12 ธันวาคม 2555

Connectome - คอนเน็คโทม (ตอนที่ 5)




(ภาพจาก http://wallpapersup.net/tom-clancys-ghost-recon/)

ในบริบทของสงครามการสู้รับแห่งโลกปัจจุบัน ได้แบ่งยุทธภูมิออกเป็น 4 โดเมน คือ บก น้ำ อากาศ และ อวกาศ โดยในระยะหลัง ๆ นี้ สงครามได้พัฒนาออกไปอีกจนครอบคลุมโดเมนที่ 5 นั้นคือ Cyberspace ดังนั้นกองทัพที่ทันสมัยในศตวรรษที่ 21 จึงต้องมีการจัดทัพถึง 5 ทัพตามโดเมนที่กล่าวมา .... ทว่า ... ยังมีอีกโดเมนหนึ่งที่กำลังทวีความสำคัญ และจะทำให้มิติของการทำสงครามมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก โดเมนใหม่นี้ก็คือ ..... สมองและจิตใจของนักรบ

จะว่าไปแล้วการรบในอดีต เรื่องของสมองและจิตใจของทหารก็ถูกนำมาใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งโดยมากจะทำเพื่อให้ฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าสามารถสู้รบกับกองทัพขนาดใหญ่ของฝ่ายตรงข้ามได้ ดังเช่น เมื่อครั้งที่ขงเบ้งกำลังจะสิ้นลมนั้น แม้กองทัพของพระเจ้าเล่าเสี้ยนจะถึงซึ่งความโศกาอาดูรแต่เพียงใด ก็จำต้องนำศพของขงเบ้งขึ้นนั่งแท่นบัญชาการรบ ตามอุบายที่ขงเบ้งกำชับไว้ก่อนเสียชีวิต นัยว่าเมื่อกองทัพของสุมาอี้เห็นศพของขงเบ้งแล้ว ก็จักเข้าใจผิดคิดว่าขงเบ้งยังมีชีวิตอยู่ ด้วยความเกรงกลัวกลอุบายต่างๆ ของขงเบ้ง สุมาอี้ได้สั่งให้ชะลอทัพไว้ไม่ให้เข้าตีทัพของขงเบ้ง ซึ่งกำลังล่าทัพกลับเข้าไปยังเมืองเสฉวน แม้ชีวิตของท่านจะวายชนม์ไปแล้วก็ตาม ศพของท่านก็ยังช่วยทำให้กองทัพถอยกลับเข้าที่ตั้งอย่างปลอดภัย ช่วยรักษาชีวิตทหารได้หลายหมื่นค หรือแม้แต่สำหรับประเทศไทยเอง องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงใช้ยุทธวิธีในการสร้างความเกรงกลัวแก่ทหารพม่าอยู่บ่อยครั้ง นำกองทัพไทยเอาชนะในทุกสมรภูมิ ทั้งๆ ที่มีกำลังพลน้อยกว่าหลายเท่าตัว

ปัจจุบัน กองทัพสหรัฐฯ ได้ให้ความสนใจต่อโดเมนของสมองและจิตใจเป็นอย่างมาก และได้ลงทุนวิจัยเป็นเม็ดเงินมหาศาล เพื่อค้นหาความลับในการทำงานของสมอง ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ การตอบสนองต่อสภาวะกดดันต่าง ๆ ในสนามรบ ไปจนถึงการนำสัญญาณสมองมาใช้เพื่อควบคุมจักรกลต่าง ๆ ที่ใช้ในสงคราม (Brain Computer Interface หรือ BCI) รัฐบาลสหรัฐฯ เองได้จัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการ Human Connectome Project เพื่อจัดทำแผนที่การทำงานของสมองมนุษย์ในระดับเซลล์ประสาท นัยว่านอกจากจะมีคุณูปการต่อวงการวิทยาศาสตร์ และสาธารณสุขแล้ว ยังจะส่งผลให้กองทัพสหรัฐฯ สามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาอาวุธที่ทรงอานุภาพในการเป็นมหาอำนาจทางทหารอย่างไร้เทียมทาน

BCI สามารถนำมาใช้งานในสนามรบได้กว้างขวางไม่ว่าจะเป็นการใช้สมองควบคุมอากาศยาน รถถัง อาวุธต่าง ๆ ทำให้หน่วยรบมีความคล่องตัวในการใช้อาวุธเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย สัญญาณประสาทสามารถนำไปใช้ควบคุมอุปกรณ์ที่เพิ่มสมรรถนะมนุษย์ (Human Performance Enhancement) อย่างชุดกระดอง Exoskeleton ที่เมื่อทหารสวมใส่เข้าไปแล้ว จะสามารถแบกสัมภาระในมากกว่าปกติ สามารถยกอาวุธอย่างปืนกล M60 ได้อย่างสบาย นอกจากนั้น BCI ยังอาจใช้กับทหารที่บาดเจ็บในสนามรบ เพื่อติดต่อทางความคิดกับผู้ช่วยเหลือ หรือแม้แต่ทหารพิการสามารถใช้มันเพื่อควบคุม แขนและขากล (Bionic Amputees)

คลื่นลูกใหม่ของเทคโนโลยีทางด้านสมองและจิตใจกำลังจะถาโถมเข้ามาทั้งในระบบเศรษฐกิจ และการทหาร ประเทศไทยของเราเมื่อไหร่จะตื่นรับรู้เรื่องนี้กับเขาบ้างหนอ .....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น