27 กันยายน 2553

Science of Dance - ศาสตร์ของการเต้น (ตอนที่ 2)


วันนี้มาคุยเรื่องงานวิจัยที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า การเต้นของผู้ชาย หากแสดงออกมาด้วยท่าเต้นที่เหมาะสม จะสามารถที่จะดึงดูดความต้องการของผู้หญิง ถึงขั้นอยากแต่งงานด้วยเลยเชียวครับ

ผลการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Biology Letters เมื่อต้นเดือนนี้เอง รายละเอียดเต็มคือ Nick Neave, Kristofor McCarty, Jeanette Freynik, Nicholas Caplan, Johannes Hönekopp and Bernhard Fink, "Male dance moves that catch a woman's eye", Biology Letters, 8 September 2010, doi: 10.1098/rsbl.2010.0619 โดยในรายงานวิจัยฉบับนี้ คณะวิจัยได้บันทึกลีลาการเต้นของผู้ชายอายุระหว่าง 18-35 ปี จำนวน 19 คน โดยการใช้กล้องวีดิโอจำนวนหลายๆ กล้อง ถ่ายจากมุมมองแตกต่างกัน จากนั้นจะนำภาพที่บันทึกได้ไปทำการเปลี่ยนให้เป็นโมเดลคอมพิวเตอร์ แล้วสร้างเป็นอะนิเมชันในลักษณะตัว avatar ที่ไม่ระบุเพศ โดยผู้ที่ชม จะไม่สามารถระบุเพศ อายุ ส่วนสูง หรือ ความหล่อเหลาของคนที่ถูกบันทึกภาพการเต้นเอาไว้ เพื่อที่จะได้สามารถตัดเอาปัจจัยอื่นๆ ออกไปยกเว้นเพียงลีลาการเต้นเท่านั้น

คณะวิจัยได้นำเอาอะนิเมชันการเต้นเหล่านี้ ไปให้ผู้หญิงจำนวน 37 คนได้ชม แล้วให้ระบุด้วยว่าพวกเธอชอบลีลาการเต้นแบบใดบ้าง จากการวิเคราะห์ผล คณะวิจัยถึงกับประหลาดใจว่า การเต้นที่ถูกอกถูกใจบรรดาสาวๆ เหล่านั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวส่วนลำตัวเป็นหลัก เริ่มจากต้นคอ ลงมาจนถึงเอว และที่ต้องประหลาดใจมากขึ้นไปอีกคือ พวกเธอจะนิยมการเต้นที่มีการเคลื่อนที่ของเข่าขวาอย่างรวดเร็ว นักวิจัยได้นำบันทึกสุขภาพของคนเต้นทั้ง 19 คนมาวิเคราะห์และพบโดยบังเอิญว่า คนเต้นที่สาวๆ นิยม มีบันทึกด้านสุขภาพที่ค่อนข้างดีกว่าคนเต้นที่สาวๆ เมิน ... เป็นไปได้ไหมว่า จิตใต้สำนึกของสาวๆ เหล่านั้น ถวิลหาคู่ครองที่มีสุขภาพแข็งแรง เพื่อจะได้สามารถสืบทอดลูกหลานของเธอได้ดี และจิตใต้สำนึกของพวกเธอ ก็นำไปสู่การเลือกเฟ้นผู้ชายดีๆ จากท่าเต้นได้ด้วย นักวิจัยเชื่อว่า การเคลื่อนไหวลำคอ และลำตัวได้อย่างหนักหน่วง ส่งสัญญาณแสดงพลังของเพศชาย และนั่นอาจหมายถึงความสามารถในการมีลูกของบุคคลนั้นด้วยครับ

นักชีววิทยาวิวัฒนาการเชื่อว่า การเต้น ก็คือการเปิดโอกาสให้คนที่จะเป็นคู่ครองกันทั้งสองฝ่ายนั้น ได้เห็นข้อมูลที่ซ่อนอยู่ภายในของกันและกัน ซึ่งการเต้นที่ดีอาจจะแสดงออกถึงความสามารถทางสังคม สมดุลของร่างกาย ความมั่นใจในตัวเอง การได้เต้นด้วยกัน จะทำให้แต่ละฝ่าย สามารถรู้สึกถึงความเป็นตัวตนของอีกฝ่ายได้ ทั้งนี้ยังเคยมีรายงานจากผู้หญิงจำนวนมากว่า ผู้ชายที่เต้นกับเธอได้อย่างเข้าขา เป็นปี่เป็นขลุ่ย ก็มักจะลงเอยในเรื่องบนเตียงได้ไม่แพ้กัน ....

23 กันยายน 2553

Science of Dance - ศาสตร์ของการเต้น (ตอนที่ 1)


ทุกครั้งที่ผมเปิดดูวีดิโอเพลงของนักร้องเกาหลี อย่างเช่น KARA, SNSD หรือ Super Junior ผมมักจะเกิดคำถามขึ้นในใจเสมอว่า ทำไมการเต้นของศิลปินเกาหลีถึงช่างน่าดู ท่าเต้น ท่าร้อง ของพวกเขาช่างดูแล้วเพลิดเพลิน ดูแล้วเสพติด ดูแล้วดูอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ไม่รู้เบื่อ ความมีเอกลักษณ์ของท่าเต้น รายละเอียด แง่มุม รวมไปถึง ความน่ารักของศิลปินเหล่านั้น ทำให้เกิดคำถามอีกว่า ทำไมบริษัทดนตรีของไทยถึงไม่มีความสามารถในการสร้างสรรค์งานแบบนี้เลยเชียวหรือ ผมได้ติดตามการเก็บตัวในบ้านของศิลปิน AF (Academy Fantasia) หลายๆ ครั้ง เขาต้องจ้างครูชาวเกาหลีมาสอนท่าเต้นให้ ครูคนไทยของเราเอง ไม่มีความสามารถพอในเรื่องการรังสรรท่าเต้นกระนั้นหรือ ... ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นครับ ?

ถ้าใครเคยเล่นเกมส์สปอร์ (Spore) ซึ่งเป็นเกมส์ที่ตั้งสมมติฐานว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ได้ DNA มาจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ผู้เล่นต้องเริ่มเล่นจากสิ่ง มีชีวิตเซลล์เดียวที่เกิดขึ้นในมหาสมุทร พามันหาอาหาร แลัวก็วิวัฒนาการจนขึ้นมาอยู่บนบก สร้างศักยภาพในการสื่อสาร สร้างสังคม ชนเผ่า ไปจนถึงอารยธรรมที่ก้าวหน้า สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เจ้าสัตว์ที่เราสร้างขึ้น มีวิวัฒนาการได้ดีก็คือ การเต้น ซึ่งรวมถึง อาการและท่าเต้นของมันด้วย หากท่าเต้นไม่ค่อยเข้าท่า เจ้าสัตว์นั้นก็จะสร้างสังคมและวัฒนธรรมได้ยากมาก การเล่นในขั้นตอนต่อไปจะไปได้ยากมาก ผู้เล่นจึงต้องใส่ใจท่าเต้นให้มาก เพราะท่าเต้นจะช่วยในการหาคู่สมรสของมัน เพื่อที่จะสืบทอดเผ่าพันธุ์ รวมไปถึงการสร้างมิตรและสร้างสังคม ในทางชีววิทยา การเต้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องของความบันเทิง แต่หมายถึงความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์เลยทีเดียว ผึ้งเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เต้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มันมีท่าเต้นเป็นรูปเลข 8 ที่เรียกว่า Waggle Dance ซึ่งสามารถใช้สื่อสาร เพื่อบอกฝูงของมันเกี่ยวกับทิศทางและระยะทาง ที่จะนำไปสู่ดอกไม้ที่มีน้ำหวาน แหล่งน้ำ ไปจนกระทั่งที่ทำรังใหม่

สำหรับมนุษย์แล้ว การเต้นรำนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมของเรา ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกับการเต้นรำของหญิงสาวหุ่นเซ็กซี่ ออกมาร่ายรำท่าเต้นที่ทำให้หนุ่มๆ สะท้านใจ แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า ท่าเต้นของผู้ชาย ถ้าทำได้ถูกต้องเหมาะเหม็ง ก็สามารถดึงดูดความต้องการของผู้หญิงได้ ในตอนต่อไป ผมจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับผลการวิจัยชิ้นนี้ครับ ...

17 กันยายน 2553

Collective Intelligence - ปัญญาสะสม (ตอนที่ 3)


เมื่อคราวก่อน ผมได้ทิ้งปริศนาเอาไว้ให้คิดกันเล่นๆ นะครับว่า ทำไมความเฉลียวฉลาดของประชากร และเหรียญรางวัลโอลิมปิกวิชาการ ถึงไม่เกี่ยวกับความเจริญของประเทศ ทั้งนี้ ประเทศที่มีคนฉลาดน้อยกว่าประเทศไทย แถมไม่ได้เหรียญรางวัลโอลิมปิก ก็อาจจะมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงความเจริญทางเศรษฐกิจมากกว่าประเทศไทยได้อย่างสบายๆ

จริงๆ แล้ว นักวิทยาศาสตร์มีทฤษฎีหลากหลายมาก เพื่อใช้อธิบายว่าทำไมมนุษย์สายพันธุ์นีอันเดอธาล (Neanderthals) ที่ครองโลกเมื่อ 300,000 ปีที่แล้ว ถึงสูญสิ้นเผ่าพันธุ์เมื่อประมาณ 30,000 ปีที่แล้ว โดยถูกแทนที่ด้วยบรรพบุรุษของพวกเรา ทั้งๆ ที่มนุษย์นีอันเดอธาลมีขนาดของสมองใหญ่กว่าพวกเรา และเชื่อกันว่ามีความเฉลียวฉลาดกว่าพวกเราเสียอีก แต่ทฤษฎีหนึ่งที่น่าเชื่อถือนั้น มีชื่อว่า "the Great Leap Forward" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่บรรพบุรุษของเรา ได้เกิดการยกเครื่องทางด้านสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ มีการประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อย่างขนานใหญ่ จนทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถจะมาต่อกรกับบรรพบุรุษของเราได้เลย ทั้งๆ ที่ฝ่ายนั้นมีความเฉลียวฉลาดมากกว่าพวกเรา แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไปอย่างไม่ทันตั้งตัว

หลังจากที่บรรพบุรุษของเราได้อพยพออกจากแอฟริกา เมื่อ 100,000 ปีที่แล้ว พวกเขาเหล่านั้นต้องระหกระเหิน ระเหเร่ร่อน ออกไปอยู่ตามที่สถานที่ต่างๆ ในทวีปเอเชีย เนื่องจากพวกนีอันเดอธาลได้ยึดครองยุโรปไว้เกือบหมดแล้ว บรรพบุรุษของเราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องกระจัดกระจายกันไปอยู่ตามแหล่งหากินต่างๆ ในเอเชีย เพราะในช่วงเวลานั้นเทคโนโลยีของบรรพบุรุษเรา มิอาจจะต่อกรกับมนุษย์นีอันเดอธาลได้เลย แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปอีก 55,000 ปี บรรพบุรุษของเราได้กลับไปที่ทวีปยุโรปอีกครั้ง พร้อมกับเทคโนโลยีที่สูงกว่า และได้ขจัดมนุษย์นีอันเดอธาลออกไปจนหมด ... เกิดอะไรขึ้นในช่วง 55,000 ปีนั้น ทำไมพวกเราที่มีความฉลาดมากกว่า ถึงได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดจนอีกฝ่ายไม่สามารถจะตั้งตัวได้ติด

ในระหว่างที่บรรพบุรุษของเราอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายไปทั่วทวีปเอเชียนั้น แต่ละชนเผ่าก็อยู่อาศัยหากินกันไปตามแหล่งต่างๆ ในช่วงนี้ได้เกิดการพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่ค่อนข้างแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่ ทั้งนี้ได้เกิดปรากฎการณ์หนึ่งขึ้นก็คือ ผู้คนเหล่านั้นได้มีการแลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ผ่านการ "เดินทางท่องเที่ยว" และ "ค้าขาย" มนุษย์ที่อยู่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตร สามารถสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ในการดำรงชีพ ด้วยการ "เลียนแบบ" สิ่งที่มนุษย์แหล่งอื่นๆ ได้ทำขึ้นก่อนหน้า โดยไม่ต้องไปเรียนรู้ใหม่ การ "แลกเปลี่ยน" สินค้าเกิดขึ้นพร้อมๆกับ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เกิดการเลียนแบบกัน เกิดการต่อยอดนำสิ่งที่ทำไว้แล้ว มาพัฒนาขึ้นให้เหมาะสมกับถิ่นที่อยู่ ดังนั้นทำให้เผ่าพันธุ์ของเราเกิดสิ่งที่เรียกว่า "Collection of Brains" ซึ่งทำให้สามารถสร้างเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนมากๆ ได้ ต่างจากพวกนีอันเดอธาลที่มีสมองใหญ่กว่า แต่ไม่สามารถที่จะระดมสมองหลายๆ สมองมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ สุดท้ายก็ต้องสูญพันธุ์

"การแลกเปลี่ยนความคิดและความรู้" ผสมผสานกับการ "เลียนแบบ" และ "ต่อยอด" นี่เองครับ ที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของบรรพบุรุษเรา ในวงการวิชาการและวงการเทคโนโลยี สาขาไหนที่เจริญมากๆ สังเกตว่าจะมีการจัด Conference บ่อยกว่าสาขาที่ไม่เจริญ การได้ไปเห็นไปฟังคนที่มาพูดใน conference บางทีช่วยทำให้เราประหยัดเวลาวิจัยได้เป็นปีเลย ด้วยการ "แลกเปลี่ยน" "เลียนแบบ" และ "ต่อยอด" นี่เอง ...


13 กันยายน 2553

Smart Dust - ฝุ่นฉลาด (ตอนที่ 6)


ในตอนที่ 5 ของบทความซีรี่ย์นี้ ผมได้แนะนำกลุ่มวิจัยที่มีชื่อเสียงทางด้าน Micro Aerial Vehicle หรือ MAV แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์กันไปแล้ว สำหรับวันนี้ผมขอแนะนำกลุ่มวิจัยระดับแนวหน้าของโลก เป็นกลุ่มระดับยอดหัวกะทิที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจังมาอย่างยาวนาน ซึ่งก็ยังคงอยู่ในทวีปยุโรปครับ โดยอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สังกัดสถาบันที่มีชื่อว่า The Swiss Federal Institutes of Technology ซึ่งมีกลุ่มวิจัยที่ทำงานทางด้านนี้เยอะมาก เขาเลยมารวมกลุ่มกันจากหลายๆ แห่งตั้งเป็น Aerial Robotics Initiative

ในวันนี้ผมขอแนะนำงานวิจัยในกลุ่มวิจัยของห้องปฏิบัติการระบบอัจฉริยะ (Laboratory of Intelligent Systems) ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดาริโอ ฟลอเรอาโน (Professor Dario Floreano) เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งท่านได้นำทีมงานของท่าน ค้นคว้าและพัฒนาในเรื่องของระบบอัจฉริยะ ใน 3 แนวทางด้วยกัน ได้แก่

- หุ่นยนต์บินได้ (Flying Robots)
ป็นเรื่องถนัดและโดดเด่นที่สุดของกลุ่มวิจัยนี้เลยครับ ที่สำคัญกลุ่มวิจัยนี้มีความก้าวหน้าที่สุดในเรื่องของการใช้ภาพ หรือการมองเห็นของหุ่นยนต์ในการนำทาง และบินไปหาเป้าหมาย โดยที่หุ่นเหล่านี้มีน้ำหนักเพียง 1.5-30 กรัมเท่านั้นเอง ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ทางกลุ่มจะต้องพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานทางด้านอากาศพลศาสตร์ของแมลงหรือนก ระบบเครื่องกลไฟฟ้าขนาดจิ๋ว การประมวลผลภาพ เป็นต้น

- วิวัฒนาการประดิษฐ์ (Artificial Evolution)
เรื่องวิวัฒนาการประดิษฐ์นี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับ เพราะมันเป็นศาสตร์หัวใจของหุ่นยนต์ยุคหน้าเลยทีเดียว หากเรามีเทคโนโลยีทางด้านนี้ ก็จะทำให้เรามีขีดความสามารถที่จะทำให้หุ่นยนต์สามารถมีวิวัฒนาการได้เองเหมือนสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ โดยกลุ่มวิจัยนี้มีความชำนาญทางด้านฮาร์ดแวร์ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ อัลกอริทึมในการเรียนรู้ตัวเอง และการทำวิศวกรรมย้อนกลับของระบบชีววิทยา (เช่น ระบบเมตาบอลิซึม ระบบพันธุกรรม)

- ระบบสังคม (Social Systems)
กลุ่มวิจัยนี้ ยังมีการทำงานทางด้านสังคมศาสตร์ด้วยนะครับ แต่เป็นสังคมศาสตร์ของหุ่นยนต์ โดยความร่วมมือกับนักชีววิทยาวิวัฒนาการ และนักชีววิทยาเชิงพฤติกรรม ทำให้กลุ่มวิจัยนี้สามารถพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีระบบสังคมได้ หุ่นยนต์ที่มีระบบสังคมนี้ จะสามารถทำงานรวมกลุ่ม ทำงานเป็นทีม แบ่งหน้าที่ รวมไปถึงอาจจะพัฒนาโครงสร้างทางสังคมเฉกเช่นสัตว์บางชนิด เช่น มด และ ผึ้ง ซึ่งจะทำให้มันสามารถทำงานที่มีความซับซ้อนได้

จากการเชื่อมโยงแนวทางการวิจัยทั้ง 3 แนวทางเข้าด้วยกัน ทำให้กลุ่มวิจัยนี้ มีความล้ำหน้าที่สุดแล้วครับในเรื่องของ MAV ที่ทำงานเป็นฝูง โดยพวกมันสามารถทำงานแบบไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุม โดยคณะวิจัยได้ทดสอบการทำงานของฝูงที่มีจำนวน 10 ลำ ในการบินค้นหาวัตถุ โดย MAV แต่ละลำจะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายบนท้องฟ้า แล้วส่งข้อมูลกลับเข้ามาที่สถานีฐานได้ การส่งข้อมูลโยนกันไปมาระหว่าง MAV ในฝูงบิน นี่เอง ทำให้การส่งข้อมูลสามารถกระทำในระยะไกลกว่าหากมี MAV เพียงแค่ลำเดียว

10 กันยายน 2553

ICAS2011 - IUPAC International Congress on Analytical Sciences


สำหรับคนที่ชอบประเทศญี่ปุ่น และกำลังมองหาการประชุมทางวิชาการดีๆ ในประเทศนี้ วันนี้ผมมีการประชุมหนึ่งมาแนะนำครับ เป็นการประชุมที่ร่วมกันจัดระหว่าง The Japan Society for Analytical Chemistry กับ IUPAC (International Union for Pure and Applied Chemistry) การประชุมนี้มีชื่อว่า ICAS2011 - IUPAC International Congress on Analytical Sciences จะจัดขึ้นที่เกียวโต ระหว่างวันที่ 22-26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 กำหนดส่งบทคัดย่อก็ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วครับ คือวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553 นี้เอง ยังทันนะครับ เพราะเป็นแค่บทคัดย่อเอง

เนื้อหาของการประชุมนี้จะเกี่ยวข้องกับศาสตร์และเทคนิค รวมทั้งเครื่องมือทางเคมีวิเคราะห์ต่างๆ โดยในระยะหลังนี้จะมีเรื่องของนาโนเทคโนโลยี การวิเคราะห์ทางด้านอาหาร และสิ่งแวดล้อม ผนวกเข้ามาด้วย เลยทำให้การประชุมนี้ค่อนข้างกว้างมาก ขอยกตัวอย่างประเด็นวิจัยที่สามารถส่งไปเสนอผลงานในที่ประชุมนี้ เช่น

- เรื่องของเครื่องมือวิเคราะห์ต่างๆ (Advanced Instrumental Analysis) ขอเน้นว่าต้อง advanced นะครับ ได้แก่ chromatography, electrophoresis, molecular spectroscopy, atomic spectroscopy, electroanalytical chemistry, microfluidics, mass spectroscopy, sensor systems, X-Rays analysis

- Nanoscience and Nanotechnology ใครทำทางด้านนี้ รู้สึกว่าจะได้เปรียบ เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องได้จะแทบทุกเรื่อง เรื่องที่เขาสนใจในที่ประชุมนี้ก็ได้แก่ nanoparticles and nanostructures for analysis, microparticle and interface analysis

- Biological and Bio-analysis เช่น bioprocess monitoring, biomolecular imaging, quantitative biology, separation science for drug analysis

- Environmental Sciences ได้แก่ environmental analyses for hazardous organic compounds, environmental chemistry of metals and metalloids, advanced flow-based analytical chemistry, geochemical analysis

- Safety, Security and Sustainability เช่น เรื่องของ food safety, forensics and homeland security

การประชุมนี้ ผมวางแผนไว้ว่าจะพานักศึกษาปริญญาเอกไปเสนอผลงาน 2 คน คาดว่าจะมีคนไทยไปเข้าร่วมเสนอผลงานหลายท่านด้วย เพราะจริงๆ แล้ว บ้านเรามีคนทำงานวิจัยทางด้านนี้ค่อนข้างมาก ... แล้วพบกันที่เกียวโตครับ ...

08 กันยายน 2553

2nd IEEE International Games Innovation Conference (GIC 2010)


ทศวรรษ 2011 - 2020 จะเป็นทศวรรษแห่งการหลอมรวมกันระหว่างเกมส์กับชีวิตจริง ธุรกิจต่างๆ จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน คนที่เคยทำตัวเป็นอริกับเกมส์จะสูญพันธุ์ไปในทศวรรษนี้ครับ และอีกไม่นาน ... เกมส์จะกลายมาเป็นชีวิตประจำวันของเผ่าพันธุ์เรา เราจะใช้ชีวิตอยู่กับเกมส์จะทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เกมส์จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมของเรา ... ไม่ว่าพวกเราจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม สิ่งนี้จะเกิดขึ้นครับ ...

ในวงการมหาวิทยาลัยเอง เรื่องของเกมส์ก็กำลังมาแรงเช่นกันครับ มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งในโลกมีหลักสูตรการพัฒนาเกมส์ เพื่อผลิตบัณฑิตออกมาเป็นนักออกแบบเกมส์โดยเฉพาะ ในระดับบัณฑิตศึกษา ก็มีการเริ่มทำวิจัยทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวกับเกมส์กันมากขึ้นเรื่อย ในกลุ่มวิจัยของผมเอง ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีหลายๆ อย่าง ที่เกี่ยวข้องกับเกมส์และการบันเทิง เช่น เทคโนโลยีถุงมือส่งข้อมูล เทคโนโลยีสัมผัสด้านกลิ่น เทคโนโลยีการแปลความหมายและสื่อสารอารมณ์ เป็นต้น ในเมื่อมีการทำวิจัยด้านเกมส์กันมากขึ้น ประชาคมใหญ่ขึ้น ก็ต้องมีการจัดประชุมวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้กัน วันนี้ผมจึงขอนำการประชุมวิชาการทางด้านเกมส์มาฝากกันครับ


การประชุมนี้มีชื่อว่า 2nd IEEE International Games Innovation Conference (GIC 2010) ซึ่งจะจัดขึ้นที่ฮ่องกง ระหว่างวันที่ 21-24 ธันวาคม 2553 นี้ครับ โดยมีกำหนดส่งบทคัดย่อภายในวันที่ 15 กันยายน 2553 ตัวผมเองคงไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมนี้ เนื่องจากต้องไปประชุมที่หลวงพระบาง ในช่วงใกล้ๆ กัน จึงต้องเลือกที่ใดที่หนึ่ง ผมจึงเลือกที่จะไปสะบายดี ... หลวงพระบาง มากกว่าครับ

เนื้อหาของการประชุมนี้ มุ่งไปที่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเกมส์ เช่น

(1) เทคโนโลยีการแสดงผลต่างๆ เทคโนโลยี 3 มิติ การใช้สัมผัสเพื่อติดต่อกับเกมส์ เช่น สัมผัสทางกาย การใช้อากัปกริยา เป็นต้น
(2) เทคโนโลยีทางด้านเสียง การสังเคราะห์เสียง การผลิตดนตรี การโต้ตอบระหว่างเกมส์กับผู้เล่นด้วยเสียง
(3) เทคโนโลยีความจริงผสม (Mixed Reality) การผสมผสานความจริงกับเกมส์ การสร้างประสบการณ์เสมือน
(4) การนำเกมส์มาใส่ในชีวิตจริง ระบบการเรียนรู้ด้วยเกมส์ การฝึกอบรมด้วยเกมส์
(5) ระบบปัญญาประดิษฐ์ อัลกอริทึมในการสังเคราะห์เกมส์แบบเรียลไทม์ ระบบเรียนรู้เองของเกมส์ เกมส์ที่พัฒนาตัวเองได้จากการถูกเล่น
(6) วิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเกมส์ (Basic Science for Games)
(7) วิศวกรรมซอฟต์แวร์เพื่อการสร้างเกมส์ การออกแบบเกมส์


01 กันยายน 2553

Games Science - วิทยาศาสตร์ของเกมส์ (ตอนที่ 10)


เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2552) ประธานฝ่ายบริหารของบริษัทกูเกิ้ล นายอีริค ชมิดท์ (Eric Schmidt) ได้กล่าวปาฐกถาในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม (G-20) ว่าแต่นี้ต่อไป เกมส์แบบผู้เล่นหลายคน หรือ multi-player games จะกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญทางธุรกิจ มันจะเป็นของที่มีประโยชน์มากในวงการฝึกอบรม การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะการร่วมกันทำงานเป็นทีมเพื่อรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ ชมิดท์ได้พูดอย่างน่าตื่นเต้นว่า "อีกไม่นานหรอกครับ ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกออนไลน์ ก็จะเหมือนเกมส์มัลติเพลเยอร์ ... และถ้าตอนนี้ผมเป็นเด็กอายุสัก 15 ปี สิ่งนี้จะเป็นสิ่งแรกที่ผมจะทำ"

ใครก็ตามที่มองว่าเกมส์เป็นเรื่องไม่มีประโยชน์หรือไร้สาระ คิดใหม่ได้นะครับ ตลาดเกมส์ตอนนี้มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณของประเทศไทย จำนวนคนเล่นเกมส์ Farmville แค่อย่างเดียวมีคนเล่นมากถึง 80 ล้านคน มากกว่าประชากรของประเทศไทยเสียอีก และถ้าวันไหนเกมส์นี้เข้าไปเล่นไม่ได้ ก็จะมีคนเดือดร้อนมากกว่า Twitter หายไปเสียอีกครับ เกมส์สะท้านโลกอย่างเช่น Pac-man ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบ Popular Culture ของผู้คนในยุค 80 ไม่ต่างจาก K-Pop และตุ๊กตาบลายธ์ในสมัยนี้ ในสมัยนั้น Pac-man ได้หล่อหลอมเหล่าวัยรุ่นในยุคนั้นให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว โดย 94% ของคนที่เล่นเกมส์ในสมัยนั้นต้องเคยเล่นเกมส์นี้ ซึ่งตั้งแต่นั้นมาก็ยังไม่เคยมีเกมส์อะไรที่ทำได้แบบนี้อีกเลย

ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเกมส์มาก ที่มหาวิทยาลัย Tokyo Polytechnic University (TPU) มีการเปิดภาควิชาเกมส์ขึ้นมาเพื่อผลิตวิศวกรทางด้านเกมส์ขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยได้เชิญศาสตราจารย์ Toru Iwatani ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเกมส์ Pac-man อันโด่งดังเมื่อปี ค.ศ. 1980 มาเป็นหัวหน้าภาควิชา โดยปัจจุบัน TPU เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั้งในเรื่องของเกมส์ การ์ตูน อะนิเมชัน ตัวผมเองก็เคยไปอยู่ทำวิจัยระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยนี้ครับ ได้มีโอกาสไปดูเขาทำเรื่องเล่นๆ ให้เป็นเรื่องจริงๆ อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เด็กๆ ปริญญาตรีที่นั่น นั่งเล่นเกมส์กันในห้องเรียนอย่างสนุกสนาน พวกเขากำลังฝึกฝนเพื่อจะเป็นนักออกแบบเกมส์มืออาชีพ

ในวงการเกมส์ เขาจะมีการประชุมวิชาการทางด้านเกมส์กันทุกปีครับ นักวิจัยทางด้านเกมส์สามารถส่งผลงานวิชาการเพื่อไปเปิดเผยในที่ประชุม ซึ่งผมขอบอกว่าการรับผลงานวิจัยในที่ประชุมบางแห่ง มีความเข้มข้นและยากเย็นเข็นใจกว่าการประชุมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกครับ เช่น งานที่มีชื่อว่า GDC (Game Developers Conference) เขาจะพิถีพิถันกับผลงานที่ไปนำเสนอมาก ขนาดที่ว่าต้องใหม่จริงๆ และต้องทำให้คนที่มาฟังได้ประโยชน์จริงๆ

ผมจะมาคุยเรื่องนี้ต่อนะครับ .....