30 มิถุนายน 2553

Science of Boredom - ศาสตร์แห่งความเบื่อ (ตอนที่ 2)


ความเบื่อดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ ที่มนุษย์แต่ละคนจะต้องพบเจอ บางคนอาจจะนานเป็นปีถึงจะมีอาการแบบนี้ครั้งหนึ่ง แต่สำหรับบางคน ความเบื่อสามารถมาเยี่ยมเยือนได้ทุกวี่วัน คนเหล่านี้น่าสงสารมากครับ เพราะว่าเจ้าความเบื่อนี่หล่ะ กำลังเป็นมัจจุราชเงียบ ที่จะมาเอาชีวิตเขาไปก่อนเวลาอันควร

ล่าสุดมีรายงานวิจัยที่เสนอผลการศึกษาว่า คนที่ขี้เบื่อจะมีอายุขัยสั้นลง (รายละเอียดเต็มคือ A. Britton and M.J. Shipley, "Bored to Death?", International Journal of Epidemiology (2010), doi:10.1093/ije/dyp404) ซึ่งนักวิจัยได้ทำการศึกษาข้าราชการที่ทำงานอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จำนวนกว่า 7,500 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 35-55 ปี บุคคลเหล่านี้ถูกสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 แล้ว ซึ่งในแบบสอบถามเหล่านั้นก็มีคำถามว่า "คุณรู้สึกเบื่อกับงานที่ทำหรือไม่?" รวมอยู่ด้วย นักวิจัยได้ติดตามดูว่าบุคคลเหล่านี้ มีใครเสียชีวิตไปแล้วบ้างก่อนเดือนเมษายน 2009 ผลที่ได้ก็คือ คนที่เคยตอบคำถามว่าเบื่อมากๆ นั้น มีโอกาสจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจเป็น 2.5 เท่าของคนที่ตอบว่าไม่เบื่อ ข้อสรุปของบทความวิจัยนี้ก็คือ "คนขี้เบื่อจะอายุสั้นกว่าคนที่ไม่ขี้เบื่อ"

จริงเหรอครับที่ ความเบื่อทำให้ตายได้ นักวิจัยบอกอย่างนี้ครับว่า ความเบื่อเล็กๆ น้อย บ่อยๆ อาจจะไม่เป็นไร แต่หากเบื่อเรื้อรังก็จะมีผลต่อสุขภาพตามมา คนที่ขี้เบื่อจะแก้เบื่อด้วยการทำกิจกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ทานอาหารจุบจิบ ใช้สารเสพติด พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศต่างๆ เพื่อแก้เบื่อ ความเบื่อจะเหนี่ยวนำทำให้เกิดโรคซึมเศร้า เกิดความเครียด ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้จะทำลายระบบหมุนเวียนของโลหิต และมีผลกระทบที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง

คนที่เบื่อเก่งๆ จะใช้ชีวิตแบบที่ไม่รักษาสุขภาพ ไม่ยอมออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ คนขี้เบื่อจะขี้เกียจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ลองทำในสิ่งท้าทาย ทำให้สมองตายด้าน คนขี้เบื่อจะขาดความอยากรู้อยากเห็น ไม่อยากรู้อะไรเพิ่มอีก คนเหล่านี้เมื่อมีอายุมากขึ้น สมองจะค่อยๆ เสื่อมถอย การที่คนเรามีความอยากรู้อยากเห็น จะช่วยชะลอความเสื่อมถอยเหล่านั้นได้ ทำให้สมองยังสดชื่นและคงความเป็นหนุ่มสาวอยู่ได้นานขึ้น คนที่มีใจอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงแก่ช้ากว่าคนที่เบื่อในสิ่งรอบตัว

ว่างๆ มาคุยเรื่องนี้กันต่อครับ ...

28 มิถุนายน 2553

Wireless Power - ระบบส่งพลังงานแบบไร้สาย (ตอนที่ 1)


ถ้าถามผมว่า เทคโนโลยีอะไรเป็นเทคโนโลยีในฝันของผม เป็นสิ่งที่ผมถวิลหา เฝ้าแต่รอ รอ แล้วก็รอ มาตลอด อยากให้เทคโนโลยีนั้นเกิดขึ้น ผมขอบอกว่าจริงๆ แล้วผมมีเทคโนโลยีในฝันหลายตัว แต่ตัวที่ผมต้องการมากที่สุดก็คือ เทคโนโลยีการส่งพลังงาน หรือ ไฟฟ้าแบบไร้สาย ลองมองดูในบ้านของเราเอง เอาในห้องนั่งเล่นก็ได้ครับ เราจะรู้สึกรำคาญใจที่สายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าสารพัดชนิด ไม่ว่าจะเป็น ทีวี เครื่องเล่น DVD เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม พัดลม ไฟโคม ของใช้เหล่านี้มีสายไฟพันกันอิรุงตุงนังไปหมด เวลาเราจะย้ายหรือถอดเครื่องใช้ไฟฟ้าตัวไหน ก็ต้องตามหาสายไฟหัวท้ายให้เจอ ขี้ฝุ่นก็มาก หยักไย่ก็ชอบขึ้น เวลาจะเดินทางไปต่างจังหวัดที มีที่ชาร์จแบตไปแล้วครึ่งกระเป๋า ไม่ว่าจะเป็น ที่ชาร์จคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิตอล ที่ชาร์จแบตเตอรีสำหรับ GPS และอุปกรณ์อื่นๆ ทำไมถึงไม่มีเทคโนโลยีในการส่งพลังงานไฟฟ้า แบบไร้สายจากปลั๊กไฟให้ใช้เสียทีนะครับ

จะว่าไปแล้ว แนวคิดในการส่งพลังงานไฟฟ้าแบบไร้สายนั้น มีมาก่อนที่จะมีการส่งกระแสไฟฟ้าผ่านสายไฟเสียอีก ในช่วงปลายๆ ศตวรรษที่ 19 นั้น หลังจากที่เอดิสันสามารถผลิตหลอดไฟที่ให้แสงสว่างจากพลังงานไฟฟ้าได้ ทำให้เกิดความต้องการที่จะสร้างโรงไฟฟ้า และระบบนำส่งไฟฟ้าจากโรงผลิตไปยังครัวเรือนและแหล่งธุรกิจต่างๆ ในช่วงเวลานั้น Nikola Tesla ได้เสนอวิธีในการส่งพลังงานไฟฟ้าแบบไร้สาย โดยเขาได้วางแผนจะสร้างเสาส่งสูง 57 เมตร เพื่อที่จะส่งพลังงานไฟฟ้าออกไปยังเครื่องรับที่อยู่ไกลออกไปหลายกิโลเมตร เสาส่งไฟฟ้าของเขายังไม่ทันสร้างเสร็จ เขาก็หมดเงินเสียก่อน โดยในระหว่างนั้น วงการไฟฟ้าของอเมริกาก็คิดวิธีในการส่งพลังงานไฟฟ้าผ่านสายไฟ ทำให้แนวคิดของ Tesla ไม่เคยถูกนำมาใช้ในระดับใหญ่อีกเลยครับ

ปัจจุบันความคิดในการนำส่งพลังงานแบบไร้สาย ตามวิสัยทัศน์ของ Tesla เริ่มกลับมาเป็นจริงๆ เป็นจังอีกครั้งครับ ผมจะค่อยๆ นำมาเล่าในบทความซีรีย์นี้ครับ ... ก่อนหน้านี้ เทคโนโลยีในการส่งพลังงานแบบไร้สาย มีให้ใช้แค่แปรงสีฟันไฟฟ้าเท่านั้นครับ ถ้าใครเคยใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า อาจจะคุ้นเคยดีว่าเราจะต้องเอาด้ามแปรงสีฟันวางลงไปบนแท่นชาร์จ ซึ่งแท่นชาร์จก็จะทำการชาร์จแบตเตอรีที่อยู่ในแปรงสีฟันไฟฟ้า โดยไม่ต้องมีขั้วไฟฟ้าแตะกันเลย ... แต่ต่อไปนี้ เทคโนโลยีนี้กำลังจะก้าวเข้ามาในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นกว่าแค่แปรงสีฟันแล้วครับ ...

21 มิถุนายน 2553

IEEE-INEC 2011 - The 4th IEEE International NanoElectronics Conference (INEC)


หมู่นี้ไม่รู้ทำไม การประชุมวิชาการทางเทคโนโลยีในเอเชีย พากันยกโขยงไปจัดที่ไต้หวันกันหมด ทำเอาผมและเพื่อนๆ เดือดร้อนกัน เพราะไม่ชอบไปไต้หวัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะที่นั่นผู้หญิงไม่ค่อยสวย ... พูดเล่นนะครับ ... จริงๆ แล้วพวกเราเป็นประเภทนโยบายจีนเดียว ก็เลยไม่อยากไปไต้หวันกันเท่าไหร่

การประชุมหนึ่งที่ผมมักจะส่งลูกศิษย์ไปเข้าร่วมประชุมก็คือ IEEE-INEC ซึ่งจัดมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกจัดที่สิงคโปร์ในปี 2006 แล้วมาที่เซี่ยงไฮ้ปี 2008 จากนั้นมาที่ฮ่องกงเมื่อต้นปี 2010 นี้เอง พอครั้งที่ 4 ตอนแรกนึกว่าจะจัดในปี 2012 เพราะปกติจะจัด 2 ปีครั้ง แต่ครั้งนี้เลื่อนมาเร็วขึ้น มาเป็นระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2011 ที่เมือง Tao-Yuan บนเกาะไต้หวัน นัยว่าการประชุม IEEE-INEC 2011 นี้จะเป็นการสะท้อนถึงความพร้อม ของนาโนเทคโนโลยีที่เริ่มก้าวจากนาโนวัสดุ ไปสู่อุปกรณ์ที่มีฟังก์ชันหน้าที่มากกว่าแค่วัสดุ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์โฟโตนิกส์ กำหนดส่งบทความฉบับเต็ม วันที่ 31 ธันวาคม 2010 นี้ครับ บทความที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้จะได้รับการบันทึกไว้ในฐานข้อมูล IEEE Explore โดยผลงานที่มีคุณภาพส่วนหนึ่ง จะได้รับคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในวารสาร Nanoscale Research Letters กับวารสาร International Journal of Nanotechnology

18 มิถุนายน 2553

Science of Boredom - ศาสตร์แห่งความเบื่อ (ตอนที่ 1)


ความเบื่อ (boredom) ถูกนิยามว่าเป็นภาวะทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการไม่ได้ทำกิจกรรมสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นระยะเวลานานๆ หรือ เมื่อบุคคลใดเกิดภาวะไม่สนใจในสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่น่าเชื่อครับว่า คำว่า boredom ในภาษาอังกฤษเองก็เพิ่งจะมีใช้กันเมื่อ 150 กว่าปีที่แล้วนี่เอง !! จริงหรือครับว่าคนในสมัยอยุธยาเขาไม่มีความเบื่อกัน มีแต่ความสนุกสนานกันตลอดเวลา ??

ทำไมเราจึงต้องสนใจกับศาสตร์แห่งความเบื่อนี่ล่ะครับ ทำไมเราจะต้องเข้าใจมัน ... จริงๆ แล้ว ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของความเบื่อนี้จะนำมาสู่การรักษาโรคหลายๆ ชนิดที่เกี่ยวข้องกับมันครับ มีรายงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า ความเบื่ออาจจะนำไปสู่ภาวะเสื่อมถอยทางสุขภาพทั้งทางกายและใจหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ โรคอ้วนเพราะกินแก้เหงาแก้เซ็ง ติดเหล้าดื่มให้หายเบื่อ มีเซ็กส์มากให้หายเหงา สูบบุหรี่แก้เครียด ชอบพฤติกรรมเสี่ยงอย่างแข่งรถ การทะเลาะชกต่อย ทำลายข้าวของสาธารณะ แย่ไปเลยก็ไปติดยาเสพติดทั้งหลาย ติดการพนัน การทรมานตัวเองต่างๆ นานา ดังนั้นจะเห็นว่า ถ้าเราเข้าใจเรื่องความเบื่อได้ เราก็อาจจะแก้ปัญหาที่กล่าวมานี้ได้ครับ ในเมืองไทยเราเองนั้น มีปํญหาเหล่านี้ค่อนข้างเยอะ แต่เรายังไม่เคยพูดถึงเรื่องของความเบื่อ ที่นำมาสู่ปัญหาพวกนี้เลย

การศึกษาเรื่องของความเบื่อ อาจจะนำไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อีกมากมายครับ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำไปใช้แก้ความเบื่อ แทนพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพดังที่กล่าวมาข้างต้น หากใครคิดได้ มีไอเดียเจ๋งๆ ก็อาจจะรวยโดยไม่รู้ตัว จากการคิดค้นเทคโนโลยีแก้เบื่อเหล่านี้ บริษัทฟอร์ดได้ใส่เกมส์เข้าไปในรถ Ford Fusion ซึ่งเป็นรถประเภทไฮบริดที่สามารถนำพลังงานส่วนเกินไปเก็บในแบตเตอรี่ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้รถสามารถขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าร่วมกับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน โดยเกมส์นี้จะอยู่บนคอนโซลรถยนต์ของฟอร์ด หากผู้ขับขี่ขับรถดีๆ ไม่กระโชกโฮกฮาก รักษาระดับการขับขี่ที่ทำให้ประหยัดน้ำมัน ที่หน้าคอนโซลของรถจะมีต้นองุ่นค่อยๆ ผลิใบออกมาทีละใบ และมันจะเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ หากเรารักษาระดับขับขี่อย่างนุ่มนวลเอาไว้ ในที่สุดเราจะได้ต้นองุ่นที่สมบูรณ์ .... ทว่า ... หากเรา จู่ๆ ก็เหยียบคันเร่ง กระชากพวกมาลัย ปาดซ้ายปาดขวา วิ่งเร็วๆ ผสมเบรคแรงๆ ใบของต้นองุ่นก็จะร่วงออกจนหมดต้น เกมส์ที่อยู่บนรถฟอร์ดรุ่นนี้ จึงปรับพฤติกรรมผู้ขับขี่ให้ขับขี่อย่างมีมรรยาทมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนความน่าเบื่อของการขับรถบนท้องถนน มาเป็นกิจกรรมดูแลองุ่น แทนที่จะไปขับปาดซ้ายปาดขวาเพื่อแก้เบื่อ ....

15 มิถุนายน 2553

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 3)


การทำให้สนามรบมีอัจฉริยภาพขึ้นมานั้น มีเทคโนโลยีต่างๆ ให้เลือกใช้มากมาย ซึ่งผมจะทยอยนำมาเล่าให้ฟังเรื่อยๆ ครับ แต่ช่วงแรกๆ นี้ ผมขอนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพ หรือ Machine Vision ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ทั้งในสนามรบที่เป็นพื้นที่ปกติ เช่น ในทุ่งหญ้า ทะเลทราย ป่าเขา หรือเป็นพื้นที่ปิดอย่างในเมือง

จะว่าไป มหานครใหญ่ๆ ทั้งในประเทศแถบตะวันตก และในเอเชีย หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ของเรา ก็มีกล้องวงจรปิดหรือ CCTV ติดตั้งกันอยู่มากมาย แต่ทว่ากล้องเหล่านั้นกลับไม่ได้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกัน แต่ละหน่วยงานมีกล้องวงจรปิดของตนเอง เอกชนอย่างเช่นธนาคารก็มี กล้องเหล่านี้ไม่ได้มีความเชื่อมโยงหรือประสานงานกันแต่อย่างใด ที่สำคัญ กล้องเหล่านี้ไม่ได้มีไว้เพื่อป้องกันเหตุร้ายเลย แต่มันมีเอาไว้เพื่อใช้ดูว่าใครเป็นจำเลย เมื่อเหตุร้ายนั้นผ่านไปแล้ว เทคโนโลยีนี้ไม่มีประโยชน์สำหรับสนามรบเลย เพราะในการรบ ทหารต้องการใช้ภาพที่เก็บได้เพื่อประเมินหรือวิเคราะห์สถานการณ์ ณ เวลาจริง อันจะนำไปสู่การตัดสินใจกระทำการใดใดก่อนที่เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น เช่น หากมีเครือข่ายกล้องวงจรปิดติดตั้งในบริเวณสี่แยกคอกวัวในวันที่ 10 เมษายน 2553 ผู้บัญชากองกำลังในเวลานั้นคงไม่บาดเจ็บขาขาด อีกหนึ่งนายต้องนอนเป็นเจ้าชายนิทรา และอีกหนึ่งนายเสียชีวิต ... เป็นอะไรที่น่าเศร้ามาก เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ หากมีใช้เต็มรูปแบบ ยังมีราคาถูกกว่าเครื่องบิน F16 หนึ่งลำเสียอีก

การมีกล้องนับพันๆ ตัวติดตั้งทั่วกรุงเทพมหานคร จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย หากให้มนุษย์มาเป็นผู้นั่งเฝ้าหน้าจอ เพราะถึงแม้จะมีกล้องเป็นพันๆ ตัว แต่ห้องควบคุมอาจจะบรรจุหน้าจอแสดงผลได้อย่างมากก็หลักร้อย แถมหน้าจอเป็นร้อยๆ จอก็อาจจะมีคนนั่งเฝ้าอยู่ไม่ถึงสิบคน สรุปคือ แต่ละคนมีภาระที่จะต้องสแกนหน้าจอไปพร้อมๆ กันหลายสิบหน้าจอ โดยที่ในขณะเดียวกัน ยังมีกล้องอีกเป็นร้อยๆ ตัวที่ถ่ายภาพเข้าไปโดยที่ไม่มีมนุษย์เฝ้ามอง

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นจะต้องซอฟต์แวร์วิเคราะห์ภาพ ที่สามารถทำหน้าที่เฝ้ามองภาพจากกล้อง CCTV เหล่านั้นแทนมนุษย์ ซอฟต์แวร์นี้จะต้องมีความฉลาด ต้องถูกฝึกมาให้สังเกตในสิ่งที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงเหตุผิดปกติ เช่น หากมีรถต้องสงสัยวิ่งเข้ามาจากถนนเส้นหนึ่ง แล้วมันตรวจเจอ มันจะต้องสามารถติดตามรถคันนี้จากกล้องตัวหนึ่งไปยังกล้องอีกตัวหนึ่งได้ทันที มันจะต้องสามารถวิเคราะห์เส้นทางการวิ่งของรถคันนี้ได้ เมื่อมันจับภาพเลขทะเบียนได้ มันต้องมีความสามารถในการซูมภาพเข้ามา วิเคราะห์ภาพให้ได้ข้อมูลของเลขทะเบียน แล้วทำการติดต่อคอมพิวเตอร์ของกรมการขนส่งทางบก ทำการเปรียบเทียบหมายเลขทะเบียนกับรถว่าตรงกันหรือไม่ หากเลขทะเบียนไม่ตรงกัน แสดงว่ารถคันนี้ใช้เลขทะเบียนปลอม ซึ่งต้องเป็นของคนไม่ดีแน่ๆ อาจจะนำไปใช้ก่อเหตุ มันจะต้องสามารถทำการเตือนมนุษย์ที่รับผิดชอบได้ทันที

ระบบที่ผมพูดถึงนี้ มีการพัฒนาออกมาใช้แล้วครับ โดยบริษัท Abeo Technical Solutions โดยตั้งชื่อมันว่า AWARE (The Automated Warning and Response Engine) ในอนาคตคงจะมีคู่แข่งตามออกมาอีกหลายบริษัทครับ ...


13 มิถุนายน 2553

ทัพฟ้าสหรัฐ ผลิตปริญญาตรีสาขาการบิน UAV


ในช่วง 10 กว่าปีมานี้ เพนทากอนได้เริ่มปฏิรูปกองทัพสหรัฐอเมริกาอย่างขนานใหญ่ กองทัพขนาดใหญ่เทอะทะ กำลังจะปลี่ยนรูปแบบไปเป็นกองกำลังที่มีขนาดเล็กลง เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ไปประจำการที่ไหนก็ได้ในโลก ฐานทัพถาวรบนแผ่นดินเป็นสิ่งที่กำลังจะล้าสมัย และเปลี่ยนไปเป็นฐานทัพลอยน้ำ ที่ประกอบจากโมดุลต่างๆ ด้วยการระดมพลมาจากกองกำลังชั่วคราวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก กองทหารประจำการแบบข้าราชการถูกแทนที่ด้วยกองกำลังทหารรับจ้าง และพนักงานชั่วคราวที่แฝงตัวในคราบนักท่องเที่ยว อาศัยอยู่ตามแหล่งต่างๆ ทั่วโลก คนเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเป็นกำลังรบได้เมื่อถูกเรียกใช้ มีอะไรอีกหล่ะที่ยังล้าสมัยอยู่ .... อ๋อ ... นักบิน

กองทัพสหรัฐฯ เริ่มตระหนักดีว่า สงครามในอนาคตจะเริ่มนำชีวิตทหารเข้าไปเสี่ยงภัยน้อยลง แนวคิดในการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ทำสงครามเริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปถึงจุดที่ทหารที่มีเลือดเนื้อถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ทั้งหมด อย่างน้อยก็ควรจะลดการเสี่ยงภัยของทหารด้วยการควบคุมยุทโธปกรณ์ จากระยะไกล ด้วยเหตุนี้เราจึงเริ่มเห็นเครื่องบินไร้นักบิน เข้ามาประจำการรบมากขึ้นเรื่อยๆ แรกๆ ก็เป็นแค่เครื่องบินสอดแนม ตรวจการณ์ ต่อมาก็เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด มีอำนาจทำลายล้าง และอีกไม่นานก็จะมีเครื่องบินรบ (Fighter Jet) ออกมาอีกด้วย

จะว่าไปแล้ว อากาศยานที่เรียกว่าไร้นักบิน (Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV) นี้จะไร้คนขับจริงๆ มันก็ไม่ใช่หรอกครับ เพราะจะว่าไปแล้ว UAV พวกนี้เป็นอากาศยานที่มีคนขับจากระยะไกลต่างหาก (Remotely Piloted Aircraft หรือ RPA) อากาศยานไร้นักบินที่ทิ้งระเบิดในอัฟกานิสถานนั้น ถูกควบคุมด้วยนักบินที่นั่งอยู่ในฐานทัพอากาศในมลรัฐเท็กซัส

เมื่อเร็วๆ นี้เอง ทางกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาประกาศว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีอาชีพนักบินเครื่องบินบังคับจากระยะไกล RPA อย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที จึงได้มอบหมายให้กองบินที่ 558 ทำการผลิตนักบินบังคับจากระยะไกลในระดับปริญญาตรี ถึงแม้นักบินเหล่านี้จะไม่เคยขึ้นไปบินเครื่องบินจริงๆ เลยก็ตาม แต่เมื่อจบหลักสูตรแล้ว บุคคลเหล่านี้จะสามารถนำเครื่องบินขึ้น ลงจอด เติมน้ำมันกลางอากาศ ปฏิบัติการทางทหาร ได้ไม่ต่างจากนักบินในรูปแบบเดิม ในปี ค.ศ. 2010 นี้ มีนักเรียนเข้าเรียนในหลักสูตรนี้แล้วประมาณ 60 คน โดยกองบิน 558 คาดหวังว่าจะเพิ่มเป็น 120 คนในปี 2011 และ 150 คนต่อรุ่นในปี 2013 เพื่อป้องกันการขาดแคลนนักบินบังคับจากระยะไกลในอนาคต

09 มิถุนายน 2553

Bionic Insect - แมลงชีวกล (ตอนที่ 9)


ในภาพยนตร์อะนิเมชันเรื่อง G-Force เราจะได้เห็นแมลงวันตัวหนึ่งที่มีชื่อว่าเจ้าหน้าที่มูช มันเป็นแมลงวันที่ติดตั้งกล้องวีดิโอ และอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย เจ้าหน้าที่มูชทำหน้าที่ตรวจการณ์หน้า เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ให้สามารถเห็นภาพมุมสูง และภาพในระยะไกลได้ ถึงแม้เจ้าหน้าที่มูชจะไม่มีบทพูดในภาพยนตร์เรื่องนี้เลย แต่บทบาทของเจ้าหน้าที่มูชก็ทำให้ผมประทับใจเกือบจะที่สุดแล้ว ในจำนวนเหล่าสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเจ้าหน้าที่สืบราชการลับ

ก่อนหน้านี้ ผมได้เล่าให้ฟังถึงโครงกาHi-MEMS ซึ่ง DARPA เป็นสปอนเซอร์ สนับสนุนทุนวิจัย โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาแมลงกึ่งหุ่นยนต์ที่สามารถบินเข้าไปในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อปฏิบัติภารกิจ ตามความต้องการของกำลังรบ มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้รับงบก้อนดังกล่าว และกำลังขยันขันแข็งเพื่อพัฒนาแมลงชีวกล เพื่อให้ทำงานได้ตามความต้องการของกองทัพ จริงๆ แล้วก่อนหน้าที่ DARPA จะมาสนใจศาสตร์ทางด้านแมลงกึ่งจักรกลอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น มีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ได้ทำการศึกษาวิจัยแมลงชีวกลอย่างเงียบๆ มาพักหนึ่งแล้ว ภายใต้แนวคิดหลักทางด้านวิศวกรรมที่เลียนแบบธรรมชาติในนามของ Laboratory for Intelligent Machine Systems หรือ LIMS พวกเขาจึงเป็นพวกที่ทำจริง และรู้จริงเกี่ยวกับเรื่องแมลงกึ่งจักรกลเหล่านี้

ทิม ไรส์แมน (Tim Reissman) นักศึกษาระดับปริญญาเอกแห่ง LIMS กล่าวว่า "แมลงทหารเหรอครับ ผมว่าตอนนี้มันยังตัวใหญ่เกินไปครับ คงต้องรอให้เราสามารถเล่นกับแมลงตัวที่เล็กลงกว่านี้ แล้วก็มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดบนตัวมันที่เล็กกว่านี้" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความก้าวหน้าของศาสตร์ทางด้านนี้ แม้จะเจ๋งในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่กองทัพต้องการ ลองคิดเล่นๆ สิครับว่า ถ้ามีเจ้าแมลงขนาดสักฝ่ามือนึง บินผ่านเข้ามาในบ้านคุณ บนหลังของมันแบกน้ำหนักกล้องวีดิโอ เซ็นเซอร์ต่างๆ อุปกรณ์ส่งวิทยุ และแบตเตอรี มันพยายามจะมาสปายว่าคุณทำอะไรอยู่ คุณก็คงไม่เซ่อพอที่จะปล่อยให้มันหลุดรอดออกไปทางประตูแน่ๆ

และที่คอร์เนลนี่เอง ศาสตราจารย์ Ephrahim Garcia หัวหน้าห้องปฏิบัติการ LIMS ดังกล่าว ได้เน้นการศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องพลังงานของแมลงชีวกล ด้วยการพยายามนำเอาพลังงานจากการเคลื่อนที่ของแมลง มาใช้ป้อนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ติดอยู่บนแมลง คณะวิจัยได้พัฒนาอุปกรณ์ที่ทำมาจากวัสดุ piezoelectric material ที่เปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยเมื่อปีกแมลงมีการเคลื่อนที่ ก็จะทำให้เกิดการสั่นของวัสดุชนิดนี้ ไปผลิตกระแสไฟฟ้า ศาสตราจารย์ Garcia หวังว่า เขาจะสามารถสร้างแมลงชีวกล ที่ติดอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้อง GPS เซ็นเซอร์ต่างๆ โดยที่ไม่ต้องมีแบตเตอรีบนตัวแมลงเลย ...

วันนี้ผมมานอนที่ไร่องุ่นครับ ข้างนอกมืดมากๆ มีเพียงจุดที่ผมนั่งทำงานและพักหลับนอนอยู่นี้ ที่มีแสงไฟ เหล่าแมลงพากันบินมาชุมนุมตรงที่เรานั่งอยู่ ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า เรื่องแมลงหลงไฟ ก็อาจเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เราต้องแก้ เพื่อให้มันอยากปฏิบัติภารกิจมากกว่าบินตามไฟ ...



06 มิถุนายน 2553

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 2)


มีใครหรือ จะรู้โชค ชะตาตน
ข้านี้แหละ ฝึกฝน รู้ตนอยู่
วันเวลา มาใกล้ ใคร่ครวญดู
ต้องไปสู่ ความยาก ลำบากเอย .....

เป็นบทกวีที่ขงเบ้งได้ประพันธ์ขึ้น เพราะรู้ว่าชะตาชีวิต และความเป็นอยู่อย่างชาวไร่ชาวนาของตนกำลังจะสิ้นสุดลง เนื่องมาจากมีผู้มารอพบอยู่ด้านนอก คนผู้นั้นก็คือเล่าปี่ซึ่งกำลังมาขอเข้าพบ เพื่อขอร้องให้มาเป็นเสนาธิการทัพให้ ว่ากันว่า ขงเบ้งได้บำเพ็ญฌาณสมาบัติ จนบรรลุคุณวิเศษ มีตาทิพย์ หูทิพย์ และญาณทิพย์ เป็นผู้หยั่งรู้ดินฟ้าวายุ สามารถอ่านลำดับเหตุการณ์ทะลุปรุโปร่งทั้งใน อดีตกาล ปัจจุบันกาล และอนาคต แน่นอนว่า เสนาธิการที่มีคุณลักษณ์เช่นนี้ ย่อมเป็นที่หมายปองของกองทัพทุกแห่งในโลก

การมีตาทิพย์ เป็นความฝันของเหล่าขุนศึกตั้งแต่อดีตกาล มาจนถึงปัจจุบัน การได้เห็นพื้นที่การรบและดินแดนของศัตรู ทั้งในช่วงสงบศึกและระหว่างรบ เป็นยอดปรารถนาของเสนาธิการทหาร ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีในการส่งภาพวีดิโอจากสนามรบ ไปยังศูนย์บัญชาการได้ก็ตาม (อย่างที่ผมได้เล่าให้ฟังในตอนที่แล้ว) แต่การได้เห็นอย่างคนธรรมดาหรือทหารธรรมดา กับการที่ได้เห็นอย่างเสนาธิการ ย่อมมีความหมายและนัยยะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา DARPA หน่วยงานให้ทุนทางด้านกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ได้จัดการประชุมหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานให้ทุน กับบริษัทและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีการมองเห็น และการถ่ายภาพ DARPA ได้ประกาศจัดตั้งโครงการที่มีชื่อว่า Mind's Eye หรือ ดวงตาของจิตใจ นัยว่า DARPA อยากจะเห็นเทคโนโลยีใหม่ ที่สามารถวิเคราะห์ตีความหมายจากภาพ โดยปกตินั้น ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี Machine Vision หรือโปรแกรมวิเคราะห์ภาพในปัจจุบัน สามารถจำแนกแยกแยะได้แล้วว่า สิ่งที่อยู่ในภาพคืออะไร เป็นคน เป็นรถถัง แต่ DARPA ต้องการมากกว่านั้น DARPA ต้องการมองเห็นที่มีจิตใจด้วย นั่นคือ มันต้องบอกได้ว่าวัตถุในภาพเป็นอะไร กำลังจะทำอะไร มีแนวโน้มอย่างไรต่อไป แล้วสามารถนำเอาประสบการณ์เก่ามาใช้วิเคราะห์ด้วย

เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์มากครับ เพราะเมื่อนำมันไปติดตั้งในระบบตรวจการณ์ทั้งหลาย แล้วให้มันทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ผู้ครอบครองเทคโนโลยีนี้จะเหมือนครอบครองสนามรบนั้นๆ เลย ลองคิดดูว่าหากเรามีเทคโนโลยีนี้ในวันที่เกิดการจลาจลในกรุงเทพมหานคร เราคงไม่ต้องมาถกเถียงกันว่า ตกลงใครเป็นกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ....

04 มิถุนายน 2553

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 1)


ในช่วงที่เกิดการจลาจลในกรุงเทพมหานครนั้น โดยเฉพาะในช่วงที่เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าโอบล้อมเพื่อสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการปะทะกันซึ่งหน้า แต่เป็นการซุ่มยิงด้วยสไนเปอร์ของฝ่ายทหาร และบางครั้งกลับกลายเป็นว่า ก็มีผู้เสียชีวิตอันเกิดจากการซุ่มยิงของใครก็ไม่รู้ด้วยเหมือนกัน

การสู้รบในเมือง หรือสมรภูมิในพื้นที่เมือง กำลังจะกลายมาเป็นแม่บทของสงครามสมัยใหม่ครับ หากเราลองพิจารณาความขัดแย้งต่างๆ ทั่วโลกในเวลานี้ ก็จะพบว่าพื้นที่ในเมืองหรือย่านชานเมือง ได้กลายมาเป็นสมรภูมิที่อันตรายและไม่เป็นที่ต้องการของทหารนัก มีกองทัพไม่กี่ประเทศในโลก ที่รู้วิธีหรือมีศักยภาพที่จะทำการรบในพื้นที่ดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในประเทศนั้นคือ สหรัฐอเมริกา ครับ และในบทความชุดนี้ ผมจะทยอยนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อการรบในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาเล่าให้ฟังในบทความซีรีย์นี้นะครับ

เทคโนโลยีสำหรับสนามรบอัจฉริยะที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ ก็คือ ระบบวีดิโอในสนามรบ ซึ่งเพนทากอนได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า Full-Motion Video Asset Management (FAME) ขึ้นมาเพื่อทำการเก็บภาพในแง่มุมต่างๆ ของสนามรบ โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพวีดิโอนั้นด้วย เพื่อให้นักวิเคราะห์สถานการณ์ หรือผู้บัญชาการสนาม สามารถเรียกภาพในแง่มุมต่างๆ มาใช้ตัดสินใจ ทั้งในระหว่างที่มีสถานการณ์ หรือภายหลังสถานการณ์เสร็จสิ้นแล้ว เฉกเช่น ภาพวีดิโอที่ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอล ที่ผู้ชมสามาถดูภาพนิ่ง ภาพช้า ย้อนกลับไปกลับมา หรือดูสถานการณ์หนึ่งๆ จากกล้องที่ถ่ายจากมุมต่างๆ ในสนามรบก็เช่นกัน การได้เห็นภาพจากมุมต่างๆ จะทำให้ผู้บัญชาการ สามารถสั่งการได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น

กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ทำการบันทึกภาพสนามรบในอิรัก และอัฟกานิสถาน ด้วยอากาศยานไร้คนขับ (UAV) มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ในปี ค.ศ. 2009 นั้น UAV ได้บันทึกภาพวีดิโอเอาไว้มากถึงเดือนละ 1,800 ชั่วโมง ยานที่มีชื่อว่า Reaper นั้นสามารถบันทึกภาพได้ถึง 10 ทิศทางพร้อมๆ กัน ระบบ FAME ที่พัฒนาขึ้นมานี้จะมีประโยชน์มากในการจำแนก แยกแยะ สิ่งที่เป็นประโยชน์จากภาพวีดิโอเหล่านั้น ลองคิดดูสิครับว่า ในสมัยอยุธยาถ้าแม่ทัพนายกองคนใด สามารถปล่อยนกอินทรีย์ขึ้นไปบินบนฟ้า แล้วใช้ตาทิพย์มองสิ่งต่างๆ จากดวงตาของนกอินทรีย์ จะทำให้ได้เปรียบในการรบมากเพียงใด

ผมจะมาเล่าต่อในวันหลังนะครับ ถึงแนวคิดในการใช้หุ่นยนต์เข้าไปเก็บภาพสถานการณ์ในสนามรบ ....

Defense Science Research 2011


การบรรจบและหลอมรวมกันของศาสตร์ต่างๆ กำลังจะทำให้การทหาร และสงครามสมัยใหม่ มีทั้งความน่ากลัวและความปลอดภัยมากขึ้น ที่น่ากลัวก็คือหากทหารฝ่ายเราไม่มีเทคโนโลยีดังกล่าว ก็จักต้องพบกับความพ่ายแพ้ ที่ปลอดภัยก็คือ ความสูญเสียต่อพลเรือน แม้กระทั่งตัวทหารเองจะลดลงมาก จนกระทั่งผลแพ้-ชนะ อาจตัดสินกันในไม่กี่ชั่วโมง โดยผู้ที่ทำการรบอาจไม่เคยเห็นหน้ากันเลย การรบสมัยใหม่ อาจจะเป็นการรบระหว่างหุ่นยนต์ของฝ่ายเรา กับหุ่นยนต์ของฝ่ายข้าศึก โดยผลแพ้ชนะอาจทำให้มนุษย์ตัดสินใจยุติสงครามโดยไม่ต้องเสียชีวิตมนุษย์ หรือบางที การรบอาจจะทำด้วยการจำลองในคอมพิวเตอร์ แม่ทัพนายกองทั้งสองฝ่ายมาประลองชัยกันในสนามรบไซเบอร์ ผลออกมาอย่างไร ก็ให้ยุติ และเลิกลาต่อกันโดยไม่ต้องมีการสั่งกำลังพล และอาวุธจริงออกไปใช้เลย

ป็นที่ยอมรับกันว่า ความเจริญก้าวหน้าทางด้านการทหาร ของประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนหนึ่งมาจากการวิจัยและพัฒนาอาวุธ และเทคโนโลยีทางทหารในมหาวิทยาลัย ประเทศสหรัฐอเมริกามีระบบการจัดการงานวิจัยด้านกลาโหมที่แข็งแกร่งมาก ในปัจจุบัน หลายๆ ประเทศเริ่มหันมาใช้โมเดลนี้กันมากขึ้นครับ จนเกิดประชาคมวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์กลาโหม หรือ Defense Science Research ขึ้น ซึ่งในปีหน้านี้เอง จะมีการจัดประชุมวิชาการทางด้านนี้ ซึ่งมีชื่อว่า Defense Science Research 2011 โดยจะจัดที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 3-6 สิงหาคม 2554 โดยมีกำหนดส่ง Full Paper ในวันที่ 15 ธันวาคม 2553 นี้ ตัวผมเองคาดว่าจะส่งผลงานประมาณ 4 เรื่อง เนื่องจากในการประชุมนี้ มีการจัดแสดงนิทรรศการอาวุธ และเทคโนโลยีกลาโหมด้วย โดยจะมีนักยุทธศาสตร์ทางการทหาร หน่วยงานความมั่นคงจากประเทศต่างๆ เข้าประชุมด้วย ถ้าหากเทคโนโลยีที่เรานำไปแสดงเข้าตาบุคคลเหล่านี้ เขาก็อาจสนใจซื้อเทคโนโลยีเราไปใช้ก็ได้นะครับ

เนื้อหาการประชุมของ DSR 2011 นี้ค่อนข้างกว้าง ถึงแม้จะมีการกำหนด Theme ก็ตาม ก็ยังมีมากถึง 10 Theme เลยครับ ครอบคลุมศาสตร์ทั้งอากาศยาน สิ่งแวดล้อม วิศวกรรมชีวภาพ ระบบลำเลียง ระบบตรวจวัดสุขภาพ รวมไปถึงเรื่องบันเทิงด้วย รายละเอียดแต่ละ Theme ก็ลองเข้าไปศึกษาดูจากเว็บไซต์นะครับ ....