วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
07 ตุลาคม 2555
Geoengineering - เทคโนโลยีเปลี่ยนฟ้าแปลงปฐพี (ตอนที่ 12)
ถึงแม้ประชากรโลกทั้งหลายจะตระหนักถึงภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น และเริ่มมีความพยายามสร้างสรรกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนออกมามากมาย แต่ความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ เรายังคงปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศโลกจำนวนมหาศาล ผลการวัดค่าความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเมื่อเดือน ก.ย. 2555 คือ 391.07 ppm (ส่วนในล้านส่วน) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี พ.ศ. 2554 เท่ากับ 0.54 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราเร็วที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเหลือเกิน
มนุษยชาติมีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ (1) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางเลือกนี้ดูเหมือนแทบจะไม่เวิร์คเลยครับ เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กับ (2) Geoengineering ซึ่งเป็นการทำวิศวกรรมขนาดใหญ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบพลิกฟ้าแปลงปฐพีกันเลย ทางเลือกที่ 2 นี้ แม้ว่าจะดูเสี่ยงๆ แต่ในระยะหลังๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเริ่มเห็นคล้องจองกันว่าอีกไม่นานนี้ ทางเลือกนี้จะกลายเป็นเส้นทางบังคับให้มนุษยชาติจำต้องเดินก็เป็นได้
วิธีการทำ Geoengineering นั้น ก็มีการเสนอขึ้นมามากมาย อย่างที่ผมเคยเขียนไปแล้วในบทความตอนต้นๆ ของซีรีย์นี้ โดยหลักๆ แบ่งออกเป็น 2 สำนัก ได้แก่ (1) การกักเก็บคาร์บอนหรือกำจัดคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ (2) การจัดการรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์
แนวคิดของวิธีการแรก เป็นการนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีต่างๆ นานา เช่น การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเครื่องมือพิเศษ แล้วอัดด้วยความดันลงไปฝังกลบไว้ใต้เปลือกโลก การเลี้ยงแพล็งตอน (phytoplankton) ในทะเล ด้วยการปล่อยสารละลายเหล็กลงไปจำนวนมาก เพื่อช่วยให้แพล็งตอนเหล่านี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งมันก็จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ มาสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อของมัน จากนั้นปล่อยให้ซากของแพล็งตอนเหล่านี้ตกตะกอนทับถมลงไปในทะเลลึก วิธีการนี้ หากทำอย่างจริงจังในระดับมหภาค ก็น่าเชื่อว่าจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้
แนวคิดของวิธีการที่สองนั้นคือ การลดแสงอาทิตย์ที่เข้ามาตกกระทบพื้นโลก เพราะหากเราสามารถลดแสงแดดที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกได้ ก็จะทำให้โลกเย็นลง ถึงแม้จะมีก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นก็ตาม วิธีการนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในทางปฏิบัติแล้ว มันอาจจะทำง่ายกว่าวิธีแรกเสียอีก โดยเฉพาะวิธีการที่ใช้หลักการสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปด้วยการเพิ่มจำนวนฝุ่นในบรรยากาศชั้นสูง เลียนแบบการทำงานของเถ้าภูเขาไฟ ซึ่งทุกครั้งที่เกิดการระเบิด จะพ่นเถ้าและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำให้อุณหภูมิของบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากเราสร้างภูเขาไฟระเบิดเทียมขึ้นทั่วโลก ก็จะช่วยทำให้อุณหภูมิของโลกเย็นลงได้
เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเผยแพร่บทความวิชาการในวารสารวิจัย Environmental Research Letters (รายละเอียดเต็มคือ Justin McClellan, David W Keith and Jay Apt, "Cost analysis of stratospheric albedo modification delivery systems", Environmental Research Letters 7 (2012) 034019) ซึ่งเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ กล่าวคือ นักวิจัยได้วิเคราะห์ต้นทุนในการทำ Geoengineering เพื่อทำให้โลกเย็นลงด้วยการจัดการแสงแดดที่ตกกระทบพื้นโลก ซึ่งมีทั้งหมด 6 วิธี ได้แก่
(1) การใช้เครื่องบินโบอิ้ง 747 บินขึ้นไปปล่อยแอโรซอลบนชั้นบรรยากาศในระดับ 18 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก
(2) คล้ายข้อ (1) แต่จะใช้เครื่องบินชนิดพิเศษที่บินได้สูงขึ้น
(3) การยิงจรวดที่บรรจุแอโรซอลขึ้นบนชั้นบรรยากาศที่สูงมากขึ้นไปอีก
(4) การยิงกระสุนบรรจุแอโรซอล โดยใช้ปืนใหญ่
(5) การใช้เรือเหาะบรรทุกแอโรซอล ขึ้นไปปล่อยบนชั้นบรรยากาศระดับสูง
(6) การใช้ท่อลอย เพื่อนำส่งแอโรซอลขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ
นักวิจัยรายงานว่า วิธีแรกเป็นวิธีที่ถูกที่สุด โดยจะใช้เงินเพียง 10 พันล้านดอลลาร์สำหรับเริ่มงาน (ประมาณ 3 แสนล้านบาท) และใช้เงินเพียง 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อปฏิบัติการปล่อยแอโรซอล ที่จะช่วยรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้น ส่วนวิธีการอื่นนั้นมีราคาสูงกว่ากันอย่างคาดไม่ถึง อย่างเช่น การใช้จรวดจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อเริ่มงานสูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ และต้องใช้เงิน 4 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อปฏิบัติการ
อีกหน่อย ... เวลามองขึ้นไปบนฟ้า ฟ้าใสๆ คงไม่เหลืออีกแล้วสินะ
ป้ายกำกับ:
climate engineering,
crisis,
geoengineering
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น