16 กุมภาพันธ์ 2557

Musculoskeletal Robots - หุ่นยนต์กล้ามเนื้อเหมือนมนุษย์



วันนี้ผมขอพาไปรู้จักกับ "เคนชิโร" (Kenshiro) ครับ เคนชิโรเป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้น ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว ครับ ความแปลกแตกต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไปของเคนชิโรคือ เคนชิโร เป็นหุ่นยนต์ที่มีระบบจักรกล ที่เลียนแบบมาจากระบบกล้ามเนื้อและกระดูกของมนุษย์อย่างเหมือนที่สุด ต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไปที่แม้ตัวจะเหมือนมนุษย์ แต่ระบบขับกลับเคลื่อนไปเหมือนรถยนต์มากกว่าครับ

เคนชิโรถูกสร้างเลียนแบบสรีระของเด็กชายญี่ปุ่นอายุ 12 ขวบ มันมีความสูง 158 เซ็นติเมตร และหนัก 50 กิโลกรัม มันมีกล้ามเนื้อใกล้เคียงกับมนุษย์ คือมี 160 มัดซึ่งแบ่งเป็นในขา 50 มัด ในลำตัว 76 มัน ที่ไหล่ 12 มัด และคอจำนวน 22 มัด มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยครับ ที่จะทำระบบกล้ามเนื้อของมนุษย์ใส่เข้าไปในหุ่นยนต์ โดยที่จำกัดให้น้ำหนักตัวของมันใกล้เคียงกับของมนุษย์

อีกไม่นานเกินรอ ... เราจะมีหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างและอากัปกริยาเหมือนมนุษย์ออกมาใช้ชีวิตร่วมกับพวกเราแล้วหล่ะครับ

More information on advanced robotics at http://www.jsk.t.u-tokyo.ac.jp/index.html

Credit - Picture and Data from University of Tokyo
http://www.jsk.t.u-tokyo.ac.jp/research/kenshiro.html

12 กุมภาพันธ์ 2557

DARPA หวังใช้ drone แทนนักบินลำเลียง



ในปี ค.ศ. 2030 กองทัพสหรัฐฯ วางแผนจะใช้หุ่นยนต์แทนที่ทหารที่เป็นมนุษย์ 25% ทำให้ขณะนี้ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของสหรัฐอเมริกามีการตื่นตัวค่อนข้างมาก และอาชีพใหม่คือ นักหุ่นยนต์ศาสตร์ กำลังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก

ล่าสุด หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยด้านกลาโหมของสหรัฐ (DARPA) ได้ออกมาเปิดเผยแผนการนำหุ่นยนต์บินได้ (drone) มาใช้ในการทำงานแทนนักบินเฮลิคอปเตอร์ โดยโครงการนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า AERIAL RECONFIGURABLE EMBEDDED SYSTEM (ARES) สำหรับใช้งานในพื่นที่เสี่ยงภัย โดยเจ้า drone ตัวนี้ สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากเกือบ 1.5 ตัน มันสามารถบินขึ้น-ลง ได้ในแนวดิ่ง และสามารถบินต่อในแนวราบแบบเดียวกับเครื่องบิน โดยไม่ต้องใช้มนุษย์บังคับ โดยมันจะอาศัยระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อทำงานเอง

ภารกิจหลักของเจ้า drone ตัวนี้คือ

- การบรรทุกสัมภาระ เพื่อนำไปส่งทหารในสนามรบ
- การลำเลียงผู้บาดเจ็บออกจากสนามรบ
- การสอดแนม ตรวจการณ์ และ ลาดตระเวณ

และแน่นอนที่สุดครับ เทคโนโลยีเหล่านี้จะค่อยๆ ซึมซาบจากการทหาร ไปสู่การใช้งานของพลเรือนในที่สุด ในอนาคต drone แบบนี้ อาจจะถูกนำมาใช้ในการขนส่งสินค้าแทนรถบรรทุกก็ได้ครับ

Credit - Picture from http://www.darpa.mil/Our_Work/TTO/Programs/Aerial_Reconfigurable_Embedded_System_(ARES).aspx

05 กุมภาพันธ์ 2557

Creative Economy กับเกษตรไทย



เมื่อประมาณ 2-3 ปีมาแล้ว เราจะค่อนข้างได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ Creative Economy หรือ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บ่อยมาก นัยว่าในมุมมองของรัฐบาลไทยในสมัยนั้น คิดว่าคนไทยเราน่าจะมีความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างดี เศรษฐกิจแบบนี้จึงน่าจะเหมาะกับบ้านเรามากกว่า Knowledge-Based Economy หรือเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งเคยถูกใช้เป็นเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย ในยุคก่อนหน้าสัก 10 ปีที่แล้ว แต่ในที่สุด พวกเราเองคงจะรู้ตัวว่า สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ไม่ได้ เพราะเรายังไม่มีศักยภาพในการผลิตความรู้ขึ้นใช้เอง เนื่องจากสังคมของเรายังอ่อนแอ ในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งโดยทั่วไป เขามักจะวัดกันที่ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และสิทธิบัตร ซึ่งเรายังแพ้ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์

Creative Economy วางจุดโฟกัสที่ตัวผู้ผลิตสินค้าว่าต้องมีความคิดสร้างสรรค์สูง ผลิตสิ่งที่เป็นของใหม่ๆ มีความโดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง Creative Economy ตามความหมายของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหมายถึง "แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity) และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual Property) ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม (Culture) การสั่งสมความรู้ของสังคม (Wisdom) และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่ (Technology and Innovation)"

ดังนั้น ความหมายของ Creative Economy ในมุมมองของไทย คือการเน้นความเป็นไทย อันได้แก่ ความสามารถด้านศิลปะต่างๆ งานหัตถกรรม จิตรกรรม วิจิตรศิลป์ และอื่นๆ ที่เราสั่งสมมาจากสมัยโบราณ ไม่ใช่ Creative Economy ที่อยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เป็น Creative Economy ที่อยู่บนฐานของศิลปวัฒนธรร ที่เป็นจุดเด่นของประเทศเรา ซึ่งอันที่จริงก็เป็นสิ่งที่น่าจะถูกต้องครับ เพียงแต่ สินค้าที่เราคิดว่า creative ต่างๆ นี้ มันสามารถที่จะส่งออกไปยังตลาดโลกได้จริงหรือไม่ ? ตลาดต่างๆ นอกประเทศไทยจะพึงพอใจสินค้าทางด้านศิลปวัฒนธรรมของเรามากเพียงใด เราจะแข่งกับสินค้าอารมณ์จากเกาหลีได้หรือไม่

ในมุมมองของผม ผมฝันถึง Creative Economy ที่อาศัยสินค้าเกษตรเป็นฐานครับ เพราะเรามีสินค้าเกษตรหลายๆ ตัวที่มีจุดเด่น เอกลักษณ์ และน่าจะผสมผสานความเป็นไทยได้ ไม่ว่าจะเป็น กาแฟอะราบิก้า ข้าวหอมมะลิ ทุเรียน มะม่วง และผลไม้หลากชนิด สมุนไพรไทย อาหารไทยอย่าง ต้มยำกุ้ง และ ผัดไทย ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

มาร่วมกันสร้าง Creative Economy ในภาคเกษตรกันครับ

(Credit - Picture fromhttp://www.elearneasy.com/http://www.liveinternet.ru/http://nenuno.co.uk/)