25 ตุลาคม 2556

Malaysia Smart Paddy - โครงการนาข้าวอัจฉริยะ มาเลเซีย



(Credit - Picture from Malaysian National Paddy Precision Farming Project)

"ประเทศไทย ปลูกอะไรก็ขึ้น จะทำ smart farm ไปทำไม" เป็นคำพูดที่ผมมักจะได้ยินนักวิชาการทางด้านเกษตรพูดดูหมิ่นแนวคิดของ smart farm ทำให้เมื่อ 5 ปีก่อน แทนที่ผมจะได้นำแนวคิดของเกษตรอัจฉริยะมาใช้กับนาข้าว ซึ่งเป็นพืชหลักของไทย แต่ผมกลับต้องไปทำ smart farm กับองุ่น พืชที่ปลูกและดูแลยากกว่ามากๆ เพราะนักวิชาการเหล่านั้น "ไม่อนุญาต" ให้เราทำกับสิ่งที่ "ปลูกอะไรก็ขึ้น"

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ศักยภาพในการ "ปลูกอะไรก็ขึ้น" กำลังจะสูญเสียไป ประเทศไทยกำลังผจญกับการแข่งขันรอบด้าน เวียดนามกำลังพัฒนาข้าวหอมเพื่อมาแข่งขันกับเรา รวมไปถึงกาแฟที่ทุกวันนี้ ทั้งกาแฟของลาวและเวียดนาม บุกถล่มร้านกาแฟในเมืองไทยกันเต็มบ้านเต็มเมือง เมื่อไม่นานมานี้ อินโดนีเซียออกกฎเหล็กเพื่อมาควบคุมทุเรียนไทย อินโดนีเซียตั้งเป้าจะเอาทุเรียนมาแข่งกับไทยให้ได้

จะเห็นว่า ถ้าเรายังอยู่กับที่ ... มีแต่ ตาย กับ ตาย ครับพี่น้อง !!!

วันนี้ผมจะพาไปดูโครงการนาข้าวอัจฉริยะในประเทศมาเลเซียครับ ไปดูกันครับว่า เพื่อนบ้านเค้าทำนาแบบใหม่กันอย่างไร โครงการนี้เป็นการนำเอาเทคโนโลยีหลายอย่าง มาช่วยในการทำนา ผมขออธิบายตามรูปภาพนะครับ ทีนี้ขอให้มองไปที่มุมขวาบนของภาพก่อนครับ

- Soil Sampling ก่อนการทำนาในรอบต่อไป จะมีการตรวจสอบตัวอย่างดินกันก่อนครับ ค่าที่ตรวจสอบจะมี pH, ค่าการนำไฟฟ้า (เพื่อรู้ปริมาณไอออนต่างๆ) ค่าปริมาณของอินทรีย์วัตถุในดิน โดยการใช้รถไถที่ดัดแปลงให้สามารถอ่านค่าตัวอย่างดินได้แบบ ณ ตำแหน่งและเวลาจริงกันเลยทีเดียวครับ ไม่ต้องนำตัวอย่างดินกลับไปทำที่แล็ป

- Soil Mapping จากข้างบน เมื่อเราสามารถตรวจสอบตัวอย่างดินได้ ณ สถานที่และเวลาจริง แบบขับรถไถไปตรวจสอบไป (On-the-go Measurement) เราก็สามารถได้ค่าพารามิเตอร์ของดิน ณ ตำแหน่งต่างๆ ซึ่งก็จะกลายเป็น แผนที่ดินดิจิตอล ที่ทำให้เราทราบว่า ดินในไร่นาของเรามันเหมือนกัน หรือ ต่างกันอย่างไร

- แผนที่ดินดิจิตอลนี้เองครับ จะทำให้เราสามารถดูแลดินแบบแตกต่างกันได้ ตรงไหนไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ก็ใส่ปุ๋ยเยอะๆ หน่อย ตรงไหนดินมันดีกว่าที่อื่น ก็ใส่น้อยหน่อย โดยเราสามารถโปรแกรมใส่รถไถที่จะออกไปรถปุ๋ยครับ เจ้ารถไถนี้จะนำเอาแผนที่เหล่านี้มาใช้อย่างอัตโนมัติ

- Plant Growth Monitoring ในระหว่างที่พืชเติบโต เราจะมีการตรวจวัดด้วยเทคโนโลยีต่างๆ กัน เช่น ใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดการเติบโต หรือใช้ภาพถ่ายทางอากาศจาก UAV ทำให้เราทราบว่า ตกลงที่เราให้ปุ๋ยแก่ดินไปแตกต่างกันตามตำแหน่งต่างๆ กันนั้น มันเป็นไปอย่างที่เราคิดมั้ย

- Variation Rate Application คือการที่เมื่อเรารู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำไป หากมันยังไม่เป็นอย่างที่เราคิด เราก็ยังสามารถดูแลให้ปุ๋ย น้ำ ตามความแตกต่างที่เราวัดได้ ซึ่งก็อาจจะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ติดตามในไร่นา เช่น เซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นในดิน เซ็นเซอร์ตรวจวัดความสูงของต้นข้าว เซ็นเซอร์ตรวจวัดคลอโรฟิล เป็นต้น เรายังสามารถดูแลการกำจัดศัตรูพืช ตามสภาพที่เราตรวจวัดได้อีกด้วย

- Yield Mapping ท้ายสุด เมื่อมาถึงการเก็บเกี่ยว เราจะไม่เก็บเกี่ยวแบบธรรมดาอีกต่อไป แต่เราจะตรวจวัดว่า แปลงไหน ตรงไหน พิกัดที่เท่าไหร่ ให้ผลผลิตมากน้อยอย่างไร แล้วนำค่าผลผลิตที่ตรวจวัดได้นั้นมาทำแผนที่ผลผลิตแบบดิจิตอล เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงโมเดล และ สมมติฐานต่างๆ ที่จะทำให้การเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไปนั้นดีขึ้นครับ

ตอนนี้ ผมเองก็เสนอโครงการนาข้าวอัจฉริยะไปที่สภาวิจัยแห่งชาติอยู่ครับ ถ้าได้รับการสนับสนุน จะนำมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมนะครับ หวังว่า เรายังไม่ได้ตามหลังมาเลเซียไกลเกินไป เผื่อจะได้ไล่ทันบ้างครับ


12 ตุลาคม 2556

Smart Tractor - รถแทรกเตอร์อัจฉริยะ (ตอนที่ 1)


(Credit - รูปภาพจากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย http://www.sac.or.th/)

Tractor - รถแทรกเตอร์ หรือ ที่คนไทยส่วนใหญ่ชอบเรียกว่า "รถไถ" เป็นจักรกลการเกษตรประเภทหนึ่งที่เกษตรกรนิยมใช้กันมากที่สุด รถแทรกเตอร์เป็นจักรกลเอนกประสงค์ที่สามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายมากครับ แต่แรกเริ่มเดิมทีที่มันถูกสร้างขึ้นมา ก็เพื่อใช้ไถพรวนดิน รถแทรกเตอร์คันแรกของโลกทำงานด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ถูกนำออกมาขายครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1868 หรือ 145 ปีที่แล้วเลยทีเดียว เรียกว่าเกษตรกรของสหรัฐฯ มีรถไถใช้ก่อนที่คนไทยจะมีรถไฟใช้อีกครับ (รถไฟไทย ทำการก่อสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2434 หรือ ค.ศ. 1891) จากข้อมูลของเว็บไซต์ http://www.nationmaster.com/ ระบุไว้ว่าประเทศที่มีรถแทรกเตอร์ใช้มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา (4.8 ล้านคัน) อันดับสองคือญี่ปุ่น (2.028 ล้านคัน) ส่วนไทยเราอยู่อันดับ 22 (220,000 คัน) ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเมื่อปี ค.ศ. 2000 ซึ่งเก่ามากๆ ครับ เชื่อว่าป่านนี้ ตัวเลขจะเยอะกว่านี้มากๆ ครับ

วันนี้ยังไม่ได้พูดเรื่องความอัจฉริยะของรถแทรกเตอร์ยุคต่อไปนะครับ แต่ขอนำสถิติบางอย่าง มาเล่าให้ฟังก่อนนะครับ เมื่อสัก 2-3 วันก่อน ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่ได้ทำการศึกษาสถานการณ์มความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล โดยกลุ่มที่เลือกมาศึกษาคือ แทรกเตอร์การเกษตร และเลือกสำรวจสภาวะการขายรถแทรกเตอร์การเกษตรเป็นเป้าหมายการศึกษา มีตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับรถแทรกเตอร์ดังนี้ครับ

- ตลาดของรถแทรกเตอร์การเกษตรของไทย มีขนาดปีละประมาณ 70,000 คัน โดยเป็นการประกอบรถในประเทศ 60,000 คัน นำเข้า 16,917 คัน ส่งออก 7,891 คัน

- มีผู้ผลิตหลักในประเทศเพียง 2 ราย คือ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ยี่ห้อ คูโบต้า) และบริษัทยันมาร์ เครื่องจักรกลการเกษตร (ประเทศไทย) จำกัด (ยี่ห้อยันมาร์) โดยมีสยามคูโบต้าเป็นผู้นำตลาดที่มีการจัดการ Supply chain ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนไปจนถึงการประกอบรถแทรกเตอร์ ขณะที่ยันมาร์เป็นผู้ผลิตที่นำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จมาประกอบในประเทศ เท่านั้น

- สำหรับรถแทรกเตอร์การเกษตรที่นำเข้า มีผู้นำเข้าหลัก 3 กลุ่ม คือ (1) บริษัทเอเซีย แปซิฟิก เครื่องจักรกลการเกษตร จำกัด นำเข้าและจำหน่ายแทรกเตอร์ยี่ห้อ New Holland (2) บริษัท จอห์นเดียร์ ประเทศไทย จำกัด นำเข้าและจำหน่ายแทรกเตอร์ยี่ห้อ John Deere และ (3) บริษัท แองโกลไทย จำกัด นำเข้าและจำหน่ายแทรกเตอร์ยี่ห้อ Kioti และ Massey Furguson

- ตลาดผู้ซื้อรถแทรกเตอร์ เป็นของภาคอีสานมากที่สุด (60%) รองลงมาคือภาคเหนือ (25%) และภาคกลาง (10%)

ท่ามกลางสภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรที่กำลังถาถมเข้ามา เกษตรกรมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อยๆ หนุ่มสาวรุ่นใหม่ก็สนใจทำเกษตรน้อยลง ทำให้คาดว่าการนำจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้จะมีแนวโน้มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แน่นอนครับ

11 ตุลาคม 2556

ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมาร์ทฟาร์ม


(Picture from Fujitsu)

เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2556 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานการแสดงทางการค้า (Trade Fair) ที่มีชื่อว่า CEATEC Japan 2013 ในงานนี้ ทำให้ผมได้มีโอกาสเข้าไปติดตามความก้าวหน้าของระบบสมาร์ทฟาร์ม ซึ่งบริษัท Fujitsu พัฒนาขึ้นและได้นำมาออกแสดงในงาน CEATEC Japan แทบจะทุกปี โดยเมื่อครั้งก่อนหน้านี้ ผมก็เคยเข้าไปดูงาน CEATEC Japan มาแล้วครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2007 นู่นเลยครับ ในครั้งนั้น ผมได้มีโอกาสไปเห็นบริษัท Fujitsu เสนอแนวคิดเรื่องสมาร์ทฟาร์มขึ้นมาใหม่ๆ ซึ่งผมก็ได้นำแนวคิดหลายๆ อย่างจากการไปเห็นในนิทรรศการนั่นแหล่ะครับ เอากลับมาทำ พูดอย่างไม่อายเลยครับว่า การไปดูงานแบบ expo หรือ trade fair เนี่ย มันช่วยจุดประกายความคิดเราได้เยอะ หลายๆ เรื่อง เราแค่ไปดูๆ แล้วเอากลับมาทำต่อยอดได้เลย 

หลังจากกลับมาจาก CEATEC Japan 2007 ผมก็ได้ลองนำแนวคิดหลายๆ อย่างของ Fujitsu กลับมาทำ ผ่านไปจากปี 2007 ก็อยากจะกลับไปดูว่า Fujitsu ทำอะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วเวลาที่ผ่านมาตั้ง 6 ปี สิ่งที่ Fujitsu ทำ กับ สิ่งที่ผมได้ทำ มันมีพัฒนาการต่างกันเยอะมั้ย ... ไม่น่าเชื่อครับ พอกลับมาดูอีกที ปรากฎว่า พัฒนาการของสมาร์ทฟาร์มของ Fujitsu กับที่ผมทำและวางแผนจะทำ มันกลับมีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งๆ ที่ ในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยติดตามงานของ Fujitsu อีกเลย

นั่นแสดงว่า แนวโน้มของการพัฒนาสมาร์ทฟาร์มในโลกนี้ มันกำลังไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก็คือ

(1) เรื่องของการติดตามข้อมูลและกิจกรรมในไร่ ด้วยเซ็นเซอร์ (Field Sensors) ต่างๆ รวมไปถึงการใช้จักรกล หุ่นยนต์ และเครื่องทุ่นแรงที่มีระบบอัจฉริยะ

(2) เรื่องของ mobile devices ที่เข้ามามีส่วนในการทำไร่ทำนา การบันทึกและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ

(3) เรื่องของระบบ Cloud Computing ที่จะทำให้พารามิเตอร์ในการเพาะปลูก ปัจจัยการผลิต สภาพผลผลิต เชื่อมโยงกันหมด จากไร่นาไปสู่โรงงานแปรรูป และผู้จัดส่งอาหาร ไปถึงผู้บริโภค รวมถึงการเชื่อมโยงเซอร์วิสอื่นๆ ในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด

เมื่อการเพาะปลูกเชื่อมโยงเข้ากับห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด พารามิเตอร์ ตัวแปร ต่างๆ สามารถที่จะนำมาเชื่อมโยงกันด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์ และอัลกอริทึมต่างๆ ทำให้เกษตรกรสามารถวิเคราะห์ราคาพืชผล จาก demand-supply ได้

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากงาน CEATEC Japan 2013 ที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของระบบอัจฉริยะมันมาถึงจุดที่ใกล้ความเป็นจริงมากๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Smart City, Smart Car, Smart Home, Smart Healthcare และนั่น ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ Smart Farm เกิดขึ้นในไม่ช้านี้ครับ ....