27 กุมภาพันธ์ 2553

The Mathematics of Beautiful Girls- คณิตศาสตร์ของคนสวย (ตอนที่ 4)


ผมมีคนใกล้ๆตัวหลายคนที่เป็นโสด ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนอธิบายว่า เหตุใดผู้หญิงสวยมากๆ ถึงไม่มีคู่ ซึ่งสรุปความได้ว่า ความสวยของผู้หญิงนั่นแหล่ะที่เป็นตัวผลักให้ผู้ชายออกไปอยู่ห่างๆ เธอ ต่อจากนั้นมา ผมก็ได้รับคำถามมาอีกว่า อ้าว ... แล้วถ้าผู้หญิงที่ไม่ได้สวยขนาดนางฟ้า ก็ไม่ได้จะมีสมการที่ทำให้ผลักผู้ชายออกไปจากชีวิตเธอ แต่เหตุไฉน ผู้หญิงที่หน้าตาปานกลาง น่ารัก หรือ บ้านๆ ยังหาแฟนไม่ได้ .... อืม .... อย่างนี้คณิตศาสตร์คงอธิบายไม่ได้แล้วครับ แต่ผมมีคำอธิบายจากชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการครับ (Evolutionary Biology)

วันนี้ผมนั่งสแกน journal เล่นๆ ก็ไปเจอบทความหนึ่งครับ ตีพิมพ์ในวารสาร Animal Behaviour ฉบับเดือนมีนาคม 2010 นี้ (รายละเอียดเต็มคือ Jonathan P. Drur, "Immunity and mate choice: a new outlook", Animal Behaviour 79 (2010), pp. 539-545) ซึ่งเป็นรายงานเชิงปริทรรศน์ที่น่าสนใจมากครับ เขาบอกว่า การที่คนเราเลือกคู่กันนั้น ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ เรื่องของระบบภูมิคุ้มกัน ร่างกายของเราถูกโปรแกรมมาให้หาคู่ครองที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ครอบคลุมโรคต่างๆ โดยเราจะเลือกหาคู่ที่มีภูมิต้านทานในสิ่งที่เราไม่มี ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ลูกหลานของเรา จะได้พันธุกรรมที่มีภูมิต้านทานโรคครอบคลุมโรคต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

คราวนี้มาถึงคำถามที่ว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า คู่ครองที่เหมาะสมของเราที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ทดแทนของเรา คือใคร นักวิทยาศาสตร์บอกว่า เราจะรู้ด้วยการมองและการได้กลิ่น แต่ปัจจัยเรื่องรูปร่างหน้าตาที่เก็บข้อมูลระบบภูมิคุ้มกันนั้น ยังเป็นปริศนาอยู่ครับว่าทำงานอย่างไร แต่เรื่องของกลิ่นนี่ เราพอมีความรู้บ้างแล้วว่า ข้อมูลเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของเรา มันถูกปล่อยออกมากับเหงื่อครับ ซึ่งจะทำให้อีกฝ่ายได้กลิ่น

รายงานวิจัยอีกฉบับในวารสารเดียวกัน จากนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเวสเทอร์นออสเตรเลีย ได้ระบุว่าผู้หญิงที่ครอบครองยีนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอย่างหลากหลาย จะมีโอกาสหาสามีได้ง่ายกว่าผู้หญิงที่มีชุดของยีนแคบๆ จากการศึกษานิสิตจำนวน 150 คน โดยให้นิสิตหญิงเหล่านั้นตอบคำถามต่างๆ แล้วนำไปวิเคราะห์ร่วมกับ DNA ของพวกเธอ ทำให้ทราบว่า คนที่มียีนของระบบภูมิคุ้มกันหลากหลายกว่า ไม่ค่อยมีประวัติการเจ็บไข้ได้ป่วยเท่าไหร่ ซึ่งเธอเหล่านั้น ก็มักจะมีประวัติว่ามีแฟนให้เลือกอยู่เรื่อยๆ หัวกระไดห้องแล็ปไม่เคยแห้ง แตกต่างจากนิสิตหญิงที่มีชุดของยีนแคบๆ มักจะครองความเป็นโสดอยู่เสมอ

สรุปก็คือ ชุดยีนของระบบภูมิคุ้มกันโรคนี่เอง คือ "แรงแห่งรัก" ที่ผลักดันให้เราถวิลหาคู่ครองที่จะมาช่วยเติมเต็มชุดยีนที่เรามีอยู่โดยไม่รู้ตัว ....

(รูปด้านบน - ผู้หญิงอ้วนทางขวามือของรูป คงจะมียีน MHC ที่หลากหลายกว่าผู้หญิงสวยทางซ้ายมือ ชายหนุ่มผู้นี้ถึงได้สิเน่หาเธอมากกว่า ด้วยหวังว่า ชุดยีนของหญิงคนนี้ จะมาช่วยเติมอีกส่วนที่ขาดหายไปจาก DNA ของเขา ....)

25 กุมภาพันธ์ 2553

ยุคแห่ง Supersoldier มาถึงแล้ว (ตอนที่ 2)



".... ฉันเองต้องถูกญาติเธอกีดกัน เพราะตัวฉันมันพิการอย่างนี้ ....

ไปรบกลับมาแขนขาไม่ดี .... เพราะเป็นหน้าที่ชาติชายอย่างฉัน .... "


เพลงลูกทุ่งหวานปนเศร้าที่ชื่อว่า "ทหารพิการขาดรัก" นี้ เป็นเพลงที่ทหารผ่านศึก จากสนามรบมักชอบฟัง เป็นเพลงที่บรรยายถึงความขมขื่นจากความพิการ ที่ต้องไปรบเพื่อชาติ แต่กลับได้รับการรังเกียจเป็นสิ่งตอบแทน ....

ในภาวะสงคราม ทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดเจ็บหนักกลับมา กลายเป็นภาระหนักของรัฐบาลและผู้อยู่เบื้องหลังที่ต้องดูแล ด้วยเหตุนี้ DARPA หน่วยงานให้ทุนวิจัยทางด้านกลาโหม จึงสนับสนุนงานวิจัยเพื่อฟื้นฟูทหารหาญเหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันได้มีความสำเร็จระดับหนึ่งกับต้นแบบแขนหรือขากล ที่ทหารผ่านศึกพิการ สามารถใช้มันเพื่อดูแลตัวเองได้ โดยแขนกลเหล่านั้น จะเชื่อมเข้ากับร่างกายเดิมของมนุษย์ โดยมีกลไกการนำส่งสัญญาณประสาทไปที่แขนและมือกล ให้ทำงานตามที่สมองสั่ง อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้แขนกลและมือกลเหล่านั้น ก็ยังขาดความรู้สึกของการเป็นแขนหรือมือจริงๆ เนื่องจากมันยังขาดสัมผัสที่ได้รับจากอวัยวะกลเหล่านั้น

DARPA จึงฝันจะสร้างแขนกลฉลาด ที่สามารถทำงานได้เหมือนแขนจริงๆ แขนกลนี้จะมีคอมพิวเตอร์เล็กๆ อยู่บนแขนกล ซึ่งจะเป็นมันสมองคอยสั่งให้มันทำงาน DARPA จะให้ทุนแก่คณะวิจัยที่สามารถทำให้แขนกลนี้สามารถที่จะสัมผัสความรู้สึกของผ้าได้ แขนกลสามารถที่จะรื้อสิ่งของต่างๆ ออกโดยทำงานประสานกัน ในกรณีที่แขนอีกข้างเป็นของจริง ก็ต้องประสานงานกันได้

เมื่อแขนกลของ DARPA เวอร์ชั่นใหม่เสร็จ มันจะทำให้ ทหารพิการไม่ขาดรัก อีกต่อไป เพราะเมื่อทหารได้รับบาดเจ็บจากการรบ ก็สามารถเปลี่ยนใช้แขนกล แล้วกลับไปรบใหม่ได้อีก .....

23 กุมภาพันธ์ 2553

The Rise of Machines - เมื่อยุคของหุ่นยนต์มาถึงแล้ว (ตอนที่ 4)


เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว บิล เกตส์ ได้พัฒนาระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่า MSDOS ซึ่งทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์กลายมาเป็นสินค้าที่ชาวบ้านร้านตลาดมีสิทธิ์ใช้ได้ เพราะก่อนหน้านี้ คอมพิวเตอร์เป็นของที่มีให้ใช้กันเฉพาะในบริษัทใหญ่ๆ กับหน่วยงานทางด้านความมั่นคงของรัฐบาลใช้กันเท่านั้น ทั้งนี้เพราะว่า การที่จะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้ จะต้องอาศัยวิศวกรที่มีความรู้เรื่องฮาร์ดแวร์จริงๆ โดยจะต้องเขียนโปรแกรมเพื่อที่จะติดต่อกับเครื่องเอง แต่หลังจากมีระบบปฎิบัติการ หรือ OS (Operating System) ขึ้นมาแล้ว การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ก็ง่ายขึ้น เพราะ OS จะเป็นตัวกลางในการติดต่อกับเครื่องทั้งหมด ทำให้การพัฒนาซอฟต์แวร์ถูกแยกออกมาจากฮาร์ดแวร์เกือบจะสิ้นเชิง คนที่เขียนโปรแกรมไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเครื่องทำงานอย่างไรก็ยังสามารถพัฒนาโปรแกรม ที่ทำงานบนคอมพิวเตอร์นั้นได้

ในปี ค.ศ. 2006 ได้มีการก่อตั้งหน่วยบ่มเพาะเทคโนโลยี และห้องปฎิบัติการวิจัยหุ่นยนต์ ที่มีชื่อว่า Willow Garage ซึ่งริเริ่มโดย Scott Hassan อดีตพนักงานของบริษัทกูเกิ้ล เขาเป็นหนึ่งในนักพัฒนาเทคโนโลยี search ของกูเกิ้ล แต่ได้ลาออกมาเป็นนักล่าฝันของตนเอง หลังจากได้เงินก้อนโตมาจากการขายหุ้นกูเกิ้ลของเขา Willow Garage มีความฝันที่จะทำให้เกิดหุ่นยนต์ส่วนบุคคล (Personal Robot หรือ PR) เฉกเช่นกับที่เคยเกิดกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer หรือ PC) มาแล้ว ด้วยการพัฒนาระบบปฎิบัติการหุ่นยนต์ หรือ Robot Operating System (ROS) ซึ่งจะเป็นระบบซอฟต์แวร์ที่เชื่อมต่อกับหุ่นยนต์ เพื่อทำงานพื้นฐานต่างๆ ทำให้นักพัฒนาโปรแกรมของหุ่นยนต์ไม่จำเป็นต้องรู้ระบบฮาร์ดแวร์ของหุ่นยนต์ ทั้งนี้จะเป็นการแยกฮาร์ดแวร์ของหุ่นยนต์ ออกจาก ซอฟต์แวร์ ดังนั้นโปรแกรมที่เราเขียนขึ้นมาสำหรับหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง จะสามารถย้ายไปเล่นกับหุ่นยนต์ยี่ห้ออื่นๆ ได้

นี่แหล่ะครับ คือจุดเริ่มต้นของยุคไอทียุคที่สอง หุ่นยนต์จะกลายเป็นของที่ซื้อมาโปรแกรมเองได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องเรียนระดับมหาวิทยาลัยก็สามารถเป็นนักหุ่นยนต์ศาสตร์ได้ครับ .....

21 กุมภาพันธ์ 2553

Gesture Recognition - เทคโนโลยีตรวจจับภาษากาย (ตอนที่ 2)



งานวิจัยทางด้าน Gesture Recognition นั้นมีกว้างขวางครับ ผมจะค่อยๆ นำประเด็นต่างๆ ที่นักวิจัยกำลังสนใจศึกษากัน มาเล่าให้ฟังเป็นตอนๆ ครับ วันนี้ขอพูดในเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านภาษามือ


การตรวจจับภาษามือ เพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจความหมายของภาษามือ ซึ่งประโยชน์ของมันก็คือ การช่วยในการติดต่อสื่อสารกับผู้พิการทางด้านการได้ยิน ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะช่วยแปลความหมายจากภาษามือจากผู้พิการเหล่านั้น มาให้คนอย่างเราเข้าใจได้ง่าย เมื่อเราอยากจะคุยกับเขา เราอาจจะพูดหรือพิมพ์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์แปลเป็นภาษามือ แล้วแสดงผลออกจอคอมพิวเตอร์ หรือ อาจผ่านทางหุ่นยนต์มือ ที่สามารถแสดงลักษณะท่าทางของภาษามือได้


การตรวจจับอาการของมือ หรือ Hand Tracking นั้น ยังมีประโยชน์อีกมากมายครับ เราอาจจะใช้อาการของมือ เพื่อทำการติดต่อกับคอมพิวเตอร์ เรียกว่าเป็น User Interface แบบหนึ่ง ท่านผู้อ่านอาจจะจำภาพยนตร์เรื่อง Minority Report ได้ ตอนที่ทอม ครุยส์ ทำการค้นหาไฟล์ต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ ด้วยการใส่ถุงมือ แล้วลากมือไปมา หยิบไอ้นั่นไอ้นี่ โดยใช้มือขยุมๆ แล้วก็สะบัดเอาไฟล์ออกมาเรียง รูดไปรูดมา ดึงไฟล์ ซูมภาพ โดยการขยับนิ้วต่างๆ

เท่าที่ผมศึกษาข้อมูลมา การตรวจจับภาษามือจะทำกันมากใน 2 วิธี คือ การตรวจจับด้วยภาพวิดีโอ (Machine Vision) กับ การใช้ถุงมืออันตรกริยา (Interactive Data Glove) โดยผมก็กำลังทำวิจัยในเรื่องของ Interactive Data Glove อยู่ด้วยครับ โดยเราพัฒนาถุงมืออันตรกริยาขึ้นมาเองในประเทศไทย เนื่องจากถุงมืออันตรกริยามีราคาแพงมาก มีตั้งแต่ราคาหลักหมื่น ไปจนถึงหลักล้าน โดยกลุ่มวิจัยของศูนย์นาโนเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของนิ้วและมือ จากถุงมือ ซึ่งจะส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายมาที่คอมพิวเตอร์ ซึ่งเราได้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อแปลความหมายของมือ

แล้วมาคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ ....

19 กุมภาพันธ์ 2553

Smart Dust - ฝุ่นฉลาด (ตอนที่ 3)



ศาสตร์ของ Smart Dust หรือในระยะหลังเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Wireless Sensor Networks (WSN) นั้นแรกเริ่มเดิมทีคิดเพื่อให้ทหารใช้ แต่มาระยะหลังๆ ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ กันมากกว่าทางด้านทหารเสียอีกครับ เช่น การตรวจวัดในโรงงาน การตรวจวัดสภาพล้อมรอบในไร่นา การตรวจวัดสิ่งแวดล้อม การตรวจเฝ้าและศึกษาระบบนิเวศน์ การควบคุมการจราจร ระบบบ้านอัจฉริยะ การตรวจวัดสุขภาพ ....

วันนี้ผมขอแนะนำโครงการวิจัยที่นำ WSN ไปใช้ในการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม โครงการนี้มีชื่อว่า The PermaSense Project ซึ่งดำเนินการโดย ภาควิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยซูริค (University of Zurich) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 แล้วครับ โดยนำเอาเซ็นเซอร์ตรวจวัดสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความต้านทานไฟฟ้า แรงกด แรงดันน้ำ และ รอยแตก ไปติดตั้งเป็นเครือข่ายบริเวณ หินผาต่างๆ ของเทือกเขาแอลป์ โดยจะศึกษาเสถียรภาพของพื้นผิวหน้าผาเหล่านั้น ในฤดูกาลต่างๆ การเกิดน้ำแข็งเกาะ การละลายของน้ำแข็ง การเกิดรอยแตกในเนื้อหินจนถล่มลงมา ซึ่งทำให้ระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์นี้ เป็นระบบเตือนภัยก็ได้ เป็นระบบเพื่อเก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์วิจัยต่อก็ได้ นักวิจัยในโครงการนี้ยังได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินจากการเสี่ยงตาย นำเซ็นเซอร์ขึ้นไปติดตั้งบนหน้าผาสูง บางครั้งก็ต้องโรยตัวจากเฮลิคอปเตอร์ เพื่อไปยังจุดที่ไม่สามารถปีนเข้าไปได้

วันหลังมาคุยเรื่องนี้กันต่อครับ .....

17 กุมภาพันธ์ 2553

Inspiration Economy - เศรษฐกิจแบบแรงบันดาลใจ (ตอนที่ 3)

เมื่อคนเรามีปัจจัยสี่ครบแล้ว เราจะเริ่มหาความสุขอื่นๆ เพื่อปรนเปรอร่างกายของเรา เมื่อความสุขทางกายมีครบถ้วนตามกำลังแล้ว เราก็เริ่มจะมองหาความสุขทางใจมาปรนเปรอภาวะทางอารมณ์ ความรู้สึก และทางปัญญา ในยุคที่เศรษฐกิจแบบแรงบันดาลใจ (Inpiration Economy) กำลังมาแรง สินค้าอารมณ์จะยิ่งขายดีขึ้น ดีขึ้น ไปเรื่อยๆ ครับ


ในจำนวนสินค้าอารมณ์ทั้งหลายนั้น ของเล่น เป็นสินค้าตัวหนึ่งที่ขายดีมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ใหญ่เริ่มกลับมาเล่นของเล่นแข่งกับเด็กมากขึ้น และเป็นของเล่นที่แพงด้วยครับ ของเล่นของลูกเราราคาแค่ไม่กี่สิบบาทถึงร้อยบาท แต่ของเล่นผู้ใหญ่ อย่างเช่น ตุ๊กตาบลายธ์ราคาเป็นหมื่น หุ่นยนต์เลโก้มายด์สตอร์มราคา 3 หมื่นกว่าบาท พวกของเล่นบังคับวิทยุแบบที่ผู้ใหญ่เล่นกันก็ราคาสูงทั้งนั้น เฮลิคอปเตอร์บังคับวิทยุ เครื่องบินบังคับวิทยุ ที่หมู่บ้านของผมก็มีชมรมของคนเล่นเรือเร็วบังคับวิทยุ ซึ่งก็อยู่ในราคา 2-3 หมื่นขึ้นไป เพื่อนบ้านของผมก็เล่นของเล่นจิ๋วต่างๆ ส่วนที่บ้านผมเองนั้น ของเล่นในบ้านของเรานั้น มีมูลค่ามากกว่าแก้วแหวนเงินทองที่เราเก็บกันอีกครับ จนผมต้องติดตั้งสัญญาณกันขโมยที่บ้าน เพราะกลัวว่าของเล่นจะหายครับ

การสะสมของเล่น มันจะช่วย inspire ตัวเราเองให้มีอารมณ์เป็นเด็กอยู่เสมอ ทำให้เรามองโลกรอบๆตัวเป็นความสนุกสนานไปหมด มองงานเป็นเกมส์ มองผู้อื่นเป็นมิตรร่วมเล่นเกมส์ของเราอยู่ การสะสมของเล่น วางของเล่นรอบๆโต๊ะทำงาน จะทำให้เกิดความสดชื่นในการทำงาน ทำให้งานดูไม่น่าเบื่อ ซึ่งมันก็จะช่วย inspire เพื่อนร่วมงานในที่ทำงานให้เกิดความสุข สนุกสนานไปด้วยครับ สังคมรอบๆ ของเราจะเป็น Community of Inspiration ที่มีแต่ความน่าอยู่น่ารื่นรมย์

การมีของเล่นสะสม กระจุ๊กกระจิ๊กที่บ้าน จะช่วย inspire คนในครอบครัวของเรา ลูกๆของเราซึ่งอยู่ในวัยเด็ก จะซึมซับความสดใสที่ได้จากการเก็บสะสมของเล่น การนำมันออกมาเล่นในบางครั้ง จะกระตุ้นเซลล์สมองของเขาได้ นอกจากนั้นของเล่นเหล่านี้ยัง inspire ลูกๆของเพื่อนบ้านรอบๆ บ้านเรา เกิดการ inspire ให้เกิดสังคมเพื่อนบ้านที่มีความสุข

ยังมีเรื่องให้คุยอีกเยอะครับใน Inspiration Economy ในตอนต่อๆ ไปครับ ......

16 กุมภาพันธ์ 2553

Are We Simulated in Computer ? - ฤาโลกนี้เป็นเพียงฝัน (ตอนที่ 6)


ท่านผู้อ่านเคยฝันดีดีไหมครับ ดีเสียจนเรารู้สึกเสียดายที่ต้องตื่นขึ้นมาเสียก่อน บางครั้งเราฝันดีเสียจนต้องกลับไปนอนต่อเพื่อจะฝันเรื่องเดิมต่อ แต่มันไม่เป็นเช่นนั้นสิครับ เรากลับไม่สามารถที่จะฝันเรื่องนั้นต่อได้อีกแล้ว .....

มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่คิดว่า โลกที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ จริงๆ แล้ว อาจจะเป็นโลกที่จำลองอยู่ในคอมพิวเตอร์ก็ได้ แต่เพราะความเสมือนจริงของมันมากเสียจน เราไม่อาจจะแยกแยะระหว่างโลกจำลอง กับโลกจริงๆได้ นักวิทยาศาสตร์ตั้งคำถามอย่างนี้ครับว่า ....

(1) เราจะมีวิธีพิสูจน์ไหม ว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นโลกจริง หรือโลกจำลอง ?

(2) โลกจำลองกับโลกจริง มีอะไรที่แตกต่างกัน ?

(3) เราจะปฏิบัติตนอย่างไร หากเรารู้ว่าเรากำลังอาศัยอยู่ในโลกจำลองอยู่ ?

แน่นอนครับว่า โลกจริงมีอยู่แน่ๆ ไม่เช่นนั้นจะมีโลกจำลองได้อย่างไร เพราะจะต้องมีโลกจริงๆ อย่างน้อย 1 โลก เอาไว้เป็นที่ตั้งของคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ที่เอาไว้ใช้รันโลกจำลอง แต่ไม่ได้หมายความว่า โลกจำลองนี้ จะไม่มีคอมพิวเตอร์จำลอง ที่รันโลกจำลองอีกชั้นหนึ่ง หรืออาจจะมีโลกจำลองซ้อนๆ กันไปเรื่อยๆ ... งงไหมครับ ???

แต่เราจะรู้ว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นโลกจริงหรือโลกจำลองได้อย่างไร ... มีนักฟิสิกส์ชื่อว่า Bin-Guang Ma ได้เสนอว่า การที่เราจะรู้ว่าเราอาศัยอยู่ในโลกจริงหรือไม่นั้น เราก็ต้องมีจุดอ้างอิง เช่น ถ้ามีโลกจำลองให้เปรียบเทียบ ก็แสดงว่าเราอาศัยอยู่ในโลกจริง หรือ ถ้ามีโลกจริงให้เปรียบเทียบ นั่นแสดงว่าเรากำลังอาศัยอยู่ในโลกจำลอง อธิบายง่ายๆ เหมือนถ้าเราอยากจะรู้ว่าเรากำลังหยุดนิ่งหรือเคลื่อนที่อยู่ เราก็ต้องมีวัตถุอื่นเป็นจุดอ้างอิง ถ้าเราเห็นว่าวัตถุอื่นๆ อยู่นิ่งกันไปหมด นั่นแสดงว่าเรากำลังหยุดนิ่ง แต่ถ้าเห็นวัตถุอื่นเคลื่อนใกล้เข้ามาหรือไกลออกไป ก็แสดงว่าเรากำลังเคลื่อนที่อยู่

การที่เราต้องมีจุดอ้างอิงเพื่อรู้ว่าเรามีตัวตนจริงๆ หรือไม่ แสดงให้เห็นว่า ความมีตัวตน หรือ การมีอยู่จริง เป็นเรื่องของสัมพัทธภาพ (Relativity) ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้สังเกตด้วยครับ หากเราเป็นผู้สังเกตเสียเอง เราก็จะบอกว่าเราเองนั่นแหละอาศัยในโลกของจริง ส่วนโลกที่มาอ้างอิงนั้นเป็นโลกจำลอง โดยผู้สังเกตจากอีกโลกหนึ่ง จะพูดว่าตัวเขาต่างหากที่อาศัยอยู่ในโลกของจริง แต่ตัวเราอาศัยในโลกจำลอง

ในคำสอนของพุทธศาสนานั้นมีความเชื่อเรื่องภพภูมิอยู่ ซึ่งบอกว่าเมื่อเราตายจากโลกนี้ไปแล้ว เราจะไปจุติในภพภูมิใหม่ซึ่งรันขนานกับภพภูมิที่เราเคยอยู่เดิม หรือว่าพระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบความลับที่เกี่ยวกับโลกจำลองเมื่อ 2,600 ปีที่แล้ว ????

14 กุมภาพันธ์ 2553

Avatar - กายอวตาร (ตอนที่ 3)


การปลูกถ่ายอวัยวะ กำลังจะเป็นเทรนด์ใหม่ ที่จะช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์ให้ยืนนานขึ้น เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ก็จัดการเปลี่ยนมันเสียด้วยของใหม่ แค่นั้นยังไม่พอ เราเริ่มค้นหาที่จะปิดสวิตช์ยีนที่ทำให้คนเราแก่ ด้วยหวังว่า ร่างกายของเราจะได้ไม่ต้องไปรับรู้นาฬิกาชีวะ ที่คอยบอกเราว่าเราเริ่มแก่หรือยัง

สมมติว่าเรามีเทคโนโลยีที่จะสร้างร่างกายของเราขึ้นมาใหม่ทั้งหมด รวมทั้งสมอง เราจะสามารถถ่ายโอนความระลึกรู้ และความรู้สึกนึกคิดของเราจากร่างเก่า เพื่อเข้าไปอยู่ในร่างใหม่ได้หรือไม่ ? เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คิดแล้วก็ปวดหัวครับ สมมติว่าเราสามารถ copy สมองของเราทั้งหมด ไปสร้างสมองอันใหม่ที่เหมือนกับของเราเปี๊ยบเลย รวมทั้งร่างกายใหม่ด้วย เป็นคนเดียวกับเราเหมือนกันเดี๊ย เพียงแต่อวัยวะยังฟิตปั๋ง ใหม่ๆ ซิงๆ ยังไม่ใช้งานมากเหมือนของเรา ถามว่า คนๆ นั้น ยังเป็นตัวเราอยู่ไหม หรือเป็นคนใหม่ที่มีความรู้สึกนึกคิดคล้ายๆ กับเรา เท่านั้นเอง เพราะได้ copy สมองไปจากเรา เอายังงี้คิดง่ายๆ หากเราคิดว่าร่างกายใหม่ที่มีสมองของเรานั้น เป็นอวตารของเรา เราจะกล้าปิดสวิตช์ตัวเรา (ทำให้ร่างเก่าตาย) เพื่อเข้าไปอยู่ในร่างใหม่หรือไม่ ?

สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ปวดหัวมาก เพราะตำราวิทยาศาสตร์ของตะวันตกไม่มีคำว่า "จิต" ซึ่งอาจจะเป็นซอฟต์แวร์ที่วิ่งอยู่บนสมองของเรา ซึ่งทุกวันนี้ วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถหาวิธีศึกษามันได้ นักวิทยาศาสตร์จึงจำใจต้องผูกโยงอาการทางนามธรรมหลายอย่าง เช่น เรื่องของสติสัมปชัญญะ ความจำ ภาวะความสุข-เศร้า ว่าเป็นเรื่องของฮาร์ดแวร์ ซึ่งก็คือเซลล์สมองและกิจกรรมของมัน หลายๆ ครั้ง ภาวะของสติ ก็ยากที่จะอธิบายด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งขณะนี้มีเพียงวิธี Functional Magnetic Resonance Imaging (fMRI) เท่านั้น ที่เชื่อมโยงภาวะนามธรรมเหล่านั้นได้

วันหลังมาคุยเรื่องนี้ต่อนะครับ .....

13 กุมภาพันธ์ 2553

Gesture Recognition - เทคโนโลยีตรวจจับภาษากาย (ตอนที่ 1)



ศาสตร์แห่งการบูรณาการระหว่างสิ่งมีชีวิต กับจักรกล (Life and Machine Integration) กำลังเป็นเรื่องที่มาแรงมากๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ครับ สาขาหนึ่งที่ผมจะนำมากล่าวถึงในบทความชุดนี้ก็คือ HMI (Human-Machine Interface) หรือการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับจักรกล ซึ่งมีสาขาย่อยๆ ออกไปมากมาย เช่น Bionics (อวัยวะชีวกล) Implantable System (การปลูกอุปกรณ์เข้าไปในร่างกายมนุษย์) Smart Fabrics (อาภรณ์ฉลาด) และอื่นๆ อีกมากมายครับ

แต่วันนี้ผมขอนำศาสตร์ในการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ กับ จักรกล ซึ่งจะทำให้การเชื่อมต่อในเรื่องของการแสดงออกทางภาษากาย หรือ อากัปกริยา ระหว่างมนุษย์กับจักรกลเกิดขึ้นได้ ศาตร์นั้นก็คือ Gesture Recognition ซึ่งเป็นเรื่องของการตรวจวัดและแปลความหมายของภาษาร่างกายของคนเรา ให้ออกมาเป็นโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ เป็นการเปลี่ยนอาการทางกายของมนุษย์ให้เป็นข้อมูลดิจิตอลที่มีความหมาย สามารถนำไปอ้างอิง เปรียบเทียบ และ ประมวลผลเชิงตัวเลขได้

ภาษากายของมนุษย์นี้ก็จะรวมถึง อะไรก็ได้ที่แสดงออกได้ทางร่างกายครับ เช่น กริยา อาการ ท่าทาง การแสดงออกทางสีหน้า การยักคิ้วหลิ่วตา การกรอกตาไปมา การแสดงอาการเซ็ง เสียใจ ซึ้งใจ ภาษามือต่างๆ ก็รวมอยู่ด้วย การยักไหล่ ลักษณะการเดิน นั่ง วิ่ง นอน รวมหมดเลยครับ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของกายเหล่านั้นทีละส่วน หรือ หลายๆ ส่วนพร้อมกัน หรือเป็นองค์รวม

การพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับภาษากายนี้ มีประโยชน์ต่อทั้งมนุษย์และจักรกลครับ เพราะว่าจะทำให้มนุษย์มีช่องทางในการติดต่อ (Interface) ใช้ประโยชน์จากจักรกลมากขึ้น ซึงปัจจุบันเราสื่อสารกับจักรกลผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อไม่กี่อย่าง เช่น คีย์บอร์ด เมาส์ ทัชแพด ตอนนี้มีอุปกรณ์ Haptics มาให้ใช้เพิ่มขึ้น แต่ต่อไปเครื่องจักรจะเข้าใจภาษากายของเราด้วยครับ ส่วนประโยชน์ที่จักรกลจะได้รับก็คือ "ความมีชีวิต" เพราะอาการทางกายเป็นสิ่งที่ส่งมีชีวิตระดับสูงมี ดังนั้น ถ้าอยากให้จักรกลมีลักษณะของชีวิต ก็ต้องทำให้มันมีภาษากายด้วยครับ

วันหลังมาคุยกันต่อครับ ......

11 กุมภาพันธ์ 2553

Synthetic Warrior - DARPA ผุดแนวคิดนักรบสังเคราะห์


เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีข่าวลือเรื่องหนึ่งในวงการกลาโหมสหรัฐอเมริกา ว่าหน่วยงานให้ทุนวิจัยทางการทหาร ที่เรามักจะรู้จักกันดีในชื่อว่า DARPA ได้มีความสนใจที่จะพัฒนาสิ่งมีชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) สร้างมันขึ้นมา ว่ากันว่า สิ่งมีชีวิตสังเคราะห์นี้จะทำหน้าที่เป็นหน่วยรบยุคใหม่ เครื่องจักรสังหารที่ไม่มีวันตาย นอกเสียจากว่าผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้ตายเอง

ผมได้พยายามสืบค้นหาข้อมูลที่น่าจะพอเชื่อถือได้ พบว่า DARPA กำลังเสนอกรอบวงเงินงบประมาณของปีต่อไป เสนอให้รัฐบาลพิจารณา ซึ่งปรากฎชื่อโครงการหนึ่งที่มีเค้าโครงใกล้เคียงกับข่าวลือที่ว่านี้ โครงการนี้มีชื่อว่าโครงการ BioDesign ซึ่งมีเม็ดเงินของโครงการก็ไม่ได้มากมายอะไรหรอกครับ ประมาณ 6 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งไม่มากอะไรสำหรับงานวิจัยด้านการทหารในสหรัฐฯ) โดยโครงการนี้จะให้ทุนแก่มหาวิทยาลัย เพื่อทำการวิจัยแนวคิดใหม่ ที่เกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการชีวเคมีในสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เป็นไปตามที่มนุษย์ออกแบบ โดยอาจจะตัดทอนกระบวนการวิวัฒนาการที่มีในธรรมชาติออกเสีย อันจะมีผลให้การวิวัฒน์ของสิ่งมีชีวิตสามารถออกแบบ คาดเดา และควบคุมได้

ถึงแม้ในเนื้อหาของแผนงบประมาณ จะไม่ได้ระบุเรื่องสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์อย่างชัดเจน แต่นักวิเคราะห์ด้านการทหาร ประเมินว่า เพนทากอนกำลังมีแผนการจะสร้างหน่วยรบสังเคราะห์ เพื่อใช้ทดแทนทหารในอนาคเนื้อหาของงานวิจัยที่ DARPA สนใจในโครงการ BioDesign นี้ ได้แก่ ความสามารถในการโมเดลโครงสร้างของโมเลกุลโปรตีนด้วยคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงพอลิเมอร์ที่เลียนแบบชีวโมเลกุลในธรรมชาติ การพัฒนาความเข้าใจกลไกที่ทำให้เซลล์ตาย การพัฒนาเทคนิคในการสร้างเสริมเซลล์ ให้มีชีวิตอยู่ได้ตราบนานเท่านานโดยไม่เสื่อมสภาพ พัฒนาเทคนิคที่จะสั่งสิ่งมีชีวิตที่จะสังเคราะห์ขึ้นให้ตายได้ หรือ terminate ตัวเองได้ และท้ายสุดคือ การพัฒนาระเบียบวิธีในการติดตาม หรือ ตามรอย การใช้งานพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ เหมือนกับที่เราสามารถตามว่ากระสุนถูกยิงออกมาจากปืนกระบอกไหน

เช่นเดิมครับ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการของทหาร นักสิ่งแวดล้อมและนักอนุรักษ์ก็ไม่สามารถเข้าไปคัดค้านได้ เมื่อไหร่บ้านเราจะมีงานวิจัยทางด้านทหารบ้างนะ .......


09 กุมภาพันธ์ 2553

Smart Dust - ฝุ่นฉลาด (ตอนที่ 2)



ในวงการวิจัยฝุ่นฉลาด เราฝันกันว่า สักวันหนึ่ง เราจะมีเซ็นเซอร์จิ๋ว ที่ประกอบด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่สมบูรณ์ในตัวเอง มีขนาดเพียงเม็ดทราย หรือ ผงฝุ่น เซ็นเซอร์เหล่านี้จำนวนมาก ถูกปล่อยออกไปตามที่ต่างๆ ลอยฟุ้งไปทั่ว เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ แล้วนำส่งข้อมูลเหล่านั้น มาให้คอมพิวเตอร์กลางประมวลผล เราจะมีข้อมูลสภาพแวดล้อมแบบเรียลไทม์ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก เพื่อนำมาประมวลผล นำมาสู่ความเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของดาวเคราะห์ที่เราอาศัยอยู่นี้

10 ปีที่ผ่านมาของวงการวิจัยฝุ่นฉลาด ถึงแม้ขนาดของไมโครชิพวงจรสื่อสารไร้สายจะเล็กลงไปอย่างมาก ขนาดเพียงไม่กี่มิลลิเมตร แต่เมื่อมารวมเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานได้สมบูรณ์ ก็ยังมีขนาดใหญ่อยู่ครับ เซ็นเซอร์ตรวจวัดดินและอากาศที่ผมนำไปติดตั้งในไร่องุ่น ก็ยังมีขนาดที่ใหญ่เกินไปกว่าที่จะเรียกว่าฝุ่น แต่นักวิจัยในวงการนี้หวังว่า ขนาดของวงจรและอุปกรณ์ที่เล็กลงไปเรื่อยๆ นี้ จะนำไปสู่ความฝันที่เราวาดไว้

ฝุ่นฉลาดประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญครับ คือ (1) หน่วยประมวลผล หรือ คอมพิวเตอร์จิ๋ว (2) เซ็นเซอร์ ที่ใช้เก็บข้อมูล เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสง เสียง ตำแหน่ง ความเร่ง การสั่นสะเทือน แรงกด และอื่นๆ อีกมากมาย (3) ตัวส่งสัญญาณวิทยุ (4) แหล่งพลังงาน โดยเจ้าฝุ่นฉลาดจะอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี หรือ อาจจะเก็บเกี่ยวพลังงานภายนอกมาใช้ เช่น พลังงานแสงอาฑิตย์ พลังงานลม พลังงานจากคลื่นวิทยุ พลังงานที่เกิดจากการสั่นสะเทือน

แนวคิดเกี่ยวกับฝุ่นฉลาดแต่เริ่มเดิมทีนั้นมาจาก DARPA ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยทางด้านกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ทำให้ฝุ่นฉลาดรุ่นแรกๆ มักถูกออกแบบเพื่อให้สามารถใช้งานในสนามรบ ด้วยการเอาเจ้าฝุ่นฉลาดออกไปโปรยในแนวตั้งรับข้าศึก เจ้าฝุ่นฉลาดซึ่งติดเซ็นเซอร์ตรวจจับต่างๆ เช่น สนามแม่เหล็ก คลื่นสั่นสะเทือน ไมโครโฟน และ GPS จะเก็บข้อมูล การเคลื่อนไหวของยานพาหนะข้าศึก แล้วส่งตำแหน่งของยานพาหนะของฝ่ายตรงข้ามมายังศูนย์บัญชาการ ซึ่งสามารถชี้เป้าได้อย่างแม่นยำ โดยเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบโปรย จะปล่อยลูกระเบิดที่มีลูกระเบิดเล็กๆ จำนวนมาก ที่วิ่งตรงเข้าใส่เป้าหมายโดยอาศัยการนำร่อง ทำให้สามารถกำจัดกองกำลังของข้าศึกก่อนที่จะมีการสู้รบเสียอีก การโปรยเจ้าฝุ่นฉลาดตามแนวเขตชายแดนที่กำลังเกิดข้อพิพาทกันนั้น ย่อมดีกว่าการฝังกับระเบิด เนื่องจากกับระเบิดมักจะถูกทิ้งไว้หลังจากสงครามจบลงไปแล้ว ข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟระบุว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมานี้ กับระเบิดได้สังหารมนุษย์ไปกว่า 1 ล้านคนแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นเด็ก


วันหลังมาคุยเรื่องนี้กันต่อครับ ......

08 กุมภาพันธ์ 2553

Smart Dust - ฝุ่นฉลาด (ตอนที่ 1)


สมัยที่ผมยังศึกษาระดับปริญญาตรีที่จุฬาฯ นั้น ผมมักได้ยินรุ่นพี่ชอบพูดใส่ผมเล่นๆ ว่า เรียนให้เก่งๆ นะว้อย ไม่งั้นเดี๋ยวจบไปได้ไปวิจัยฝุ่นหรอก บางที ผมก็จะแซวกลับไปว่า เออ ... จบไปแล้ว ผมจะไปวิจัยฝุ่นให้ดู ช่วงนั้น ผมเรียนๆ เล่นๆ ไม่ค่อยตั้งใจเท่าไหร่ครับ แต่ที่รอดมาได้เพื่อนผู้หญิง 2 คนซึ่งเป็นแหล่งข้อมูล lecture ให้ผมได้ถ่ายเอกสารเอามาอ่านทั้งเล่มก่อนสอบ เพื่อนผู้หญิงที่มีพระคุณกับผมมากๆ นั้น ตอนนี้ คนหนึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ส่วนอีกคนเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาฯ ครับ

หลังจากที่ผมเรียนจบ ผมก็เรียนต่อไปอีกเรื่อยๆ จนกระทั่งจบปริญญาเอก เมื่อกลับมาเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผมได้ทำวิจัยในหัวข้อต่างๆ หลายๆ เรื่อง ยกเว้นเรื่องฝุ่น ซึ่งผมเพิ่งจะมีโอกาสได้วิจัยมันเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองครับ ผมได้พบว่ารุ่นพี่ของผมนั้นพูดไม่ถูกต้องเท่าไหร่ครับ เพราะจริงๆ แล้ว ต้องขยันเรียนให้เก่งๆ ครับ ถ้าอยากจะวิจัยฝุ่น เพราะขณะนี้ งานวิจัยทางด้านฝุ่นฉลาด หรือ Smart Dust ต้องการความก้าวหน้าในหลายๆ ศาสตร์มากครับ ผมจะทยอยเอาความก้าวหน้าทางด้านนี้มาเล่าให้ฟังเรื่อยๆ เป็นตอนๆ ไปนะครับ

ผู้ที่วิจัยฝุ่นประสบความสำเร็จคนแรก และเป็นคนที่ทำให้วงการวิจัยฝุ่น ผงาดในเวทีโลก ก็คือ ศาสตราจารย์ คริสโตเฟอร์ พิสเตอร์ (Professor Kristofer Pister) แห่งภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ โดยในปี ค.ศ. 2001 ท่านได้เปิดปูมแนวคิดเกี่ยวกับฝุ่นฉลาด ซึ่งเป็นอุปกรณ์จิ๋ว ที่บรรจุวงจรไฟฟ้าขนาดเล็ก เซ็นเซอร์ เครื่องกลจิ๋ว แหล่งพลังงาน อุปกรณ์สื่อสาร โดยเจ้าฝุ่นนี้จะสามารถสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูล และทำงานประสานงานกัน เป็นระบบเครือข่ายไร้สาย ซึ่งฝุ่นแต่ละเม็ดจะทำงานประสานกันเป็นฝูง รู้จักหลับเพื่อประหยัดพลังงานและตื่นเมื่อถูกเรียกใช้ เมื่อฝุ่นตัวใดตัวหนึ่งเสียหายจนไม่สามารถทำงานได้ ตัวที่เหลือจะสร้างเครือข่ายใหม่ เพื่อให้ระบบยังสามารถทำงานต่อได้ ฝุ่นฉลาดสามารถถูกออกแบบให้ซ่อมแซมตัวเองได้

ปัจจุบันศาสตราจารย์ พิสเตอร์ ได้ตั้งบริษัทขึ้นมามีชื่อว่า Dust Networks บริษัทนี้ทำการวิจัยและพัฒนาฝุ่นฉลาดเพื่อใช้ในงานทางด้าน โรงงานอัจฉริยะ (Smart Plant) อาคารอัจฉริยะ (Smart Building) เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ระบบส่งไฟฟ้าฉลาด (Smart Grid)

แล้วมาคุยเรื่องนี้ต่อนะครับ .....

03 กุมภาพันธ์ 2553

เพนทากอนห่วง คนเรียนวิทยาศาสตร์น้อยลง



ข่าวคราวเกี่ยวกับการเปิดเผยเรื่อง การหลอกลวงของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ในช่วงต้นปี 2553 นี้ ทำให้เกิดความกังวลอย่างกว้างขวางในสังคมว่า ประเทศเรามีความอ่อนแอทางวิทยาศาสตร์มากขนาดนั้นเลยหรือ ถึงขนาดถูกฝรั่งหลอกให้เสียเงินไปเป็นพันล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องมือที่อวดอ้างสรรพคุณอย่างเหลือเชื่อ แต่กลับไม่มีกลไกอะไรภายในเลย จน
บางคนเรียกมันว่า "ไม้ล้างป่าช้า" ประเทศไทย เป็นกันไปได้ขนาดนั้นเลยหรือครับ คิดแล้วก็น่าเศร้าไม่น้อย

ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นวิทยาศาสตร์ของวงการทหาร ไม่ได้เกิดแต่ในบ้านเราเท่านั้นหรอกครับ ประเทศสหรัฐอเมริกาเขาก็มีความกังวลในเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน แต่เป็นความกังวลที่ว่า ในบ้านเขานั้น คนที่เข้ามาเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเริ่มมีจำนวนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขที่น่าตกใจก็คือ เฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์นั้น มีคนเรียนลดลงในช่วงปี ค.ศ. 2003-2006 ถึง 43%

ก็จะไม่ให้กังวลได้ไงล่ะครับ การที่ประเทศสหรัฐอมเริกาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และการทหาร ได้ทุกวันนี้ ก็เพราะความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มากที่สุดในโลก การที่มีนักศึกษาสนใจเข้ามาเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้อยลง เป็นการแสดงว่า ต่อจากนี้ไป ประเทศสหรัฐอเมริกายังจะรักษาระดับความก้าวหน้าเช่นนี้ได้อยู่หรือไม่ การขาดนักศึกษาเข้าไปเป็นเรี่ยวแรงในระบบวิจัยในมหาวิทยาลัย อาจจะทำให้การวิจัยในศาสตร์ที่สำคัญต่อการพัฒนาอาวุธ ลดน้อยด้อยลง ยิ่งช่วงหลังๆนี้ ระบบอาวุธของประเทศสหรัฐอเมริกา มีการพัฒนาไปค่อนข้างมาก อาวุธสมัยใหม่ มีความซับซ้อน แม้แต่ผู้ใช้ หรือ ทหารในสนามรบเอง ก็ต้องมีความเข้าใจในหลักการทำงานทางวิทยาศาสตร์ของอาวุธ ดังนั้น การที่มีคนเข้ามาเรียนทางวิทยาศาสตร์น้อยลง ก็จะทำให้วงการทหารของประเทศอ่อนแอลง ตั้งแต่ระดับของการพัฒนาศาสตร์ในการพัฒนาอาวุธ ไปจนถึงระดับของทหารผู้ใช้ด้วย

เพนทากอนจึงเริ่มสนับสนุนโครงการ ที่จะทำให้นักเรียน นักศึกษา มีความสนใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ในระดับโรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งจะแฝงเนื้อหาของการทหาร เพื่อให้เด็กๆ เกิดความสนใจ และเข้ามาเรียนทางด้านนี้เพิ่มขึ้น

ดูการแก้ปัญหาของเขาที่เป็นระบบแล้ว ทำให้กลับมาคิดว่า การตั้งหน้าตั้งตาเปิดโปงเรื่อง GT200 แต่เพียงอย่างเดียว เหมือนที่ทำกันอยู่ในบ้านเรา อาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ได้ เราอาจจะต้องมาร่วมคิดกันว่า จะวางรากฐาน เพื่อทำให้วงการทหารของเรามีความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร ซึ่งการที่จะได้รับความร่วมมือจากทหาร อาจจะต้องใช้วิธีที่สุภาพนุ่มนวล กว่าที่กำลังทำอยู่ .......




01 กุมภาพันธ์ 2553

The Mathematics of Beautiful Girls- คณิตศาสตร์ของคนสวย (ตอนที่ 3)



วันนี้มาคุยกันเรื่อง Carol ต่อนะครับ .....

ถึงตอนที่ A กำลังนั่งพินิจพิเคราะอยู่ว่าจะทำอะไรดี ระหว่างทางเลือก 3 ทาง ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจวิธีคิดของ A ก่อนครับ A ก็เหมือนผู้ชายทั่วๆไป เขาต้องคิดถึงสิ่งที่เขาจะได้รับในการเลือกทางเลือกทั้ง 3 ทางนั้น ว่าทางเลือกใด จะได้ผลตอบแทนมากกว่ากัน สมมติให้ทางเลือกที่ (1) มีผลตอบแทนเป็น m ทางเลือกที่ (2) มีผลตอบแทนเป็น n ส่วนทางเลือกที่ (3) ซึ่งทำให้ A เสียความรู้สึกที่สุด เพราะ Carol ไม่สนใจใยดีเขาเลยนั้น ถือว่าไม่มีผลตอบแทนเลยครับ ดังนั้น A จึงสรุปว่า m > n > 0 ครับ ถ้าคิดง่ายๆ A ก็น่าจะเดินเข้าไปหา Carol ไม่ใช่หรือครับ เพราะว่าผลตอบแทนที่ได้มันมากกว่าอีกทางเลือกหนึ่งนี่นา

คิดอย่างนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะหาก A เดินเข้าไปหา Carol เขาอาจไปเจอทางผลตอบแทนเป็น 0 ก็ได้ครับ เนื่องจากว่าผลลัพธ์ที่เขาจะได้ข้อ (1) หรือ (2) ไม่ได้ขึ้นกับเขาคนเดียว แต่ขึ้นกับผู้ชายคนอื่นๆ เช่น B, C หรือ D ที่อาจจะนั่งเมียงมอง Carol อยู่ในโรงอาหารก็ได้ ถ้าเราให้ความน่าจะเป็นที่ A จะเดินเข้าไปหา Carol เท่ากับ p เราก็จะได้สมการที่อธิบายสมดุลระหว่างผลตอบแทน m และ n ที่เขาจะได้รับ หากเดินหรือไม่เดินเข้าไปหา Carol คือ

m (1-p) ^ (N-1) = n

โดยที่ N คือจำนวนของผู้ชายที่กำลังเมียงมอง Carol อยู่ และต่างก็กำลังคิดคำนวณเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

เมื่อเราแก้โจทย์นี้ เราก็จะได้สมการของความน่าจะเป็นที่ A จะเข้าไปจีบ Carol

p = 1 - (n/m)^(1/(N-1))

ซึ่งค่าของ p จะอยู่ระหว่าง 1 กับ 0 ครับ ถ้าค่า p เป็น 1 แสดงว่า A จะเข้าไปคุยกับ Carol 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้า p = 0 เขาจะไม่เข้าไปคุยแน่นอน แต่ถ้าอยู่ระหว่างนั้น ก็คือโอกาสที่เขาจะเข้าไปหา Carol ยิ่งเลขมาก ก็ยิ่งมีโอกาสมากครับ

สมการหลังนี้บอกว่าถ้า N มีค่าไม่มากนัก หมายถึงมีจำนวนคนอยากจีบ Carol ไม่มากนัก p ก็จะมีค่ามากกว่า 1/2หมายความว่า A ก็จะเข้าไปคุยกับ Carol แต่ถ้า N มีค่ามาก ค่า p จะน้อยลง จนค่า p จะเข้าใกล้ 0 เมื่อ N มีค่ามากๆ หมายความว่า ยิ่งมีจำนวนคนที่สนใจ Carol มากเท่าใด จะยิ่งมีโอกาสที่คนเหล่านั้นจะเข้าไปจีบ Carol น้อยลงเท่านั้น ม่ว่า Carol จะสวยหยาดเยิ้มเพียงใดก็ตาม แต่ถ้ามีคนสนใจเธอมาก ก็จะไม่มีใครเข้าไปจีบเธอเลยครับ ความสวยของ Carol จึงเป็นสิ่งที่กลับผลักไสผู้ชายให้ออกไปจากชีวิตเธอ

หลังจาก A นั่งพิจารณาจนได้สมการดังกล่าว เนื่องจาก Carol เป็นคนสวยมากๆ ก็น่าที่จะมีคนจีบเธอเยอะ ดังนั้น A จึงตัดสินใจไม่เข้าไปจีบเธอ แต่ก็ยังคงมานั่งทานข้าวในโรงอาหารเพื่อมองเธอต่อไปเหมือนเช่นทุกวัน .......