11 กุมภาพันธ์ 2554

Defense Science Research 2011



วันนี้ขอนำการประชุมทางวิชาการที่น่าสนใจอันนึงมาเสนอนะครับ เพราะกำหนดส่ง Full Paper งวดเข้ามาแล้ว การประชุมนี้มีชื่อว่า Defense Science Research 2011 (DSR2011) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 3-6 สิงหาคม 2554 กำหนดส่งบทความฉบับเต็มคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ที่จะถึงนี้แล้วครับ

การประชุม DSR2011 นั้นมีวัตถุประสงค์ให้นักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของการป้องกันประเทศ ของแต่ละชาติได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์เพื่อการป้องกันประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการบินและอวกาศ ยานรบ เครื่องไม้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ จรวดนำวิถี วัสดุทางการทหาร ระบบทางราชนาวี การประมวลผลชั้นสูง การจำลองคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่เกี่ยวกับการทหาร ธีม (Theme) ของการประชุมครั้งนี้ ตั้งชื่อไว้ซะเก๋ไก๋ว่า "“Science and Innovation in the Brave New World”

การประชุมนี้ เขาแบ่งออกเป็นการประชุมย่อยๆ ที่เรียกว่า Symposium อีก 10 การประชุมย่อยครับ ได้แก่
- Healthcare in Defence
- Bioengineering in Defence
- Cyber Defence
- Logistics & Transport
- Technology
- Aerospace & Aeronautics
- Entertainment Technologies
- Biological Sciences
- Food Sciences
- Environment

แต่ละการประชุมย่อยๆ นี้ก็จะกำหนดหัวข้อที่สนใจเอาไว้อย่างละเอียด ซึ่งหากท่านผู้อ่านจะส่งผลงานเพื่อไปเสนอในที่ประชุม ก็ต้องเข้าไปดูรายละเอียดกันอีกทีครับ เจ้าภาพที่จัดการประชุมนี้เขาโม้ไว้ว่า การประชุมของเขานั้นรับเฉพาะงานคุณภาพเท่านั้น โดยมีอัตราการรับผลงานประเภทเสนอด้วยวาจา (Oral Presentation) แค่ 30% เท่านั้น ส่วนผลงานประเภทโปสเตอร์รับแค่ 50% ถ้าจริงก็ถือว่าโหดใช้ได้เลยครับ ผลงานทั้งหมดที่ได้รับการตอบรับให้ไปเสนอในที่ประชุมนี้ จะได้รับการบรรจุไว้ในฐานข้อมูล IEEE Explore

ช่วงนี้และในอนาคต เราเริ่มจะมีความตึงเครียดในภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ มีภัยคุกคามใหม่ๆ และการเผชิญหน้าเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังรบของจีนและอินเดีย ปัญหาชายแดนระหว่างประเทศเรากับเพื่อนบ้าน ผลประโยชน์ทางทะเล อาจจะถึงเวลาแล้วที่การวิจัยทางด้านศาสตร์ของการป้องกันประเทศ จะต้องเกิดขึ้นในบ้านเราเสียที .....

06 กุมภาพันธ์ 2554

The World without Us - ถ้าโลกนี้ไม่มีเรา (ตอนที่ 6)


เวลามีญาติๆ มาเที่ยวที่บ้านผม พวกเราก็มักจะได้รับคำชมว่าบ้านสะอาดสะอ้าน น่าอยู่ ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ดูแล้วสบายตา ... แต่จริงๆ แล้ว ความจริงเบื้องหลังของความน่าภาคภูมิใจในการได้รับคำชมเหล่านั้นก็คือ การต้องออกแรงและพลังงาน บวกกับการเอาใจใส่ที่ค่อนข้างมากเพื่อทำให้บ้านน่าอยู่ ... ในทุกๆ วัน เราต้องถูบ้านอย่างน้อย 2 ครั้ง ดูดฝุ่น กวาดใบไม้เช้าเย็น รดน้ำต้นไม้รอบบ้าน จัดข้าวจัดของที่ลูกๆ ทำรกเอาไว้ คอยกำจัดขี้นก ขี้กระรอก และขี้จิ้งจกตามมุมต่างๆ ที่สัตว์เหล่านี้มาอาศัย เมื่อไรก็ตามที่ผมต้องออกไปทำงานภาคสนามต่างจังหวัดหลายๆ วัน เมื่อกลับมา ก็จะต้องใช้เวลากว่าค่อนวัน เพื่อทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้กลับเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง บ้านที่ไม่มีผมอยู่ เพียงไม่กี่วันก็เป็นเรื่องแล้ว ....

โลกที่เรารู้จักนี้ หากไร้มนุษย์ดูแล ก็อาจจะใช้เวลาเพียงไม่นานนักเพื่อกลับคืนเป็นของธรรมชาติอีกครั้ง ทุกๆ เช้าที่เราขับรถออกไปทำงาน ที่เรายังเห็นถนนหนทางสะอาดสะอ้าน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ มั่นคงและดำรงอยู่ ก็เพราะมีคนที่ทำหน้าที่ดูแลสิ่งเรานี้อยู่นั่นเอง เมืองที่ถูกทิ้งร้างไปเพียงไม่นานก็จะเสื่อมโทรมลงไปอย่างรวดเร็ว ในหนังสือ The World without Us ซึ่งแต่งโดยศาสตราจารย์ อลัน ไวซ์แมน (Alan Weisman) ได้คาดการณ์สภาพของโลกในเวลาต่างๆ หลังจากมนุษย์ทั้งหมดได้หายไป ดังนี้ครับ

- ภายหลังเพียง 2 วัน ทางรถไฟใต้ดินในมหานครนิวยอร์คจะถูกน้ำท่วมหมด เพราะไม่มีใครควบคุมเครื่องสูบน้ำ
- สัปดาห์ต่อมา เครื่องหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะหมดเชื้อเพลิง ทำให้เตาปฏิกรณ์ร้อนจัดจนหลอมละลาย หรือลุกไหม้
- 1 ปีต่อมา นกจะเข้าไปทำรังในเสาโทรคมนาคมต่างๆ เสมือนเป็นต้นไม้ของมัน
- 3 ปีต่อมา แมลงสาบจะสูญพันธุ์ไปจากเมืองในเขตหนาว เนื่องจากไม่มีการทำความร้อนในหน้าหนาวโดยมนุษย์อีกต่อไป
- 10 ปีต่อมา บ้านที่มีรูรั่วบนหลังคาบ้าน จะเริ่มผุพังลงไปเอง
- 20 ปีต่อมา คลองปานามาจะตื้นเขิน เพราะไม่มีมนุษย์คอยขุดลอก ทวีปอเมริกาจะกลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง
- 100 ปีต่อมา ช้างป่าจะเพิ่มจำนวนเป็น 20 เท่าของปัจจุบัน แมวบ้านจะกลายมาเป็นนักล่าที่สำคัญ
- 300 ปีต่อมา สะพานต่างๆ ทั่วโลก จะทรุดพังหมด เขื่อนทุกเขื่อนในโลกจะพังทลายเพราะกระแสน้ำ
- 500 ปีต่อมา เมืองส่วนใหญ่ในโลกจะกลายเป็นป่า
- 35,000 ปีต่อมา ดินที่เคยถูกเจือปนด้วยตะกั่วจากยุคอุตสาหกรรมจะกลับมาสะอาดอีกครั้ง
- 100,000 ปีต่อมา ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะกลับคืนสู่ระดับเดียวกับที่เคยมี ก่อนยุคอุตสาหกรรม

คืนนี้นอนหลับฝันดีนะครับ ...