07 กันยายน 2557

เมื่อหุ่นยนต์แย่งงานมนุษย์ - The Rise of Robot



ในปี ค.ศ. 2013 เรามีการใช้งานหุ่นยนต์เพื่อทำงานแทนมนุษย์จำนวน 1.2 ล้านตำแหน่ง แต่ในปี ค.ศ. 2025 แต่ในปี ค.ศ. 2025 เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา หุ่นยนต์จะมาแทนที่มนุษย์ 50% ของงานทั้งหมด โดยจะเข้าแทนตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ 13 ล้านตำแหน่ง การผลิต 22 ล้านตำแหน่ง และ อาหาร 9 ล้านตำแหน่ง

แน่นอน เราจะได้เห็นตำแหน่งงานใหม่ๆ ของมนุษย์เพิ่มขึ้น เช่น นักออกแบบหุ่นยนต์ วิศวกรหุ่นยนต์ แผนกซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ งานทางด้านเซ็นเซอร์ และ ซอฟต์แวร์หุ่นยนต์

วันนี้ ... เราได้เตรียมตัว หรือ มีความพร้อมแค่ไหน กับการเปลี่ยนแปลงนี้ครับ

Credit : Pictures from
- Focus.com
http://www.futuristspeaker.com/wp-content/uploads/Robot-Jobs-1.jpg
http://www.theguardian.com/commentisfree/commentisfree+business/manufacturing-sector

02 กันยายน 2557

เครื่องชิมต้มยำกุ้ง - Electronic Nose



ต้มยำกุ้งเป็นอาหารไทยที่ต่างชาติรู้จักมากที่สุด จนเอาไปตั้งเป็นชื่อของวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ ปี ค.ศ. 2540 ในภัตตาคารอาหารไทยทั่วโลก ต้องมีต้มยำกุ้งในเมนูทุกร้าน ซึ่งรสชาติและสีสันก็จะมีความแตกต่างกันไปตามวัตถุดิบและสูตรของแต่ละร้าน

ซึ่งไอ้เจ้าความแตกต่างของแต่ละร้านนี่หล่ะครับที่น่าเป็นห่วง ไม่เหมือนกินแม็คโดนัลด์ที่มันเหมือนกันทุกที่ ดังนั้น ต้มยำกุ้งก็น่าจะมีสูตรกลาง หรือ ตำหรับกลางที่เป็นมาตรฐาน เพราะมันสำคัญมากในเรื่องของความเป็นแบรนด์ ที่ต้องคงและรักษาเอกลักษณ์ของรสชาติแท้ๆ เอาไว้ (ซึ่งตัวผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า รสชาติแท้ๆ มันเป็นอย่างไร) โดยการทำตามสูตรของแต่ละร้าน ก็อาจเบี่ยงเบนไปจากสูตรกลางได้ แต่ไม่ควรจะไปไกลจนกู่ไม่กลับ

ด้วยความร่วมมือกับบริษัทโมบิลิส ออโตมาต้า และสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ ทางหน่วยวิจัยของผมจึงได้พัฒนาเครื่องตรวจกลิ่นต้มยำกุ้งขึ้นมา ซึ่งมีลักษณะเป็นจมูกอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถจดจำ และจำแนกรายละเอียดของกลิ่นได้ โดยเครื่องนี้จะช่วยในการควบคุณภาพของต้มยำกุ้งที่จะส่งออกขายไปทั่วโลก และในร้านอาหารไทยทั่วโลก ให้มีต้มยำกุ้งรสชาติที่มีมาตรฐาน และรักษาเอกลักษณ์ของไทย

เจ้าเครื่องดมกลิ่น Electronic Nose นี้จะตรวจวัดโมเลกุลกลิ่นที่ออกมาจากต้มยำกุ้ง ทำให้รู้ว่ามีกลิ่นอะไร เท่าไหร่ และช่วยบอกว่าสูตรนี้ใช้ได้หรือไม่ เพราะกลิ่นของอาหาร เป็นตัวบอกความอร่อยครับ .... ส่วนในแง่รสชาติ เปรี้ยว หวาน เค็ม นั้น ทางทีมวิจัยอีกทีมหนึ่งที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จะเป็นคนทำครับ

Credit - Picture from Center of Nanotechnology, Faculty of Science, Mahidol University

31 สิงหาคม 2557

ไอบีเอ็ม บุกเบิกโลกแห่งอาหารดิจิตอล



ไอบีเอ็ม (IBM) วิจัยและพัฒนาอาหารแนวใหม่ หรือ การปรุงอาหารแบบจิตสัมผัส (Cognitive Cooking) โดยให้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เรียนรู้สูตรอาหารในโลกทั้งหมด คอมพิวเตอร์จะประมวลผลว่าวัตถุดิบอะไร จากที่ไหน เอามาทำอะไรได้บ้าง มันจะประมวลผลโมเลกุลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหาร ว่าทำไมคนถึงเอาวัตถุดิบอันนี้ มาอยู่กับอันนั้น ... แล้วมันก็จะแนะนำเมนูอาหารใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งคนน่าจะกินแล้วถูกปาก ทั้งนี้ไอบีเอ็มได้ทดลองสูตรอาหารใหม่ โดยการส่งรถขายอาหารที่เรียกว่า Food Truck ออกไปให้บริการตามสถานที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐ เพื่อเก็บข้อมูลว่าเมื่อคนกินแล้วจะรู้สึกอย่างไร ชอบหรือไม่

ในอนาคต ... ไอบีเอ็มต้องการจะเข้าไปเป็นผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่ระบบไอทีในการจัดส่งวัตถุดิบ การบริหารร้านอาหาร บริหารเครือข่ายโลจิสติกส์ ไปจนถึงการสร้างอาหารประดิษฐ์ชนิดใหม่สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งในอนาคต เนื่องจากไอบีเอ็มเป็นบริษัทที่ครอบครองสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก และในสมัยที่เกิดเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ PC ไอบีเอ็มเองก็เป็นผู้ให้สิทธิ์การผลิตคอมพิวเตอร์แก่บริษัทต่างๆ ... ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า เมื่ออุตสาหกรรมอาหารเข้าสู่ยุคของการผลิตแบบ 3 มิติ เกิดเครื่องพิมพ์อาหารแบบต่างๆ เกิดขึ้น ไอบีเอ็มก็จะครอบครองสิทธิ์ต่างๆ ทั้งเครื่องพิมพ์ สูตรหมึกในการพิมพ์อาหาร (Food Ink) เครื่องกำเนิดรสชาติ (Favor Machine) ต่างๆ 

นับว่า เค้าคิดไกลจริงๆ นะครับ

Credit :
- Picture from http://payload.cargocollective.com/1/0/31063/386201/food_800.jpg
- Picture from http://blog.ice.edu/wp-content/uploads/2014/03/FoodTruck-PR-Photo-550x367.jpg

27 สิงหาคม 2557

Top 10 Emerging Technologies สำหรับปี ค.ศ. 2014



World Economic Forum ได้เลือก 10 เทคโนโลยีกำลังจะฮิต ติดกระแส หรือ Top 10 Emerging Technologies สำหรับปี ค.ศ. 2014 ผ่านมา 8 เดือนแล้วนะครับ ลองไปดูกันครับว่ามีอะไรกันบ้าง

- Quantified Self การประมวลผลเชิงปัจเจก ซึ่งข้อมูลต่างๆ ของบุคคลจะเก็บเข้ามาจากแหล่งต่างๆ เช่น อุปกรณ์มือถือ เซ็นเซอร์ สามารถใช้ทำนายวิถีชีวิต การเจ็บไข้ได้ป่วย และสิ่งที่เขาจะทำในอนาคตได้
- Body-adapted Wearable Electronics อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ จะมีการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ครับ
- Nanostructured Carbon Composites วัสดุนาโนคาร์บอนที่เบาแต่แข็งแรงกว่าเหล็ก จะแทรกซึมเข้าไปทุกหย่อมหญ้า รวมทั้งรถยนต์
- Mining Metals from Desalination Brine การทำเหมืองแบบใหม่ที่สกัดโลหะออกจากน้ำเค็ม
- Grid-scale Electricity Storage การเก็บพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรีขนาดใหญ่ เป็นเครือข่ายโยงใยขนาดใหญ่ จะเกิดขึ้น
- Nanowire Lithium-ion Batteries แบตเตอรีจากวัสดุนาโน จะเข้าสู่ตลาดในปีนี้
- Screenless Displays อุปกรณ์แสดงผลที่ไม่ต้องอาศัยจอภาพจะต้องมา เพราะเรามีที่บนหน้าจอที่เล็กลงไปเรื่อยๆ
- Human Microbiome Therapeutics ร่างกายมนุษย์ไม่ได้มีแต่ตัวเรา แต่มีเจ้าจุลินทรีย์มากมายที่อาศัยอยู่ การรักษาสมดุลให้พวกนี้อยู่ร่วมกับเราได้ จะเป็นกระแสใหม่ในปีนี้
- RNA-based Therapeutics การรักษาแบบใหม่ที่เข้าไปแก้ไขในระดับพันธุกรรมกันเลย
- Brain-computer Interfaces การควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยคลื่นสมอง มีมานานแล้ว แต่ตลาดของมันจะเติบโตอย่างมากในปีนี้

Credit - World Economic Forum

25 สิงหาคม 2557

Ocean Energy - พลังงานจากมหาสมุทร หนึ่งในอนาคตพลังงานโลก



อนาคตของพลังงานอยู่ในทะเล ดังนั้นในยุคต่อไป ประเทศต่างๆ ที่มีทางออกสู่ทะเล จะพยายามแสวงหาพื้นที่ในทะเลมากขึ้น อาจจะมีการปักปันเขตแดนในทะเล ซึ่งจะทำให้ท้องทะเลสากล ที่เคยเป็นพื้นที่สาธารณะ อีกหน่อย อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นแล้วครับ .... จริงๆ ไม่ต้องอื่นไกล ทุกวันนี้ ในทะเลจีนใต้ ทั้ง จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ต่างก็แย่งกับเคลมว่าพื้นที่ตรงนั้น ตรงนี้ เป็นของตัวเอง เพื่อแย่งก๊าซธรรมชาติ กับ น้ำมัน

ถึงเวลาของประเทศไทยแล้ว ที่เราต้องมีเทคโนโลยี และ ศักยภาพในท้องทะเล รวมทั้งกองทัพเรือที่สามารถปกป้องผลประโยชน์ในทะเลให้ได้ !!

แต่นั่น ... ก็ยังเป็นทรัพยากรของโลกเก่าครับ เพราะโลกใหม่ ไม่ได้แย่งก๊าซและน้ำมัน แต่แย่งพื้นที่ในทะเล เพื่อนำเอาพลังงานมหาสมุทรมาใช้ ทั้งพลังงานจากคลื่น พลังงานลม กระแสน้ำไหล ซึ่งประเทศไหนมีพื้นที่ติดตะเลเยอะๆ ประเทศนั้นสบายเลยครับ ... ต่อไป การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จะทำในทะเลมากขึ้นๆ จนจำนวนสัตว์เพาะเลี้ยง จะมากกว่าจำนวนที่จับขึ้นมาตามธรรมชาติ

ทะเล คือ อาหาร และ พลังงาน ....

และต่อไปนี้คือศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า ด้วยวิธีต่างๆ (กิกะวัตต์) จากทะเลและมหาสมุทร 

กระแสน้ำไหล = 5,000
ความเค็มที่ต่าง = 20 
อุณหภูมิของน้ำ = 1,000
น้ำขึ้นน้ำลง = 90
คลื่นทะเล = 1,000-9,000

Credit :
- Data from wikipedia.org
- Picture from http://www.dailygalaxy.com/photos/uncategorized/2007/06/26/ocean_power.jpg
- Picture from http://wallpapermine.com/wp-content/uploads/2014/02/ocean_power_by_nanan66-d27o8ls.jpg

16 กุมภาพันธ์ 2557

Musculoskeletal Robots - หุ่นยนต์กล้ามเนื้อเหมือนมนุษย์



วันนี้ผมขอพาไปรู้จักกับ "เคนชิโร" (Kenshiro) ครับ เคนชิโรเป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้น ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว ครับ ความแปลกแตกต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไปของเคนชิโรคือ เคนชิโร เป็นหุ่นยนต์ที่มีระบบจักรกล ที่เลียนแบบมาจากระบบกล้ามเนื้อและกระดูกของมนุษย์อย่างเหมือนที่สุด ต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไปที่แม้ตัวจะเหมือนมนุษย์ แต่ระบบขับกลับเคลื่อนไปเหมือนรถยนต์มากกว่าครับ

เคนชิโรถูกสร้างเลียนแบบสรีระของเด็กชายญี่ปุ่นอายุ 12 ขวบ มันมีความสูง 158 เซ็นติเมตร และหนัก 50 กิโลกรัม มันมีกล้ามเนื้อใกล้เคียงกับมนุษย์ คือมี 160 มัดซึ่งแบ่งเป็นในขา 50 มัด ในลำตัว 76 มัน ที่ไหล่ 12 มัด และคอจำนวน 22 มัด มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยครับ ที่จะทำระบบกล้ามเนื้อของมนุษย์ใส่เข้าไปในหุ่นยนต์ โดยที่จำกัดให้น้ำหนักตัวของมันใกล้เคียงกับของมนุษย์

อีกไม่นานเกินรอ ... เราจะมีหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างและอากัปกริยาเหมือนมนุษย์ออกมาใช้ชีวิตร่วมกับพวกเราแล้วหล่ะครับ

More information on advanced robotics at http://www.jsk.t.u-tokyo.ac.jp/index.html

Credit - Picture and Data from University of Tokyo
http://www.jsk.t.u-tokyo.ac.jp/research/kenshiro.html

12 กุมภาพันธ์ 2557

DARPA หวังใช้ drone แทนนักบินลำเลียง



ในปี ค.ศ. 2030 กองทัพสหรัฐฯ วางแผนจะใช้หุ่นยนต์แทนที่ทหารที่เป็นมนุษย์ 25% ทำให้ขณะนี้ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของสหรัฐอเมริกามีการตื่นตัวค่อนข้างมาก และอาชีพใหม่คือ นักหุ่นยนต์ศาสตร์ กำลังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก

ล่าสุด หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยด้านกลาโหมของสหรัฐ (DARPA) ได้ออกมาเปิดเผยแผนการนำหุ่นยนต์บินได้ (drone) มาใช้ในการทำงานแทนนักบินเฮลิคอปเตอร์ โดยโครงการนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า AERIAL RECONFIGURABLE EMBEDDED SYSTEM (ARES) สำหรับใช้งานในพื่นที่เสี่ยงภัย โดยเจ้า drone ตัวนี้ สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากเกือบ 1.5 ตัน มันสามารถบินขึ้น-ลง ได้ในแนวดิ่ง และสามารถบินต่อในแนวราบแบบเดียวกับเครื่องบิน โดยไม่ต้องใช้มนุษย์บังคับ โดยมันจะอาศัยระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อทำงานเอง

ภารกิจหลักของเจ้า drone ตัวนี้คือ

- การบรรทุกสัมภาระ เพื่อนำไปส่งทหารในสนามรบ
- การลำเลียงผู้บาดเจ็บออกจากสนามรบ
- การสอดแนม ตรวจการณ์ และ ลาดตระเวณ

และแน่นอนที่สุดครับ เทคโนโลยีเหล่านี้จะค่อยๆ ซึมซาบจากการทหาร ไปสู่การใช้งานของพลเรือนในที่สุด ในอนาคต drone แบบนี้ อาจจะถูกนำมาใช้ในการขนส่งสินค้าแทนรถบรรทุกก็ได้ครับ

Credit - Picture from http://www.darpa.mil/Our_Work/TTO/Programs/Aerial_Reconfigurable_Embedded_System_(ARES).aspx

05 กุมภาพันธ์ 2557

Creative Economy กับเกษตรไทย



เมื่อประมาณ 2-3 ปีมาแล้ว เราจะค่อนข้างได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ Creative Economy หรือ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บ่อยมาก นัยว่าในมุมมองของรัฐบาลไทยในสมัยนั้น คิดว่าคนไทยเราน่าจะมีความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างดี เศรษฐกิจแบบนี้จึงน่าจะเหมาะกับบ้านเรามากกว่า Knowledge-Based Economy หรือเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งเคยถูกใช้เป็นเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย ในยุคก่อนหน้าสัก 10 ปีที่แล้ว แต่ในที่สุด พวกเราเองคงจะรู้ตัวว่า สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ไม่ได้ เพราะเรายังไม่มีศักยภาพในการผลิตความรู้ขึ้นใช้เอง เนื่องจากสังคมของเรายังอ่อนแอ ในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งโดยทั่วไป เขามักจะวัดกันที่ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และสิทธิบัตร ซึ่งเรายังแพ้ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์

Creative Economy วางจุดโฟกัสที่ตัวผู้ผลิตสินค้าว่าต้องมีความคิดสร้างสรรค์สูง ผลิตสิ่งที่เป็นของใหม่ๆ มีความโดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง Creative Economy ตามความหมายของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหมายถึง "แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา (Education) การสร้างสรรค์งาน (Creativity) และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual Property) ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม (Culture) การสั่งสมความรู้ของสังคม (Wisdom) และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่ (Technology and Innovation)"

ดังนั้น ความหมายของ Creative Economy ในมุมมองของไทย คือการเน้นความเป็นไทย อันได้แก่ ความสามารถด้านศิลปะต่างๆ งานหัตถกรรม จิตรกรรม วิจิตรศิลป์ และอื่นๆ ที่เราสั่งสมมาจากสมัยโบราณ ไม่ใช่ Creative Economy ที่อยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เป็น Creative Economy ที่อยู่บนฐานของศิลปวัฒนธรร ที่เป็นจุดเด่นของประเทศเรา ซึ่งอันที่จริงก็เป็นสิ่งที่น่าจะถูกต้องครับ เพียงแต่ สินค้าที่เราคิดว่า creative ต่างๆ นี้ มันสามารถที่จะส่งออกไปยังตลาดโลกได้จริงหรือไม่ ? ตลาดต่างๆ นอกประเทศไทยจะพึงพอใจสินค้าทางด้านศิลปวัฒนธรรมของเรามากเพียงใด เราจะแข่งกับสินค้าอารมณ์จากเกาหลีได้หรือไม่

ในมุมมองของผม ผมฝันถึง Creative Economy ที่อาศัยสินค้าเกษตรเป็นฐานครับ เพราะเรามีสินค้าเกษตรหลายๆ ตัวที่มีจุดเด่น เอกลักษณ์ และน่าจะผสมผสานความเป็นไทยได้ ไม่ว่าจะเป็น กาแฟอะราบิก้า ข้าวหอมมะลิ ทุเรียน มะม่วง และผลไม้หลากชนิด สมุนไพรไทย อาหารไทยอย่าง ต้มยำกุ้ง และ ผัดไทย ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

มาร่วมกันสร้าง Creative Economy ในภาคเกษตรกันครับ

(Credit - Picture fromhttp://www.elearneasy.com/http://www.liveinternet.ru/http://nenuno.co.uk/)

25 ตุลาคม 2556

Malaysia Smart Paddy - โครงการนาข้าวอัจฉริยะ มาเลเซีย



(Credit - Picture from Malaysian National Paddy Precision Farming Project)

"ประเทศไทย ปลูกอะไรก็ขึ้น จะทำ smart farm ไปทำไม" เป็นคำพูดที่ผมมักจะได้ยินนักวิชาการทางด้านเกษตรพูดดูหมิ่นแนวคิดของ smart farm ทำให้เมื่อ 5 ปีก่อน แทนที่ผมจะได้นำแนวคิดของเกษตรอัจฉริยะมาใช้กับนาข้าว ซึ่งเป็นพืชหลักของไทย แต่ผมกลับต้องไปทำ smart farm กับองุ่น พืชที่ปลูกและดูแลยากกว่ามากๆ เพราะนักวิชาการเหล่านั้น "ไม่อนุญาต" ให้เราทำกับสิ่งที่ "ปลูกอะไรก็ขึ้น"

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ศักยภาพในการ "ปลูกอะไรก็ขึ้น" กำลังจะสูญเสียไป ประเทศไทยกำลังผจญกับการแข่งขันรอบด้าน เวียดนามกำลังพัฒนาข้าวหอมเพื่อมาแข่งขันกับเรา รวมไปถึงกาแฟที่ทุกวันนี้ ทั้งกาแฟของลาวและเวียดนาม บุกถล่มร้านกาแฟในเมืองไทยกันเต็มบ้านเต็มเมือง เมื่อไม่นานมานี้ อินโดนีเซียออกกฎเหล็กเพื่อมาควบคุมทุเรียนไทย อินโดนีเซียตั้งเป้าจะเอาทุเรียนมาแข่งกับไทยให้ได้

จะเห็นว่า ถ้าเรายังอยู่กับที่ ... มีแต่ ตาย กับ ตาย ครับพี่น้อง !!!

วันนี้ผมจะพาไปดูโครงการนาข้าวอัจฉริยะในประเทศมาเลเซียครับ ไปดูกันครับว่า เพื่อนบ้านเค้าทำนาแบบใหม่กันอย่างไร โครงการนี้เป็นการนำเอาเทคโนโลยีหลายอย่าง มาช่วยในการทำนา ผมขออธิบายตามรูปภาพนะครับ ทีนี้ขอให้มองไปที่มุมขวาบนของภาพก่อนครับ

- Soil Sampling ก่อนการทำนาในรอบต่อไป จะมีการตรวจสอบตัวอย่างดินกันก่อนครับ ค่าที่ตรวจสอบจะมี pH, ค่าการนำไฟฟ้า (เพื่อรู้ปริมาณไอออนต่างๆ) ค่าปริมาณของอินทรีย์วัตถุในดิน โดยการใช้รถไถที่ดัดแปลงให้สามารถอ่านค่าตัวอย่างดินได้แบบ ณ ตำแหน่งและเวลาจริงกันเลยทีเดียวครับ ไม่ต้องนำตัวอย่างดินกลับไปทำที่แล็ป

- Soil Mapping จากข้างบน เมื่อเราสามารถตรวจสอบตัวอย่างดินได้ ณ สถานที่และเวลาจริง แบบขับรถไถไปตรวจสอบไป (On-the-go Measurement) เราก็สามารถได้ค่าพารามิเตอร์ของดิน ณ ตำแหน่งต่างๆ ซึ่งก็จะกลายเป็น แผนที่ดินดิจิตอล ที่ทำให้เราทราบว่า ดินในไร่นาของเรามันเหมือนกัน หรือ ต่างกันอย่างไร

- แผนที่ดินดิจิตอลนี้เองครับ จะทำให้เราสามารถดูแลดินแบบแตกต่างกันได้ ตรงไหนไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ก็ใส่ปุ๋ยเยอะๆ หน่อย ตรงไหนดินมันดีกว่าที่อื่น ก็ใส่น้อยหน่อย โดยเราสามารถโปรแกรมใส่รถไถที่จะออกไปรถปุ๋ยครับ เจ้ารถไถนี้จะนำเอาแผนที่เหล่านี้มาใช้อย่างอัตโนมัติ

- Plant Growth Monitoring ในระหว่างที่พืชเติบโต เราจะมีการตรวจวัดด้วยเทคโนโลยีต่างๆ กัน เช่น ใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดการเติบโต หรือใช้ภาพถ่ายทางอากาศจาก UAV ทำให้เราทราบว่า ตกลงที่เราให้ปุ๋ยแก่ดินไปแตกต่างกันตามตำแหน่งต่างๆ กันนั้น มันเป็นไปอย่างที่เราคิดมั้ย

- Variation Rate Application คือการที่เมื่อเรารู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำไป หากมันยังไม่เป็นอย่างที่เราคิด เราก็ยังสามารถดูแลให้ปุ๋ย น้ำ ตามความแตกต่างที่เราวัดได้ ซึ่งก็อาจจะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ติดตามในไร่นา เช่น เซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นในดิน เซ็นเซอร์ตรวจวัดความสูงของต้นข้าว เซ็นเซอร์ตรวจวัดคลอโรฟิล เป็นต้น เรายังสามารถดูแลการกำจัดศัตรูพืช ตามสภาพที่เราตรวจวัดได้อีกด้วย

- Yield Mapping ท้ายสุด เมื่อมาถึงการเก็บเกี่ยว เราจะไม่เก็บเกี่ยวแบบธรรมดาอีกต่อไป แต่เราจะตรวจวัดว่า แปลงไหน ตรงไหน พิกัดที่เท่าไหร่ ให้ผลผลิตมากน้อยอย่างไร แล้วนำค่าผลผลิตที่ตรวจวัดได้นั้นมาทำแผนที่ผลผลิตแบบดิจิตอล เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงโมเดล และ สมมติฐานต่างๆ ที่จะทำให้การเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไปนั้นดีขึ้นครับ

ตอนนี้ ผมเองก็เสนอโครงการนาข้าวอัจฉริยะไปที่สภาวิจัยแห่งชาติอยู่ครับ ถ้าได้รับการสนับสนุน จะนำมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมนะครับ หวังว่า เรายังไม่ได้ตามหลังมาเลเซียไกลเกินไป เผื่อจะได้ไล่ทันบ้างครับ


12 ตุลาคม 2556

Smart Tractor - รถแทรกเตอร์อัจฉริยะ (ตอนที่ 1)


(Credit - รูปภาพจากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย http://www.sac.or.th/)

Tractor - รถแทรกเตอร์ หรือ ที่คนไทยส่วนใหญ่ชอบเรียกว่า "รถไถ" เป็นจักรกลการเกษตรประเภทหนึ่งที่เกษตรกรนิยมใช้กันมากที่สุด รถแทรกเตอร์เป็นจักรกลเอนกประสงค์ที่สามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายมากครับ แต่แรกเริ่มเดิมทีที่มันถูกสร้างขึ้นมา ก็เพื่อใช้ไถพรวนดิน รถแทรกเตอร์คันแรกของโลกทำงานด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ถูกนำออกมาขายครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1868 หรือ 145 ปีที่แล้วเลยทีเดียว เรียกว่าเกษตรกรของสหรัฐฯ มีรถไถใช้ก่อนที่คนไทยจะมีรถไฟใช้อีกครับ (รถไฟไทย ทำการก่อสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2434 หรือ ค.ศ. 1891) จากข้อมูลของเว็บไซต์ http://www.nationmaster.com/ ระบุไว้ว่าประเทศที่มีรถแทรกเตอร์ใช้มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา (4.8 ล้านคัน) อันดับสองคือญี่ปุ่น (2.028 ล้านคัน) ส่วนไทยเราอยู่อันดับ 22 (220,000 คัน) ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเมื่อปี ค.ศ. 2000 ซึ่งเก่ามากๆ ครับ เชื่อว่าป่านนี้ ตัวเลขจะเยอะกว่านี้มากๆ ครับ

วันนี้ยังไม่ได้พูดเรื่องความอัจฉริยะของรถแทรกเตอร์ยุคต่อไปนะครับ แต่ขอนำสถิติบางอย่าง มาเล่าให้ฟังก่อนนะครับ เมื่อสัก 2-3 วันก่อน ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่ได้ทำการศึกษาสถานการณ์มความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล โดยกลุ่มที่เลือกมาศึกษาคือ แทรกเตอร์การเกษตร และเลือกสำรวจสภาวะการขายรถแทรกเตอร์การเกษตรเป็นเป้าหมายการศึกษา มีตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับรถแทรกเตอร์ดังนี้ครับ

- ตลาดของรถแทรกเตอร์การเกษตรของไทย มีขนาดปีละประมาณ 70,000 คัน โดยเป็นการประกอบรถในประเทศ 60,000 คัน นำเข้า 16,917 คัน ส่งออก 7,891 คัน

- มีผู้ผลิตหลักในประเทศเพียง 2 ราย คือ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ยี่ห้อ คูโบต้า) และบริษัทยันมาร์ เครื่องจักรกลการเกษตร (ประเทศไทย) จำกัด (ยี่ห้อยันมาร์) โดยมีสยามคูโบต้าเป็นผู้นำตลาดที่มีการจัดการ Supply chain ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนไปจนถึงการประกอบรถแทรกเตอร์ ขณะที่ยันมาร์เป็นผู้ผลิตที่นำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จมาประกอบในประเทศ เท่านั้น

- สำหรับรถแทรกเตอร์การเกษตรที่นำเข้า มีผู้นำเข้าหลัก 3 กลุ่ม คือ (1) บริษัทเอเซีย แปซิฟิก เครื่องจักรกลการเกษตร จำกัด นำเข้าและจำหน่ายแทรกเตอร์ยี่ห้อ New Holland (2) บริษัท จอห์นเดียร์ ประเทศไทย จำกัด นำเข้าและจำหน่ายแทรกเตอร์ยี่ห้อ John Deere และ (3) บริษัท แองโกลไทย จำกัด นำเข้าและจำหน่ายแทรกเตอร์ยี่ห้อ Kioti และ Massey Furguson

- ตลาดผู้ซื้อรถแทรกเตอร์ เป็นของภาคอีสานมากที่สุด (60%) รองลงมาคือภาคเหนือ (25%) และภาคกลาง (10%)

ท่ามกลางสภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรที่กำลังถาถมเข้ามา เกษตรกรมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อยๆ หนุ่มสาวรุ่นใหม่ก็สนใจทำเกษตรน้อยลง ทำให้คาดว่าการนำจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้จะมีแนวโน้มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แน่นอนครับ