29 กันยายน 2550

German-Thai Symposium จบปลื้ม คนสนใจร่วมจนนาทีสุดท้าย


ห่างหายไปหลายวันเลยครับ เพราะ nanothailand ได้ไปร่วมสังเกตการณ์ในงาน German-Thai Symposium on Nanoscience and Nanotechnology (GTSNN) ระหว่างวันที่ 27-28 กันยายน 2550 ซึ่งจัดกันที่ The Tide Resort ที่หาดบางแสน ซึ่งเป็นรีสอร์ทสไตล์บูติค ที่โรแมนติกมาก งานนี้เจ้าภาพหลักคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีสถานฑูตไทยในเยอรมันเป็นผู้สนับสนุนทุนบางส่วน ถึงแม้จะเป็นงานประชุมที่เน้นไปที่ความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมัน ซึ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมน่าจะอยู่ในวงจำกัด แต่ไม่น่าเชื่อว่ามีคนเข้าร่วมมากกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งคนก็ไม่ค่อยหนีไปไหน แม้กระทั่งวันสุดท้าย ไม่เหมือนงาน Nano Thailand 2007 ที่จัดที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 14-16 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา วันแรกคับคั่งหนาตา แต่วันต่อมาคนหายไปพอสมควร พอถึงวันสุดท้าย น่าจะเหลือแค่ 30%

ก่อนงานประชุม GTSNN จะเลิกนั้น มีการประชุมแบบโต๊ะกลม โดยให้นักวิจัยไทย กับ เยอรมัน มานั่งคุยกันเป็นกลุ่มๆ จำนวนประมาณ 6-7 กลุ่ม ให้เวลาสนทนากันประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำผลการสนทนามาสรุปให้ฟังกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มนั้นล้วนประกาศว่าทั้งฝั่งไทยและเยอรมันสนใจที่จะทำงานร่วมกัน โดยการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิจัย ในหัวข้อต่างๆ โดยจะมีการทำการบ้านกันต่อไป ว่าจะขอเงินทุนสนับสนุนจากแหล่งใดดี แต่ที่แน่ๆ งานนี้จบลงแบบ Happy Ending ปลื้มกันทั้งผู้จัดและผู้ร่วมประชุม จากความ สำเร็จของ GTSNN ทำให้คิดว่าการประชุมครั้งที่ 2 น่าจะเกิดขึ้นอีก nanothailand ก็ขอเป็นกำลังใจและขอปรบมือให้ดังๆ ครับ ......

ดีครับปีหน้าเราจะมีประชุมทางด้านนาโนเทคโนโลยีในประเทศไทยหลายงานด้วยกัน เริ่มจาก SmartMat 2008 ที่เชียงใหม่ ในเดือนเมษายน ถัดมาก็จะมีการประชุมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งอาจจะจัดที่ภูเก็ต จากนั้นจะมี NanoThailand Symposium 2008 ซึ่งเป็นงานระดับ International Conference ช่วงวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2551 จัดโดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ แต่น่าเสียดายจัดในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจทำให้คนไทยเข้าร่วมไม่มาก เหมือนกับงาน IEEE NEMS 2007 ที่ศูนย์ NANOTEC เคยจัดแล้วไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ในแง่ที่คนไทยเข้าร่วมน้อยมาก

(ภาพขวามือ - บรรยากาศสุดแสนโรแมนติกของ The Tide Resort ที่บางแสน)

25 กันยายน 2550

เครือข่ายเซ็นเซอร์ สำหรับควบคุมการใช้น้ำในฟาร์มเกษตร


ไม่กี่วันก่อน nanothailand ได้เกริ่นเรื่อง Smart Farm กับนิยามของคำว่า เกษตรความแม่นยำสูง ไปนิดหน่อยแล้ว วันนี้จะมาเล่าในเทคโนโลยีบางตัวที่ Precision Farming นำมาใช้ เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆของฟาร์ม อันจะนำไปสู่การตัดสินใจกระทำการหรือกิจกรรมต่อไป หากนาโนเทคโนโลยีทำให้เซ็นเซอร์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราได้ ก็เหมือนกับเรามีหูตาจมูกในทุกๆที่ และเป็นหูตาจมูกที่เก็บข้อมูลรายละเอียดทุกๆอย่างในทุกๆมุมของวิถีชีวิตเรา ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจหรือตอบสนองได้ทันเวลาในทุกๆเรื่อง ตัวอย่างที่ใกล้ตัวมากในอดีตนั้นข้อมูลน้ำในประเทศไทยไม่เคยมีใครรู้ว่าน้ำทั้งประเทศมีจำนวนเท่าไหร่ มีความต้องการใช้เท่าไหร่ ตัวเลขที่มีล้วนเป็นการประมาณทั้งสิ้น หากมีระบบเซ็นเซอร์แบบ Intelligent Grid เราจะมีตัวเลขทุกๆอย่างขึ้นมาทันที

จินตนาการถึงการติดตั้งเครือข่ายเซ็นเซอร์ซึ่งมีหน่วยประมวลผลขนาดจิ๋วในดิน และในเรือกสวนไร่นา เชื่อมโยงกันเป็นระบบ Intelligent Grid แบบไร้สาย โดยเม็ดเซ็นเซอร์เหล่านั้นจะบอกคอมพิวเตอร์ของเจ้าของสวนให้เริ่มสูบน้ำเข้าสวนหรือเริ่มฉีดน้ำเมื่อถึงจุดที่ความชื้นในดินลดลงมาก คอมพิวเตอร์กลางของแต่ละสวนจะรับข้อมูลจากคอมพิวเตอร์จิ๋วของเซ็นเซอร์และจะประมวลผลขั้นต้นก่อนที่จะส่งข้อมูลที่จำเป็นไปยังคอมพิวเตอร์ของกรมชล-ประทาน แล้วคอมพิวเตอร์กรมชลประทานจะคำนวณปริมาณน้ำที่จะปล่อย ทำให้ไม่ปล่อยน้ำมากเกินไปซึ่งอาจถูกระเหยโดยแสงแดดหมด หากน้ำที่ปล่อยออกมายังไม่พอ เพราะเซ็นเซอร์ตามเรือกสวนไร่นายังร้องขอน้ำอยู่ คอมพิวเตอร์ของชลประทานจะคำนวณข้อผิดพลาดในซอฟท์แวร์ว่ามีน้ำหายไปอย่างไร โดยเก็บข้อมูลอุณหภูมิและความเข้มแสงจากเครือข่ายเซ็นเซอร์ของสวนต่างๆตลอดแนวคลองส่งน้ำ เพื่อคำนวณว่าในฤดูกาลนี้ ซึ่งมีรูปแบบของอุณหภูมิแบบนี้ ความเข้มแสงแบบนี้ จะมีการระเหยของน้ำในอัตราเท่าใด ข้อมูลการปล่อยน้ำในแต่ละวันของแต่ละพื้นที่จะถูกส่งไปยังเขื่อนชลประทานที่คุมจำนวนน้ำทั้งหมด ข้อมูลของทุกเขื่อนถูกส่งไปยังศูนย์ข้อมูลของนายกรัฐมนตรี โดยข้อมูลความต้องการด้านชลประทานของทุกๆสวนและไร่นา บวกกับข้อมูล ของจำนวนน้ำที่มี บวกกับข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาของภูมิภาคทั้งหมดที่จะทำนายว่าจะมีน้ำเพิ่มอีกเท่าไหร่ ซอฟท์แวร์จะคำนวณภาวะวิกฤติเรื่องน้ำและจะส่ง SMS ไปยังมือถือของนายกรัฐมนตรีเพื่อทำการตรวจสอบและตัดสินใจสั่งการก่อนวิกฤติจะเกิดขึ้น ลองนึกถึงว่าหากระบบชลประทานของประเทศสามารถทำให้อยู่ในรูปของ reactive system ได้เช่นเดียวกับระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าของประเทศ เทคโนโลยีนี้ก็สามารถส่งออกไปขายแก่ประเทศที่มีปัญหาการจัดการน้ำได้

(ภาพด้านบน - แสดงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างน้ำกับสังคมเกษตรและอุตสาหกรรม หากมีเครือข่ายเซ็นเซอร์เราอาจควบคุมปริมาณน้ำดีกว่านี้ - click ไปที่รูปเพื่อขยายให้ใหญ่ขึ้น)

ถึงเวลามหาวิทยาลัยไทย Stand Up เสียที


และแล้ว มหาวิทยาลัยรัฐของประเทศไทย ก็ค่อยๆ ทยอยออกนอกระบบราชการมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ถึงแม้จะมีการต่อต้านบ้าง แต่ก็เป็นธรรมชาติของคนที่ไม่ค่อยอยากจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ตนเองไม่รู้ ทั้งๆที่ การเป็นมหาวิทยาลัยอิสระนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแต่ในบ้านเรา แต่เป็นกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่ประเทศต่างๆ ต้องแข่งขันกัน การออกจากระบบราชการมาเป็นมหาวิทยาลัยอิสระนั้น ก็เป็นกระบวนการหนึ่งในการเพิ่มความสามารถในการแข่งกับทั้งโลก

ในญี่ปุ่นนั้น การนำมหาวิทยาลัยรัฐออกนอกระบบราชการถือเป็น The Must และชาวญี่ปุ่นถือว่าเป็นความร่วมมือร่วมใจ ที่จะนำประเทศออกจากความถดถอยที่เกิดขึ้นกับประเทศมานานถึง 10 ปี ไม่ใช่แค่เพียงมหาวิทยาลัยเท่านั้น หน่วยงานของรัฐอื่นๆ ก็ต้องออกมาจากระบบราชการ มาอยู่ในรูปบรรษัท หรือ องค์กรมหาชน มหาวิทยาลัยจะต้องสร้างจุดต่าง สร้างเอกลักษณ์ของตนเอง และตอบชาวญี่ปุ่นให้ได้ว่า ทำไมเด็กๆถึงต้องเข้ามหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยนี้ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยแห่งศตวรรษที่ 21 จะต้องเป็นที่พึ่งของชุมชนด้วยการทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยนั้นตั้งอยู่มีความเข้มแข็ง มหาวิทยาลัยต้องเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม ซึ่งอนาคตจะเป็นแหล่งรายได้หลักของมหาวิทยาลัยเอง เพราะอุตสาหกรรมที่แข่งขันได้ในอนาคต จะต้องมี innovation ซึ่งมีแหล่งผลิตอยู่ในมหาวิทยาลัยนี่แหล่ะ

ในเร็ววันนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังจะออกจากระบบราชการ เพื่อมาเป็นมหาวิทยาลัยอิสระ นั้นอาจจะทำให้มหาวิทยาลัยในกำกับอื่นๆ ที่ตั้งก่อนหน้านั้น ไม่ว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เกิดความเกรงกลัวว่า ความได้เปรียบที่เคยมีต่อมหาวิทยาลัยรัฐอื่นๆหมดไป จริงๆ แล้ว สังคมไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ แทนที่จะแข่งกันเอง เราต้องมองว่า เราจะแข่งกับจีน กับเวียดนาม กับ สิงคโปร์ อย่างไร มหาวิทยาลัยไทยยุคใหม่ ต้องผลิตคนให้ได้ระดับอาเซียน และ ระดับโลก พวกเราชาวมหาวิทยาลัย ถึงเวลา Thailand Stand Up กันแล้ว !!!!!

(ภาพขวามือ - มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับที่ตั้งขึ้นมาเป็นแห่งที่ 3 ของประเทศ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงามติดอันดับโลก แต่แค่นั้นคงไม่พอ หากประเทศไทยต้องการเป็นที่หนึ่งในอาเซียน ก็ต้องพยายามแข่งกับ National University of Singapore ในด้านวิชาการให้ได้)

Precision Agriculture และ Nano-Farming


เกษตรกรรมความแม่นยำสูง เป็นที่นิยมกันมากใน ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย และเริ่มแพร่หลายเข้าไปในหลายประเทศ ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น แม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้าน ของเราอย่าง มาเลเซีย ก็มีการนำ Precision Farming มาใช้ดูแลสวนปาล์มขนาดใหญ่ ทำให้มีผลผลิตสูง ประเทศไทย มีพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ มีความหลากหลายทางพืชพันธุ์ ได้เปรียบเขาหลายๆ อย่าง จึงน่าจะมีการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีนี้ให้มีความก้าวหน้า Precision Agriculture เกิดจากแนวคิดที่ว่า พืชพันธุ์ที่ปลูก และ สภาพล้อมรอบ (ดิน น้ำ แสง อากาศ) ในไร่นา มีความแตกต่างกัน ในแต่ละบริเวณ แม้จะอยู่ในไร่เดียวกันก็ตาม สภาพล้อมรอบที่แตกต่างนี้ มีผลให้การเกิดผลผลิต แตกต่างกันได้ ดังนั้นการปรับการดูแลให้เหมาะสมกับ สภาพที่แตกต่างนั้น จะทำให้สามารถสร้างผลผลิต อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ปัญหาก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความแตกต่างนั้นมีจริง แล้วจะวัดอย่างไร หรือเมื่อรู้แล้ว เราจะนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไร รวมไปถึงจะบริหารจัดการอย่างไร นาโนเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยในงานของ เกษตรกรรมความแม่นยำสูงหลายๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องของ เซ็นเซอร์ตรวจวัด การควบคุมการปลดปล่อยปุ๋ย และ ยาฆ่าแมลงด้วยความแม่นยำสูง บรรจุภัณฑ์ทางการเกษตร การตรวจวัดความสด การควบคุมความสดอาหาร ป้ายอิเล็กทรอนิกส์เก็บข้อมูลสินค้า เป็นต้น

แรงจูงใจหรือแรงผลักดัน ที่ทำให้ประเทศไทยต้องหันมาสนใจวิถีแห่งเกษตรกรรมความแม่นยำสูง ในปัจจุบันและอีกไม่นานต่อจากนี้ ก็คือ สภาพสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมถอย จากการเกษตรที่ขาดข้อมูลความเชื่อมโยง ระหว่างกิจกรรมในไร่นา กับสภาพแวดล้อมที่ถูกกระทบ ราคาพืชผลทางการเกษตรที่แปรเปลี่ยนตามปริมาณผลผลิต ซึ่งขาดความสามารถในการคาดการณ์ล่วงหน้า สภาวะการกระจายตัวและพฤติกรรมของประชากรที่เปลี่ยนไป ทำให้แรงงานภาคการเกษตรขาดแคลน หรือขาดคุณภาพ รวมไปถึงสภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป จนภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดมาหลายชั่วคนสำหรับใช้ในการดำรงชีวิต และใช้ตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมในไร่นา เริ่มใช้ไม่ได้ผล หรือมีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น เหล่านี้ทำให้การทำการเกษตรในอนาคตข้างหน้า ต้องวางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล และสภาพล้อมรอบที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเรียลไทม์มากขึ้น จะว่าไปแล้วเกษตรกรรมความแม่นยำสูง สามารถทำได้ง่ายกับฟาร์มหรือไร่นาขนาดเล็กด้วยซ้ำไป ซึ่งก็เป็นลักษณะของเกษตรกรรมในประเทศไทย แม้แต่ในประเทศกำลังพัฒนาก็สามารถทำได้ เช่น การทำสวนชาใน Tanzania และ Sri Lanka


ติดตามเพิ่มเติมที่ http://nanotech.sc.mahidol.ac.th/i-sense/precision_farming.html

(ภาพซ้ายมือ - การนำเซ็นเซอร์มาตรวจวัดและทำแผนที่สภาพดิน ใน Napa Valley - Picture from www.winebusiness.com)

Smart Farm - ยุคใหม่ของเกษตรกรรม


ประเทศไทยยังเป็นประเทศเกษตรกรรม ถึงแม้ปัจจุบันสินค้าอุตสาหกรรมจะกลายมาเป็นสินค้าหลักในการส่งออกก็ตาม แต่อาชีพของคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ก็ยังคงตั้งอยู่บนรากฐานของ “ทรัพย์ในดินสินในน้ำ” มาแต่ไหนแต่ไร แต่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่า งานวิจัยส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ไทย กลับไม่ได้เกื้อหนุนต่ออาชีพนี้เท่าไรนัก งานวิจัยทางการเกษตรของไทยในปัจจุบันไม่ได้ก้าวตามโลกที่ได้ข้ามไปสู่ยุคไอที – จีโนม – นาโน ไปหลายปีแล้ว ทั้งนี้เพราะประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายต่างก็กำลังขะมักเขม้นกันทำวิจัยในศาสตร์ที่จะทำให้เกษตรกรรมของศตวรรษที่ 21 เป็นอาชีพสุดแสนจะไฮเทค ด้วยการนำเทคโนโลยีผสมผสานต่างๆ ทั้ง คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ ไอที สื่อสาร เซ็นเซอร์ เทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งนาโนเทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการทำให้ ไร่นา ฟาร์มเกษตรทั้งหลาย ให้กลายมาเป็นที่ทำงานสุดไฮเทค ศาสตร์ที่จะช่วยทำให้ฟาร์มธรรมดาๆ กลายมาเป็น ฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm หรือ Intelligent Farm) นี้ได้รับการขนานนามว่า Precision Agriculture

Precision Agriculture หรือ Precision Farming ภาษาไทยยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ เพราะยังไม่มีการทำวิจัย หรือ นำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง จึงขอเรียกมันว่า เกษตรกรรมความแม่นยำสูง ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากใน ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย และเริ่มแพร่หลายเข้าไปในหลายประเทศ ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น แม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้าน ของเราอย่าง มาเลเซีย ก็มีการทำวิจัยทางด้านนี้ หรือไกลออกไปอีกนิดอย่างอินเดียก็ทดลองใช้เทคโนโลยีนี้กันอย่างกว้างขวาง จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทย จะต้องเริ่มให้ความสนใจในเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะย่านนี้เป็นย่านของเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นพม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มิฉะนั้นในอนาคตอันใกล้นี้เมื่อเทคโนโลยีเกษตรความแม่นยำสูง ถูกนำไปใช้เชิงพาณิชย์เมื่อไหร่ ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสในการส่งออกเทคโนโลยีเหล่านี้ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกำลังมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ในประเทศมาเลเซียเอง มีการนำ Precision Farming มาใช้ดูแลสวนปาล์มขนาดใหญ่ ทำให้มีผลผลิตสูง จริงๆแล้วประเทศไทยเองมีพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่กว่าเสียอีก ทั้งยังมีความหลากหลายทางพืชพันธุ์เหลือคณา ได้เปรียบเขาหลายๆ อย่าง จึงน่าจะมีการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีนี้ให้มีความก้าวหน้ากว่าเขาให้ได้

ว่างๆ nanothailand จะทยอยนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังนะเจ้า .........

(ภาพซ้ายมือ - เกษตรกรกำลังนั่งจิบไวน์มองฟาร์มของพวกเขา เซ็นเซอร์ต่างๆที่ติดตั้งอยู่ในฟาร์มกำลังเก็บข้อมูล ดิน น้ำ ฟ้า ฝน และตัดสินใจเปิด-ปิดน้ำ ให้ปุ๋ย หรือ ออกคำสั่งให้รถเก็บเกี่ยวออกไปทำงานเอง อาชีพเกษตรกรที่เคยต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน กลับผันเปลี่ยนไปเป็น หลังนวดสปาหน้าดูจอ เทคโนโลยี Precision Farming กำลังจะทำให้อาชีพเกษตรกรรมกลายมาเป็นอาชีพที่มีความสุขที่สุดในโลก)

19 กันยายน 2550

มารู้จัก ม.วลัยลักษณ์ เจ้าภาพ วทท. 33 กันเถอะ

nan
ช่วงนี้กระแสของ วทท. กำลังมาแรง (การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 33 หรือ เรียกกันสั้นๆ ว่า วทท. 33 ที่จะจัดระหว่าง วันที่ 18-20 ตุลาคม 2550 ที่เมืองนครศรีธรรมราช) nanothailand ขอพูดถึงมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เจ้าภาพผู้จัดงานครั้งนี้กันหน่อยดีมั้ยครับ ม.วลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ ที่มีต้นแบบมาจาก ม. เทคโนโลยีสุรนารี แต่การออกแบบ Layout ในมหาวิทยาลัยค่อนข้างแตกต่าง โดยนำเอาอาคารต่างๆ มาอยู่เป็นกลุ่มๆ ที่ไม่ไกลกันมากนัก ทั้งๆ ที่มีพื้นที่กว้างขวางถึง 9000 ไร่ ไม่เหมือน ม. สุรนารี ที่จะไปไหนมาไหนที ลำบากจริงๆ แต่ของ ม. วลัยลักษณ์นี่สามารถเดินไปมาระหว่างอาคารได้ โดยมีหลังคากันฝนให้อย่างดี ขี่จักรยานก็สบายๆ แต่แดดที่นี่แรงมาก สังเกตได้จากสีหลังคา เมื่อก่อนเวลานั่งเครื่องมาจากกรุงเทพฯ พอจะ landing จะเห็นหลังคาตึกอธิการบดีมาแต่ไกลๆ เดี๋ยวนี้เวลานั่ง Nok Air มาลงนครฯ ต้องมองหา ถึงจะเห็นสีหลังคาที่จืดไปเยอะ จะอย่างไรก็เถอะ ผมว่า ม.วลัยลักษณ์ ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่จัดว่าสวย แม้จะรองจาก ม. แม่ฟ้าหลวงที่เชียงราย เวลามองออกไปยังทิศตะวันตกจะเห็นทิวเขาหลวง ทอดยาวเป็น background ที่สวยงามมาก อีกอาคารหนึ่งที่โดดเด่นมาก ตั้งอยู่กลางดงตึกก็คือ หอดูดาว ที่สร้างโดย ดร. กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี คนดังของที่นี่ ผู้ซึ่งวางรากฐานงานวิจัย Geo-informatics และ Eco-informatics ของ ม.วลัยลักษณ์ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่มหาวิทยาลัยไหนในเมืองไทยก็สู้ไม่ได้

ม.วลัยลักษณ์ ไม่ได้อยู่ในอำเภอเมืองนะครับ ที่ตั้งของเขาอยู่ที่ อ.ท่าศาลา ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโล ไม่ถือว่าไกลนะครับ ขับรถแค่ 15 นาที ผู้ร่วมประชุมของ วทท. ก็จะพักในเมือง แล้วออกมาประชุมที่มหาวิทยาลัย เจ้าภาพคงจะเตรียมรถรับส่งให้ แต่ nanothailand ผู้ชอบความอิสระคงจะเหมารถตู้โดยสารลงไปเอง ยังไงหากพอมีที่นั่ง เวลากลับโรงแรมก็มาอาศัยได้นะครับ

(คลิ๊กที่ภาพ เพื่อขยายดูแผนผัง ม.วลัยลักษณ์)

18 กันยายน 2550

ไป วทท. ปีนี้ที่นครฯ บินกับ Nok Air สบายใจที่สุด


การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 33 หรือ เรียกกันสั้นๆ ว่า วทท. 33 ที่จะจัดระหว่าง วันที่ 18-20 ตุลาคม 2550 ที่เมืองนครศรีธรรมราช โดยมีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นเจ้าภาพนั้น หากใครยังไม่ได้จองโรงแรม รับรองว่าหืดขึ้นคอแน่ เพราะเท่าที่ nanothailand ไปสำรวจและสอบถาม โรงแรมดังๆ ในเมืองนครฯ เต็มกันหมดแล้ว สงสัยเหมือนกันว่าแล้วเครื่องบินจะเต็มมั้ย ลองเข้าไปที่ http://www.nokair.com/ ปรากฏว่าก็ยังพอมีที่นะ แต่คงต้องรีบๆ จองหน่อย

พูดถึงนกแอร์แล้วต้องบอกเลยว่า เป็นสายการบินที่นั่งแล้วสบายใจที่สุด พอขึ้นไปอยู่บนเครื่องแล้ว ไม่เหมือนนั่งเครื่องบิน แต่รู้สึกปลอดภัยกว่า เพราะว่าเหมือนนั่งอยู่ในนก ที่มันกระพือปีกร่อนได้ ช่วงระหว่างเครื่อง taxi รอบินขึ้น นกนั่นนกนี่ ก็จะออกมาสาธิตการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ถ้าเป็นสายการบินอื่นๆ พวกเราคงนั่งอ่านหนังสือพิมพ์กันหมด แต่นี่นกแอร์ เลยต้องตั้งใจดูเลยแหล่ะ พอเครื่องขึ้นไปอยู่ในระยะปลอดภัยแล้ว นกแอน นกส้ม นกเปิ้ล นกนิด นกหน่อย นกเจี๊ยบ นกหมิว นกอ้อม นกอิม นกออย นกแนน ฯลฯ ก็จะออกมาแนะนำตัวกัน ถ้าไปทางเหนือ ก็จะอู้คำเมือง ถ้าไปใต้ ก็จะแหล่งใต้ เป็นอะไรที่น่ารักดี แถมมีของที่ระลึกมาขายด้วย ราคาไม่แพงเลยหากคิดจะซื้อไปเก็บ หรือฝากใคร บางทีมีแล้วก็ยังซื้อซ้ำ แบบว่าไม่อยากให้น้องๆเขาเก้อก็ซื้อๆ ไปเถอะ

ถึงแม้เครื่องบิน Low Cost จะเดี้ยงไปแล้วหนึ่งก็อย่าไปเครียดกับมัน ทำใจให้สบายเวลาบิน อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด นั่งดูเมฆดูหน้านกแล้วสบายใจ ขอให้เที่ยว วทท. ปีนี้ให้สนุกนะครับ เออ .... ผมลืมบอกไปว่า นกแอร์ตรงเวลามาก อาจไม่เหมาะกับพวกที่ชอบวิ่งขึ้นเครื่อง หรือ พวกเคยตัวกับการมาสายๆ นะครับ ผมเคยตกเครื่องมาแล้ว แต่ไม่โกรธกัปตันเขาหรอกที่ออกตรงเวลา ได้แต่โมโหตัวเองที่ไม่ทันขึ้นไปดูนกต่างๆ ที่อยู่บนนั้น ........

16 กันยายน 2550

ไทยขยับตัว หน่วยงานให้ทุนช่วยขนของจากหิ้งไปห้าง


นักวิจัยไทยตกเป็นจำเลยสังคมมานานแล้ว เรื่องที่ทำงานวิจัยแล้วมักจะไปจบที่หิ้ง จริงๆก็จะไปโทษนักวิจัยอย่างเดียวไม่ได้ ยิ่งงานวิชาการในมหาวิทยาลัย เป้าหมายหลักคือการผลิตคน และสร้างองค์ความรู้ให้แข็งแกร่ง ดังนั้นผลงานในลักษณะของที่ขึ้นหิ้ง จึงเป็นดัชนีชี้วัดหลัก อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในอดีตที่ผ่านมา กลไกที่จะเชื่อมโยงงานบนหิ้งเหล่านั้น ออกไปสู่ห้าง ไปสู่ผู้ใช้ แทบจะไม่มีเลย

แต่นั่นก็เป็นเรื่องของอดีต เพราะปัจจุบันหน่วยงานให้ทุนของไทยหลายๆ หน่วยงานได้มีโครงการ หรือ กลไก ต่อท่องานวิจัยเหล่านั้นให้ออกไปสู่ผู้ใช้ และ ภาคอุตสาหกรรม เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. มี University Business Incubator หรือ UBI ในมหาวิทยาลัยหลักและรองทั่วประเทศกว่า 35 มหาวิทยาลัยแล้ว โดยมุ่งเป้าไปที่การสร้างและบ่มเพาะวิสาหกิจจัดตั้งใหม่ ที่เรียกว่า Start-Up Company นอกจากนั้น สกอ. ยังสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยใหญ่ 10 แห่ง จัดตั้ง Technology Licensing Office หรือ TLO เพื่อทำหน้าที่ผลักดันให้คณาจารย์จดสิทธิบัตรมากขึ้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. โดยฝ่ายวิชาการ ซึ่งเล่นงานพื้นฐานเพื่อผลิต paper มาตลอดเวลากว่า 10 ปี ตอนนี้มีของบนหิ้งมากมาย ก็เริ่มขยับตัว คัดเลือกของในหิ้งไปสู่ห้าง โดยในปี 2550 นี้ได้ร่วมกับ สสว. แห่งกระทรวงอุตสาหกรรม ทำโครงการวิจัยพื้นฐานเพื่ออุตสาหกรรม โครงการนี้จะช่วยผลักดันให้นักวิจัยพื้นฐานที่มีประวัติการทำวิจัยพื้นฐานเข้มแข็ง ได้ร่วมทำงานกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ หรือ แก้ปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรม โดยใช้นวัตกรรมกับองค์ความรู้ที่สะสมมา เป็นการระบายของจากหิ้งไปสู่ห้างที่ชาญฉลาด อีกหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้มานาน และประสบความสำเร็จสูงก็คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ที่เน้นงานวิจัยที่เกือบจะเสร็จ และมี potential สูงให้ไปสู่อุตสาหกรรม โดย NIA จะให้ทุนไปที่อุตสาหกรรมโดยตรง

จริงๆ แล้ว ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ต่างประเทศชอบใช้มาก แต่ยังไม่มีทำกันในบ้านเราก็คือ Technology Incubator ซึ่งในสหรัฐฯ มักจะตั้งชื่อให้เก๋ไก๋ว่า Center for Emerging Technologies โดยหน่วยงานประเภทนี้จะเน้นการสร้างบริษัทไฮเทค หรือ มีนวัตกรรมสูงขึ้นมา ซึ่งน่าจะเหมาะกับนาโนเทคโนโลยี วันหลัง nanothailand จะนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ

(ภาพซ้ายมือ - หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชูธงการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้เข้มแข็ง โดยอาศัยทรัพยากรของมหาวิทยาลัย)

14 กันยายน 2550

Smart Fabrics - อาภรณ์ฉลาด


ช่วงนี้ไม่รู้เป็นอะไร เดินไปทางไหน ก็เห็นแต่ผู้หญิงใส่ชุดคลุมท้อง ตอนแรกผมก็นึกว่าเป็นเพราะเข้าฤดูฝนหรือปล่าว อากาศเย็นสบายๆ ก็เลย productive กันใหญ่ ถามไปถามมาปรากฎว่าชุดคลุมท้องที่สาวๆ ใส่กัน มันกำลังอินเทรนด์ แบบว่าเป็นแฟชั่นที่กำลังระบาดกันอยู่ตอนนี้ ผ้าที่นำมาสวมใส่ เป็นผ้าแบบรู้สึกละมุน และให้ความสบายแก่ผู้สวมใส่ ตัดแบบออกมาเลยดูเหมือนชุดคลุมท้อง แฟชั่นที่อินเทรนด์อยู่ขณะนี้ สะท้อนว่าผู้คนชอบความรู้สึก comfort ที่ได้จากเสื้อผ้ามากกว่าแต่ก่อน

จะว่าไปแล้วความรู้สึกสบายนั้น ไม่ใช่เรื่องของอุปาทาน แต่วิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้ โดยความรู้สึกสบายจะเกิดขึ้นเมื่อสัมผัสผ้าซึ่งสามารถอธิบายได้โดยสมการทางคณิตศาสตร์หลายสมการ โดยตัวแปรที่ทำให้รู้สึกสบายได้แก่ การดูดซับความร้อน (Thermal Absorptivity) ความหนาของเส้นใย ความสามารถในการบีบอัด (Compressibility) แรงเสียดทานของใยผ้า ความแข็งของการโค้งงอ (Bending Rigidity) ความสามารถในการยืดออก (Extensibility) แรงเฉือน (Shear Rigidity) การดูดซับความชื้น ซึ่งตัวแปรเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้เกิดความสบายได้

นี่แค่เรื่องของความสบายนะ จริงๆ แล้ว นาโนเทคโนโลยีสามารถนำเอาคุณสมบัติใหม่ๆ มาใส่ในผ้าได้อีกเยอะแยะเลยล่ะครับ วันหลังจะค่อยๆ เล่าให้ฟัง ช่วงนี้เราจึงได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมามากมายในวงการสิ่งทอ เช่น ผ้าฉลาด (Smart Fabrics) สิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ (e-Textile) เท็กซ็ทรอนิกส์ (Textronics) สิ่งทออัจฉริยะ (Intelligent Textile) อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ได้ (Wearable Electronics) การประมวลผลบนสิ่งทอ (Textile Computing) เสื้อผ้าอันตรกริยา (Garment Interaction) อาภรณ์ตอบสนอง (Interactive Cloth) หรือแม้กระทั่ง ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ (e-Skin)

(ภาพขวามือ - Picture from gizmag.com - อาภรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังจะเข้ามาเป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวัน ก็รออยู่ว่าเมื่อไหร่ แฟชั่นนี้จะมาแทนชุดคลุมท้อง)

13 กันยายน 2550

อยากเป็นที่หนึ่ง ไทยต้องเร่งสร้างทีม ลดบทบาทตัวบุคคล


ปัญหาในวงการวิจัยของไทยที่คอยบอนไซประเทศมาหลายสิบปีเรื่องหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมการทำงานแบบ "ข้ามาคนเดียว" ของนักวิจัยไทย ที่ชอบเล่นบท superman ทำงานคนเดียว ที่เหลือเป็นนักศึกษา แต่ในระยะ 2-3 ปีมานี้ ภายหลังจากมีการรายงานถึงความอ่อนแอของงานวิจัยไทยที่เกิดจากการชอบทำงานคนเดียว ซึ่งจัดทำโดย สกอ. ร่วมกับ สกว. หน่วยงานให้ทุนต่างๆ ก็เริ่มเน้นการให้ทุนแบบรวมกลุ่มมากขึ้น ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) เริ่มการจัดตั้ง Center of Excellence หรือ COE ตามมหาวิทยาลัยหลักทั่วประเทศตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมุ่งสร้างทีมที่มีเอกลักษณ์ NECTEC - The Best of NSTDA ก็เริ่มจัดตั้ง COE บ้างแล้วในปีนี้ สกอ. มีทุนสร้าง Research Group ที่เน้นทีมมากกว่าตัวบุคคล แม้แต่ สกว. ซึ่งมีประเพณีการให้ทุนที่เน้นตัวบุคคลมาแต่ไหนแต่ไร แต่ได้ยินมาว่า ทุนทางด้านนาโนเทคโนโลยีของ สกว. จะ upgrade ขึ้นไปชูทีมเวอร์ค มากกว่าตัวบุคคล อย่างที่เคยทำ


ในโลกของงานวิจัยสมัยใหม่ เหลือที่ว่างให้ศิลปินเดี่ยวน้อยลงทุกที nanothailand ชอบคำพูดของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมาก ท่านเป็นอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ท่านกล่าวว่า "สมัยนี้ถ้ายังทำงานวิจัยคนเดียว เป็นศิลปินเดี่ยว ก็ต้องไปยืนเล่นตามชานชาลารถไฟเท่านั้น" หากมองออกไปข้างนอก เอาใกล้ๆตัวก่อน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม เขารวมกันเป็นทีมทั้งนั้น ยิ่งออกไปไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และ อเมริกา กระแสการจัดตั้ง Center of Excellence ที่ทำกันมาหลายปีก็ยังแรงอยู่ ทุนเมกะโปรเจคต์ของยุโรปที่เรียกว่า FP7 บอกเลยว่าไม่ต้อนรับข้ามาคนเดียว


(ภาพซ้ายมือ - แม้แต่ในวงการดนตรี ก็ยังต้องมากันเป็นทีม ในภาพเป็นศิลปินวงโซนยอชิแด ที่อาศัยความเป็นทีม สร้างความโด่งดังไปทั่วเอเชีย ศิลปินในเกาหลีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Super Junior ที่มีอยู่ 10 คน KARA ที่มีอยู่ 4 คน Wonder Girls ที่มี 5 คน ล้วนแสดงให้เห็นว่า หากประเทศไทยยังเน้นบุคคลเดี่ยวๆ อยู่ ตายแน่ๆ)

12 กันยายน 2550

เวียดนามคุย สังเคราะห์ท่อนาโนคาร์บอนส่งนอก


เมื่อหลายวันก่อน nanothailand ได้พูดถึงความน่ากลัวของ Saigon Hi-Tech Park ว่ากำลังผงาดท้าทาย Science Park ของไทย ผู้อ่านคงยังไม่ทันลืมเรื่องนี้ใช่ไหมครับ ปรากฏว่าเวียดนามไม่ได้หยุดแค่นี้ ตอนนี้ Saigon Hi-Tech Park เขาโด่งดังไปทั่วโลกแล้ว ทั้งนี้ Dr. Nguyen Chanh Khe ซึ่งท่านก็เป็นผู้อำนวยการของ R&D Center ของ Saigon Hi-Tech Park ได้ออกมาสัมภาษณ์สื่อหลายแขนง ทั้งของเวียดนาม และ ต่างประเทศว่า ตอนนี้ เวียดนามสังเคราะห์ท่อนาโนคาร์บอนในระดับ 200 กรัมได้แล้ว และภายในสิ้นปีนี้ จะขยายกำลังผลิตขึ้นไปในระดับ 200 กิโลกรัม เลยทีเดียว แถมยังคุยอีกว่า ตอนนี้บริษัทไฮเทคทั่วโลก ต้องการสั่งท่อนาโนคาร์บอนของเวียดนาม ท่านยังได้คุยอีกว่า ในโลกเราเนี่ย มีเพียง อเมริกา ญี่ปุ่น กับ ยุโรปบางประเทศเท่านั้นที่ผลิตได้ สงสัยจะรู้จัก ดร. พิศิษฐ์ สิงห์ใจ คนดังแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของเราน้อยไปเสียแล้ว อย่างนี้งาน IWNA2007 ที่จะจัดที่เวียดนาม พฤศจิกายน 2550 นี้ไปเจอกันหน่อย เอาท่อนาโนคาร์บอนเมดอินไทยแลนด์ที่เราผลิตได้ หอบไปโชว์สักกระสอบ


จะว่าไปแล้ว ความน่ากลัวของท่าน ผอ. เหงียน ก็คือ ใน Saigon Hi-Tech Park ของเขาเอง มีอุตสาหกรรมรองรับการผลิตท่อนาโนคาร์บอนแล้ว ซึ่งก็คือแบตเตอรีนั่นเอง ซึ่งเขาคุยว่าเขาผลิตท่อนาโนแบบรูปตัว Y อีกต่างหาก ไม่ถ่อมตัวเลยท่าน แถมโม้ต่ออีกว่าประสิทธิภาพดีกว่า Nafion ที่ผลิตโดยอเมริกาอีกด้วย เป็นยังไงครับ ฟังแล้วหนาวเพิ่มขึ้นมาอีก นาโนเมืองไทย ต้องขยันเพิ่มขึ้นนะครับ ลูกหลานเราจะได้ไม่ต้องไปดูงานที่เวียดนาม


(ภาพซ้ายมือ - สาวฮานอยยิ้มรับกล้องอย่างเป็นมิตร เวียดนามเกือบลืมอดีตที่ขมขื่นไปหมดแล้ว ตอนนี้เขามุ่งสู่อนาคตอย่างเต็มที่)

11 กันยายน 2550

สกอ. รับ เลขาฯ ใหม่ อนาคตสดใสแน่ๆ


ในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. จะได้เลขาฯ คนใหม่ คือ ดร. สุเมธ แย้มนุ่น ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากคนวงการอุดมศึกษา โครงการหนึ่งที่ท่านเคยผลักดันร่วมกับ ศ. ดร. ภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาฯ ก็คือ โครงการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator หรือ UBI) ซึ่งมีเป้าหมายจะให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นแหล่งผลิตผู้ประกอบการใหม่ หรือ Entrepreneur คือ แทนที่เด็กจบมาจะไปเป็นลูกจ้าง หรือ ข้าราชการ หรือ พนักงานบริษัท แต่อย่างเดียวเหมือนในอดีต ก็มีการสร้างทางเลือกใหม่ ให้เด็กๆ รู้จักการออกไปเป็นเจ้านายตัวเอง หรือ เถ้าแก่ โดยมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่เหล่านั้น โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้แก่ ห้องปฏิบัติการ งานวิจัย อาจารย์ที่ปรึกษา ห้องสมุด งบวิจัย รวมไปถึงสถานที่ตั้ง office ของบริษัทบ่มเพาะ หรือ Start-Up เหล่านั้น จนกระทั่งมีความเข้มแข็งพอก็จะ spin off ออกไปจากอกแม่ โดยจะมีผลประโยชน์คืนกลับมาในรูปของหุ้น หรือ สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา


ปีนี้เป็นขวบปีที่ 3 ของโครงการ UBI เมื่อได้ท่านสุเมธมาเป็นเลขาฯ ก็เห็นแววสดใสของ UBI ตอนนี้ UBI จัดตั้งไปแล้วกว่า 35 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ เกิดการต่อยอดงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์จำนวนมาก รวมทั้งการจัดตั้ง Start-Up ตัวอย่าง มหาวิทยาลัยที่ UBI เจ๋งมากๆ ก็คือ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขนาดที่ว่า UBI ของฮ่องกงมาดูงานแล้วชมเปาะเลย ยกเอาไปเทียบกับ National University of Singapore หรือ NUS เราก็สู้ได้ น่าดีใจที่ผู้ร่วมปลุกปั้น UBI มาตั้งแต่ต้น ได้มาเป็นเลขาฯ สกอ. อยากเชียร์ให้ทำ Venture Capital ต่อด้วยนะครับ สู้กับ NUS เลย


(ภาพขวามือ - UBI ของ National University of Singapore เอาบ้านพักอาจารย์มาตกแต่ง ข้างในแบ่งเป็น office ของบริษัทบ่มเพาะ ที่มีนักศึกษาและอาจารย์ เป็นเจ้าของบริษัท)

10 กันยายน 2550

เชียงใหม่จัด SmartMat 2008 ผลักนาโนไทยไปอินเตอร์


ช่วงนี้ทั้งไทย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ต่างแข่งขันกันโชว์อ็อฟ ขึ้นบนจอเรดาห์นาโนเทคโนโลยี ของเอเชีย ปีหน้ามาเลเซียจะจัด Malay NANO 2008 สิงคโปร์ก็จะจัด ThinFilms 2008 กับ nanoMan 2008 ไทยก็ไม่ยอมน้อยหน้าเช่นกัน เพราะเชียงใหม่ เมืองแห่งหมีแพนด้าก็จะจัด SmartMat 2008 หลังจากที่เคยประสบความสำเร็จไปก่อนหน้านี้แล้ว คราวนี้ มช. ดึงเอาทีมงานของ UCSB มาเสริมทัพร่วมจัด 2nd International Workshop on Functional Materials and Nanomaterials ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม 2006 ไปจัดกันที่ฮาลองเบย์ อ่าวที่ธรรมชาติสร้างเลียนแบบอ่าวพังงาของเรา ครั้งนั้น nanothailand ก็ไปร่วมงานและสังเกตการณ์ ความคึกคักของนักนาโนตระกูลเหงียน พวกนี้พอเห็นสาวไทย ก็ต่างพามารุมล้อม แนะนำตัวกันใหญ่ งานที่จัดในปีนั้นถือว่ายิ่งใหญ่มาก และอาจพูดได้ว่าไม่เคยมีการประชุมทางนาโนเทคโนโลยีในเมืองไทยในอดีตสามารถเทียบเคียงได้เลย Proceeding ของการประชุมยังได้ไปลง Journal ที่มี impact factor ด้วย ไม่รู้เวียดนามทำได้ไง


อย่าเพิ่งน้อยใจไปครับ SmartMat 2008 อาจจะพอช่วยกู้หน้าประเทศไทยได้ งานนี้จะจัดระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน 2551 หัวข้อที่เป็นที่สนใจของที่ประชุมนี้ ได้แก่ Piezoelectric ceramics/polymers, Magnetostrictive materials, Shape memory alloys, Actuators and sensors, Smart structural materials and composites, Electrooptic, optomechanical and other photonic systems, MEMS- and NEMS-based actuators and sensors, Carbon and other nanotubes, Semiconducting and metallic nanowires, New nano- and micromaterials, Molecular nanotechnology, Biomedical/bioresponsive materials, Speciality polymers with controlled microstructures, Other smart materials นอกจากจะแสดงผลงานวิจัยเหมือนประชุมอื่นๆแล้ว งานนี้ก็จะมี workshop ที่เป็น Lectures ที่สอนเกี่ยวกับวัสดุประเภทต่างๆ ด้วย


(ภาพซ้ายมือ - หมีแพนด้าที่เชียงใหม่ ไปดูทีไรก็นอนหลับทุกที แต่ครั้งนี้ ช่วงช่วงตื่นมาเคี้ยว nanofibers กินอย่างเอร็ดอร่อย)

อิเล็กทรอนิกส์ที่กินได้ (Edible Electronics)


นับตั้งแต่มีการคิดค้นทรานซิสเตอร์ในปี ค.ศ. 1947 โดย John Bardeen และ Walter Brattain ซึ่งนำมาสู่รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี ค.ศ. 1956 โลกของอิเล็กทรอนิกส์ก็ถือกำเนิดขึ้น ยิ่งภายหลังการคิดค้นวงจรรวม IC โดย Jack Kilby กับ Robert Noyce ระหว่าง ค.ศ. 1958-1959 แล้ว อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็เริ่มกลายมาเป็นสิ่งที่เข้าถึงชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการลดขนาด และ เพิ่มความสามารถขึ้นตามกฎของมัวร์ ทำให้ทุกวันนี้อารยธรรมของเราไม่อาจอยู่โดยขาดมันได้ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น แม้แต่นอนเล่น ชมเกลียวคลื่น อยู่บนเก้าอี้ชายหาดที่หัวหิน ก็ยังต้องควักเอา i-Pod ออกมานั่งฟังเพลงซักหน่อย ความสุขความทุกข์ของมนุษย์ฝากเอาไว้กับเทคโนโลยีนี้มากว่าครึ่งศตวรรษเลยทีเดียว


ในอดีตที่ผ่านมา อิเล็กทรอนิกส์มีพื้นฐานอยู่บนวัสดุประเภทอนินทรีย์เป็นหลัก โดยวงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์ความจุสูง จะอยู่บนซิลิกอน แต่ในระยะ 5-10 ปีมานี้ได้เกิดปรากฏการณ์ อิเล็กทรอนิกส์ทางเลือก ที่มีความต้องการวัสดุใหม่ๆ มาทำอิเล็กทรอนิกส์ ได้เกิดศัพท์ใหม่ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ (Plastic Electronics) อินทรีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Organic Electronics) อิเล็กทรอนิกส์แบบพิมพ์ได้ (Printed Electronics) อิเล็กทรอนิกส์แบบม้วนได้ (Rollable Electronics) อิเล็กทรอนิกส์แบบพับได้ (Foldable Electronics) อิเล็กทรอนิกส์แบบโค้งงอได้ (Flexible Electronics) อิเล็กทรอนิกส์แบบยืดได้ (Stretchable Electronics) ล่าสุดได้เกิดศาสตร์ใหม่อีกแล้ว คราวนี้เป็น อิเล็กทรอนิกส์ที่กินได้ (Edible Electronics) และ อิเล็กทรอนิกส์ที่ย่อยได้ (Digetable Electronics) แน่นอน วัสดุที่จะทำหน้าที่อิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ๆ นี้ก็ต้อง วัสดุอินทรีย์ และ ชีวภาพ ทั้งนี้บริษัท Kodak และ Somark Innovations ได้จดสิทธิบัตรวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่กินได้ เพื่อใช้ตรวจสอบสุขภาพของมนุษย์ ด้วยการกินเข้าไป


(ภาพซ้ายมือ - อิเล็กทรอนิกส์แบบกินได้ ไม่รู้จะอร่อยมั้ย แต่อีกไม่นาน เราคงได้กินมันเหมือนขนม)

06 กันยายน 2550

ฤทธิ์ วทท. ทำเอาที่พักในเมืองนครฯ เต็ม โรงแรมใหม่ผุดเพียบ


การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย หรือ เรียกกันสั้นๆ ว่า วทท. เป็นการประชุมวิชาการแบบจับฉ่าย ที่ใหญ่ที่สุดแล้วของประเทศ รวบรวมผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ในระดับพันเรื่อง มาแสดงในงานทุกปี โดยตามประเพณีแล้ว งานนี้จะจัดสลับระหว่างกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด ซึ่งก็ดำเนินการมา กว่า 33 ปีแล้ว

อาจจะเพราะกระแสแห่งองค์พ่อจตุคามรามเทพ ทำให้ปีนี้ วทท. ครั้งที่ 33 ไปจัดที่เมืองนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2550 นี้ โดยมีโต้โผใหญ่คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดในภาคใต้ nanothailand เพิ่งไปสำรวจบรรยากาศ และ ความเป็นไป ใน เมืองนครฯ เมื่อ 2-3 วันมานี้ พบว่า โรงแรมใหญ่ๆ ในเมืองนครฯ โดนจองเต็มไปหมดแล้ว ทั้ง ทวินโลตัส และ แกรนด์ปาร์ค นอกจากนั้น ยังมีโรงแรมอื่นๆ ที่เพิ่งสร้างเสร็จ เช่น สิริธานี ก็ถูกจองทั้งตึก งานนี้ทำให้ nanothailand ไม่มีที่นอนเพื่อไปสังเกตการณ์ บรรยากาศทางด้านนาโน มาเล่าให้ฟัง โชคดีที่เมื่อไปต่อที่ โรงแรมทักษิณ ปรากฎว่ายังเหลือห้องอยู่ เนื่องจากโรงแรมอยู่ระหว่างปรับปรุง ทำให้คนคิดว่าปิดซ่อม เลยโชคดีไป

ไปงาน วทท. ปีนี้ นอกจากจะได้ไปร่วมแสดงผลงาน และ ชื่นชม ความก้าวหน้าของนักวิทยาศาสตร์ไทย ในสาขาต่างๆ แล้ว เรายังมีโอกาสได้ไปไหว้พระธาตุ และเช่าองค์จตุคามฯ ถึงถิ่น อย่าลืมของดีเมืองนครฯ อย่าง ร้านโกปี๊ เครื่องเงิน ผ้ามัดย้อมสีจากเปลือกมังคุด หาดทรายสวยๆ (นครศรีธรรมราชมี หาดทรายที่ยาวที่สุดในประเทศ กว่า 200 กิโลเมตร) ล่องแก่งกรุงชิง ปีนเขาหลวงดูธรรมชาติ นั่งเรือดูป่าชายเลนแถวขนอม และอีกมากมายที่จะทำให้ วทท. ปีนี้ เป็นปีที่น่าจดจำที่สุด

(ภาพขวามือ - พระธาตุนครศรีธรรมราช ที่มีอายุเก่าแก่พอๆ กับ ราชอาณาจักรไทย)

05 กันยายน 2550

ไทยกร่อย กินฝุ่นมาเลเซียด้าน ICT แม้ยังเป็นต่อด้านนาโน



แม้ประเทศไทยจะตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ NANOTEC ก่อนมาเลเซียถึง 3 ปี (ไทยจัดตั้งโครงการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยดำริของ พตท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในปี พ.ศ. 2546 ในขณะที่มาเลย์เพิ่งจะตั้งโครงการ Malaysia National Nanotechnology Initiative เมื่อ พ.ศ. 2549 นี้เอง) เราก็ไม่สามารถประมาทเขาได้ แม้ดูๆ เหมือนเขามาเลียนแบบเราตั้งแต่เรื่องของชื่อศูนย์ ไปจนถึงกิจกรรมที่ศูนย์นาโนแห่งชาติของเขาจะทำ ทำให้มองกลายๆ เหมือนเดินตามหลังเราอยู่ ทั้งนี้เพราะในอดีตเราเองก็เคยคิดจะชูเมืองไทยให้เป็นศูนย์กลาง ICT ให้ได้ มีโครงการที่จะสร้าง Software Cities เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ให้เป็นแหล่งนักเขียนโปรแกรม รับงาน outsource จากต่างประเทศ สุดท้ายก็ปล่อยโอกาสให้บังกาลอร์ แถมตอนนี้เจอคู่แข่งใหม่ ทางด้านการรับงาน outsource นั่นก็คือ เวียดนาม ที่ตอนนี้ฮ็อตมากๆ

กลับมาดูทางมาเลเซียเขาอีกทีครับ ทาง World Economic Forum ได้จัดทำรายงานออกมา 2 ฉบับ ในปีนี้ ได้แก่ Global Competitiveness Report 2006-2007 ซึ่งบอกถึงขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งแน่นอนกลุ่มประเทศ Nordic ดินแดนแห่งนวัตกรรม และ Entrepreneur ที่ผมเคยพูดถึงในบทความเรื่อง Experience Economy นำอยู่ในอันดับต้นๆ สิงคโปร์มาอันดับ 5 มาเลเซียคู่แข่งเรามาที่ 26 ไทยเราอันดับ 35 ส่วนอีกรายงานหนึ่งนั้นชื่อว่า Global Information Technology Report ก็มีการจัดอันดับความก้าวหน้าด้าน ICT ผลปรากฎว่า เราอยู่ในอันดับที่ 37 ตามหลังมาเลเซียซึ่งอยู่ในอันดับ 26 โล่งอกที่เวียดนามยังอยู่หลังเราค่อนข้างมากโดยอยู่อันดับที่ 82 ดูกันอย่างนี้แล้ว อันดับทางนาโนเทคโนโลยีที่เราเคยคิดกันเล่นๆ ว่า เรายังนำมาเลเซียอยู่ ก็หวั่นไหวได้เหมือนกัน เพราะจริงๆ พวกเรายังเล่นด้านนาโนวัสดุกันเป็นหลักอยู่ หากปล่อยให้เวียดนามกับมาเลเซียเจริญด้าน นาโนอุปกรณ์มากกว่าเราอย่างนี้ต่อไป เราก็จะรั้งอยู่ท้ายของ Value Chain ที่ต่องแข่งกับประเทศที่มีแรงงานราคาถูก เหมือนกับ หลายๆเรื่องที่เป็นปัญหาของเราขณะนี้ ไม่ว่าจะสิ่งทอ ข้าว ยางพารา ผักผลไม้ และ สินค้าเกษตร

(ภาพด้านบน - มาเลเซียกำลังกลายเป็นประเทศแห่งสีสัน)

04 กันยายน 2550

Saigon Hi-Tech Park ผงาดท้า Science Park ไทย


แม้ว่าเวียดนามจะมีซายน์พาร์คหลังไทยอยู่หลายปี แต่ Saigon Hi-Tech Park ที่รัฐบาลเวียดนามลงทุนสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2545 มีความน่าเกรงขามยิ่งนัก ลักษณะของอุทยานแห่งนี้ มีความแตกต่างจากของไทย ที่เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์ที่เน้นงานวิจัยเป็นหลักตรงที่ Saigon Hi-Tech Park มีส่วนผสมระหว่าง Science Park ที่เน้นงานวิจัย Technology Park ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยี Industrial Park ที่เน้นอุตสาหกรรมและการผลิต กับ Business Park ที่เน้นการทำธุรกิจ เลยทำให้ Saigon Hi-Tech Park มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีเสน่ห์เย้ายวน จนสามารถดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่อย่าง Hewlett-Packard, Jabil และ Intel ได้ โดย Intel ได้เริ่มสร้างโรงงานประกอบชิพมูลค่ากว่าพันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้


ความเจ๋งของ Saigon Hi-Tech Park อีกประการก็คือ Saigon Hi-Tech Park ได้เชิญชวนมหาวิทยาลัยเด่นๆ ของเวียดนาม ให้มาเปิดสาขาของมหาวิทยาลัย รวมทั้ง Facilities ต่างๆ ใน Saigon Hi-Tech Park โดยร่วมมือกันเพื่อผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมที่มาตั้งอยู่ในพาร์ค แผนงานในปีนี้ของ Saigon Hi-Tech Park คือการสร้าง R&D Laboratories จำนวน 5 Lab ที่ถือว่าเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมยุคใหม่ ได้แก่ Nanotechnology, Precision Mechanics, Information Technology, Semi-conductor และ Biotechnology นอกจากนั้นมันยังมี Business Incubation Center เพื่อใช้บ่มเพาะธุรกิจใหม่ที่มี content ของเทคโนโลยีสูง บริษัทที่มาตั้งอยู่ใน Saigon Hi-Tech Park ได้รับการยกเว้นภาษีสารพัดชนิด เช่น ภาษีนิติบุคคลไม่ต้องเสีย 4 ปี โดยอีก 9 ปี เสียแค่ 5-10% เท่านั้น เครื่องมือและเครื่องจักรที่นำมาติดตั้งในพาร์ค ก็ได้รับการยกเว้น VAT และภาษีนำเข้า สินค้าที่ผลิตได้ก็ส่งออกโดยไม่เสียภาษีอีกต่างหาก อะไรจะดีปานนั้น


ที่ตั้งของ Saigon Hi-Tech Park ก็ถือว่าคิดมาได้ดีทีเดียว มันอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างไซ่ง่อนออกมาเพียง 15 กิโลเมตร ซึ่งก็ห่างจากสนามบินเพียง 18 กิโลเมตร และห่างทะเลซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือเพียง 12 กิโลเมตร เท่านั้น มีเส้นทางหลัก Highway หมายเลข 1 ที่วิ่งจากเหนือจรดใต้ของเวียดนามพาดผ่าน และอยู่ใกล้เขตอุตสาหกรรม 55 แห่ง รวมทั้ง มหาวิทยาลัย HCMC National University

(ภาพซ้ายมือ - ไซ่ง่อน เมืองแห่งเสน่ห์ที่มีทั้งอดีตให้จดจำ ปัจจุบันที่สวยงาม และ อนาคตที่รุ่งโรจน์ ยามราตรีช่างสวยงามยิ่ง)

02 กันยายน 2550

มาเลเซีย ปั้นแผนกลยุทธ์นาโน ไต่อันดับเอเชีย


มาเลเซีย ประเทศหนึ่งในผู้ท้าชิงฮับนาโนของ ASEAN ซึ่งมี ไทย เวียดนาม และ สิงคโปร์ เป็นผู้ร่วมท้าชิง ได้เปิดแผนกลยุทธ์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (Malaysia Master Plan in Nanotechnology) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ National Nanotechnology Initiative ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อไป พ.ศ. 2549 โดยภายใต้โครงการนี้ มาเลเซีย ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างเข้มข้น ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ การจัดประชุม Asia Nano Forum Summit การจัดประชุมวิชาการ Malay NANO 2008 การจัดสัมมนาจับคู่ระหว่างนักวิจัย
กับอุตสาหกรรม (Nanotechnology Business and R&D Matching Luncheon) เป็นต้น

แผนกลยุทธ์ระยะสั้นในปีสองปีนี้ของเขา (มาเลเซียเพิ่งจะจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติในปีนี้ ในขณะที่ของเรามีมาตั้งแต่ปี 2546) ก็คือ ต้องหาและระบุตัวของผู้เชี่ยวชาญนาโนเทคโนโลยีในด้านต่างๆ จากนั้นก็เริ่มเดินเครื่องอัพเกรด ห้องปฏิบัติการต่างๆ ด้วยเครื่องมือใหม่ๆ ที่ทันสมัยขึ้น จัดตั้งห้องปฏิบัติการเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และ ดำเนินการสร้างทรัพยากรมนุษย์ด้านนาโนเทคโนโลยี ฟังดูแล้วเหมือนไทยเราจะเป็นต่ออยู่เพราะงานพวกนี้ ศูนย์ NANOTEC ของไทยเราได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งพอเข้าไปดูแผนงานของศูนย์นาโนแห่งชาติของเขา ก็ดูเหมือนมาลอกของเรายังไงก็ไม่รู้


(ภาพซ้ายมือ - ปีนี้เป็นปีทองของมาเลเซียในเกือบทุกด้าน ซึ่งอาจรวมไปถึงนาโนเทคโนโลยีด้วย)

01 กันยายน 2550

นาโนโยธา (Nano Construction)


นับตั้งแต่เริ่มมีการตื่นตัวทางด้านนาโนเทคโนโลยีในปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ศาสตร์ระดับนาโนได้เริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวิจัยหรือความสนใจของผู้คนที่อยู่ในวงการต่างๆ ตั้งแต่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เภสัชศาสตร์ การแพทย์ เกษตร วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเคมี ไปจนถึง สาขาของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แต่มีศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งไม่ค่อยมีใครคิดว่านาโนเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจิ๋วจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้ ทำให้ช่วงแรกๆ ผู้คนในสาขานี้ค่อนข้างเฉยๆ ต่อการเข้ามาของนาโนเทคโนโลยี จนระยะหลังๆ นี้เริ่มมีการตื่นตัวอย่างมาก และทำทีว่านาโนเทคโนโลยีคือคลื่นลูกใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการนี้ขนานใหญ่เลยทีเดียว ศาสตร์ที่ว่านั้นคือ วิศวกรรมโยธา หรือ งานด้านการก่อสร้างนั่นเอง

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีความตื่นตัวสูงมาก ที่จะนำนาโนเทคโนโลยีไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่นเดียวกับ EU นั้นอุตสาหกรรมก่อสร้างมีขนาดใหญ่คิดเป็น 10% ของ GDP เลย โดยมีแรงงานที่เกี่ยวข้องถึง 25 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน SME ทำให้ EU ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เยอรมันเริ่มมีการให้ทุนวิจัย ในการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้สำหรับวิศวกรรมก่อสร้างอย่างจริงจังเมื่อปี 2549 นี้เอง นาโนเทคโนโลยีสามารถนำไปใช้พัฒนาวัสดุก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง สถาปัตยกรรมที่ความสวยงามคงทนขึ้น เช่น คอนกรีตผสมอนุภาคนาโน เหล็กเนื้อเกรนนาโน ไม้ผสมนาโนคอมโพสิต กระจกเคลือบอนุภาคนาโน พลาสติกผสมนาโนเคลย์

.... นาโนโยธา เป็นศาสตร์แขนงใหม่ที่กำลังมาแรงและเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรจะรีบครอบครอง เมื่อคำนึงว่าเรามีอุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้างหลายๆอย่าง เป็นของเราเอง ทั้งปูนซีเมนต์ กระจก พลาสติก และไม้ ขาดแต่เพียงเหล็กกล้าเท่านั้น แล้วพวกเรามีเหตุผลอะไรหรือ …. ที่จะทำให้ลังเล ไม่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีนี้ ???
(ภาพซ้ายมือ - วิศวกรตัวน้อยกำลังก่อสร้างรังของมัน เจ้านกแก้วเหล่านี้ รู้จักเทคโนโลยีก่อสร้างก่อนมนุษย์เสียอีก)