วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
13 กรกฎาคม 2554
Smart Environment - สภาพแวดล้อมอัจฉริยะ (ตอนที่ 2)
เมื่อตอนผมยังเล็ก คุณยายของผมที่อยู่ต่างจังหวัดจะมาอยู่ที่บ้านผมปีละครั้ง ครั้งหนึ่งเป็นเดือน ท่านจะเรียกผมใส่บาตรตอนเช้าเสมอ ตอนกลางวันท่านก็จะนั่งทำต้นไม้เงินต้นไม้ทองเพื่อนำไปถวายพระ หลายๆ ครั้งผมก็จะช่วยท่านทำ ท่านก็จะเล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ให้ฟัง หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของเทวดา คุณยายเล่าให้ฟังว่า เทวดามีที่อยู่เป็นวิมานที่มีความสวยงามมาก เป็นวิมานแก้วที่สวยระยิบระยับ ที่อยู่ของเทวดามีความสุขสบายไม่ร้อนไม่หนาว อยากให้สว่างก็สว่าง มืดก็มืด เวลาหิวก็นึกเอา อาหารทิพย์ก็จะมาเอง อยากทานอะไรก็นึกเอา ผมฟังแล้วก็จินตนาการไป เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ก็ไม่เคยขัดท่าน เพราะฟังแล้วนึกตามก็เพลินใจสนุกดี
ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องที่คุณยายเล่าเกี่ยวกับวิมานเทวดา กับจินตนาการในวัยเด็กของผมนั้นกำลังจะกลายมาเป็นหัวข้อวิจัยที่เป็นที่สนใจของกลุ่มวิจัยทั่วโลก ทั้งเรื่องของสภาพล้อมรอบอัจฉริยะ (Ambient Intelligence) สภาพแวดล้อมที่ตอบสนอง (Responsive Environment) สถาปัตยกรรมแบบอันตรกริยา (Interactive Architecture) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการทำให้สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย อาคารบ้านช่อง มีความฉลาด ทำงานตอบสนองต่อผู้อยู่อาศัย ทั้งในเชิงกายภาพและเชิงจิตใจและอารมณ์ สิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่นี้จะรับรู้ด้วยสัมผัสของมันว่า เราใช้ชีวิตอยู่อย่างไร กำลังทำอะไร มีความสุขหรือหงุดหงิดไหม นอนหลับดีหรือว่ากระสับกระส่าย ใช้เวลาอยู่กับสิ่งไหนมากน้อยอย่างไร แล้วมันก็จะพยายามเอาใจใส่เรา ทำในสิ่งที่เราต้องการ ไม่ต่างจากวิมานเทวดาที่เป็นภพภูมิที่แสนน่ารื่นรมย์
เมื่อเราสตาร์ทรถออกจากบ้าน รถจะทำการเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายไร้สาย เพื่อประเมินสถานการณ์จราจรและหาเส้นทางที่สะดวกที่สุดให้เรา ขณะที่เราขับรถบนทางหลวงนั้น รถของเราจะสนทนากับรถคันอื่นๆ บนถนน เพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ จากรถคันอื่นว่าวิ่งมีจากไหน มีอะไรที่ควรสนใจหรือไม่ หากเส้นทางข้างหน้าที่เรากำลังจะไปมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รถที่วิ่งสวนทางกับเรามาก็จะสนทนากับรถของเราว่าให้ระวังนะ ข้างหน้ามีอุบัติเหตุ การขับขี่รถในถนนจะมีความปลอดภัยมาก ทุกครั้งที่เราจะเปลี่ยนเลน เซ็นเซอร์ในรถของเราจะตรวจสอบว่าด้านข้างนั้นปลอดภัยในการเปลี่ยนเลนหรือไม่ และเมื่อเรากำลังขับรถเข้าทางแยก รถของเราจะสนทนากับรถคันอื่นๆ ที่กำลังจะเข้าทางแยก ให้ระมัดระวังกันและกัน ทางหลวงที่มีความฉลาด (Intelligent Highway) นี้จะทำให้เราไปไหนมาไหนได้อุ่นใจกว่าปัจจุบันมากเลยครับ
ถ้าเกิดวันไหน เราขี้เกียจออกจากบ้าน เราสามารถที่จะใช้หุ่นยนต์อวตาร (Robot Avatar) เพื่อทำหน้าที่แทนเราได้ เพียงแค่นั่งหน้าจอโปรเจ็คเตอร์ แล้วสั่งให้เจ้าหุ่นเดินไปมาในที่ทำงาน เพื่อไปทักทายคนโน้นคนนี้ ไปตรวจเยี่ยมจุดต่างๆ ของที่ทำงาน หรือแม้แต่เข้าประชุมร่วมกับลูกน้อง เจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้จะมีจอภาพที่แสดงหน้าตาของเราที่บ้าน มีแขนกลที่สามารถยื่นออกไปจับสิ่งของได้ หรือแม้แต่สัมผัสพื้นผิวต่างๆ แล้วส่งข้อมูลมาแสดงออกที่อุปกรณ์ฝั่งรับเพื่อให้เรารู้สึกถึงสัมผัสของสิ่งนั้นก็ได้
วันนี้ผมขอแค่นี้ก่อนนะครับ ก่อนที่จินตนาการจะพาท่านผู้อ่านเตลิดไปไกลกว่านี้ ... แต่ทุกอย่างที่ผมเล่ามานั้น เป็นหัวข้อวิจัยที่มีการทำกันอยู่ทั้งสิ้นครับ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเลย .....
ป้ายกำกับ:
ambient intelligence,
smart environment,
smart home
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
วันหลังมาต่อด้วยนะครับ อ่านแล้วสนุกดีครับ
ตอบลบ