19 สิงหาคม 2553

Collective Intelligence - ปัญญาสะสม (ตอนที่ 2)


หลายๆ ครั้งที่ผมและเพื่อนๆ ได้มีโอกาสไปนั่งสังสรรกันตามประสา พวกเราก็๋มักจะสนทนาเรื่องที่เกี่ยวกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรามักจะประเมินกันว่า ตอนนี้ประเทศไหนนำหน้าหรือตามหลังเรา หัวข้อหนึ่งที่เพื่อนๆ ของผมมักจะนำเสนอสู่วงสนทนาเสมอๆ ก็คือ ประเทศไทยมีเด็กเก่งๆ ที่ไปแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิก สามารถคว้าเหรียญทองกลับมาได้มากมายทุกๆ ปี แต่กลับไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประเทศไทยก็ยังด้อยพัฒนากว่าหลายๆ ประเทศที่ไม่ได้เหรียญเหล่านี้เลย นี่มันอะไรกันครับ ??? ครั้งหนึ่ง ผมเคยปรารภกลับเพื่อนๆ ว่า เอ่อ .... ผมคิดว่า ผมพอจะรู้คำตอบเรื่องนี้แล้วล่ะ ... โดยแท้จริงแล้ว การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีประชากรที่ฉลาดจำนวนมากนั้น มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศนั้นเลย ... จริงๆ แล้วประเทศที่มีคนหัวปานกลาง ก็อาจกลายเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีก็ได้ ...


ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาทางด้านสายพันธุ์ของมนุษย์ ก็ต้องปวดหัวเป็นอย่างมากกับคำถามที่ว่า เพราะเหตุใด มนุษย์สายพันธุ์นีอันเดอธาล (Neanderthals) ที่ครองโลกเมื่อ 300,000 ปีที่แล้ว ถึงถูกรุกล้ำและแทนที่โดยบรรพบุรุษของเรา จนสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปในที่สุดเมื่อประมาณ 30,000 ปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่มนุษย์นีอันเดอธาลมีขนาดของสมองใหญ่กว่าพวกเรา และเชื่อกันว่ามีความเฉลียวฉลาดกว่าพวกเราเสียอีก แต่กลับถูกสายพันธุ์ที่ฉลาดน้อยกว่า เข้าครอบครองจนสูญพันธุ์ไป

จากการขุดค้นหาหลักฐานต่างๆ นั้น นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า เมื่อประมาณ 100,000 กว่าปีที่แล้ว มนุษย์นีอันเดอธาลมีเทคโนโลยีก้าวหน้ากว่าบรรพบุรุษของพวกเราที่เป็น โฮโมเซเปียน (Homo Sapiens) มาก ทำให้บรรพบุรุษของเราต้องเร่ร่อนหนีออกไปอยู่ในทวีปเอเชีย โดยมนุษย์นีอันเดอธาลได้ครอบครองทวีปยุโรปทั้งหมด จนเมื่อเวลาผ่านไปถึงเมื่อ 45,000 ปีที่แล้ว พวกบรรพบุรุษของเราก็ได้กลับมาที่ทวีปยุโรป ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่า และได้กำจัดมนุษย์นีอันเดอธาลออกไปจนหมด นักวิทยาศาสตร์ต่างฉงนว่า ในช่วงเวลา 55,000 ปีนั้น เทคโนโลยีของพวกนีอันเดอธาลไม่ได้ก้าวหน้าพัฒนาไปอีกเลย มนุษย์เหล่านี้ไม่รู้จักสร้างเมือง ไม่รู้จักการเกษตร รวมไปถึงยาสีฟัน ทำไมมนุษย์สายพันธุ์ที่มีความเฉลียวฉลาด กลับด้อยพัฒนากว่าบรรพบุรุษของเรา ???

แล้วผมจะไขข้อข้องใจว่า ทำไมความเฉลียวฉลาดของประชากร และเหรียญรางวัลโอลิมปิกวิชาการ ถึงไม่เกี่ยวกับความเจริญของประเทศ ในตอนต่อๆ ไปครับ ....

10 สิงหาคม 2553

Robot Evolution - หุ่นยนต์วิวัฒน์ (ตอนที่ 7)


เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้สั่งซื้อ Lego Mindstorms NXT 2.0 จากอเมริกา นัยว่าจะเอามาไว้ใช้สอนให้น้องโมเลกุล หัดเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเรียนเรื่องหุ่นยนต์ตั้งแต่เยาว์วัย ทันทีที่เขาได้เห็นกล่องของเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ที่ส่งมาถึงบ้านเรา รอยยิ้มน่ารักๆ ใสๆ ของเด็กผู้ชายคนหนึ่งก็เปล่งประกายออกมา เป็นรอยยิ้มที่ผมรู้สึกอิจฉาเหลือเกิน ผมใฝ่ฝันถึงหุ่นยนต์แบบนี้ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเล็ก แต่ไม่เคยคาดคิดว่า หุ่นยนต์ที่สามารถทำอะไรต่างๆ ได้มากมายแบบนี้ จะกลายเป็นของเล่นของเด็กอายุ 10 ขวบในสมัยของลูกผมเอง

ตัวผมเองนั้น มองหุ่นยนต์ในมุมที่แตกต่างจากผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆในประเทศไทย ผมไม่ได้สนใจหุ่นยนต์เตะฟุตบอล หรือ หุ่นยนต์แข่งชู้ตบาส แต่ผมสนใจหุ่นยนต์หาแมลง หรือ หุ่นยนต์เฝ้าบ้าน มากกว่า น่าเสียดายเหลือเกินครับที่ประเทศไทยของเรา ได้ไปคว้าชัย ได้ถ้วยแข่งขันเกี่ยวกับหุ่นยนต์มามากมาย แต่เรากลับมีความก้าวหน้าทางด้านหุ่นยนต์น้อยมาก ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า เราไม่ได้ให้ความสำคัญในสิ่งที่เป็นหัวใจของหุ่นยนต์ ซึ่งนั่นก็คือ "ปัญญา" (Intelligence) รวมไปถึงเรื่องของสัมผัส (Sense) และอารมณ์ (Emotion) ซึ่งเป็นด้านอ่อน (Soft Side) ของหุ่นยนต์

เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ทางสหภาพยุโรปได้มีการจัดตั้งคอนซอร์เทียมที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ขึ้นมา มีชื่อน่ารักๆ ว่า FEELIX GROWING ซึ่งย่อมาจาก "FEEL, Interact, eXpress: a Global approach to development with interdisciplinary grounding" โดยมีกลุ่มวิจัยหลากหลายศาสตร์ เช่น หุ่นยนต์ จิตวิทยา ประสาทวิทยา วิศวกรรมไฟฟ้า เป็นต้น จาก 6 ประเทศ ได้เข้ามาร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากมนุษย์ได้ รวมทั้งสามารถตอบสนองต่อมนุษย์ในเชิงสังคม และเชิงอารมณ์ อย่างมีเหตุมีผล โดยนักวิจัยวางเป้าหมายว่า จะสามารถทำให้หุ่นยนต์ในอนาคตสามารถจะอยู่ในสังคมมนุษย์เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ดังนั้นหุ่นยนต์ควรจะสามารถรู้จักอารมณ์ประเภทต่างๆ ของมนุษย์เรา เช่น ความโกรธ ความกลัว เพื่อที่มันจะปรับพฤติกรรมตัวเองให้เหมาะสมกับสถานการณ์เหล่านั้นได้

การที่หุ่นยนต์จะแยกแยะอารมณ์ของมนุษย์ได้ มันจะต้องสามารถรับรู้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็น การเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทางและอากัปกริยาต่างๆ การแสดงออกทางสายตา เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ในแต่ละวัฒนธรรมก็มีการแสดงออกได้แตกต่างกัน แต่โครงการนี้จะเน้นไปที่ลักษณะทั่วๆ ไปของมนุษย์ ไม่ว่าจะชาติพันธุ์ใดก็ตาม โครงการนี้จะไม่เน้นการพัฒนาตัวฮาร์ดแวร์ของหุ่นยนต์ แต่จะใช้การนำฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดมาใช้ ยกเว้นส่วนของใบหน้าหุ่นยนต์เท่านั้น ที่จะต้องทำขึ้นใหม่ เพื่อที่จะทำให้หุ่นยนต์สามารถแสดงอารมณ์ทางใบหน้าได้

นี่ล่ะครับ คือประเด็นที่ผมจะสอนลูก ในการโปรแกรมหุ่นยนต์ตัวแรกของเขา เพราะสิ่งนี้ก็คืออนาคต

06 สิงหาคม 2553

Games Science - วิทยาศาสตร์ของเกมส์ (ตอนที่ 9)


บ่อยครั้ง ที่ผมได้ยินคนรอบข้างมาบ่นให้ฟังว่าลูกติดเกมส์ แถมทำท่าเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่มากๆ แต่ที่บ้านผม เกมส์กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเรา ผมเล่นเกมส์ปลูกผักทุกวันบน Farmville น้องโมเลกุลเล่นเกมส์ Spore, Plant vs Zombie ขั้นเทพ และตอนนี้ผมกำลังส่งเสริมให้เขาเล่น Starcraft ส่วนน้องอะตอมชอบบริหารร้านอาหารในเกมส์ Cafe World ภรรยาผมชอบออกแบบเสื้อและบริหารร้านขายเสื้อผ้าใน Fashion World ทุกๆ วัน เมื่อเธอกลับมาถึงบ้าน เธอจะขอให้ลูกเปิด Facebook ให้ เพื่อที่จะเข้าไปดูว่าเสื้อผ้าที่เธอนำออกโชว์นั้น ขายหมดหรือยัง พวกเรามักจะแลกเปลี่ยนของขวัญกับลูกๆ ของเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามบ้านเรา ผมยังเปรยกับลูกบ่อยๆ ว่า หากลูกสนใจเรื่องเกมส์จริงจังพอ พ่อจะส่งไปเรียน Games Engineering ที่ญี่ปุ่นเลย ไปทำเรื่องนี้กันให้เป็นเรื่องเป็นราว แต่ถึงแม้เราจะติดเกมส์มากเพียงไรก็ตาม ในช่วงเย็นทุก weekend เมื่อเพื่อนบ้านของเรามาชวนไปว่ายน้ำที่สโมสรของหมู่บ้าน เราก็จะออกไปกันทั้งครอบครัว เพราะอย่างไรก็ตาม โลกแห่งความจริง ที่มีมนุษย์จริงๆ ที่เราต้องปฏิสัมพันธ์ด้วยนั้น ก็ยังมาอันดับหนึ่ง

ในมุมมองของผมแล้ว เกมส์ช่วยสร้างจินตนาการ สร้างความฝัน สร้างแรงบันดาลใจ และทำให้เราอยู่กับโลกความเป็นจริงได้อย่างไม่เบื่อหน่าย มันช่วยทำให้เราผ่อนคลาย และหลายๆ ครั้ง ได้ช่วยสร้างทักษะใหม่ๆ ให้ผู้เล่นอีกด้วย ถึงแม้เกมส์จะพาเราออกไปท่องโลกแห่งความฝัน แต่มันก็ช่วยทำให้สมองของเราเกิดการปลดปล่อย ผ่อนคลายความทุรนทุรายจากความเครียดที่ต้องเผชิญอยู่ในโลกของความจริง บ่อยครั้งที่มันเป็นยาชูใจ ทำให้คนเราไม่หมดอาลัยตายอยาก มีแรงปรารถนา ใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความฝันและความหวัง

ศาสตราจารย์ ไบรอน รีฟส์ (Professor Byron Reeves) แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ท่านมีไอเดียสุดเจ๋งครับ เพราะท่านได้เสนอวิธีที่จะทำให้คนเราหลุดพ้นจากความน่าเบื่อ ความซ้ำซากจำเจ และความเครียดในหน้าที่การงาน ... ก็ด้วยการทำให้งานเป็นเกมส์ หรือ เกมส์กลายเป็นงาน เป็นไอเดียที่น่าปลื้มใจใช่ไหมครับ ที่การเล่นเกมส์จะกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ ท่านได้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า "Total Engagement: Using Games and Virtual Worlds to Change the Way People Work and Business Competition" ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะผ่ากระโหลก เปิดโลกทรรศน์ใหม่ให้ผู้อ่าน ได้มีโอกาสมองเกมส์ในเชิงสร้างสรรค์ ในเชิงที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนที่เกี่ยวข้อง ไปสู่โลกแห่งความสนุกสนาน ทำให้หน้าที่การงานเป็นสิ่งบันเทิงเริงใจได้

รายละเอียดในเรื่องนี้ ผมจะนำมาเล่าในคราวต่อไปนะครับ ...

01 สิงหาคม 2553

Plant Intelligence - ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 12)


เรื่องของภูมิปัญญาในพืช หรือ Plant Intelligence ผ่านมาถึงตอนที่ 12 แล้วนะครับ เรื่องนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจ และผมเชื่อว่า วิทยาศาสตร์ในทศวรรษต่อไป จะเปิดเผยความลับเกี่ยวกับพืชออกมาเรื่อยๆ เราจะได้พบกับความรู้ใหม่ ความน่าประหลาดใจเกี่ยวกับพืชอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และความรู้นี้แหล่ะครับ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาหลายๆอย่าง ทั้งทางด้าน อาหาร เกษตร พลังงาน สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังจะมีประโยชน์ในด้านเทคโนโลยีบางอย่างที่เราอาจจะไม่เคยคาดคิดมาก่อน

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมานี้เอง ได้มีรายงานวิจัยฉบับหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Plant Cell (รายละเอียดเต็มคือ Magdalena Szechyska-Hebda, Jerzy Kruk, Magdalena Górecka, Barbara Karpiska and Stanisaw Karpiski, "Evidence for Light Wavelength-Specific Photoelectrophysiological Signaling and Memory of Excess Light Episodes in Arabidopsis", Plant Cell (2010), DOI:10.1105/tpc.109.069302) ที่เปิดเผยว่าพืชก็มีระบบประสาทเหมือนกับสัตว์ โดยพืขจะอาศัยการส่งข้อมูลผ่านเซลล์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า bundle sheath cell ซึ่งเป็นเซลล์ที่หุ้มอยู่รอบขอบผนังท่อลำเลียงอาหารของพืช ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่าเซลล์ชนิดนี้ทำหน้าที่ตรึงคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ ไม่เคยคิดว่าเซลล์เหล่านี้จะทำหน้าที่พิเศษขึ้นมาอีกอย่าง นั่นก็คือ เป็นเซลล์ที่ใช้ส่งสัญญาณ/ข้อมูล ไปทั่วต้นพืช เฉกเช่นเซลล์ประสาทของสัตว์

นักวิจัยได้ทดลองฉายแสงไปที่ใบของต้นพืชทดลองเพียงแค่ใบเดียวเท่านั้น แสงที่ความยาวคลื่นดังกล่าว สามารถใช้กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของพืชได้ ซึ่งพืชจะเข้าใจว่าตอนนี้ กำลังเข้าสู่ฤดูกาลที่อาจมีศัตรูพืชแล้ว นักวิจัยพบว่าหลังจากส่องแสงไปที่ใบพืชเพียงแค่ใบเดียว แล้วตรวจวัดภูมิคุ้มกันของพืชทั่วลำต้น ผลก็คือ พบว่าพืชได้เปิดใช้ระบบภูมิคุ้มกันทั่วลำต้นแล้ว นั่นแสดงว่าพืชมีการส่งข้อมูลจากใบไม้ที่ถูกแสงกระตุ้น ไปยังใบไม้ใบอื่น และเซลล์อื่นๆ ทั่วทั้งลำต้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่าน่าจะผ่านเซลล์ bundle sheath cell นี้เอง เนื่องจากสามารถตรวจพบสัญญาณไฟฟ้าที่เซลล์ดังกล่าว มีลักษณะเป็นคลื่นสัญญาณคล้ายกับเซลล์ประสาทของสัตว์

นักวิจัยกำลังสงสัยว่าพืชอาจมีการเรียนรู้และจดจำ ลักษณะและความจำเพาะของฤดูกาลต่างๆ เมื่อข้อมูลสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป มันจะสามารถตรวจพบและเตรียมตัวรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ...