วิเคราะห์สถานภาพทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย เปรียบเทียบกับ ประเทศคู่แข่ง เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทย เป็น Nano Valley of ASEAN
10 กันยายน 2554
Phytomonitoring Technologies - เทคโนโลยีตรวจวัดพืช (ตอนที่ 3)
วันนี้ผมขอเล่าต่อจากตอนที่แล้วนะครับ การตรวจวัดสิ่งต่างๆ ล่วงหน้าก่อนการเพาะปลูกนั้น หากทำอย่างจริงจัง อาจจะช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องมานั่งปวดหัวภายหลัง ไม่ว่าจะในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ ดิน วัชพืชต่างๆ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถใช้ในการตรวจหาเชื้อที่จะเป็นโรคพืชซึ่งอาจปะปนมากับเมล็ดพันธุ์ หรือวัสดุที่ใช้ในการเพาะปลูก เช่น เทคโนโลยี PCR (Polymerase Chain Reaction) ซึ่งมีแบบที่สามารถตรวจวัดแบบเรียลไทม์ สามารถใช้ตรวจวัดเชื้อโรคพืชได้แม้จะมีอยู่เล็กน้อยก็ตาม (เช่น มีสปอร์เดียว หรือแบคทีเรียแค่เซลล์เดียวเท่านั้น ก็ตรวจพบแล้ว น่าทึ่งมากครับ) ซึ่งจะช่วยให้เราคัดกรองไม่นำเมล็ดพันธุ์ถุงนั้น หรือ ล็อตนั้นมาใช้ เป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม นอกจากเทคโนโลยี PCR จะใช้ค้นหาเชื้อโรคแล้ว ยังสามารถใช้ตรวจวิเคราะห์ดินว่ามีจุลชีพที่มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหนอีกด้วย เพราะจุลชีพที่มีประโยชน์ในดิน จะช่วยทำให้เราประหยัดปุ๋ยและสารเคมีได้อย่างคาดไม่ถึงเลยครับ
ในการตรวจวัดพื้นที่ดินที่จะทำการเพาะปลูกนั้น การสุ่มตัวอย่างมาตรวจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ในไร่ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ทั้งในแนวราบและในแนวดิ่ง หากเกษตรกรเก็บข้อมูลประวัติความหนักเบาของการเกิดโรค ในแต่ละพื้นที่ย่อยๆ ในไร่ ก็จะทำให้พอทราบได้ว่าพื้นที่ใด มีความสุ่มเสี่ยงจะเกิดโรคชนิดใดมากกว่ากัน สภาพอากาศท้องถิ่นย่อยๆ (microclimate) มีผลมากต่อความแตกต่างนี้ เพราะแมลงหรือศัตรูพืชแต่ละชนิด ชอบสภาพอากาศไม่เหมือนกัน ทำให้การกระจายของโรคมีความแตกต่างกัน การสุ่มตัวอย่างพื้นที่เพื่อหาแมลงและโรคพืช จึงต้องมีการให้น้ำหนักแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากันด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เกษตรกรที่มีการเก็บบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค ความถี่ของการตรวจพบศัตรูพืชในแต่ละพื้นที่ย่อยๆ ในไร่ อัตราการใช้ยาปราบศัตรูพืชที่ได้ผล ก็จะได้เปรียบเกษตรกรที่ไม่เคยเก็บข้อมูลอะไรเลย เพราะข้อมูลเหล่านี้แหล่ะครับ จะนำมาสู่ความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวกับสภาพ microclimate ที่ทำให้ทำไมการเกิดโรคจึงมักเกิดซ้ำๆ ในพื้นที่เดิมๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ
ผมขอยกตัวอย่างประสบการณ์ที่ผมทำงานวิจัย ณ ไร่องุ่นกรานมอนเต้ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ไร่องุ่นกรานมอนเต้มีพื้นที่ 100 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกองุ่นไวน์ทั้งหมดเกือบ 80 ไร่ ลักษณะของไร่วางตัวตามแนวยาวในแนวเหนือ-ใต้ ตามแนวหุบเขาที่ทอดตัวทำให้เกิดพื้นที่ที่เรียกว่า Asoke Valley ซึ่งทำให้พื้นที่บริเวณนั้น จะมีลมพัดในแนวเดียวตลอดคือ เหนือ-ใต้ ซึ่งก็เป็นผลดีต่อองุ่น เพราะลมจะช่วยพัดพาความชื้นออกไป ลักษณะของลมที่มีทิศทางที่แน่นอน ไม่แปรปรวน (Turbulent) ทำให้ไร่องุ่นกรานมอนเต้ สามารถออกแบบการวางตัวของแถวองุ่น ให้มีลมพัดผ่านได้ทั่วถึง ถือว่าเป็นสภาพภูมิอากาศที่เหมือนถูกวิศวกรรมมาแล้วอย่างดีครับ
ไร่องุ่นกรานมอนเต้มีพื้นที่ติดเขาลูกเล็กๆ ทางทิศตะวันตก ซึ่งมีลำธารสายเล็กๆ ไหลคั่นกลาง พื้นที่ติดเชิงเขายังเป็นป่ามีความอุดมสมบูรณ์ จากการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจสภาพแวดล้อมตามจุดต่างๆ ในไร่ ทำให้ทราบว่าไร่กรานมอนเต้มีสภาพแวดล้อมย่อยที่แตกต่างกันหลายแห่ง อย่างเช่น พื้นที่ติดเชิงเขานั้นจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าพื้นที่ที่เป็นเนินกลางไร่ประมาณ 1-3 องศาในเวลากลางวัน และมากถึง 3-6 องศาในเวลากลางคืน อีกทั้งมีความชื้นสูงกว่าบริเวณกลางไร่มาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อับลม เนื่องจากกระแสลมจะพัดผ่านบริเวณกลางไร่และทางฝั่งทิศตะวันออกที่เป็นที่โล่งได้ง่ายกว่า จากประวัติการเกิดโรคและแมลง ก็เป็นพื้นที่ที่เคยมีประวัติการพบโรคได้บ่อยกว่าพื้นที่อื่นๆ พื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งต้องมีการติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อคอยตรวจวัดโรคและแมลงในบริเวณนี้ การตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะลุกลาม จะทำให้การเกษตรที่ยังต้องใช้สารเคมี มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มากยิ่งกว่าเกษตรอินทรีย์แบบที่ไม่ใส่ใจข้อมูล เสียด้วยซ้ำไป
สภาพแวดล้อมย่อยนั้นเป็นไปได้ทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง เมื่อพิจารณาลักษณะของดินบริเวณนั้น จะพบว่ามีสภาพเป็นดินเหนียว สีดำ ในขณะที่บริเวณอื่นๆ ของไร่จะเป็นดินดำแดงซึ่งเป็นชุดดินปักธงชัยจากการฝังเซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นในดิน ทำให้พบว่า ดินในบริเวณเชิงเขานั้นจะมีความชื้นมากกว่าบริเวณอื่นๆ ของไร่ จากการประเมินสภาพพื้นที่มีความเป็นไปได้ว่า ใต้ดินอาจเป็นร่องน้ำที่พาดผ่านมาจากบริเวณกลางไร ที่ดินบริเวณนั้นจึงต้องการการรดน้ำน้อยกว่า ในช่วงหน้าแล้งที่ฝนไม่ตก หากบริเวณอื่นๆ ต้องการการรดน้ำทุก 2 วัน บริเวณเชิงเขาจะต้องการการรดน้ำเพียง 1 ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น จะเห็นได้ว่าการที่เกษตรกรมีความเข้าใจในลักษณะ microclimate ของพื้นที่เพาะปลูกจะช่วยทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากมาย ทั้งสารเคมี ค่าไฟที่จะต้องใช้สูบน้ำเพื่อนำมารดน้ำ ค่าแรงงานต่างๆ
ตอนหน้าจะกลับมาเล่าให้ฟังต่อนะครับ ....
ป้ายกำกับ:
phytomonitoring,
precision agriculture,
precision farming,
smart farm
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)