วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
29 กุมภาพันธ์ 2555
Water Monitoring Sensor Networks - เครือข่ายเซ็นเซอร์ในน้ำ (ตอนที่ 2)
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ความเป็นอยู่ของผู้คน ขึ้นอยู่กับน้ำค่อนข้างมาก เรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำมากมาย แต่เรากลับไม่ค่อยมีเทคโนโลยีที่จะใช้ในการ "รู้" ข้อมูลที่เกี่ยวกับน้ำ ในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้ว่าประเทศเราพึ่งพาข้อมูลจากดาวเทียมเป็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็น Remote Sensing หรือ เทคโนโลยีรับรู้ระยะไกล ซึ่งทำให้เราไม่สามารถรู้ข้อมูลน้ำ ณ เวลาจริง (real time) ไม่สามารถรู้การไหลของน้ำ ระดับความลึกของน้ำ คุณภาพของน้ำ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นความล้มเหลวของการจัดการน้ำท่วมของรัฐบาล
จริงๆ แล้ว ข้อมูลเรื่องน้ำที่แม่นยำกว่านั้น ต้องมาจากเทคโนโลยีรับรู้ระยะใกล้ (Proximal Sensing) ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งและตรวจวัดน้ำในจุดที่มีน้ำอยู่จริง ไม่ใช่การมองลงมาจากอวกาศอย่างดาวเทียม แต่เนื่องจากการเป็นเทคโนโลยีรับรู้ระยะใกล้ ทำให้ได้ข้อมูลแบบท้องถิ่น ไม่สามารถที่จะเก็บข้อมูลเป็นพื้นที่กว้างได้เหมือนดาวเทียม ทั้งนี้หากต้องการได้ข้อมูลในพื้นที่กว้าง ก็ต้องนำไปติดตั้งในจุดต่างๆ กระจายทั่วพื้นที่ ทำให้อาจมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง สำหรับประเทศไทย กรมชลประทานได้ติดตั้งเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำ และความเร็วน้ำในแม่น้ำสายสำคัญๆ หลายแห่ง และค่อนข้างมีประโยชน์มากในช่วงน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ได้เกิดน้ำหลากล้นแม่น้ำออกไปท่วมทุ่ง ข้อมูลการไหลของน้ำในแม่น้ำก็ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป เพราะน้ำได้ไหลบนพื้นดินแทน เนื่องจากเราขาดเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่ลอยไปกับน้ำ ทำให้เราขาดข้อมูลเกี่ยวกับน้ำหลากที่ไหลไปบนพื้นดิน
ลองนึกดูว่า หากเรามีเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายที่ลอยไปกับน้ำได้ เซ็นเซอร์เหล่านี้ก็จะลอยไปตามน้ำที่ท่วม และอาศัยพลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในการทำงาน มันจะเก็บข้อมูลการไหลของน้ำ คุณภาพและความสะอาดของน้ำ ความเร็วและระดับความลึกของน้ำ ตลอดทางที่มันลอยไป แล้วส่งข้อมูลกลับมายังศูนย์รับข้อมูล เมื่อนำข้อมูลจากพื้นที่จริงมาประกอบกับข้อมูลดาวเทียม เราก็จะได้ข้อมูลน้ำท่วมที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การจัดการที่ถูกต้องกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้
ในช่วงที่ผมติดอยู่ในหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมตลอด 45 วัน ผมได้ร่างความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมา การเกิดน้ำท่วมอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกในปีนี้ก็ได้ หรืออาจจะเกิดในอีกหลายปีข้างหน้า หรืออาจจะไม่เกิดอีกเลย ดังนั้น สิ่งประดิษฐ์ที่ผมกำลังจะสร้างขึ้นมานี้ ควรจะใช้งานได้กว้างขวาง ไม่เพียงแต่ใช้งานสำหรับในกรณีน้ำท่วมเท่านั้น ผมจึงได้สร้าง concept เกี่ยวกับเครือข่ายเซ็นเซอร์ในน้ำที่มีลักษณะพกพาได้ (portable) โดยสามารถทำงานแบบเดี่ยวหรือทำงานเป็นฝูง (swarm) เป็นอุปกรณ์ที่สามารถนำไปปล่อยลงน้ำ แล้วสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง (self-dependent) สามารถหาพลังงานใช้เองได้ และมีระบบขับเคลื่อนที่สามารถสั่งการให้ไปยังจุดใดจุดหนึ่งได้ ผมคิดถึงอุปกรณ์ที่สามารถทำงานได้ทั้งในแม่น้ำ ทะเลสาบ ทะเลเปิด นาข้าว นากุ้ง โดยสามารถติดตั้งเซ็นเซอร์ได้หลายชนิด สามารถนำไปใช้งานได้ทั้งในยามสงบ เช่น ใช้ตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำทิ้ง ฟาร์มสัตว์น้ำ หรือในยามสงคราม เช่น ใช้เป็นทุ่นระเบิด เซ็นเซอร์ตรวจจับข้าศึก ใช้ในงานตรวจวัดช่วงน้ำท่วม หรือ มีอุบัติภัยเช่น น้ำมันรั่ว สารเคมีรั่วลงแหล่งน้ำ เป็นต้น ตอนนี้ผมมีพิมพ์เขียวความคิดของเจ้าเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว รอแค่ลงมือทำให้ทันก่อนน้ำท่วมครั้งต่อไป
ป้ายกำกับ:
sensor networks,
smart environment,
water
26 กุมภาพันธ์ 2555
SMC 2012 - IEEE International Conference on Systems, Man and Cybernatics
ปีนี้การประชุมดีๆ ของ IEEE ไปจัดที่เกาหลีหลายๆ อันเลยครับ ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนที่ชอบไปเกาหลี ปีนี้จะได้กลับไปเยือนประเทศนี้อีกครั้ง แถมพกพาความรู้ และวิทยาการที่อัพสมัยสุดๆ กลับมาอีกด้วย วันนี้ผมขอแนะนำการประชุมหนึ่งที่ถือว่าเป็นท็อปครีมของ IEEE เลยครับ นั่นคือ SMC 2012 หรือ IEEE International Conference on Systems, Man and Cybernatics ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงโซล ระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2555 ซึ่งกำหนดการประชุมยังอีกนานก็จริง แต่กำหนดส่งเปเปอร์ฉบับเต็มก็เหลือเวลาไม่มากครับ คือในวันที่ 15 เมษายน 2555 นี้เอง
แนวเนื้อหาใหญ่หรือ Theme ของการประชุมครั้งนี้คือ Coupling Humans and Complex Systems in a Cyber World: Today's Principles for Tomorrow's Society ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาแพล็ตฟอร์มสำหรับ ระบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับจักรกลที่มีความซับซ้อน ซึ่งในอนาคต สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคาร สำนักงาน รถยนต์ ทางหลวง ฟาร์มเกษตร จะมีความฉลาดมากขึ้น และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ (Responsive Environments) ทำให้เราต้องมีการออกแบบแพล็ตฟอร์มที่สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ มีความหมายทั้งเชิงกายภาพ อารมณ์และจิตใจ
สำหรับหัวข้อย่อยในการประชุมนั้น บอกได้เลยว่าเยอะมากๆ ครับ ผมจะขอยกตัวอย่างหัวข้อเด่นๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ หรือกำลังเป็นที่สนใจมากที่สุด อย่างเช่น
- Artificial Intelligence
- Awareness Computing (สติประดิษฐ์)
- Brain-Machine Interface Systems
- Computational Collective Intelligence (ปัญญาสะสม)
- Evolving Intelligent Systems (ระบบวิวัฒน์ประดิษฐ์)
- Self-monitoring evolving intelligent systems
- Intelligent Vehicular Systems & Control (พาหนะอัจฉริยะ)
- Machine Vision (ระบบการมองเห็นประดิษฐ์)
- Human Computer Interaction (ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์)
- Brain Machine Interfaces (ระบบเชื่อมโยงระหว่างสมอง และจักรกล)
- Intelligent Power and Energy Systems (ระบบกำเนิดไฟฟ้าและพลังงานอัจฉริยะ)
- Intelligent Transportation Systems (ระบบขนส่งอัจฉริยะ)
- Material appearance modeling
ป้ายกำกับ:
conference,
Korea
23 กุมภาพันธ์ 2555
The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 3)
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับ Precision Agriculture ในเวลานั้นคำๆ นี้ยังไม่มีคำแปลภาษาไทย ผมเลยตั้งชื่อว่าเป็นเกษตรแม่นยำสูง และก็ใช้มาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำแปลภาษาไทยอย่างเป็นทางการเลยครับ ตอนที่ผมเริ่มโครงการวิจัยนั้นใหม่ๆ มีคนบอกกับผมว่า "ทำไปทำไม เมืองไทยปลูกอะไรก็ขึ้น" หลายๆ คนหัวเราะขำกับแนวความคิด ที่จะนำเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยไปใช้กับการทำไร่ทำนา แต่จริงๆ แล้ว สำหรับผม มันน่าตลกมากกว่ามั้ยล่ะ ที่อาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่างเกษตรกรรม กลับตกอยู่ในสภาพที่ Low Tech ขาดการพัฒนาได้อย่างไม่น่าเชื่อขนาดนี้ ทุกวันนี้เรายังคงปล่อยให้ดินฟ้าอากาศเป็นสิ่งที่กำหนดชะตากรรมของเกษตรกร จริงเหรอที่ "เมืองไทยปลูกอะไรก็ขึ้น" วลีนี้ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่เหรอกับสภาพความจริงที่เรากำลังประสบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพความเสื่อมโทรมของพื้นที่เพาะปลูก ภูมิอากาศวิปริตผิดไปจากเดิม พื้นที่ทำการเกษตรที่อยู่ผิดที่ผิดทาง
เจอคำปรามาสแบบนั้น ผมก็เลยต้องเดินทางตระเวณไปทั่ว เพื่อหาพืชที่เมืองไทยปลูกไม่ขึ้น หรือถ้าขึ้นก็ขึ้นไม่ดี ออกลูกไม่งามหรือไม่อร่อย จนวันหนึ่งผมขับรถไปทางเขาใหญ่ ไปเจอกับไร่องุ่นสำหรับทำไวน์ ผมได้เข้าไปขอชิมไวน์ที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ จิบแรกที่ผมสัมผัสรสชาติของไวน์ที่นั่น ผมถึงกับร้อง "โอ้ว ... พระเจ้า เมืองไทยทำไวน์ได้ดีขนาดนี้เลยหรือนั่น" และจิบนั้นเอง ทำให้ผมรู้ว่า ผมเจอกับพืชที่ปลูกยากในเมืองไทยเอาเข้าแล้ว นี่แหล่ะ คือสนามทดลองของผมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเกษตรกรรมไทยในอนาคต
4 ปีที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้การปลูกองุ่นเพื่อทำไวน์ ณ ไร่องุ่นกราน มอนเต้ ด้วยความอนุเคราะห์จากคุณวิสุทธิ์ โลหิตนาวี เจ้าของไร่ และคุณนิกกี้ โลหิตนาวี ลูกสาว ที่เป็นไวน์เมกเกอร์หญิงคนแรกของเมืองไทย ที่จบปริญญาตรีทางด้านการทำไวน์ โดยตรงมาจากแดนจิงโจ้ ทำให้ผมมีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์ตรงของการเป็นชาวไร่ ผมและลูกศิษย์ได้พัฒนาต้นแบบสิ่งประดิษฐ์หลายชนิด ที่จะทำให้การทำไร่ทำนา เป็นสิ่งที่สนุกสนานมากขึ้น เป็นสิ่งที่ทำนายได้มากขึ้น และเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัจจุบันเรื่องของเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) และฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) เป็นสิ่งที่เริ่มเป็นที่สนใจในเมืองไทย หน่วยงานรัฐระดับชาติเริ่มให้ความสนใจเรื่องนี้ บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งที่ปลูกอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง เริ่มมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ อย่างไรก็ตาม วิสัยทัศน์ของคนเหล่านี้ก็ยังจำกัดในสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ตรงหน้า คนเหล่านี้ยังมองว่าเกษตรกรรมเป็นเรื่องของชาวบ้านที่มีความรู้น้อย เทคโนโลยีสูงๆ ไม่มีความจำเป็น ทั้งๆ ที่ในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศเกษตรกรรมแท้ๆ เขายังมีการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรที่สูงกว่าเราอย่างเทียบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น การปลูกพืชในอาคารสูง (Vertical Farming) การปลูกเนื้อสัตว์ (In vitro Meat Production) เพื่อเป็นอาหารโดยไม่ต้องมีการฆ่าสัตว์ ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะ (Smart Aquaculture) ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้อาจจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้ในอนาคต ทั้งๆ ที่ประเทศเราได้ขึ้นชื่อว่าครัวของโลก
เกษตรกรรมแม่นยำสูง จะปฏิวัติรูปแบบการทำไร่ทำนา จากเดิมที่เป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศ มาเป็นเรื่องของข้อมูลและสารสนเทศ เซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดตั้งทั่วไร่นา จะทำให้เกษตรกรรู้สภาพแวดล้อม ปัจจัยการเพาะปลูก จากที่ไหนก็ได้บนโลก เกษตรกรจะรู้สภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน แร่ธาตุที่มีมากเกินหรือขาดแคลน สภาพดินฟ้าอากาศตลอด 24 ชั่วโมง การเจริญเติบโตของพืชแบบเรียลไทม์ ทำให้การให้น้ำ รดปุ๋ย กำจัดแมลง สามารถทำได้พอดีกับความต้องการของสถานการณ์
งานเกษตรกรรมในอนาคตจะมีความสนุกสนาน เหมือนการเล่นเกมส์ หนุ่มสาวจะกลับมามองอาชีพนี้อีกครั้ง นี่หล่ะครับ สิ่งที่ผมมองเห็นในอนาคต ....
ป้ายกำกับ:
precision agriculture,
precision farming,
smart farm,
smart vineyard
20 กุมภาพันธ์ 2555
Water Monitoring Sensor Networks - เครือข่ายเซ็นเซอร์ในน้ำ (ตอนที่ 1)
ช่วงที่เกิดมหาอุทกภัยเมื่อเดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2554 มวลน้ำมหาศาลได้หลากเข้าท่วมพื้นที่ฝั่งตะวันตก ของกรุงเทพมหานครเป็นบริเวณกว้าง รวมทั้งหมู่บ้านที่ผมอาศัยอยู่ ผู้บริหารของหมู่บ้านของผมตัดสินใจที่จะทิ้งหมู่บ้าน โดยประกาศให้ลูกบ้านอพยพออกนอกพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2554 สำหรับครอบครัวผมเอง เราตัดสินใจว่าทุกคนจะออกไปอยู่ข้างนอกเพื่อความปลอดภัย เหลือแต่ตัวผมซึ่งอาสาจะอยู่ต่อไปในหมู่บ้าน เพื่อที่จะคอยส่งข่าวคราวความเป็นไปในหมู่บ้านระหว่างน้ำท่วม ออกไปสู่โลกภายนอก ในช่วงเวลานั้น ผมแค่คิดว่าในช่วงที่น้ำท่วมไหนๆ ก็ไม่ได้ทำงานอะไรอยู่แล้ว เพราะมหาวิทยาลัยก็ปิด อย่างน้อยก็ขอทำประโยชน์ด้วยการส่งข่าว และข้อมูลจากในหมู่บ้าน ออกไปยังคนที่ต้องจากบ้านไปอยู่ข้างนอก
การตัดสินใจในวันนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองและวิธีคิดของผมไปอย่างไม่มีวันหวนกลับคืน และมันได้ทำให้ชีวิตผมในวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ตลอดระยะเวลา 45 วันที่ผมได้มีโอกาสอาศัยอยู่ในน้ำ ทำให้ผมเรียนรู้อะไรมากมาย ทุกๆ วันที่ผมอยู่กับมันมีค่ามากจนรู้สึกคิดถึงเมื่อวันที่เจ้าน้ำได้จากไปในราวต้นเดือนธันวาคม การถูกน้ำท่วมทำให้ผมมองโลกในเชิงบวก รู้สึกเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมชาติที่ต้องทนทุกข์ด้วยกัน อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ถ้าหากผมไม่โดนน้ำท่วมกับตัวเอง ผมก็คงจะไม่มีวันเข้าใจความรู้สึกของคนเหล่านั้นเลย ผมรู้สึกภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคนนับล้านที่ต้องกลายเป็นผู้ประสบภัยในครั้งนี้
โชคดีที่ผมเตรียมตัวค่อนข้างดีเพื่อต่อสู้กับน้ำ ที่บ้านมีเครื่องมือช่างครบ มีเซลล์สุริยะในกรณีที่อาจถูกตัดไฟ มีระบบไฟส่องสว่างสำรอง ผมเดินไฟใหม่สำหรับอยู่กับน้ำท่วมโดยเฉพาะ เรามีเครื่องคอมพิวเตอร์ 7 เครื่อง ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเก็บข้อมูล รับข่าวสารต่างๆ จากโลกภายนอก ดูแผนที่อากาศ แผนที่ดาวเทียม มีวิทยุสื่อสาร 4 เครื่อง เพื่อสแกนหาข่าวตามช่องต่างๆ ในละแวกใกล้เคียง เพื่อประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของพื้นที่น้ำท่วมฝั่งตะวันตก จนทำให้เราสามารถวิเคราะห์การไหลของน้ำในพื้นที่นี้ได้แม่นยำกว่า ดร.เสรี และ ดร.อานนท์ แห่ง ศปภ. ซึ่งก่อนหน้านี้ ดร.เสรี ได้ประเมินว่าหมู่บ้านที่ผมอยู่จะมีน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร จนภรรยาผมโทรมาบอกให้ผมอพยพออกมา แต่จากข้อมูลที่ผมได้เก็บจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งข้อมูลจากเครือข่ายข่าวในพื้นที่ ผมได้บอกภรรยาไปว่า "จะเชื่อ ดร.เสรี หรือ สามีดีล่ะ เพราะตั้งแต่แต่งงานกันมาพี่ไม่เคยโกหกเลยนะ ... ฟังให้ดีนะ พี่จะบอกให้ว่า หมู่บ้านเราจะท่วมในวันที่ระดับน้ำขึ้นสูงสุดไม่เกิน 60 cm" ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เพราะคราบน้ำที่มีอยู่ที่หมู่บ้านของเรา ยังสูงน้อยกว่าคราบน้ำที่บ้านของ ดร.เสรี เสียด้วยซ้ำ
ผมได้ส่งข่าวออกไปให้เพื่อนๆ ในหมู่บ้านและภรรยาอย่างต่อเนื่อง โดยแพร่ภาพ CCTV ออกไปผ่านอินเตอร์เน็ต และเพื่อความปลอดภัย เราติดระบบรักษาความปลอดภัยทั้ง CCTV กล้อง Night Vision และเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวรอบบ้านถึง 2 ชั้น ระบบอินเตอร์เน็ตที่ติดตั้งก็มีทั้ง 3G และ ADSL สำหรับกรณีที่ตู้ชุมสายโทรศัพท์อาจใช้การไม่ได้ ... แต่ ... มหัศจรรย์มาก ระบบอินเตอร์เน็ตระบบ ADSL ไม่เคยงอแงเลยตลอด 45 วันที่น้ำท่วม ไฟฟ้าไม่โดนตัดและไม่เคยตกตลอดเวลา 45 วัน ส่วนน้ำประปาก็มีปัญหาน้อยกว่าที่อื่นๆ
การใช้ชีวิตในพื้นที่ประสบภัยทำให้ผมเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมพบว่า ศปภ. (ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย) ทำงานโดยอาศัยข้อมูลจากดาวเทียมเป็นหลัก ซึ่งถือว่าหยาบมากๆ ในการจัดการรับมือน้ำในระดับพื้นที่ย่อย ข้อมูลที่ผมประมวลจากเซ็นเซอร์ของกรมชลประทาน สำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ข่าวพื้นที่ทั้งจากสื่อมวลชน และเครือข่ายวิทยุท้องถิ่น ทำให้ผมสามารถวิเคราะห์การไหล และระดับความรุนแรงของมวลน้ำได้แม่นยำกว่าของ ศปภ. โดยสามารถทำนายระดับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในหมู่บ้านที่ผมอยู่ได้ รวมไปถึงแนวโน้มของวิกฤติว่าจะผ่านพ้นไปเมื่อใด
การอยู่เก็บข้อมูลในช่วงน้ำท่วม ทำให้ผมได้ไอเดียหลายๆ อย่างที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดน้ำซึ่งจะมีประโยชน์และสามารถประยุกต์ใช้ได้กว้างขวาง ทั้งในด้านเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม การต่อสู้ภัยพิบัติทางน้ำ ปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์น้ำนั้นไม่ได้ทำในบ่อเลี้ยงเหมือนแต่ก่อน แต่ไปเลี้ยงกันในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งในแม่น้ำ ทะเลสาบ และทะเล เทคโนโลยีที่จะพัฒนาขึ้นนี้ สามารถนำไปใช้สำหรับสิ่งที่เรียกว่า Smart Aquaculture หรือฟาร์มสัตว์น้ำอัจฉริยะ ซึ่งจะทำให้ผู้เลี้ยงสามารถตรวจวัดความเป็นไปต่างๆ ในน้ำจากระยะไกล ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ผมจะนำเรื่องเหล่านี้มาทยอยเล่าในตอนต่อๆ ไปนะครับ
ป้ายกำกับ:
sensor networks,
smart environment,
water
19 กุมภาพันธ์ 2555
Games Science - วิทยาศาสตร์ของเกมส์ (ตอนที่ 12) ตอน โลกนี้คือเกมส์ (Life is Games)
"โลกนี้คือละคร" คุณแม่ชอบเปิดเพลงนี้ตอนผมเด็กๆ ชีวิตของแต่ละคนในโลกใบนี้ เดินไปตามบทที่วางไว้ ไม่ต่างไปจากตัวแสดงในละคร ฉากความสุข ฉากความเศร้าผ่านเข้ามา สุดท้ายละครก็จบลงโดยทุกๆ คนที่เกิดมาก็ต้องตาย ผมฟังเพลงนี้ทีไรรู้สึกว่ามันหดหู่เหลือเกิน โลกนี้ช่างไม่น่าอยู่เสียนี่กระไร ....
แต่เมื่อผมโตขึ้น ผมกลับพบว่าแท้จริงแล้ว "โลกนี้คือเกมส์" โดยเราเป็นผู้เล่นที่สามารถจะกำหนดแผนการเล่นของเราได้ ไม่มีใครเขียนบทให้เราเดิน ไม่มีใครมากำกับชีวิตเรา เราต่างหากที่เป็นผู้กำหนดการเล่นของเราเอง โดยเราต้องเอาชนะอุปสรรคต่างๆ สะสมแต้ม ผ่าน Level แล้วไปถึงเป้าหมายคือรางวัลชีวิตให้ได้ โลกที่เป็นเหมือนเกมส์นี้ จึงมีแต่ความท้าทาย คละเคล้าไปด้วยความสนุกสนาน ความบันเทิง และความสุขเมื่อเราสามารถอัพ Level ขึ้นไป
นักอนาคตศาสตร์ล้วนมองไปในแนวทางเดียวกันครับว่า ในอนาคต เกมส์จะดูเป็นจริงมากขึ้น หรือ ชีวิตจริงก็จะดูเป็นเกมส์มากขึ้น เกมส์กับชีวิตจริงจะเริ่มมาหลอมรวมกัน (Games-Life Convergence) ทุกวันนี้เวลาเราเดินทางออกไปข้างนอก ไปทานข้าว ไปห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ไปไหว้พระ 9 วัด หลายๆ คนเมื่อไปถึงจะรีบ check-in ใน Foursquare เพื่อสะสมแต้ม แลก Badge ต่างๆ เวลาเราซื้อของ จ่ายบัตรเครดิต เราได้แต้มเพื่อนำมาแลกของรางวัล เราไปซื้อหนังสือที่ร้านนายอินทร์ เราได้แสตมป์ซึ่งสามารถนำมาเป็นส่วนลดสำหรับซื้อหนังสือได้ แต่คนส่วนใหญ่กลับยินดีที่จะบริจาคแสตมป์นั้นเพื่อเป็นการกุศล โดยนำไปแปะที่บอร์ดของร้าน รถยนต์หลายๆ ยี่ห้อเริ่มมีการใส่เกมส์เข้าไปในรถเพื่อทำให้การขับขี่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ฟอร์ดได้ใส่เกมส์ปลูกองุ่นเข้าไปที่คอนโซลของรถ หากผู้ขับขี่ขับรถสุภาพ อ่อนโยน ประหยัดน้ำมัน ต้นองุ่นที่คอนโซลจะค่อยๆ ผลิใบ ออกลูก มีการรดน้ำ ให้ปุ๋ย แต่ถ้าหากผู้ขับขี่ขับรถแบบกระโชกโฮกฮาก ผลลัพธ์คือองุ่นก็จะเหี่ยวตาย ซึ่งจากการวิจัยพบว่า ผู้ที่ขับขี่รถฟอร์ด มีแนวโน้มในการขับขี่อย่างเป็นมิตรกับทั้งสิ่งแวดล้อม และผู้ร่วมเส้นทางมากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราทำมันด้วยความสุขและความยินดีโดยไม่มีใครบังคับ เกมส์ได้เข้ามาในชีวิตประจำวันของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว บริษัทวิจัยตลาดที่ชื่อว่า M2 Research ได้ประมาณการว่า มูลค่าของการบูรณาการเกมส์เข้าไปในสินค้าประเภทต่างๆ นั้นจะเพิ่มขึ้นจาก 3,000 ล้านบาทในปี ค.ศ. 2011 ไปเป็นประมาณแสนล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า จากตัวเลขนี้ เราเริ่มมองเห็นแล้วไหมครับว่า ..... โลกนี้คือเกมส์
ถ้าโลกนี้คือละคร เราซึ่งเป็นผู้เล่นล้วนถูกกำกับให้ดำเนินชีวิตไปตามบทละครที่ถูกวางเอาไว้แล้ว โดยมีผู้กำกับบท คอยดูแลไม่ให้เราทำอะไรออกนอกแนวทางที่เขาเขียนไว้ ชีวิตคงไม่น่าภิรมย์อะไรเลยถ้าตัวเราไม่สามารถที่จะลิขิตชีวิตของตัวเองได้ ต่างจากโลกนี้ที่เป็นเกมส์ ผู้เล่นสามารถเลือกแนวทางการเล่นที่เป็นสไตล์ที่ถนัดของตนเองได้ ไม่มีผู้กำกับ ชีวิตลิขิตได้ด้วยฝีมือของเราเอง เจน แมคโกนิกัล (Jane McGonigal) นักวิจัยและออกแบบเกมส์ที่มีชื่อเสียง ได้กล่าวในหนังสือของเธอที่มีชื่อว่า Reality is Broken ว่า "เกมส์สามารถถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาในโลกจริงได้หลายอย่าง แม้แต่เรื่องใหญ่ๆ อย่างเรื่องโลกร้อน หรือเรื่องความยากจน ในความคิดของฉัน เกมส์สามารถใช้เพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ มันทำให้เรามีความสุข มองโลกบวก สร้างสรรค์ และเต็มเปี่ยมด้วยพลังในการเปลี่ยนโลกไปสู่ความเปี่ยมสุข"
เราสามารถใส่ความเป็นเกมส์ลงไปในกิจกรรมชีวิตได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ตื่นนอน ขับรถออกไป ในที่ทำงานก็ทำให้เป็นเกมส์ได้ แม้แต่จีบผู้หญิงเราก็สามารถใส่ความเป็นเกมส์เพื่อให้กิจกรรมดูท้าทายยิ่งขึ้น ผู้เขียนกำลังทำวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีตรวจวัดสุขภาพ โดยการใส่เซ็นเซอร์เข้าไปในหมอน ผ้าปูที่นอน รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ โดยเซ็นเซอร์จะตรวจวัดกิจกรรมการใช้ชีวิตของผู้ใช้ ซึ่งแบบแผนการใช้ชีวิตที่ทำให้สุขภาพดี จะทำให้ผู้ใช้ (หรือผู้เล่น) ได้คะแนนประสบการณ์ (XP) ผู้ใช้สามารถที่จะดูข้อมูลสุขภาพของตัวเอง เช่น การนอนหลับที่สนิทหรือไม่ การหายใจระหว่างนอนหลับ การพลิกตัว การกรน ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยผู้ใช้จะรู้สึกสนุกที่จะแข่งกับตัวเอง เหมือนกับการเล่นเกมส์ และเกมส์เหล่านี้ก็สามารถที่จะเล่นหลายๆ คนเพื่อแข่งกับคนอื่นๆ ได้
การมองโลกแบบเกมส์ จะช่วยสร้างจินตนาการ สร้างความฝัน สร้างแรงบันดาลใจ และทำให้เราอยู่กับโลกความเป็นจริงได้อย่างไม่เบื่อหน่าย ไม่หมดอาลัยตายอยาก มีแรงปรารถนา ใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความฝันและความหวัง เมื่อเราตื่นเช้าขึ้นมาในทุกๆ วัน เราจะรู้สึกถึงความกระปรี้กระเปร่า สดชื่น มีพลัง และพร้อมที่จะเอาชนะอุปสรรคต่าง .... รางวัล และการอัพ Level คอยอยู่ตรงหน้าครับ ....
ป้ายกำกับ:
entertainment,
games
16 กุมภาพันธ์ 2555
Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 10)
รูปแบบการทำงานในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 20-30 ปีก่อน อย่างพลิกฝ่ามือ ในศตวรรษใหม่นี้ เราเริ่มเห็นวิธีการทำงานใหม่ๆ เครื่องมือที่ใช้ทำงานใหม่ๆ อาชีพใหม่ๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตอนผมเริ่มเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ใหม่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ที่ทำงานของผมมีเลขาฯ แม่บ้าน ยาม พนักงานขับรถ ที่มหาวิทยาลัยจ้างเองในตำแหน่งข้าราชการ หรือ ลูกจ้างประจำทั้งหมด แต่ปัจจุบัน เราจ้างบริษัททำความสะอาดมาทำงานแม่บ้าน จ้างบริษัทยามมาดูแลรักษาความปลอดภัย จ้างบริษัทช่างมาดูแลอาคารและระบบไฟฟ้า จ้างพนักงานขับรถแบบทำสัญญา ใช้บริการบริษัทเงินทุนเพื่อดูแลระบบสวัสดิการ ฯลฯ องคาพยพของมหาวิทยาลัยที่เคยใหญ่โตมโหฬารได้ลดขนาดลงไปเหลือแต่บุคลากรที่เป็นแก่นจริงๆ (Core Business) ที่ทำให้มหาวิทยาลัยดำรงอยู่ได้ ที่เหลือซึ่งเป็นกระพี้ก็จ้างเอา
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาองค์กรของรัฐหลายๆ แห่งก็ปรับตัวมาในทิศทางนี้หมดครับ แต่ที่น่าจะปรับตัวช้าที่สุดก็คือ "กองทัพ" อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าอีกไม่นาน กองทัพไทยก็ต้องเดินตามแนวทางที่ว่านี้ เพราะต้นแบบของกองทัพในโลกนี้คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้นได้ขยับตัวมาเป็นกองทัพสมัยใหม่ ด้วยการลดขนาด และใช้ระบบ outsource จ้างเหมางานหลายๆ อย่างให้เอกชน เราอาจเคยได้เห็นการจ้างกองกำลังรับจ้างเอกชน มาทำงานเป็นหน่วยอารักขาบุคคลสำคัญ หรือแม้แต่คุ้มกันขบวนขนส่งกำลังบำรุง ในประเทศอิรักและอัฟกานิสถาน หรือเคยได้ยินเรื่องที่กองทัพสหรัฐจ้างหน่วยข่าวพิเศษ ที่เดินทางไปทั่วโลกแบบนักท่องเที่ยว พวกมือรับจ้างเหล่านี้ทำงานให้กองทัพสหรัฐโดยเดินทางท่องเที่ยวหาข่าวไปเรื่อยๆ คนเหล่านี้อาจเคยคุยกับเราที่สระว่ายน้ำของโรงแรมหรู หรือที่ชายหาดก็ได้
โครงสร้างของกองทัพเริ่มมีการเปลี่ยนไป จากรูปแบบที่มีองคาพยพใหญ่ เทอะทะ มาเป็นโครงสร้างที่มีแกนกลางที่กระจายงานให้ "ลูกจ้าง" มืออาชีพ ทั้งในรูปแบบของบริษัท องค์กรที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย ไปจนถึงบุคคลเดี่ยวๆ โดยการจ้างงานนี้เป็นแบบ Global Contractors คือใครก็ตามที่มีความสามารถที่จะทำและยินดีทำ กองทัพสหรัฐก็จะไปจ้างคุณให้ทำงานให้ โดยไม่เกี่ยงว่าคุณจะเป็นคนชาติอะไร ในอัฟกานิสถาน อากาศยานไร้นักบิน (Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV) ซึ่งทิ้งระเบิดใส่พวกตาลีบันจนวินาศสันตะโรนั้น ถูกควบคุมด้วยบริษัทเอกชนในประเทศอังกฤษที่ถูกว่าจ้างโดยกองทัพสหรัฐ พวกผู้ก่อการร้ายเคยตั้งคำถามว่า กลุ่มบุคคลที่ถูกว่าจ้างโดยกองทัพ ถือว่าเป็นทหารหรือพลเรือน โดยผู้ก่อการร้ายมองว่ากลุ่มบุคคลที่ทำงานให้กองทัพสหรัฐสมควรถือว่าไม่ใช่พลเรือน ดังนั้นการโจมตีกลุ่มบุคคลดังกล่าวด้วยอาวุธจึงไม่น่าจะเป็นการผิดกฎบัตรสหประชาชาติแต่อย่างใด
สงครามในศตวรรษที่ 21 นั้น สนามรบจะมีความอัจฉริยะมากขึ้น กองทัพต่างๆ ทั่วโลกจะมีขนาดเล็กลง แต่ต้องการความเข้มแข็งมากขึ้น กองทัพจะมีการนำมาเทคโนโลยีและจักรกลต่างๆ มาใช้ในสนามรบมากขึ้น เพื่อลดการนำเอาชีวิตทหารเข้าไปเสี่ยง จะมีการใช้งานจักรกล และหุ่นยนต์มากขึ้น ใช้อากาศยาน ยานรบต่างๆ ที่ไม่มีพลขับอยู่ข้างใน ซึ่งหุ่นยนต์ และจักรกลเหล่านี้ก็ต้องการผู้ควบคุมจากระยะไกล จะเกิดงานใหม่ๆ ขึ้นมากมายเพื่อรับใช้กองทัพจากนอกสนามรบ เช่น วิศวกรควบคุมอากาศยานไร้คนขับ ผู้ควบคุมหุ่นยนต์ยิงปืนกล นักวิเคราะห์ภาพในสนามรบ นักออกแบบสงคราม โปรแกรมเมอร์การบุกโจมตี วิศวกรหุ่นยนต์ หน่วยซ่อมหุ่นยนต์ นักรบเหล่านี้อาจยิงปืนไม่เป็นหรือขับเครื่องบินไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ แต่พวกเขากำลังบัญชาการให้จักรกลเหล่านั้นเข้าห้ำหั่นกับกองทัพฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอาจเป็นมนุษย์ หรือ หุ่นยนต์ก็ได้ อยู่ที่ว่าฝ่ายนั้นจะมีขีดความสามารถในการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีแค่ไหน
สงครามสมัยใหม่จึงไม่ได้เป็นเรื่องของนักรบในเครื่องแบบเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ทุกๆ คนในชาติ หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้เป็นคนชาติเดียวกับเรา มีส่วนร่วมในการทำสงคราม จะเพื่อปกป้องอธิปไตย ผลประโยชน์หรืออะไรก็ตาม ดังนั้น ถ้าหากประเทศไทยไม่อยากตกกระแส ไม่อยากให้ประเทศมีกองทัพที่ล้าสมัย ก็อาจถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการปฏิรูปกองทัพไทยให้ทันสมัย
ป้ายกำกับ:
intelligent battlefield,
military
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)