ท่านผู้อ่านอาจจะเคยมีประสบการณ์ ได้คุยกับคนฉลาดๆ สิ่งที่เขาคนนั้นพูดออกมา เราจะรู้ได้เลยว่ามันเจ๋ง มันสุดยอด คนแบบนี้เขาเรียกว่าคนมี "กึ๋น" ซึ่งเจ้ากึ๋นที่ว่านี้ ถ้าเป็นภาษาฝรั่งมันหมายถึง Gut ซึ่งน่าจะอยู่แถวๆ บริเวณท้อง คนฉลาดพวกนี้ใช้ท้องคิดหรือไร ???
ฟังดูตลกนะครับ ถ้าหากมีคนบอกว่ามีใครใช้ท้องคิด แต่จริงๆ แล้ว นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าคนเราอาจจะใช้ท้องช่วยคิดก็ได้ครับ ทั้งนี้ในระบบทางเดินอาหารของคนเรานั้น มีระบบประสาทที่ซับซ้อนซึ่งประกอบด้วยเซลล์ประสาทมากถึง 100 ล้านเซลล์ เป็นรองจากสมองเท่านั้นครับ ระบบประสาทที่ซับซ้อนนี้สามารถทำงานด้วยตนเองเป็นเอกเทศจากสมอง เพื่อทำหน้าที่รับสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่การขับเคลื่อนอาหารไปตามเส้นทางของมัน การบีบคลายกล้ามเนื้อเพื่อช่วยในการย่อย การปลดปล่อยสารเพื่อใช้ย่อยอาหาร ไปจนถึงการดูดซึมอาหาร และการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งหน้าที่ทั้งหมดนี้ทำโดยสมองที่สอง ส่วนสมองที่หนึ่งซึ่งอยู่ในกระโหลกของเรานั้น ไม่ได้ทำหน้าที่นี้เลยครับ แต่อย่างไรก็ตาม สมองที่สองของเราก็นำส่งข้อมูลผ่านเส้นใยประสาทไปสู่สมองที่หนึ่ง โดยจะแจ้งสถานภาพต่างๆ ไปยังสมองที่หนึ่ง แต่นักวิทยาศาสตร์ต้องประหลาดใจเมื่อพบว่า เส้นใยประสาทนั้นเดินสัญญาณแค่ทางเดียวเท่านั้น ซึ่งหมายถึง สมองที่สองจะไม่ได้รับข้อมูลหรือคำสั่งจากสมองที่หนึ่งเลย .... มันทำงานเองอย่างเป็นเอกเทศเกือบจะโดยสมบูรณ์ !!!
ถึงแม้สมองที่สองนี้จะไม่ได้ทำหน้าคิดโดยตรง เช่น มันไม่ได้ช่วยสมองตัดสินใจว่าจะใส่เสื้อสีแดงหรือเสื้อสีเหลือง แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่า ภาวะทางอารมณ์ของคนเราขึ้นอยู่กับสมองที่สองค่อนข้างมาก หากสมองที่สองไม่สบอารมณ์ มันจะส่งข้อมูลไปยังสมองที่หนึ่ง อาการเกรี้ยวกราดในท้องเมื่อเกิดความเครียด ก็เป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง คนที่เครียดมากๆ จะทำให้ระบบทางเดินอาหารแปรปรวน โรคหลายชนิด เช่น โรคกรดไหลย้อน ก็อาจจะเกิดจากความผิดปกติของสมองที่สองนี้ ในทางกลับกัน ถ้าสมองที่สองมีสุขภาพดี ก็จะส่งผลให้สมองที่หนึ่งมีภาวะสุขภาพที่ดีได้เช่นกันครับ
ความรู้ตรงนี้ทำให้เราเห็นว่า ร่างกายของคนเราไม่ได้ควบคุมแบบรวมศูนย์ที่สมองที่เดียวครับ มันสามารถทำงานแบบกระจายอำนาจได้ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการออกแบบจักรกลที่อาศัยการผสมผสานระหว่าง Centralized & Distributed Computation ครับ ....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น