ใช้ที่จะมีอัตราการเติบโตในการใช้ drone มากที่สุด น่าจะเป็นชาวไร่ชาวนา จากการสำรวจจำนวนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตในการใช้งาน drone อย่างเป็นทางการโดย FAA (องค์การบริหารการบิน) พบว่าในปี ค.ศ. 2012 มีผู้มาขอและได้ใบอนุญาตในการใช้งาน drone ซึ่งเป็นองค์กรตำรวจจำนวน 17 หน่วยงาน และ  มหาวิทยาลัย 21 หน่วยงาน โดยผู้ได้รับใบอนุญาตที่เป็นมหาวิทยาลัยทั้งหมด ต้องการนำไปใช้ทางด้านการเกษตร

ข้อมูลจากทางญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มเดียวกัน กล่าวคือ ในปี ค.ศ. 2010 มีการนำ drone ไปใช้ในการพ่นยาและสารเคมีทางการเกษตรในญี่ปุ่นจำนวน 2,300 ลำ ทำให้ตัวเลขการใช้เฮลิคอปเตอร์ในการพ่นสารเคมีในญี่ปุ่นที่เคยมีมากถึง 1,328 เฮกตาร์ในปี 1995 ลดเหลือเพียง 57 เฮกตาร์ในปี 2011 โดยมีจำนวนการใช้ drone เพื่อทำงานแทนมากถึง 1,000 เฮกตาร์ บริษัท CropCam ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำตลาดเครื่องบินเล็ก drone สำหรับการถ่ายภาพทางอากาศในไร่นาด้วยสนนราคา 200,000 - 300,000 บาท ซึ่งขายดิบขายดีมาก แม้แต่ข้างบ้านเราคือประเทศมาเลเซียก็เป็นตัวแทนจำหน่าย ทำให้น่าคิดว่า การใช้งาน drone ทางด้านการเกษตรในประเทศมาเลเซียน่าจะกำลังเติบโต drone ของบริษัทนี้มีน้ำหนักเกือบ 3 กิโลกรัม มีความยาวของลำตัว 4 ฟุต ความยาวปีก 8 ฟุต แต่บริษัทบอกว่าเครื่องบิน drone ตัวนี้สามารถที่บินสู่อากาศด้วยการปล่อยด้วยมือ ไม่ต้องใช้รันเวย์แต่อย่างใด สามารถบินได้สูงตั้งแต่ 400 จนถึง 2,200 ฟุต ได้นานถึง 55 นาที วัตถุประสงค์หลักของ drone ตัวนี้จะเน้นไปที่การถ่ายภาพทางอากาศสำหรับใช้งานทางด้านการเกษตร สำหรับผมแล้ว ด้วยภารกิจที่ทำได้เพียงอย่างเดียว กับเงินที่ต้องลงทุนเป็นแสนๆ นี้ รู้สึกว่าจะไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ดังนั้น ทีมวิจัยของเราจึงสนใจเทคโนโลยีแบบเครื่องบินปีกหมุนมากกว่า ซึ่งสามารถควบคุมให้ปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายกว่า ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก

ในไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า เราจะต้องเปิดประเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคม AEC การเกษตรถือว่าเป็นด้านหนึ่งที่ประเทศมีความได้เปรียบเหนือประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน drone เพื่อการเกษตรจึงเป็นความจำเป็น ที่เราจะต้องพยายามพัฒนาให้ถึงจุดที่เราสามารถส่งออกเทคโนโลยีดังกล่าวไปสู่ประเทศใน AEC ได้

16 กุมภาพันธ์ 2556

Gamification - ทำโลกนี้ให้เป็นเกมส์ (ตอนที่ 2)



Picture from http://www.augmentedplanet.com/

ถ้ามีคนถามผมว่าอะไรจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในปี 2013 แล้วถ้าผมมีสิทธิ์เลือกตอบได้แค่เรื่องเดียวเท่านั้น ผมก็จะตอบอย่างไม่ลังเลใจเลยว่า นี่เลย ! เรื่อง Gamification หรือทำโลกนี้ให้เป็นเกมส์เลยครับ ตลอดปี 2013 นี่หน่ะ เราจะได้ยินแต่เรื่องนี้ ไปที่ไหนคนก็จะพูดแต่เรื่องนี้ แล้วเรื่องนี้มันจะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของผู้คนอย่างขนานใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากันเลยทีเดียว ธุรกิจต่างๆ การทำมาค้าขาย การค้าการลงทุน การศึกษา วิถีชีวิตต่างๆ จะกลายเป็นเรื่องสนุกสนาน ความบันเทิงจะแทรกซึมไปอยู่ในทุกอณูของชีวิตกันเลย ไม่ว่าเราจะทำอะไร จะกิน จะนอน ขับรถ ไปซื้อของ ทำงาน ประชุม ทานข้าว เดินเล่น ออกกำลังกาย มันจะมีความเป็นเกมส์แทรกซึมเข้าไปโดยที่พวกเราแทบไม่รู้ตัว

ความน่าสนใจของ Gamification ทำให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจ เพราะหากใครเข้าสนามนี้และสามารถสร้างประชาคมผู้ใช้ได้ก่อน ก็จะเป็นผู้นำที่สามารถทำรายได้มหาศาล เหมือนกับที่ Facebook เคยเข้ามาบุกเบิกโซเชียลเน็ตเวอร์คเมื่อหลายปีก่อน ดังนั้น หลายๆ องค์กรจึงร่วมกันที่จะจัดประชุมทางด้านนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับกระแส Gamification โดยจะมีการจัดประชุมที่เรียกว่า GSummit 2013 ที่เมืองซานฟรานซิสโก ระหว่างวันที่ 16-18 เมษายน 2556 ซึ่งจะมีบริษัทและองค์กรใหญ่ๆ เข้าร่วมมากมาย ได้แก่ Microsoft, Cisco, IBM, Delta, Accenture, Bridgestone, Qualcomm, Coursera, University of Pennsylvania, Oracle, NBC-Universal, Bill & Melinda Gates Foundation, Gartner โดยหัวข้อของการบรรยายนั้น มีแต่เรื่องที่น่าสนใจ เช่น Will Wright ผู้ที่ออกแบบเกมส์ซิมูเลชั่น The Sims และ SimCity อันโด่งดังจะมาพูดเกี่ยวกับการทำโลกจริงให้เป็นเกมส์ และวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้คนติดเกมส์ ส่วนผู้บริหารบริษัทใหญ่ๆ อื่นๆ เช่น Cisco, SAP, Microsoft, IBM, Oracle ก็จะมาเล่าให้ฟังว่า การทำ Gamification ที่ผ่านมาในบริษัทของพวกเขา ได้ให้ประสบการณ์อะไรบ้าง อะไรที่สำเร็จ และอะไรที่ทำแล้วไม่เวอร์ค บริษัท NBC-Universal ยักษ์ใหญ่ทางด้านการบันเทิง และ Coursera ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านการศึกษาแบบออนไลน์บนอินเตอร์เน็ต จะมาบอกเล่าเก้าสิบกลยุทธ์ในการสร้างความรู้สึกร่วม และผูกพันกับบริการ

การประยุกต์ใช้ Gamification ในองค์กรจะทำให้การทำงานกลายเป็นความบันเทิงเริงใจ เพราะองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการของมันนั่นคือ ความสนุก (Fun) การเล่น (Play) และความท้าทาย (Challenge) เป้าหมายก็คือจะทำเกิดการติดงาน (Engagement) อยากทำงาน และมีความสุขที่ได้ทำ ใครๆ ที่รู้หลักการของ Gamification ก็สามารถนำไปใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การสาธารณสุข การเงินการธนาคาร มีหลักคิดง่ายๆ  ไม่กี่ข้อสำหรับคนที่จะนำ Gamification ไปใช้กับหน่วยงานของตนเองให้ได้ผลครับ

(1) Entertain ทำให้การทำงานมันดูน่าสนุก น่าทำ และได้ความบันเทิง
(2) Simplify ทำให้งานต่างๆ ที่ทำมันง่ายๆ เหมือนการเล่นเกมส์ เราไม่เห็นจะต้องอ่านคู่มือมากมายเพื่อจะเล่นเกมส์เลย แต่เราสามารถเล่นได้เหมือนรู้ได้เอง ฝรั่งเค้าเรียก Intuition คือแค่เห็นก็รู้ว่าจะให้ทำอะไร ทำไมเราไม่ทำงานที่ทำให้มันเกิดความรู้สึกแบบนั้นหล่ะครับ
(3) Real-time การทำงานต่างๆ ที่สามารถได้ผล รู้ผลแบบ ณ เวลาจริง เห็นเลยว่าตนเองได้คะแนนเท่าไหร่ เกิดประโยชน์ออกมาเท่าไรบ้าง แล้วสามารถเห็นได้เลย ไม่ว่าจะบนบอร์ดคะแนน บน mobile หรือบนเฟซบุ๊คขององค์กร ก็จะทำให้เกิดความท้าทายมากขึ้น
(4) Social ทำให้การทำงานเป็นเครือข่ายสังคมมากขึ้น ทั้งการช่วยเหลือกัน การแข่งขัน ให้ร่วมแบ่งปันบนเครือข่ายสังคม จะช่วยทำให้เกิดการเชื่อมโยงในการทำงาน และสามารถเรียนรู้จากคนอื่น เกิดการต่อยอด เกิดนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น
(5) Real Rewards อย่าให้รางวัลเฉพาะในเกมส์นะครับ แต่จงให้รางวัลกับคนที่ทำงานดี (เล่นเกมส์ดี) ด้วยของขวัญในชีวิตจริง

งานวิจัยของผมที่มหาวิทยาลัยก็ได้ใช้หลัก Gamification มาประยุกต์ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ที่ว่าง และ โอกาส มีอีกมากสำหรับใครๆ ก็ได้ ที่มองว่าเกมส์มีคุณค่าครับผม