31 มกราคม 2553

The Mathematics of Beautiful Girls- คณิตศาสตร์ของคนสวย (ตอนที่ 2)


วันนี้เป็นวันอาฑิตย์ วันสบายสบาย ผมขอนำเรื่องสบายๆ เบาๆ มาเล่าให้ฟังนะครับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนสวยที่สามารถจะอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์

ในที่ทำงานของผม เราจะรับประทานอาหารกลางวันกันที่
โรงอาหารของมหาวิทยาลัย หลายครั้งที่ผมลงไปทานข้าว ผมจะเห็นผู้หญิงสวยบางคนที่ยังไม่มีคู่ ทั้งๆ ที่เธอก็ดูดีน่ารัก สมาร์ท และน่าคุยด้วย แต่กลับไม่มีผู้ชายคนใดเดินเข้าไปจีบเธอ เหมือนกับว่าจะปล่อยให้เธอเป็นที่ชื่นชมของสาธารณะตลอดไป ทุกครั้งที่ผมเห็นเธอ เธอจะถูกรายล้อมด้วยเพื่อนผู้หญิงเสมอๆ

สิ่งนี้ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมมักจะเห็นเพื่อนผู้หญิงหน้าตาดีหลายคนที่ไม่มีแฟน เธอสวยมากจนไม่มีผู้ชายกล้าเข้าไปจีบ ผู้หญิงระดับดาวมหาวิทยาลัยหลายคน จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้แต่งงานครับ เกิดอะไรขึ้น วิทยาศาสตร์ให้คำตอบได้หรือไม่ ?

การที่ผู้หญิงหน้าตารูปร่างดีๆ หาคู่ครองไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์เขาเรียกอาการหรือโรคแบบนี้ว่า The Carol Syndrome ครับ นักวิทยาศาสตร์อธิบายอย่างนี้ครับว่า Carol เป็นผู้หญิงสวยหน้าตาดีอย่างกับนางฟ้า แต่เธอกลับไม่มีใครเข้ามาจีบ ทั้งๆ ที่เธอก็ต้องการให้มีใครๆ เข้ามาลองยื่นข้อเสนอแก่ชีวิตเธอบ้าง เธอก็อยากเหมือนผู้หญิงทั่วไปที่มีโอกาสได้เลือกผู้ชายที่เข้าท่า

ให้เราลองสมมตินะครับว่า ตอนนี้ Carol มานั่งอยู่ในโรงอาหารของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลที่ผมทำงานอยู่ วันนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งชื่อว่า A ก็แล้วกัน เขามานั่งทานข้าวในโรงอาหารแล้วก็เห็น Carol นั่งทานข้าวอยู่ เขามองไปที่ Carol บ่อยๆ ซึ่ง Carol ก็มองมาที่เขาด้วย A นั่งคิดอยู่ว่าเขาควรจะเข้าไปจีบ Carol ดีไหม เขานั่งพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่เขาอาจจะได้รับใน 3 ทางเลือกนี้

(1) A เดินเข้าไปนั่งกับ Carol เธอตอบสนองเขาอย่างเป็นมิตร ทั้งคู่คุยกันถูกคอมากๆ จนในที่สุด A ได้เบอร์โทรศัพท์ของ Carol มาเก็บไว้ในเครื่อง iPhone ของเขา และที่สุดเขาก็ได้มีโอกาสออกไปทานข้าวด้วยกันข้างนอกกับเธอ

(2) A ไม่เดินเข้าไปหา Carol เขายังมอง Carol บ้าง เพราะความสวยของเธอที่น่ามอง และเขาก็ทำเช่นนี้ทุกๆ วันที่เจอเธอในโรงอาหาร

(3) A เดินเข้าไปหา Carol เข้ามาแนะนำตัวและพูดคุยกับเธอ Carol แสดงอาการรำคาญ และปฏิเสธไมตรี A เสียใจและไม่กล้าลงมาทานข้าวที่โรงอาหารนานเป็นเดือน

A นั่งคำนวณถึงผลลัพธ์ของทางเลือก 3 ทางนี้ แน่นอน A อยากได้ผลลัพธ์ที่ (1) มากกว่า (2) และมากกว่า (3) ตามลำดับ ระหว่างนั่งทานข้าวไป มอง Carol ไป เขาได้พิจารณาว่า ผลลัพธ์ที่เขาจะได้ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเขาคนเดียวแล้ว เพราะอาจมีผู้ชายคนอื่นเช่น B, C กำลังคิดจะจีบเธออยู่ก็ได้ A คิดว่าเขาจะได้ผลลัพธ์ที่ (1) ก็ต่อเมื่อไม่มีใครเลยที่กำลังจะจีบ Carol นอกจากตัวเขาเอง แต่ถ้าหากมีคนอื่นๆ ด้วย เขาจะต้องได้ผลลัพธ์ข้อ (3) แน่ๆ

วันหลังมาคุยเรื่องนี้ต่อครับว่า ตกลง A จะทำอย่างไร จะเข้าไปจีบ Carol หรือไม่ .......

(ภาพขวามือ - ถ้ามีผู้หญิงสวยขนาดนี้มานั่งในโรงอาหาร คุณจะกล้าเข้าไปจีบไหม ?)

30 มกราคม 2553

Plant Intelligence - ต้นไม้ไม่ได้โง่ (ตอนที่ 10)


เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว องค์สมเด็จพระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงค้นพบว่า พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ธรรมดา พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัย มิให้พระภิกษุสงฆ์ตัดถอนต้นไม้โดยไม่มีเหตุอันควร ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ได้ใช้ต้นไม้เป็นสถานที่ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน

นักวิทยาศาสตร์เริ่มหันมาสนใจความน่าทึ่งของต้นไม้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ที่ผ่านมา ต้นไม้ถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่แสนธรรมดา ไม่มีเรื่องของความฉลาดเลย แต่หลักฐานใหม่ๆ กลับปรากฎชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า ต้นไม้อาจมีระบบสื่อสาร และระบบทางสังคม ที่ใช้ช่องทางที่แตกต่างจากพวกเราอย่างสิ้นเชิง ดังที่ผมได้นำมาเล่าให้ฟังในบทความเป็นตอนๆ ก่อนหน้านี้

ความน่าทึ่งเกี่ยวกับพืชในตอนนี้ที่ผมอยากนำมาเล่าให้ฟังก็คือ "ต้นสน" ซึ่งเป็นพืชที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า 300 ล้านปี มันผ่านช่วงเวลาที่มีการเคลื่อนตัวของทวีปเมื่อ 250 ล้านปีที่แล้ว จากนั้นได้ผ่านมาอยู่ร่วมกับไดโนเสาร์ จนกระทั่งเกิดการชนของอุกกาบาตลูกใหญ่ที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ทั้งหมด มันก็ยังอยู่รอดมาได้ สนเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ได้ทั่วโลก เฉพาะในแคว้นแยมแลนด์ (Jamtland) ของสวีเดนที่เดียว ก็มีมวลรวมของต้นสนมากกว่าน้ำหนักของมนุษย์รวมกันทั้งโลกอีกครับ

สิ่งที่น่าทึ่งอีกประการหนึ่งของสนก็คือ มันมีดีเอ็นเอ (DNA) ยาวกว่ามนุษย์ถึง 7 เท่า ซึ่งป่านนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าในโครโมโซม 12 คู่ที่เก็บดีเอ็นเอเหล่านั้น มียีนอยู่กี่ตัว อาจจะเพราะด้วยขนาดอันมหึมาของรหัสพันธุกรรมของมัน จึงยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มไหนอยากจะไขปริศนานี้ เพราะอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเพื่อแลกกับความรู้ในเรื่องนี้

แต่เมื่อเร็วๆนี้ ทางรัฐบาลสวีเดนได้ตัดสินใจที่จะให้ทุน เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของสน ทั้งนี้เพราะ สน เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สุดของสวีเดน เปรียบเช่น ข้าว ของเมืองไทยเราเลยครับ ศาสตราจารย์โอเว นิลสัน (Professor Ove Nilsson) ซึ่งเป็นประธานของโครงการนี้ได้กล่าวว่า "การมีแผนที่พันธุกรรมอย่างสมบูรณ์ของต้นสน จะปฏิวัติงานวิจัยเกี่ยวกับสนของประเทศสวีเดนเลยเชียวครับ และมันจะทำให้ต่อไปภายภาคหน้า เราจะนำต้นสนมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

ผมเคยเขียนเรื่อง นาโนวนศาสตร์ (Nanoforestry) และเคยพูดไว้ว่า ต้นไม้กำลังจะกลายมาเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ ที่จะมาแทนปิโตรเคมีในอนาคตครับ .....

27 มกราคม 2553

Games Science - วิทยาศาสตร์ของเกมส์ (ตอนที่ 5)


เดือนนี้เขียนบล็อกน้อยไปนิดครับ ไม่ใช่เพราะไม่มีอะไรจะเขียนหรอกครับ จริงๆ แล้วมีเรื่องที่จะเขียนเยอะมาก แต่เพราะเดินทางค่อนข้างบ่อยในช่วงหน้าหนาว ไปแต่ละที่ก็ไกลๆ จากปาย ไปสมุย ไปอุบล แถมก็ต้องไปทำงานที่ไร่ทุกๆ 2-3 สัปดาห์ด้วย ยังไงก็จะพยายามเข้ามาเขียนให้บ่อยเท่าเดิมนะครับ

ช่วงที่ผมไปอุบลฯ ถึงแม้จะมีเวลาเข้าเน็ตไม่มากก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผมยังทำอยู่สม่ำเสมอก็คือ เข้ามาเล่นเกมส์ปลูกผัก (Farmville) ใน Facebook ซึ่งสิ่งที่ผมชอบปลูกมากๆ ในเกมส์นี้ก็คือ ข้าว (เพราะข้าวเป็นพืชประจำชาติของไทยเรา) กับ องุ่น (เพราะผมชอบไร่องุ่นมากๆ) เวลาข้าวออกรวงเต็มทุ่ง หรือ องุ่นออกลูกเต็มไร่ ผมจะเก็บเกี่ยว (ในเกมส์นะครับ) มันด้วยความสุขใจมากๆ อย่างกับว่าผมได้ปลูก ได้ดูแล และได้เก็บเกี่ยวของจริง อย่างไรอย่างนั้นเลยครับ ก่อนหน้านี้ผมเคยเล่นเกมส์ที่มีชื่อว่า Sim City ซึ่งเป็นเกมส์สร้างเมือง คนเล่นจะเป็นผู้ว่าฯ (Governor) เป็นผู้ออกแบบ สร้าง ดูแลรักษา เพื่อทำให้เมืองมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไป เล่นไป เล่นไป ก็จะติดเกมส์นี้มาก เพราะว่าคนเล่นจะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ สามารถทำอะไรก็ได้ จะกำหนดทิศทางให้เมืองของเราเป็นอย่างไรก็ได้ เล่นไปแล้ว จินตนาการจะพาเราล่องลอยเข้าไปในโลกแห่งความคิด เป็นอาหารสมองจนเราลืมวันลืมคืนไปเลยครับ

ศาสตราจารย์ บิล เคลลี (Bill Kelley) แห่งภาควิชาจิตและสมองวิทยา มหาวิทยาลัยดาร์ทเมาท์ (Dartmouth University) ได้ศึกษาสมองของผู้ใช้เวลาเล่นเกมส์มาก ด้วยการสแกนสมองด้วยเครื่อง Functional MRI (Magnetic Resonance Imaging) จนพบสิ่งที่น่าสนใจมาก กล่าวคือ คนที่เล่นเกมส์จะมองตัวละครหรืออวตาร (Avatar) ของตนเองในเกมส์ อย่างกับว่า ตัวละครนั้นๆ เป็นตนเองในชีวิตจริง ก่อนหน้านี้เคยมีผู้ชายคนหนึ่งมีนามว่า นายวิลเลียม ไวส์ (William Wise) ได้เข้าไปเล่นเกมส์ Second Life บนอินเตอร์เน็ต โดยสวมตัวละครหรืออวตารเป็นผู้หญิง ตลอดเวลา 2 ปีครึ่งเขาจะใช้เวลาว่างเข้าไปใน Second Life โดยอวตารเป็นผู้หญิงตลอด แต่ในชีวิตจริงเขาก็จะทำตัวเหมือนผู้ชายทั่วไป ระหว่างที่เขาใช้ชีวิตอวตารเป็นผู้หญิงบนเน็ตนั้น เขาได้เรียนรู้ชีวิตของผู้หญิง ว่าต้องทำตัวอย่างไร มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร จนในที่สุด"เขา"ได้ตัดสินใจจะเป็น"เธอ" ด้วยการผ่าตัดแปลงเพศให้เป็นผู้หญิง นายวิลเลียมได้กล่าวว่า "เดี้ยนได้พบแล้วว่า การเป็นทั้งชายและหญิงนั้นเป็นอย่างไร ต่อจากนี้ เดี้ยนขอเลือกเป็นสิ่งที่เดี้ยนอยากเป็นจริงๆ นั่นคือ ขอเป็นหญิงค่ะ"

วันหลังมาคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ ....

24 มกราคม 2553

ยุคแห่ง Supersoldier มาถึงแล้ว


สวัสดีครับ หายไปหลายวันเลยครับ ผมไปประชุมที่อุบลราชธานี 4 วันครับ ถึงแม้จะต่ออินเตอร์เน็ตได้ แต่ไม่ได้เป็นอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ก็เลยไม่ค่อยอยากเล่นเท่าไหร่ วันนี้ผมมาพักที่สุรสัมนาคาร ในมหาวิทยาลัยสุรนารี อินเตอร์เน็ตค่อนข้างเร็ว เหมือนที่กรุงเทพฯ ก็เลยอัพบล็อกหน่อยครับ พอดีมีเรื่องน่าสนใจมารายงานครับ



ก่อนหน้านี้ ผมเคยรายงานเรื่องของ Bionics ซึ่งเป็นแนวคิดในการสร้างอวัยวะกล เพื่อเสริมสมรรถนะและขีดความสามารถทางร่างกาย ของผู้บกพร่องทางกายภาพให้สามารถดำรงชีวิตเช่นคนปรกติ หรือส่งเสริมให้ผู้มีกายภาพปกติมีความสามารถเหนือมนุษย์ทั่วไป เทคโนโลยีหนึ่งที่สามารถทำเช่นนั้นได้ก็คือ Exoskeleton หรือโครงกระดูกนอกร่างกาย ที่เมื่อเราสวมใส่เข้าไปแล้ว จะสามารถยกของหนักๆ เดิน หรือ วิ่งแบกน้ำหนักของเหล่านั้นไปไกลๆ โดยไม่เหน็ดเหนื่อย เมื่อเราสวมใส่ Exoskeleton เข้าไป มันจะพยายาม sync (synchronize) กับร่างกายของเรา เช่น หากเราก้าวขาจะเดิน มันก็จะช่วยเราออกตัวก้าวไปเอง เมื่อเราจะหยุด มันก็จะหยุดด้วย ถ้าสวมที่แขน เวลาเราออกแรงยกของ มันจะช่วยออกแรงพยุงให้ ทำให้น้ำหนักที่เรารู้สึกยกจะเบากว่าน้ำหนักจริง เช่น หากเรายกของที่หนัก 100 กิโลกรัม ก็จะเหมือนยกของที่หนักสัก 20 กิโล เป็นต้น



ล่าสุดบริษัทล็อคฮีด (Lockheed) ซึ่งรู้จักกันดีในฐานะบริษัทอาวุธที่ใหญ่มากของสหรัฐอเมริกา ได้ผลิตเจ้า Exoskeleton ที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า Human Universal Load Carrier หรือ HULC ออกมาขายให้กองทัพแล้วครับ ทั้งนี้บริษัทล็อคฮีดได้ซื้อสิทธิ์ในเทคโนโลยีตัวนี้มาจาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ (UC Berkeley) แล้วนำมาพัฒนาต่อเพื่อขายในเชิงพาณิชย์ เจ้าหุ่น HULC นี้อาศัยพลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง ทหารสามารถใช้มันเดินทั้งวันได้ 3 วันติดต่อกัน จึงจะเติมพลังงานหนึ่งครั้ง ซึ่งก็คือเมธานอล



ชุด HULC นี้จะทำให้ทหารสหรัฐฯ กลายเป็นยอดทหารขึ้นมาทันที เพราะมันจะทำให้ทหารที่สวมใส่ชุดนี้ สามารถแบกรับน้ำหนักสัมภาระได้มากถึง 100 กิโลกรัม นักวิเคราะห์มองว่าการมีชุดนี้อย่างน้อย 1 ชุดในหน่วยทหารราบขนาดเล็ก จะช่วยเพิ่มสมรรถนะในการรบของหน่วยได้อย่างมาก เราอาจจะติดปืนกลหนักซึ่งปกติจะต้องอาศัยทหาร 2 คนช่วยกันขนย้าย ได้บนลำตัว หรือบนไหล่ของทหารผู้นั้นโดยตรง โดยปืนกลนี้จะสามารถหันไปตามการหันตัวของทหาร และสามารถยิงด้วยรีโมทคอนโทรล ลองนึกถึงหุ่นยนต์คนเหล็ก Terminator สิครับว่า มันจะน่ากลัวขนาดไหน



19 มกราคม 2553

Materials Intelligence - วัสดุปัญญา (ตอนที่ 7)


พรุ่งนี้ผมจะเดินทางอีกแล้วครับ คราวนี้ไปงาน PACCON 2010 ซึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นเจ้าภาพ งานประชุมนี้ใหญ่มาก มีจำนวนผลงานที่ไปแสดงมากกว่า 800 ผลงานครับ ซึ่งแบ่งออกเป็นสาขาวิชาต่างๆ ของทางเคมีและเคมีประยุกต์ เช่น เคมีอินทรีย์ เคมีวิเคราะห์ เคมีเชิงฟิสิกส์ เคมีอนินทรีย์ วัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งในการไปประชุมครั้งนี้ ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายในหัวข้อ จมูกอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการเกษตร แล้วก็ไปทำหน้าที่ประธานของสาขาวัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี ซึ่งในปีนี้มีคนส่งผลงานเข้าร่วมมากที่สุด เมื่อเทียบกับสาขาวิชาอื่นๆ เพราะมีจำนวนผลงานเกือบ 200 ผลงาน เมื่อเทียบกับของทั้งหมดที่มี 800 ผลงาน แสดงให้เห็นว่า งานวิจัยทางด้านวัสดุและนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทยนั้น ถือได้ว่ามีจำนวนมากที่สุดในอาเซียนแล้วครับ จากการที่ผมเคยไปประชุมมาทั้งในสิงคโปร์ เวียดนาม และ มาเลเซีย


อย่างไรก็ตาม จากที่ผมนั่งอ่านบทคัดย่อของทุกผลงานที่ส่งเข้ามา ผมสังเกตเห็นว่า งานวิจัยทางด้านวัสดุของไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ "วัสดุทำหน้าที่" (Functional Materials) มีส่วนน้อยที่ทำไปถึง "วัสดุก้าวหน้า" (Advanced Materials) และยังไม่มีงานไหนที่เข้าใกล้ระดับของ "วัสดุปัญญา" (Materials Intelligence)


ทำให้น่าเป็นห่วงว่า งานวิจัยทางวัสดุของประเทศไทยอาจจะตามไม่ทันโลก เพราะขณะนี้ ในวงการวัสดุนั้น เขากำลังสนใจวัสดุที่วิวัฒน์ตัวเองได้เหมือนสิ่งมีชีวิตแล้วครับ ซึ่งนักวัสดุศาสตร์เองจะต้องเข้าไปมองวัสดุในสิ่งมีชีวิตอย่าง "โปรตีน" ให้มากขึ้น เพราะวัสดุชนิดนี้สามารถวิวัฒน์ตัวเองให้สามารถทำงานนอกเหนือไปจาก สิ่งที่มันถูกออกแบบมาให้ทำ นั่นคือ วัสดุวิวัฒน์จะต้องสามารถทำอะไรได้ในสถานการณ์ใหม่ๆ ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย ดังนั้น การออกแบบจึงมีความสำคัญต่อวัสดุปัญญามากๆ เพราะเราจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นไปได้ทั้งหมด ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการใส่โปรแกรมตรรกะเข้าไปในวัสดุ เพื่อให้มันสามารถปรับตัวหรือพัฒนาตัวเองไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมได้ครับ


17 มกราคม 2553

Smart Vineyard - ไร่องุ่นอัจฉริยะ (ตอนที่ 3) ตอน Khao Yai in Love


หายหน้าหายตาไปหลายวันเลยครับ ผมเพิ่งกลับมาจากทำงานภาคสนามที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ เขาใหญ่ ซึ่งปกติอยู่ที่ไร่ผมก็จะอัพเดตบทความได้ เพราะตอนนี้เราวางระบบ WIFI ครอบคลุมบริเวณสำคัญๆ ในไร่แล้ว แม้แต่ในแปลงองุ่นก็ยังเปิดเน็ตจากโทรศัพท์มือถือได้จาก WIFI หรือถ้าออกนอกพื้นที่สัญญาณ ก็ใช้อินเตอร์เน็ตบน Cellular Network แทน (ที่ไร่ได้สัญญาณ GPRS ของ True และ Edge ของ AIS ครับ แต่ไม่มี 3G) แต่ว่าครั้งนี้ผมต้องออกตระเวณไปข้างนอก เพื่อไปสังเกตการณ์ไร่องุ่นรอบๆ เขาใหญ่ กับทางสมาคมผู้ประกอบการไวน์ของไทย ซึ่งก็กระจายอยู่ตามเชิงเขาใหญ่ ตั้งแต่มวกเหล็ก ไล่ไปจนถึงวังน้ำเขียวครับ ใช้เวลาตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนถึงมืดเลย เดินทางไกลกลับมาถึงที่นอนอุ่นๆ (อากาศข้างนอก 16-18 องศาครับ) ก็ไม่อยากทำอะไรแล้วครับ


ช่วงที่ผมนั่งรถตระเวณไปตามเส้นทางสาย กุดคล้า-วังน้ำเขียว นั้น ตลอดเส้นทางผมได้เริ่มเห็นบรรยากาศข้างเส้นทาง มีรีสอร์ทใหม่ๆ สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ร้านกาแฟอย่าง A Cup of Love ซึ่งทำเลียนแบบ Coffee in Love ที่ปาย ก็มาเปิด ณ จุดที่คล้ายๆ กับที่ปายเลยครับ มีความโรแมนติกน่าลงไปถ่ายรูปแล้วก็จิบกาแฟ ถ้าไม่ใช่วันนั้นต้องรีบไปยังไร่ต่างๆ ตามเวลาที่กำหนด ผมก็คงลงไปถ่ายรูปสักหน่อย


ที่ถนนธนะรัชต์ แถวๆ จุลดิศ ก็มีเมืองช็อปปิ้ง ออกแนวหมู่บ้านในอิตาลี (แถวทางเหนือของอิตาลี รวมไปถึงแคว้นทีโรลของออสเตรียที่ผมเคยอยู่ รวมไปถึงทางใต้ของแคว้นบาเยิร์นในเยอรมัน ก็จะมีบรรยากาศคล้ายๆ กันครับ) มาเปิดใหม่ มีชื่อว่า ปาลิโอ (Palio) หมู่บ้านนี้ทำเป็นถนนคนเดิน (Walking Street) ที่น่ารัก น่าถ่ายรูปมากครับ บางคนก็ไปเปรียบเทียบสถานที่นี้กับ เพลินวาน ที่หัวหิน ซึ่งมีความแตกต่างกันเป็นคนละเรื่องเลยครับ เพราะที่เขาใหญ่ อากาศเย็นๆ ตอนกลางคืน ถ้าใครได้มาเดินที่ปาลิโอ อาจจะรู้สึกเหมือนเดินในหมู่บ้านเล็กๆ ของออสเตรียในช่วง summer ได้เลย


บทความตอนนี้เลยไม่ค่อยได้พูดถึงไร่องุ่นมากนัก เพราะเป็นตอน "เขาใหญ่อินเลิฟ" ในตอนหน้า ผมจะกลับมาเล่าเรื่องของไร่องุ่นครับ ใครยังไม่ได้ไป "เขาใหญ่อินเลิฟ" กับเขาบ้าง ก็ยังไม่สายนะครับ ตอนนี้ยังหนาวอยู่ แต่ก็จะเริ่มอุ่นขึ้นเรื่อยตั้งแต่สัปดาห์หน้าไปแล้วล่ะครับ




(ภาพบนสุด - ไร่องุ่นกรานมอนเต้อินเลิฟ, ภาพบนขวา - ปาลิโอเขาใหญ่)

11 มกราคม 2553

The Rise of Machines - เมื่อยุคของหุ่นยนต์มาถึงแล้ว (ตอนที่ 3)


ปี ค.ศ. 2010 จะมีเรื่องเร้าใจอีกเรื่องที่น่าติดตามครับ นั่นคือ การที่หุ่นยนต์อาจจะกลายมาเป็นสินค้าที่ซื้อหามาใช้งานได้เหมือน iPhone แถมยังอาจจะสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชันต่างๆ เข้ามาไว้ในตัวหุ่นได้ บนเครื่อง iPhone นั้น หากเราอยากได้โปรแกรมอะไรเพื่อมาใช้งานในเครื่องของเรา เราจะเข้า App Store แล้วโหลดโปรแกรมต่างๆ เข้ามาในเครื่อง ปัจจุบันมีโปรแกรมอยู่มากกว่า 100,000 รายการให้ใช้ครับ มีโปรแกรมใหม่ๆ ถูกบรรจุเข้าไปใน App Store ทุกวัน iPhone จึงเปรียบประดุจเครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ ที่มีซอฟต์แวร์หลากหลายให้ใช้มากที่สุด

ลองนึกดูว่าหากเรามีหุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายๆ iPhone คือถูกออกแบบมาให้สามารถที่จะโหลดโปรแกรม เข้ามาใช้งานได้ในภายหลัง จะดีมากแค่ไหนครับ? เพราะปัจจุบัน หากเราซื้อหุ่นยนต์มาใช้ มันจะถูกบรรจุโปรแกรมเอาไว้ค่อนข้างตายตัว หากเราต้องการจะนำโปรแกรมที่คนอื่นเขียน เข้ามาใส่ในหุ่นยนต์ มันจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากครับ

แต่ในอนาคต สิ่งนี้จะเปลี่ยนไป โครงการที่มีชื่อว่า Robot Operating System (ROS) จะทำให้หุ่นยนต์ทำงานภายใต้ระบบปฏิบัติการ (Operating System) เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่มี Windows หรือ Mac OS หรือ Linux ที่ทำงานรองรับโปรแกรมต่างๆ เจ้า ROS จะเป็นพื้นฐานให้หุ่นยนต์ โดยมันจะทำงานพื้นฐานต่างๆ เช่น การควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ มอเตอร์ เซอร์โว การรับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ รวมทั้งจะมีไลบราลีสำหรับทำงานพื้นฐาน เพื่อให้โปรแกรมที่เขียนขึ้นมาใหม่ สามารถเรียกชุดคำสั่งเหล่านี้มาใช้งานได้

ดังนั้นเมื่อเราซื้อหุ่นยนต์ที่มี ROS มาใช้ เราก็อาจจะเข้า Robot App Store เพื่อโหลดโปรแกรมใหม่ๆ มาใส่ได้เช่นเดียวกับ iPhone ไงครับ .....

DARPA หวังสร้างรถเหาะได้สำหรับการทหาร


ในปี ค.ศ. 2010 นี้ เราจะได้เห็นสิ่งที่เคยเป็นความฝัน หรือเป็นนิยาย ถูกนำมาขยายต่อเติมให้เป็นความจริง มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ อย่างเรื่องรถลอยได้ เราก็ไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นความจริงได้ใช่ไหมครับ แต่เมื่อเร็วๆ นี้เอง หน่วยงานทางด้านการสนับสนุนการวิจัยเพื่อการทหารของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรู้จักกันดีในนามของ DARPA ได้ออกมาประกาศระดมสมองเพื่อจะจัดทำ เงื่อนไขเพื่อจะสนับสนุนทุนวิจัย ให้แก่บริษัท และมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เพื่อร่วมพัฒนาต้นแบบรถเหาะ ซึ่งโครงการที่จะเกิดขึ้นนี้มีชื่อเท่ห์มากครับว่า Transformer (TX)

เวอร์คช็อปที่ DARPA จะจัดขึ้นในวันที่ 14 มกราคม 2553 ที่จะถึงนี้ เขาซีเรียสมากๆ ครับว่าจะได้แนวคิดใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างต้นแบบรถที่บินได้ เพื่อใช้ในการสงคราม DARPA จะแสดงวิสัยทัศน์ว่าทางกองทัพอยากได้รถบินได้ในลักษณะอย่างไร เจ้ารถ Transformer หรือ TX ที่เขาอยากได้นั้น ยังไงก็คือรถ ไม่ใช่เครื่องบิน ดังนั้นมันจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการวิ่งบนพื้นดิน บนถนน หรือ นอกถนนก็แล้วแต่ แต่เมื่อไรก็ตามที่จำเป็นจะต้องบิน มันต้องลอยขึ้นไปได้โดยสามารถพาผู้โดยสารจำนวน 1-4 คน ขึ้นไปในอากาศในแนวดิ่ง (Vertical Take-off and Landing หรือ VTOL) และในการนี้ มันต้องประหยัดพอที่จะใช้เชื้อเพลิงที่ไม่มากจนเกินไป กองทัพสหรัฐฯ หวังว่า เจ้า TX นี้จะทำให้ทหารราบสหรัฐฯ เดินทางไปไหนมาไหน โดยสามารถเลือกเส้นทางว่าช่วงไหนจะวิ่งบนดิน ช่วงไหนจะลอยบนอากาศ ทำให้เส้นทางเปลี่ยนไปมาจนข้าศึกไม่สามารถจะซุ่มโจมตีได้ถูก


แต่จะไปถึงจุดนั้นได้ หมายถึงว่าเราจะต้องแก้ปัญหาหลายๆ อย่าง รวมทั้งจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีก่อกำเนิด (Enabling Technologies) หลายๆ ตัว เช่น ปีกที่เปลี่ยนรูปร่างได้ ระบบขับดันแบบใหม่ วัสดุนาโนคอมพอสิตชนิดเบามากๆ ระบบควบคุมการบินอัจฉริยะ เครื่องยนต์แบบไฮบริด แบตเตอรีความจุสูง และอื่นๆ

ขึ้นทศวรรษใหม่ ของศตวรรษที่ 21 แล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ ......

07 มกราคม 2553

The Science of Ageing - ชราศาสตร์: ศาสตร์แห่งการแก่ (ตอนที่ 4)


วันนี้ผมได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์ท่านหนึ่งว่า ทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนจะเชิญศาสตราจารย์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ค.ศ. 2004 ซึ่งก็คือ Aaron Ciechanover จากผลงานในการค้นพบกลไกการเสื่อมสลายของโมเลกุลโปรตีน ในร่างกายสิ่งมีชีวิต มาปฏิบัติงานที่คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล เป็นเวลา 2-3 เดือน โดยระหว่างที่ท่านอยู่ที่เมืองไทย ท่านจะปฏิบัติภารกิจมากมาย เช่น การบรรยาย การเป็นพี่เลี้ยงให้แก่นักวิจัยทั้งรุ่นเล็ก และรุ่นใหญ่ รวมทั้งกิจกรรมทางสังคม เช่น ถ้าใครอยากขอถ่ายรูปกับท่าน ก็จะเป็นโอกาสที่ดี เพราะท่านก็คงจะต้องใช้ชีวิตเหมือนพวกเราที่มหิดล ก็คือ ทานข้าวแกงในโรงอาหาร

ผมค่อนข้างดีใจที่ได้ทราบข่าวเรื่องนี้ จริงๆ ก่อนหน้านี้คณะวิทยาศาสตร์ ก็เคยมีผู้ได้รางวัลโนเบลมาปฏิบัติงานอยู่ที่คณะฯ แต่ผมก็ไม่ค่อยจะปลื้มใจนักหรอกครับ ก็เพราะสิ่งที่ท่านทำ และได้รางวัลมันนานเป็น 40 ปีมาแล้ว ซึ่งเราก็ไม่ตื้นเต้นในเรื่องนั้นอีกแล้ว แต่ผลงานของท่าน Aaron Ciechanover นั้นเพิ่งได้รางวัลเมื่อไม่นานนี้เอง และสิ่งที่ท่านค้นพบ ก็เป็นจิ๊กซอร์สำคัญตัวหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องของ "ชราศาสตร์" ได้ครับ ซึ่งรางวัลโนเบลในปี 2009 ที่ผ่านมาทางด้านการแพทย์ ก็ได้มอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบกลไกของการชราภาพ เช่นกัน


ช่วงหลังๆ เราเริ่มจะเห็นแนวคิดเกี่ยวกับการยืดอายุขัยของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ วันหลังผมจะนำความก้าวหน้าทางด้านนี้มาเล่าให้ฟังต่อนะครับ

05 มกราคม 2553

Bionic Insect - แมลงชีวกล (ตอนที่ 8)


เมื่อสัก 2-3 เดือนก่อน ผมได้อ่านเจอบทความเกี่ยวกับความวิตกกังวลในภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้ผึ้งหลายชนิดอาจจะสูญพันธุ์ ส่งผลให้การเกษตรในอนาคตจะเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากพืชพันธุ์หลายชนิด อาศัยผึ้งช่วยในการผสมเกสร ซึ่งในช่วงนั้น มีบทความหรือข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้บ่อยมาก ทั้งในเน็ต หรือในนิตยสารที่ผมรับประจำอย่าง Newsweek และ Time ก็พูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งผมก็อ่านผ่านๆ ตา ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าใดนัก

จริงๆ แล้ว เรื่องของความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์หลายชนิดเมื่อโลกร้อนขึ้น นั้นเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว แต่สำหรับผม เชื่อว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องปกติ ไม่แปลกอะไรที่สัตว์ที่แข่งขันไม่ได้จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด แม้แต่มนุษย์อย่างพวกเราเอง วันหนึ่งก็ต้องมีสัตว์อื่นขึ้นมาแทนที่ ดังนั้น การอนุรักษ์หรือพยายามรักษาไม่ให้สัตว์ชนิดไหนสูญพันธุ์ สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีเหตุผลนัก ออกจะใช้อารมณ์เสียด้วยซ้ำ แต่สำหรับผึ้งแล้ว การสูญพันธุ์ของมันจะมีผลต่อมนุษย์ค่อนข้างมาก จนเราอาจต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้

นักวิทยาศาสตร์กำลังมองหาแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ครับ ผึ้งอาจจะสูญพันธุ์ การอนุรักษ์อาจไม่ได้ผล ดังนั้นเราจึงต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วย เทคโนโลยีหนึ่งที่คิดว่าเป็นไปได้คือการพัฒนาหุ่นยนต์ผึ้งออกมา หรือทำผึ้งชีวกล ที่ทำงานเหมือนผึ้งจริงๆ

ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ โรเบิร์ต วู้ด (Robert Wood) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) กำลังพัฒนาฝูงหุ่นยนต์ผึ้งที่มีชื่อเรียกว่า Robobee โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาชีววิทยา และ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ รวมไปถึงภาควิชาคอมพิวเตอร์ ด้วยความสำคัญของแนวคิดนี้ ทางมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนทุนวิจัยที่มีมูลค่าถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 35 ล้านบาท เป้าหมายก็คือ จะต้องสร้างฝูงหุ่นยนต์ผึ้งที่สามารถทำงานทดแทนผึ้งให้ได้ภายใน 5 ปี โดยเจ้าหุ่นยนต์ผึ้งนี้จะทำงานประสานกันเป็นฝูง โดยเกษตรกรจะวางรังของมันเอาไว้ในเรือกสวนไร่นา มันมีเซ็นเซอร์ที่จะตรวจหาดอกไม้ และมีกล้องขนาดเล็กเพื่อทำแผนที่ของไร่สวน จากนั้นมันจะถ่ายทอดแผนที่ให้แก่ หุ่นยนต์ผึ้งตัวที่ใหญ่กว่า มีแบตเตอรีใหญ่กว่า เพื่อบินออกไปทำการผสมเกสร

วันหลังผมจะมาคุยเรื่องนี้ต่ออีกนะครับ ....

02 มกราคม 2553

นักวิจัยพบ ระบบรดน้ำในไร่องุ่นสูญเสียน้ำ 10%


มีข่าวจาก Standford University ครับว่า นักวิจัยของเขาได้ทำการศึกษารูปแบบการรดน้ำในไร่องุ่น ซึ่งจะใช้วิธีปล่อยน้ำออกจากหัวรดน้ำมาเป็นสาย (Dripping) ลงไปยังพื้นดิน จากนั้นน้ำจะไหลลงไปเป็นทาง เขาพบว่าน้ำจะสูญเสียไปประมาณอย่างน้อย 10% ของน้ำทั้งหมดที่รดไปครับ

นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่าน้ำที่สูญเสียไป เกิดจากการที่ดินมีรอยแตก ซึ่งเกิดจากการที่ดินชุ่มน้ำในฤดูที่มีฝน แล้วมาสูญเสียน้ำในช่วงฤดูร้อน น้ำจึงซึมตามรอยแตก แล้วไหลอย่างรวดเร็วลงไปข้างล่าง รากองุ่นจึงไม่สามารถนำน้ำส่วนนั้นมาใช้่ได้

นักวิจัยเขาได้เสนอวิธีการลดการสูญเสียน้ำ ด้วยการรดน้ำให้ช้าลง (ปริมาณน้ำต่อเวลาลดลง) ซึ่งจะช่วยไม่ให้น้ำไหลลงดินเร็วเกินไป รวมทั้งอาจลดความสูงของหัวปล่อยน้ำให้ต่ำลงมาหน่อย ความรู้จาก paper นี้ผมได้นำไปปรึกษากับเจ้าของไร่องุ่นที่เขาใหญ่ ซึ่งปรากฏว่าก็มีประโยชน์มากต่อไร่องุ่นของไทยครับ เพราะพยากรณ์เรื่องน้ำในปีหน้าคาดว่าฝนจะแล้งแล้วครับ เกษตรกรไทยต้องเตรียมตัวให้มากๆ ครับ

01 มกราคม 2553

The Rise of Machines - เมื่อยุคของหุ่นยนต์มาถึงแล้ว (ตอนที่ 2)


สวัสดีปีใหม่ 2553 ครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน ปีนี้เป็นปีเริ่มต้นของทศวรรษที่ 2 ของศตวรรษใหม่ คาดว่าจะเป็นปีที่ดีมากๆ สำหรับวิทยาศาสตร์ และปีที่ดีสำหรับประเทศไทยนะครับ ปีนี้จะเป็นปีที่เปิดศักราชในเรื่องหลายเรื่อง ที่จะมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเราในอนาคต ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 เราได้เห็นกระบวนทัศน์ใหม่หลายอย่างที่เกิดขึ้น การหลอมรวมของศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน การที่ชีววิทยาเข้าไปยุ่งกับเทคโนโลยีแทบจะทุกอย่าง การเข้ามาของนาโนเทคโนโลยี การเกิดขึ้นของวิทยาศาสตร์จิตใจ และอื่นๆ อีกมากมาย ผมคงมีเรื่องที่จะเขียนแทบจะไม่หวาดไม่ไหวในปีนี้ครับ ก็จะติดตามนำมาเล่าให้ฟังเช่นเคยครับ
ต้อนรับปีใหม่ปีนี้ ผมขอสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของหุ่นยนต์ต่อ เมื่อวันก่อนผมได้พูดถึงความสามารถเชิงอารมณ์ และเชิงสังคมที่เพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์ในปีที่ผ่านมา วันนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องความสามารถที่สูงขึ้น ในการเป็นเพื่อนช่วยเหลือมนุษย์
ทีมวิจัยจาก Northeastern University ได้พัฒนาอุปกรณ์หุ่นยนต์สำหรับช่วยฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยอัมพฤกษ์ ที่เกิดภายหลังอาการเส้นเลือดแตกในสมอง อุปกรณ์นี้จะช่วยในการกระตุ้นกล้ามเนื้อ ให้ออกกำลัง และกระตุ้นให้มีการส่งสัญญาณประสาทไปยังสมอง เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อสัญญาณประสาทระหว่างกล้ามเนื้อกับสมองได้ดีขึ้น อุปกรณ์นี้สามารถนำไปใช้เองที่บ้านได้

ทีมวิจัยจาก George Mason University พัฒนาอุปกรณ์ฟื้นฟูกล้ามเนื้อแขน ที่ดัดแปลงมาจากเครื่องเล่นเกมส์ ซึ่งจะช่วยทำให้เด็กๆ ที่ป่วยจากโรคแขนขาลีบ ได้พัฒนาการควบคุมกล้ามเนื้อ ให้สามารถที่จะเขียนหนังสือได้ ซึ่งอุปกรณ์นี้มีราคาไม่แพง กำลังจะนำออกขายกลางปี 2010 นี้ครับ

ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ฮาววี่ โชเซ่ (Howie Choset) แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University) ได้พัฒนาหุ่นยนต์งูที่สามารถเลื้อยไปเลื้อยมาได้ในสนามรบ มันสามารถที่จะเลื้อยไปยังทหารบาดเจ็บที่นอนหงายเก๋งอยู่ ซึ่งในสถานการณ์ที่ยังมีการระดมยิงต่อสู้อย่างหนัก หมอสนามอาจจะไม่สามารถเข้าถึงผู้บาดเจ็บได้ทันที เจ้าหุ่นยนต์งูนี้จะทำหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสถานะทางสุขภาพของทหาร แล้วรายงานผ่านระบบไร้สายมายังหมอสนาม

วันหลังมารายงานเรื่องนี้ต่อครับ .....