19 มกราคม 2553

Materials Intelligence - วัสดุปัญญา (ตอนที่ 7)


พรุ่งนี้ผมจะเดินทางอีกแล้วครับ คราวนี้ไปงาน PACCON 2010 ซึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นเจ้าภาพ งานประชุมนี้ใหญ่มาก มีจำนวนผลงานที่ไปแสดงมากกว่า 800 ผลงานครับ ซึ่งแบ่งออกเป็นสาขาวิชาต่างๆ ของทางเคมีและเคมีประยุกต์ เช่น เคมีอินทรีย์ เคมีวิเคราะห์ เคมีเชิงฟิสิกส์ เคมีอนินทรีย์ วัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งในการไปประชุมครั้งนี้ ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายในหัวข้อ จมูกอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการเกษตร แล้วก็ไปทำหน้าที่ประธานของสาขาวัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี ซึ่งในปีนี้มีคนส่งผลงานเข้าร่วมมากที่สุด เมื่อเทียบกับสาขาวิชาอื่นๆ เพราะมีจำนวนผลงานเกือบ 200 ผลงาน เมื่อเทียบกับของทั้งหมดที่มี 800 ผลงาน แสดงให้เห็นว่า งานวิจัยทางด้านวัสดุและนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทยนั้น ถือได้ว่ามีจำนวนมากที่สุดในอาเซียนแล้วครับ จากการที่ผมเคยไปประชุมมาทั้งในสิงคโปร์ เวียดนาม และ มาเลเซีย


อย่างไรก็ตาม จากที่ผมนั่งอ่านบทคัดย่อของทุกผลงานที่ส่งเข้ามา ผมสังเกตเห็นว่า งานวิจัยทางด้านวัสดุของไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ "วัสดุทำหน้าที่" (Functional Materials) มีส่วนน้อยที่ทำไปถึง "วัสดุก้าวหน้า" (Advanced Materials) และยังไม่มีงานไหนที่เข้าใกล้ระดับของ "วัสดุปัญญา" (Materials Intelligence)


ทำให้น่าเป็นห่วงว่า งานวิจัยทางวัสดุของประเทศไทยอาจจะตามไม่ทันโลก เพราะขณะนี้ ในวงการวัสดุนั้น เขากำลังสนใจวัสดุที่วิวัฒน์ตัวเองได้เหมือนสิ่งมีชีวิตแล้วครับ ซึ่งนักวัสดุศาสตร์เองจะต้องเข้าไปมองวัสดุในสิ่งมีชีวิตอย่าง "โปรตีน" ให้มากขึ้น เพราะวัสดุชนิดนี้สามารถวิวัฒน์ตัวเองให้สามารถทำงานนอกเหนือไปจาก สิ่งที่มันถูกออกแบบมาให้ทำ นั่นคือ วัสดุวิวัฒน์จะต้องสามารถทำอะไรได้ในสถานการณ์ใหม่ๆ ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย ดังนั้น การออกแบบจึงมีความสำคัญต่อวัสดุปัญญามากๆ เพราะเราจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นไปได้ทั้งหมด ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการใส่โปรแกรมตรรกะเข้าไปในวัสดุ เพื่อให้มันสามารถปรับตัวหรือพัฒนาตัวเองไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมได้ครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น