วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
16 กุมภาพันธ์ 2555
Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 10)
รูปแบบการทำงานในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 20-30 ปีก่อน อย่างพลิกฝ่ามือ ในศตวรรษใหม่นี้ เราเริ่มเห็นวิธีการทำงานใหม่ๆ เครื่องมือที่ใช้ทำงานใหม่ๆ อาชีพใหม่ๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตอนผมเริ่มเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ใหม่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ที่ทำงานของผมมีเลขาฯ แม่บ้าน ยาม พนักงานขับรถ ที่มหาวิทยาลัยจ้างเองในตำแหน่งข้าราชการ หรือ ลูกจ้างประจำทั้งหมด แต่ปัจจุบัน เราจ้างบริษัททำความสะอาดมาทำงานแม่บ้าน จ้างบริษัทยามมาดูแลรักษาความปลอดภัย จ้างบริษัทช่างมาดูแลอาคารและระบบไฟฟ้า จ้างพนักงานขับรถแบบทำสัญญา ใช้บริการบริษัทเงินทุนเพื่อดูแลระบบสวัสดิการ ฯลฯ องคาพยพของมหาวิทยาลัยที่เคยใหญ่โตมโหฬารได้ลดขนาดลงไปเหลือแต่บุคลากรที่เป็นแก่นจริงๆ (Core Business) ที่ทำให้มหาวิทยาลัยดำรงอยู่ได้ ที่เหลือซึ่งเป็นกระพี้ก็จ้างเอา
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาองค์กรของรัฐหลายๆ แห่งก็ปรับตัวมาในทิศทางนี้หมดครับ แต่ที่น่าจะปรับตัวช้าที่สุดก็คือ "กองทัพ" อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าอีกไม่นาน กองทัพไทยก็ต้องเดินตามแนวทางที่ว่านี้ เพราะต้นแบบของกองทัพในโลกนี้คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้นได้ขยับตัวมาเป็นกองทัพสมัยใหม่ ด้วยการลดขนาด และใช้ระบบ outsource จ้างเหมางานหลายๆ อย่างให้เอกชน เราอาจเคยได้เห็นการจ้างกองกำลังรับจ้างเอกชน มาทำงานเป็นหน่วยอารักขาบุคคลสำคัญ หรือแม้แต่คุ้มกันขบวนขนส่งกำลังบำรุง ในประเทศอิรักและอัฟกานิสถาน หรือเคยได้ยินเรื่องที่กองทัพสหรัฐจ้างหน่วยข่าวพิเศษ ที่เดินทางไปทั่วโลกแบบนักท่องเที่ยว พวกมือรับจ้างเหล่านี้ทำงานให้กองทัพสหรัฐโดยเดินทางท่องเที่ยวหาข่าวไปเรื่อยๆ คนเหล่านี้อาจเคยคุยกับเราที่สระว่ายน้ำของโรงแรมหรู หรือที่ชายหาดก็ได้
โครงสร้างของกองทัพเริ่มมีการเปลี่ยนไป จากรูปแบบที่มีองคาพยพใหญ่ เทอะทะ มาเป็นโครงสร้างที่มีแกนกลางที่กระจายงานให้ "ลูกจ้าง" มืออาชีพ ทั้งในรูปแบบของบริษัท องค์กรที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย ไปจนถึงบุคคลเดี่ยวๆ โดยการจ้างงานนี้เป็นแบบ Global Contractors คือใครก็ตามที่มีความสามารถที่จะทำและยินดีทำ กองทัพสหรัฐก็จะไปจ้างคุณให้ทำงานให้ โดยไม่เกี่ยงว่าคุณจะเป็นคนชาติอะไร ในอัฟกานิสถาน อากาศยานไร้นักบิน (Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV) ซึ่งทิ้งระเบิดใส่พวกตาลีบันจนวินาศสันตะโรนั้น ถูกควบคุมด้วยบริษัทเอกชนในประเทศอังกฤษที่ถูกว่าจ้างโดยกองทัพสหรัฐ พวกผู้ก่อการร้ายเคยตั้งคำถามว่า กลุ่มบุคคลที่ถูกว่าจ้างโดยกองทัพ ถือว่าเป็นทหารหรือพลเรือน โดยผู้ก่อการร้ายมองว่ากลุ่มบุคคลที่ทำงานให้กองทัพสหรัฐสมควรถือว่าไม่ใช่พลเรือน ดังนั้นการโจมตีกลุ่มบุคคลดังกล่าวด้วยอาวุธจึงไม่น่าจะเป็นการผิดกฎบัตรสหประชาชาติแต่อย่างใด
สงครามในศตวรรษที่ 21 นั้น สนามรบจะมีความอัจฉริยะมากขึ้น กองทัพต่างๆ ทั่วโลกจะมีขนาดเล็กลง แต่ต้องการความเข้มแข็งมากขึ้น กองทัพจะมีการนำมาเทคโนโลยีและจักรกลต่างๆ มาใช้ในสนามรบมากขึ้น เพื่อลดการนำเอาชีวิตทหารเข้าไปเสี่ยง จะมีการใช้งานจักรกล และหุ่นยนต์มากขึ้น ใช้อากาศยาน ยานรบต่างๆ ที่ไม่มีพลขับอยู่ข้างใน ซึ่งหุ่นยนต์ และจักรกลเหล่านี้ก็ต้องการผู้ควบคุมจากระยะไกล จะเกิดงานใหม่ๆ ขึ้นมากมายเพื่อรับใช้กองทัพจากนอกสนามรบ เช่น วิศวกรควบคุมอากาศยานไร้คนขับ ผู้ควบคุมหุ่นยนต์ยิงปืนกล นักวิเคราะห์ภาพในสนามรบ นักออกแบบสงคราม โปรแกรมเมอร์การบุกโจมตี วิศวกรหุ่นยนต์ หน่วยซ่อมหุ่นยนต์ นักรบเหล่านี้อาจยิงปืนไม่เป็นหรือขับเครื่องบินไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ แต่พวกเขากำลังบัญชาการให้จักรกลเหล่านั้นเข้าห้ำหั่นกับกองทัพฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอาจเป็นมนุษย์ หรือ หุ่นยนต์ก็ได้ อยู่ที่ว่าฝ่ายนั้นจะมีขีดความสามารถในการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีแค่ไหน
สงครามสมัยใหม่จึงไม่ได้เป็นเรื่องของนักรบในเครื่องแบบเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ทุกๆ คนในชาติ หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้เป็นคนชาติเดียวกับเรา มีส่วนร่วมในการทำสงคราม จะเพื่อปกป้องอธิปไตย ผลประโยชน์หรืออะไรก็ตาม ดังนั้น ถ้าหากประเทศไทยไม่อยากตกกระแส ไม่อยากให้ประเทศมีกองทัพที่ล้าสมัย ก็อาจถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการปฏิรูปกองทัพไทยให้ทันสมัย
ป้ายกำกับ:
intelligent battlefield,
military
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น