30 มีนาคม 2551

Mobile Pod รถยนต์แห่งอนาคต (ตอนที่ 2)


วันนี้มาคุยให้ฟังต่อนะครับว่า นักอุตสาหกรรมเขามีมุมมองอย่างไร กับเรื่องของรถยนต์แห่งอนาคต แต่ก่อนอื่น ขอเล่าเรื่องพม่าต่ออีกนิดนึงครับ ผมได้มีโอกาสไปเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงปัจจุบัน กับเมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า มองเมืองย่างกุ้งแล้วก็เจริญหูเจริญตา เมืองนี้อาจตามหลังกรุงเทพฯของเราสัก 50 ปี เปรียบเทียบกับหงสาวดีที่เป็นตัวแทนของความยากจน เรามองจะมุมมองของเราชีวิตของเขาดูจะทุกข์ยาก แต่จริงๆแล้วเขาก็มีความสุขในแบบของเขา พม่ายังเป็นเมืองพุทธที่เคร่งครัดมาก คนพม่าจะชอบเข้าวัด นั่งสมาธิ ความเพลิดเพลินของเขาคือการไปนั่งมองเจดีย์ชเวดากองที่ศักดิ์สิทธิ์ยามค่ำคืน คิดไป คิดไป ก็เสียดายว่า วันหนึ่งประเทศที่มีความสวยงามทางด้านจิตใจแห่งนี้ ก็จะเจริญขึ้นมาแบบประเทศไทย หรือ เวียดนาม คอยดูสิครับ อีก 10 ปี พม่าจะก้าวขึ้นมาแข่งขันกับพวกเราในอาเซียน


ย้อนกลับมาดูแนวโน้มของรถยนต์ในอีก 10 ปีข้างหน้าที่นักอุตสาหกรรมล้วนคาดการณ์ว่า จะเล็กลง เล็กลง จนกลายเป็นของใช้ประเภท Pod กระจุ๋ม กระจิ๋ม เลือกสี เลือกลาย เลือกน่ากาก พอตกรุ่นก็ทิ้งก็เปลี่ยน ออกแนว i-Pod ผมก็เลยตั้งชื่อใหม่ให้ว่า Mobile Pod หรือ m-Pod ไปซะเลย ปกติแล้วการเปลี่ยนรถยนต์บ่อยๆ เป็นเรื่องของคนมีตังค์ที่มีไลฟ์สไตล์แบบ Playboy เท่านั้น แต่ถ้าหากรถราคาไม่ถึงแสนล่ะครับ ก็อาจเปลี่ยนได้บ่อยขึ้น ถ้ามีรุ่นใหม่โดนใจ ก็อาจอยากเปลี่ยนเหมือนโทรศัพท์มือถือ เมื่อก่อนผมก็ไม่เคยคิดว่าเรื่องแบบนี้จะเป็นไปได้นะครับ แต่เมื่อสัก 2 เดือนที่แล้วนี้ รถยนต์จิ๋วที่มีชื่อว่า Tata Nano ก็ได้รับการเปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์ที่ นิวเดลฮี ประเทศอินเดีย เจ้า Tana Nano เป็นรถที่ผลิตในอินเดียโดยบริษัททาทา ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมของอินเดีย เจ้า Nano คันนี้มีขนาดความจุกระบอกสูบเพียง 623 ซีซี ผลิตกำลังได้ 33 แรงม้า ด้วยน้ำหนักเพียง 600 กิโลกรัม ทำให้มันวิ่งได้มากกว่า 20 กิโลเมตรต่อลิตร เจ้ารถ Nano มีราคาเพียง 2,500 เหรียญสหรัฐ หรือ 75,000 บาทเท่านั้น นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมต่างลงมติว่า เจ้า Tata Nano ที่มีราคาใกล้ๆกับเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อฟูจิตสึ นี่แหละครับ จะเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์ในไม่ช้านี้ เพราะมันไม่เพียงแต่จะทำให้ประชากรในโลกที่สาม กลายมาเป็นนักเดินทางด้วยล้อ มันยังจะกลายมาเป็นผู้ที่กำหนดทิศทางของอนาคตด้วย บริษัท GM ยักษ์ใหญ่ยานยนตร์โลกต้องร้องฮู ตามมาด้วยการยกเลิกรถใหญ่ขนาดเครื่องยนต์ V8 แล้วหันมาวางแผนผลิตรถเล็กแทน


นอกจากแนวโน้มในเรื่องของขนาด ที่จะเล็กลงแล้ว จะเกิดอะไรกับรถยนต์ในอนาคตอีก แล้วมาคุยกันต่อนะครับ ........

29 มีนาคม 2551

Mobile Pod รถยนต์แห่งอนาคต (ตอนที่ 1)

oo สวัสดีครับ หายไปหลายวันเลยครับ ผมเพิ่งกลับจากประเทศพม่า เลยไม่ได้อัพเดต Blog เสียหลายวัน ไปประชุมวิชาการเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีที่ย่างกุ้ง ฟังดูทีแรกพวกเราคงจะไม่เชื่อว่าพม่าเขาเริ่มมาสนใจเรื่องพวกนี้แล้วเหรอ เขาก็เริ่มสนใจบ้างแล้วครับ แต่อย่าห่วง ..... ประเทศไทยยังนำพม่าอยู่ห่างมากๆ ห่วงแต่มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ดีกว่าครับ ในภาพรวมถึงแม้เราจะเป็นผู้นำ แต่ก็แพ้อยู่ในบางศาสตร์ การได้ไปพม่าเป็นประสบการณ์ที่ตรึงตาตรึงใจที่สุด เพราะเมื่อได้หันหลับมามองประเทศไทยแล้ว จะได้แง่คิดอะไรหลายอย่าง แล้วก็ได้เห็นศักยภาพของเขา ที่จะขึ้นมาแข่งขันกับเราในอนาคตด้วย เชื่อผมเถอะครับ ! ในรุ่นลูกของเรา หรืออีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า เราก็จะเริ่มพูดถึงการแข่งกับพม่า แทนเวียดนามแน่ๆ


วันนี้ผมจะมาพูดถึงแนวโน้มของเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตกันครับ หลังจากพูดถึง The End of Oil กันไปหลายตอน อันที่จริงที่ต้องคิดเรื่องรถยนต์อนาคตก็มาจากสาเหตุนี้แหล่ะครับ ตอนนี้โลกกำลังมองแนวโน้มใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ 2-3 เรื่องครับ เรื่องแรกก็คือ รถยนต์ในอนาคตจะเริ่มเล็กลง เล็กลง แล้วก็เล็กลง จนเราอาจเรียกมันว่าเป็น Mobile Pod คืออุปกรณ์ขับขี่ แนวๆเป็นของใช้จุ๋มจิ๋มเหมือน i-Pod นั่นเอง ในปีที่ผ่านมานี้เอง ยอดขายของรถยนต์คันเล็กๆ เพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในยุโรป รถยนต์เล็กอย่าง Peugeot 207 ขายได้ 437,505 คัน อีกทั้งยอดขายของรถยนต์เล็กรวมทั้งหมดประมาณว่าจะมีขนาดตลาดถึง 4 ล้านกว่าคันในปีนี้ ยอดขายรถเล็กในญี่ปุ่นประมาณกันว่าจะสูงถึง 2 ล้านคันในปีนี้ จีนและอินเดียก็จะมียอดถึง 1 ล้านคัน บราซิลประเทศที่พึ่งตัวเองในเรื่องพลังงานได้ ก็คาดว่าจะมียอดขายถึง 1.9 ล้านคัน เป็นอะไรที่ไม่ธรรมดาจริงๆ สำหรับเจ้า Mobile Pod นี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ต่างคาดการณ์กันว่า รถเล็กจะมียอดขายทั่วโลกถึง 38 ล้านคัน ในปี ค.ศ. 2012



พรุ่งนี้เราจะมาคุยต่อกันนะครับว่าเจ้า Mobile Pod หรือ m-Pod นี้จะเป็นของเล่นเทียบชั้น i-Pod ได้หรือไม่ .......

20 มีนาคม 2551

นาโนโอท็อป (Nano OTOP) - ตอนที่ 5


ประเทศไทยมีชื่อเสียงมานานในเรื่องของผลิตภัณฑ์ผ้า เนื่องจากประเทศเรามีความหลากหลายในเรื่องของวัฒนธรรม ชนเผ่า หรือ ความเป็นท้องถิ่น แม้แต่ความจำเพาะหรือเอกลักษณ์ของลายผ้าก็ยังมีความแตกต่างจากถิ่นหนึ่งไปยังอีกถิ่นหนึ่ง เช่น ที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย มีเอกลักษณ์ของการทอผ้าตีนจก ส่วนจังหวัดนครพนมมีเอกลักษณ์ในเรื่องของผ้าทอมัดหมี่ที่มีลายไม่ซ้ำแบบใคร และเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษที่มีอยู่หลายชนเผ่า ผมเคยไปที่จังหวัดพิษณุโลกแล้วมีโอกาสได้เข้าไปคุยกับ OTOP ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้ทราบมาว่า พิษณุโลกนั้นมีผ้าทอลายดอกปีบซึ่งถือเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด ลายดอกปีบนี้ถือเป็นจุดขายของผ้าที่นี่ เนื่องจากเดิมทีพิษณุโลกไม่มีมรดกตกทอดทางด้านผ้าทอมาก่อน ผู้ที่นำงานทางด้านผ้าทอเข้ามาสู่จังหวัดนี้เป็นชนเผ่าที่อพยพมาจากถิ่นอื่น เช่น มาจากนครพนม หรือ มาจากทางประเทศลาว เป็นต้น การเกิดลายดอกปีบขึ้นจึงกลายเป็นจุดเด่นของผ้าทอที่นี่ ทำให้ผ้าทอที่นี่พอสู้ผ้าทอที่อื่นๆได้ เมื่อถามว่าชาวบ้านที่นี่จะพอใจหรือไม่หากนักวิจัยสามารถนำเอาเทคโนโลยีการบรรจุที่เรียกว่า แค็ปซูลจิ๋ว (micro-encapsulation หรือ nano-encapsulation) ซึ่งเป็นแค็ปซูลที่มีขนาด 200-400 นาโนเมตร มาบรรจุกลิ่นของดอกปีบลงไป แล้วนำไปใส่ไว้ในผ้า โดยสามารถควบคุมการปล่อยกลิ่นให้ออกมาเรื่อยๆ ทำให้ผ้าลายดอกปีบมีกลิ่นหอมของดอกปีบ โดยกลิ่นหอมนั้นควรจะอยู่กับผ้าแม้จะนำไปซักหลายๆ ครั้งก็ตาม คำตอบก็คือ ชาวบ้านชอบใจกับแนวคิดนี้มาก แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีที่จะนำไปให้ชาวบ้านใช้ ไม่ควรเป็นเทคโนโลยีที่เข้าไปทดแทนสิ่งที่ชาวบ้านเคยทำได้ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะจะทำให้ภูมิปัญญาชาวบ้านหายไป แต่ควรเป็นเทคโนโลยีที่เข้าไปเพิ่มเติมสิ่งใหม่ที่ไม่มีมาก่อน ซึ่งสำหรับกรณีนี้ก็น่าจะถือได้ว่าสอบผ่าน


แค็ปซูลจิ๋วเป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อควบคุมการปลดปล่อยสาร หรือโมเลกุล ให้ออกมาทำงานตามสภาวะ หรือเวลาที่เราต้องการ โดยเทคโนโลยีในการควบคุมการปลดปล่อยนั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปลดปล่อยช้า (slow release) การปลดปล่อยเร็ว (quick release) การปลดปล่อยจำเพาะ (specific release) การปลดปล่อยด้วยความชื้น (moisture release) การปลดปล่อยด้วยความร้อน (heat release) การปลดปล่อยด้วยสภาพกรด-ด่าง (pH release) สำหรับสิ่งทอนั้น นอกจากกลิ่นหอมแล้ว เทคโนโลยีนี้ก็อาจนำมาบรรจุยาฆ่าเชื้อโรค (สำหรับผ้าพันแผล) ยาหรือสมุนไพรสมานแผล (สำหรับผ้าปิดแผล) สารสกัดบำรุงผิวพรรณ (สำหรับชุดชั้นใน หรือ เสื้อผ้าสุขภาพ) สารกันติดไฟ (สำหรับผ้าม่าน) โดยแค็ปซูลเหล่านั้นจะไม่ปลดปล่อยสารออกฤทธิ์ออกมาในสภาวะปกติ แต่จะปลดปล่อยเมื่อถูกกระตุ้น โดยนักวิจัยต้องออกแบบให้โมเลกุลที่ห่อหุ้มคลายตัวหรือสลายตัวเพื่อปลดปล่อยในสภาวะที่ต้องการ


นอกจากแค็ปซูลจิ๋วแล้วยังมีนาโนเทคโนโลยีอย่างอื่นๆอีกที่สามารถนำเข้ามาช่วย OTOP ได้ เช่น คณะวิจัยจากสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้นวิธีการในการนำเอาอนุภาคนาโนของเงิน ซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคไปติดไว้กับเส้นใยผ้า ทำให้เส้นใยผ้ามีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งจะเป็นการลดกลิ่นตัวของผู้สวมใส่ได้ ทีมวิจัยจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเอาเทคโนโลยีพลาสมามาปรับปรุงพื้นผิวของผ้าไหม ทำให้มีลวดลายในระดับนาโนที่คล้ายคลึงกับพื้นผิวของใบบัว ส่งผลให้ผ้าไหมมีสมบัติไม่เปียกน้ำ และกันสิ่งสกปรกได้ เทคโนโลยีทั้งสองประการที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สามารถทำให้มีราคาที่ถูกลง เพื่อไปสนับสนุนงานทางด้าน OTOP ได้

16 มีนาคม 2551

อวสานของน้ำมัน (ตอนที่ 3) - Masdar Initiative


วันนี้ผมขอมาเล่าเรื่องของโครงการหนึ่ง ที่แสดงถึงวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่มาก เป็นโครงการที่ต้องการปลดแอกตัวเองจากน้ำมัน ทรัพยากรที่ทั้งโลกกำลังหิว แต่มีราคาที่แพงหูฉี่อยู่ในปัจจุบัน น่าแปลกที่ประเทศที่ต้องการดำเนินโครงการนี้ ให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวโลก กลับไม่ใช่ประเทศที่ใช้น้ำมันมากที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกา แต่กลับเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางอย่าง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2551 นี้เอง ประเทศนี้ได้ออกมาประกาศที่จะสร้างเมืองในฝันกลางทะเลทราย ที่มีพื้นที่ขนาด 6 ตารางกิโลเมตร บรรจุประชากรได้ 50,000 คน และธุรกิจ 1,500 แห่ง เมืองนี้จะไม่ใช้น้ำมัน แต่เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์สุริยะ โครงการในฝันที่กำลังเร่งสร้างให้ทันเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2553 นี้มีชื่อว่า Masdar City ออกแบบโดยท่านลอร์ด Norman Foster นักออกแบบชาวอังกฤษที่เคยฝากผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมเลื่องชื่อ มากมายมาแล้วทั่วโลก เมืองนี้จะไม่มีรถราที่ใช้น้ำมันมาวิ่งให้กวนใจ ประชากรจะใช้รถไฟฟ้าแบบรางเบาที่เชื่อมโยงทั้งเมือง หรืออาจจะใช้สิ่งที่เรียกว่ากระสวยขับเอง (Automated Transport Pod) ที่วิ่งอัตโนมัติจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ทุกๆจุดในเมืองจะถูกออกแบบให้อยู่ห่างจากจุดขึ้นรถสาธารณะไม่เกิน 200 เมตร เมืองนี้จะถูกเชื่อมโยงกับอาบูดาบี ซึ่งเป็นเมืองหลวงด้วยรถไฟความเร็วสูง ในเรื่องของการกำจัดขยะนั้น เมืองจะถูกออกแบบให้ 99% ของขยะถูกจัดการให้นำกลับมาใช้ใหม่ รวมไปถึงน้ำด้วย


ความเจ๋งของเมืองนี้ทำให้ Norman Foster ผู้ออกแบบถึงกับบ่นออกมาว่า "ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็พึ่งพาน้ำมันเต็มๆตัว ไม่คิดถึงการทำอะไรแบบนี้ ทำไมประเทศยุโรปที่มีทั้งพื้นฐานทางปัญญาและทรัพยากรที่แข็งแกร่งไม่สามารถที่จะริเริ่มเมืองแบบนี้ ผมถามตัวเองอยู่บ่อยๆว่า ทำไมโครงการแบบนี้ที่พร้อมจะเกิดขึ้นที่ไหนในโลกก็ได้ที่มีความก้าวหน้าสูง กลับมาเกิดขึ้นที่นี่ ........"

14 มีนาคม 2551

The End of Oil - อวสานของน้ำมัน (ตอนที่ 2)


กับคำถามที่ว่า ตอนนี้โลกถึงจุดสูงสุดของกำลังการผลิตน้ำมันดิบ หรือ Peak Oil แล้วหรือยัง เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นปีที่ราคาน้ำมันเริ่มถีบตัวสูงขึ้นมาเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจของจีนที่บูมขึ้นมา ทำให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น เมื่อมาเจอผลพวงจากเหตุการณ์ 11 กันยายน ก็ทำให้ทั่วโลกเป็นห่วงตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญ ส่งผลทำให้เกิดการเก็งกำไรราคาน้ำมันขึ้นมาซ้ำเติมอีก นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือ OPEC ก็มีอำนาจต่อรองเหนือผู้ใช้น้ำมันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จนสามารถกำหนดกำลังการผลิตและราคาตามใจได้ ทำให้คำถามที่ว่า Peak Oil เกิดขึ้นหรือยัง ยิ่งตอบได้ยาก เพราะราคาน้ำมันที่สูงในปัจจุบัน อาจเป็นผลมาจากการเมือง มากกว่าความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องการรู้ว่า น้ำมันใกล้หมดหรือยัง


ผลการศึกษาตามแนวของ Hubbert Peak Theory แต่ไหนแต่ไรก็บอกว่าโลกเข้าใกล้ยุค End of Oil แล้ว ในช่วง ค.ศ. 2000 - 2015 นี้แหล่ะ ได้เห็น Peak Oil แน่ๆ แต่ค่ายที่มองโลกในแง่ดีก็ค้านมาตลอด เช่น International Energy Agency (IEA) ได้ออกรายงานเล่มหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว โดยบอกว่า Peak Oil ยังอยู่อีกไกล โดยกล่าวว่าโลกเราซึ่งใช้น้ำมันกันวันละ 86 ล้านบาร์เรล จะมีความต้องการน้ำมันดิบเพิ่มเป็นวันละ 95.8 ล้านบาร์เรลในปี ค.ศ. 2012 ซึ่งเฉพาะ OPEC ก็น่าจะสามารถรองรับได้ น้ำมันที่ OPEC ผลิตนั้น เป็นน้ำมันในรูปแบบธรรมดา หรือ Conventional ซึ่งขุดเจาะบนแผ่นดิน หรือไหล่ทวีป แต่โลกเรายังมีน้ำมันประเภทอื่นๆ เช่น น้ำมันในทะเลลึก และ ทรายน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการนำมาใช้ น้ำมันประเภทหลังนี้เองที่ต้องลงทุนสูงในการนำออกมาใช้ ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายสนับสนุน Peak Oil หรือฝ่ายคัดค้าน ล้วนเห็นตรงกันว่ายุคของน้ำมันราคาถูกนั้นจบลงแล้ว - The End of Cheap Oil - ซึ่งเราคงไม่มีโอกาสได้กลับไปเห็นน้ำมันเบนซินลิตรละ 10 บาท อีกต่อไปแล้ว


ในขณะที่ประเทศอาหรับผู้ขายน้ำมันเอง ตอนนี้เขาเริ่มปันเอาผลกำไรมาพัฒนาพลังงานทางเลือกกันแล้ว แต่ประเทศไทยผู้ใช้น้ำมันยังไม่ค่อยเอาจริงเอาจัง เพราะคิดว่าราคาน้ำมันอาจจะกลับไปถูกเหมือนเดิม วันหลังผมจะมาเล่าให้ฟังครับว่า อาหรับเขากำลังพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางแห่งพลังงานทางเลือกของโลกกันอย่างไร .......

13 มีนาคม 2551

The End of Oil - อวสานของน้ำมัน (ตอนที่ 1)


เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว M. King Hubbert นักธรณีวิทยา ได้ก่อตั้งทฤษฎีเพื่อใช้ทำนายอวสานของการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐว่าจะเกิดขึ้นในปี คศ. 1965-1970 การทำนายที่แม่นยำของเขา เป็นจุดกำเนิดของ Hubbert Peak Theory อันโด่งดังและใช้ต่อๆ กันมาเพื่อทำนายเวลาที่การผลิตน้ำมันของโลก จะไปถึงจุดสูงสุด และไม่สามารถจะเพิ่มกำลังผลิตได้อีก จุดนี้เราเรียกว่า Peak Oil หลังจากจุดนี้แล้ว การผลิตน้ำมันจะค่อยๆ ลดลงๆ ไปเรื่อยๆ จนไม่มีน้ำมันเหลือให้ใช้อีกต่อไป


การทำนายจุดที่จะเกิด Peak Oil ให้ได้อย่างแม่นยำนั้น สำคัญมาก เพราะเมื่อเกิด Peak Oil แล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะปริมาณความต้องการมีมากกว่ากำลังผลิต ราคาสินค้าจะถีบตัวสูงขึ้นเพราะต้นทุนด้านพลังงาน เนื่องจากปิโตรเลียม เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมหลายชนิด การผลิตพลาสติก ปุ๋ย ยา สารเคมี เครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลาย ต่างก็ใช้โมเลกุลอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำมันดิบ หรือ ก๊าซธรรมชาติทั้งนั้น เมื่อต้นทุนแพงขึ้น โรงงานก็จะเริ่มลดการผลิต ส่งผลให้เกิดการว่างงานขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจถดถอยลดน้อยลง และสิ่งที่จะเกิดตามมาคือ สงครามแย่งชิงพลังงาน จะว่าไปสาเหตุที่ญี่ปุ่นส่งเครื่องบินไปถล่มหมู่เกาะฮาวายของสหรัฐอเมริกา อันเป็นชนวนแห่งสงครามมหาบูรพา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ก็เกิดเพราะอเมริกาตัดการส่งน้ำมันไปยังญี่ปุ่นนั่นเอง


คำถามก็คือ Peak Oil จะเกิดเมื่อใด? หรือ มันเกิดขึ้นแล้วหรือยัง? ท่ามกลางการถกเถียงอย่างหนักระหว่าง 2 ค่าย พวกมองโลกแง่ดีบอกว่า โลกเรายังเหลือน้ำมันอีกมากมาย และยุคน้ำมันเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น ในขณะที่พวกมองโลกแง่ร้าย มองไปถึงขั้นว่า หลัง Peak Oil แล้ว อารยธรรมของโลกเราจะถูกทำลาย ระบบทุนนิยมที่มีฐานอยู่บนน้ำมันราคาถูก จะล่มสลาย เมื่อปี ค.ศ. 1999 นั้นราคาน้ำมันดิบยังอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลอยู่เลย ถ้าใครพอจำได้ ตอนนั้นเราเติมน้ำมันเบนซินกันลิตรละ 10 บาท แต่ตอนนี้ 30 กว่าบาทแล้ว ราคาน้ำมันดิบก็พุ่งมาอยู่ที่ 110 เหรียญต่อบาร์เรลแล้ว เรากำลังอยู่ในช่วงของ Peak Oil แล้วใช่ไหม ..... วันหลังผมจะมาคุยต่อนะครับ

11 มีนาคม 2551

นาโนโอท็อป (Nano OTOP) - ตอนที่ 4



ในเรื่องของชาก็เช่นเดียวกัน ภูมิปัญญาชาวบ้านต่างก็รู้ดีว่า ผลิตภัณฑ์ชาที่เก็บจากสวนเดียวกันในวันเดียวกันแต่คนละแปลงปลูก ก็อาจจะให้กลิ่นรสที่แตกต่างกันได้ ดังนั้นไร่ชาในภาคเหนือที่เป็นสวนเล็กๆ มักจะรวมตัวกันเป็นสหกรณ์เพื่อที่จะออกข้อกำหนดร่วมกัน เช่น การพรวนดิน การรดน้ำ การให้ปุ๋ยเหมือนๆกัน เพื่อที่จะทำให้กลิ่นและรสของชาออกมาเหมือนๆกัน เพื่อเป็นผลดีต่อการกำหนดแบรนด์ของมัน อย่างไรก็ดีเกษตรกรของเราเองก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างที่คิดไว้จริงๆหรือเปล่าเนื่องจากยังไม่ได้มีการนำเทคโนโลยีตรวจวัดไอโมเลกุลหอมระเหยเข้าไปใช้งาน จะขอยกตัวอย่างที่ Napa Valley แหล่งผลิตไวน์อันเลื่องชื่อของมลรัฐแคลิฟอร์เนียนั้น เกษตรกรเจ้าของสวนถึงกับมีการศึกษาว่าสภาพแวดล้อมแบบไหนควรจะปลูกไวน์พันธุ์ใด แม้แต่ในสวนเดียวกัน หากสภาพแวดล้อม (Local Environment) แตกต่างกัน ก็อาจจะทำให้กลิ่นรสของไวน์แตกต่างกันได้ ทำให้ต้องกำหนดแบรนด์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก เช่น ในสวนของ Mr. John Caldwell เกษตรกรรายหนึ่งใน Napa เขาได้ทำการเก็บข้อมูลความชื้น อุณหภูมิ และแสงแดดที่ได้รับ จากนั้นจึงกำหนดพันธุ์ปลูกที่แตกต่างกันในพื้นที่ๆมีความลาดชันต่างกัน แม้จะอยู่ในไร่เดียวกันก็ตาม


ทั้งชาและไวน์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายกลิ่นและรสชาติ ซึ่งเกิดจากโมเลกุลหอมระเหย ที่สะสมขึ้นในต้นพืชในระหว่างเพาะปลูก (Pre-Harvest) และเกิดในระหว่างกระบวนการหลังเก็บเกี่ยว (Post-Harvest) เช่นในกรณีของชาอาจเกิดขึ้นในช่วงการหมัก ถ้าเป็นไวน์ก็เกิดขึ้นในช่วงของการบ่ม เป็นต้น กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวนี้สามารถควบคุมให้เป็นมาตรฐานได้ แต่กระบวนการระหว่างการเพาะปลูกอย่างเช่น แสงแดดที่ได้รับ อุณหภูมิ ความชื้น น้ำที่พืชได้รับ เป็นต้น เป็นปัจจัยที่ยากจะควบคุม และจนถึงปัจจุบันก็มีคนศึกษากันน้อยมากว่าปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อกลิ่นและรสชาติของผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างไร ในประเทศไทยที่ทำก็มีกลุ่มของ ผศ.ดร. กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


เราสามารถนำนาโนเทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องของการรักษามาตรฐาน และรสชาติของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ เช่น การนำจมูกอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กำหนดเกณฑ์ที่บอกว่าชา/ไวน์แบบไหนมีคุณภาพกลิ่นดีแล้ว เราสามารถนำเกณฑ์เหล่านั้นไปชี้ว่าปัจจัยแวดล้อมอย่างไรที่จะนำมาสู่กลิ่นแบบนั้น เช่น การหมักที่เวลาแตกต่างกัน นำมาสู่กลิ่นที่แตกต่างกันมากน้อยอย่างไร และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปมีผลต่อกลิ่นของชา/ไวน์มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้สามารถนำข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลดิน ข้อมูลน้ำ มาประมวลผลคุณภาพชา/ไวน์ ที่ได้รับสภาพเหล่านั้นต่างพื้นที่กัน โดยข้อมูลจากดาวเทียมเป็นเพียงข้อมูลบอกค่าเฉลี่ยทั่วไป ในขณะที่ข้อมูลของสภาพล้อมรอบแบบที่วัดได้วันต่อวัน สามารถเก็บได้แบบเรียลไทม์โดยอาศัย Ambient Sensor Technology ก็จะทำให้ทราบว่าสภาพแวดล้อมแบบใดที่มีผลต่อต้นพืชในการสะสมโมเลกุลหอมระเหย ซึ่งนำไปสู่กลิ่น/รสชาติที่แตกต่างได้ ซึ่งในประเทศไทยก็เริ่มมีการศึกษาทางด้านนี้บ้างแล้ว โดยผู้เขียนทำงานวิจัยร่วมกับ ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

09 มีนาคม 2551

นาโนโอท็อป (Nano OTOP) - ตอนที่ 3


สินค้าเกษตร และ อาหาร เป็นหมวดสินค้าที่แม้จะมีจำนวนรายการน้อยกว่าของขวัญ ของตกแต่งมาก แต่ก็เป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้แก่เกษตรกร และประชาชนในชนบท และยังเป็นกลุ่มอาชีพที่เทคโนโลยีระดับสูงเข้าไม่ถึง ในอดีตที่ผ่านมาเทคโนโลยีที่เข้าไปช่วยงานเกษตรกรรม มักจะเป็นเทคโนโลยีพื้นๆ เช่น เครื่องจักรกล การชลประทาน การใช้ปุ๋ยเคมี เป็นต้น ซึ่งได้ก่อให้เกิดหนี้แก่เกษตรกรจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ การนำนาโนเทคโนโลยีไทยทำมาช่วยงานทางด้านนี้ โดยเฉพาะเพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มคุณค่าแก่สินค้าเกษตรจะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปได้ ตัวอย่าง Polymer-Clay Nanocomposite ซึ่งมีคุณสมบัติลูกผสมระหว่างพลาสติกกับเซรามิกนั้น สามารถปรับเปลี่ยนคุณสมบัติให้ไปอยู่ทางพลาสติกมากๆ หรือไปอยู่ทางเซรามิกมากๆ ก็ได้ ทำให้สามารถนำไปใช้เป็นถุงพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์ สำหรับหีบห่อผลิตภัณฑ์เกษตรที่กันความชื้น เพื่อแทนที่ฟิล์มอลูมิเนียมที่มีราคาสูงกว่า อีกทั้งยังขึ้นรูปได้เหมือนพลาสติกทั่วไปไม่ว่าจะให้เป็นถุง เป็นฟิล์ม เป็นกล่อง เป็นต้น กลุ่มวิจัยทางด้าน Polymer-Clay Nanocomposite ที่มีสูตรสำหรับนำนาโนวัสดุประเภทนี้ไปใช้ในงานประยุกต์ด้านต่างๆ ก็คือกลุ่มของ ผศ. ดร. เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ศูนย์นาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกตัวอย่างหนึ่งคือการนำเอาจมูกอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยในการควบคุมคุณภาพอาหาร เช่น งานวิจัยของ ดร. สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ หน่วยวิจัยพอลิเมอร์ขั้นสูง ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้ใช้จมูกอิเล็กทรอนิกส์จำแนกข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งอาจช่วยในการระบุแหล่งผลิต เป็นการสร้างเอกลักษณ์แก่ข้าวหอมมะลิแบรนด์ต่างกัน เช่น สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ซึ่งต่างก็อ้างว่าข้าวหอมมะลิของตนอร่อยที่สุด


เครื่องดื่มประเภทสุราพื้นบ้าน สุรากลั่น สุราแช่ (สาโท) มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านแต่โบร่ำโบราณเทียบเท่ากับเหล้าสาเกของญี่ปุ่น (ฝรั่งจึงเรียกเครื่องดื่มพวกนี้ว่า Spirits) ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมที่ดี อาจสร้างมาตรฐานให้มีชื่อเสียงเช่นเดียวกับเหล้าสาเกได้ จากการสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการระดับท้องถิ่น ทั้งที่เป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหกรณ์ และ กลุ่มชาวบ้าน ใน http://www.thaitambon.com/ นั้น มีผู้ผลิตไวน์จำนวน 76 ราย สุรากลั่น 47 ราย สุราแช่ 12 ราย มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ประกาศขายที่เป็นไวน์ 575 รายการ สุรา 108 รายการ และสุราแช่ 49 รายการ ดังนั้นการใส่เทคโนโลยีเข้าไปน่าจะคุ้มค่า เทคโนโลยีชั้นสูงสามารถนำมาช่วยสร้างมาตรฐานแก่ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ เช่น การสร้างมาตรฐานเรื่องรสชาติของ สาโท ด้วยการใช้จมูกอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการทำวิจัยอยู่ที่ ศูนย์นาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

07 มีนาคม 2551

Bionics - ศาสตร์แห่งอวัยวะกล


แนวความคิดที่จะจับเอาบางส่วนของหุ่นยนต์มาใส่ให้แก่คนที่มีสมรรถนะร่างกายต่ำกว่าคนปกติ เช่น แขนเทียม ขาเทียม ไปจนถึงมือเทียม ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากทั้งผู้วิจัยและพัฒนา และผู้ใช้ทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2006 โลกได้กำเนิดมนุษย์กึ่งหุ่นยนต์ทั้งเพศชายและเพศหญิงเป็นครั้งแรก ทั้งคู่ได้สูญเสียแขนจากอุบัติเหตุ คลาวเดีย มิทเชล (Claudia Mitchell) เล่าว่าในช่วงแรกที่เธอกลับมาใช้ชีวิตที่มีแขนข้างเดียว เวลาจะรับประทานกล้วย เธอต้องเอาเท้าทั้งสองจับกล้วยแล้วใช้มือขวาที่เหลืออยู่ปอกกล้วย “การปอกกล้วยเข้าปากไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่เคยคิด” ถึงแม้ในที่สุดเธอจะยังสามารถทำภารกิจแบบนี้ได้ มันก็มักจะทำให้อารมณ์เธอแปรปรวนทุกครั้ง แต่ตอนนี้เธอเพียงแต่เอาแขนกลมาอยู่ใกล้ๆ กล้วยแล้วพยายามคิดที่จะจับกล้วย แขนกลนั้นจะตอบสนองคำสั่งจากสมองของเธอด้วยการจับกล้วยลูกนั้น ก่อนที่เธอจะใช้มือจริงของเธอปลอกเปลือกมันออกเพื่อรับประทาน ทหารผ่านศึกพิการจากสงครามในอิรักของสหรัฐอเมริกาจำนวนหลายร้อยคน ต่างก็รอคอยการกลับไปใช้ชีวิตที่ถึงไม่ใช่แต่ก็ใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยทำอยู่เดิม เทคโนโลยี Bionics จักเป็นความหวังให้ผู้พิการทางร่างกายทั่วโลก ได้ใช้ชีวิตเทียบเท่ากับคนธรรมดา


Bionics ไม่เพียงแต่จะสามารถนำพาอวัยวะทดแทนมาให้ผู้ที่บกพร่องทางร่างกายเท่านั้น แต่ศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ยังสามารถ “เพิ่มเติม” ขีดความสามารถทางร่างกายส่วนบุคคลให้สูงขึ้นไปอีกได้ ศาสตราจารย์ โยชิยูกิ ซันไก (Yoshiyuki Sankai) แห่งมหาวิทยาลัยสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่สวมใส่ได้ เรียกกันในวงการว่า Exoskeleton ซึ่งคนจะนำมาสวมไว้กับตัว จากนั้นเมื่อออกแรงยกของด้วยแขน เซ็นเซอร์จะออกคำสั่งให้กระดองกลที่ห่อแขนอยู่ออกแรงยกแทนแขนของเรา จะหุ่นยนต์ที่สวมใส่ได้ที่มีชื่อว่า HAL-5 นี้ได้ถูกสาธิตโดยการให้ผู้สวมใส่อุ้มผู้หญิงขึ้นมากลางอากาศได้อย่างที่คนอุ้มไม่รู้สึกหนักเลย กลุ่มวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ ก็ไม่ยอมน้อยหน้าโดยการนำเอาเจ้า Exoskeleton นี้มาสาธิตให้ผู้สวมใส่แบกเป้ที่มีน้ำหนักเกือบ 40 กิโลกรัม เดินโชว์ไปมาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพียงแค่เจ้าของชุดทำท่าจะเดิน หุ่นยนต์ที่สวมใส่อยู่นั้นก็จะออกตัวเดินทันที โดยรับน้ำหนักที่เป้หลังลงบนโครงโลหะของมัน


ภาพบน - หุ่นยนต์ที่สวมใส่ได้ที่ในวงการเรียกว่า Exoskeleton กำลังจะนำไปใช้ในทางทหาร (http://bleex.me.berkeley.edu/ ในไม่ช้านี้)

06 มีนาคม 2551

Mind Science - วิทยาศาสตร์ของจิตใจ


มนุษย์เรามีสัมผัส 5 อย่างคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย บางคนอาจจะมีสัมผัสบางอย่างเพิ่มเติมเข้ามาอีกที่เรียกว่าสัมผัสที่ 6 ซึ่งทำให้เขาเหล่านั้นสามารถรับรู้ได้ในสิ่งที่คนทั่วไปไม่อาจเห็น เช่น ในภาพยนตร์เรื่อง Sixth Sense หรือ Final Destination ที่สัมผัสบางอย่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ ทำให้ชีวิตของคนที่มีสัมผัสเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล


ต่อแต่นี้ไปอีกหลายสิบปี ศาสตร์ที่เกี่ยวกับระบบสัมผัส จะกลายมาเป็นศาสตร์ที่น่าตื่นเต้น ที่จะรวมนักวิจัยจากหลายสาขาให้เข้ามาทำงานทางด้านนี้ ซึ่งศาสตร์ที่เรียกรวมๆ กว้างๆ ว่า Man-Machine Interface หรือ การเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร เกี่ยวข้องกับการทำให้เครื่องจักร (ซึ่งก็รวมถึงคอมพิวเตอร์) รับรู้ถึงความต้องการ ความรู้สึกของคน และ การทำให้คนเราเอง รับรู้ หรือ สัมผัสได้ถึงความต้องการและความรู้สึกของจักรกลด้วย หลายๆ คนอาจจะงงว่า เครื่องจักรมีความรู้สึกด้วยหรือ นี่ไงล่ะครับ ศาสตร์ใหม่นี้จะให้นิยาม และสร้างความรู้สึกของเครื่องจักรขึ้นมา และการสร้างสิ่งนี้ก็จะอาศัยความก้าวหน้าในเรื่องของประสาทวิทยา (Neuroscience) เพื่อทำความเข้าใจระบบสมอง และระบบประสาทของมนุษย์ จะเป็นครั้งแรกที่วิทยาศาสตร์ของจิตใจหรือ Mind Science จะกลายมาเป็นเรื่องที่อารยธรรมสมัยใหม่ของเราให้ความสำคัญเป็นครั้งแรก วิทยาศาสตร์ของจิตใจจะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหลายๆ ด้าน เช่น การทำให้หุ่นยนต์มีความรู้สึก ระบบเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์แบบใหม่ ระบบผ่าตัดแบบใหม่ การบันเทิงแบบใหม่ที่ส่งความรู้สึกผ่านไปแบบไร้สายได้ บ้านอัจฉริยะที่ห่วงใยและใส่ใจผู้อยู่อาศัย รถยนต์ที่รู้จักการหลบไม่ให้ชนกันอย่างอัตโนมัติ และอื่นๆ อีกมากมายครับ ............ ไม่รู้พูดเรื่องนี้ ตอนนี้ เร็วไป สำหรับประเทศไทยหรือเปล่า ..................

05 มีนาคม 2551

Plastic Electronics กับประเทศไทย - ตอนที่ 4


พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์เป็นความหวังของการสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการพิมพ์ โมเลกุลหรือโพลิเมอร์ที่นำไฟฟ้าลงเป็นลายวงจร ด้วยเทคนิคการพิมพ์ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์แบบออฟเซ็ต (offset) หรือแบบอิงค์เจ็ต (inkjet) การสร้างชิปวงจรอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่นี้ ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์การใช้งานแบบใหม่ๆ ที่ชิปอิเล็กทรอนิกส์แบบ CMOS ไม่สามารถทำได้ เช่น RFID ที่มีราคาถูกสามารถใช้แล้วทิ้งได้ จอภาพแบบใหม่ที่สามารถโค้งงอหรือม้วนได้ เซลล์แสงอาทิตย์ที่สามารถพิมพ์ลงบนหลังคาหรือพนังได้โดยตรง

ในอดีตไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างด้วยการพิมพ์ลงบนแผ่นพลาสติกเป็นเพียงความหวังและความคิดเชิงทฤษฎี และมีเพียงต้นแบบที่สามารถทำได้ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่ในปัจจุบันชิปอิเล็กทรอนิกส์แบบพลาสติก ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการสร้างจอภาพขนาดเล็กที่เรียกว่า OLED หรือ Organic Light Emitting Diode ซึ่งนำไปใช้ในกล้องดิจิตอลหรือโทรศัพท์มือถือทำให้ได้ภาพที่คมชัด มีสีสรรงดงามและประหยัดไฟ การสร้างวงจรกำเนิดเสียงติดบนการ์ดอวยพรซึ่งมีราคาถูกมากและกินไฟน้อยมาก และเริ่มนำมาใช้พิมพ์วงจร RFID บนสติกเกอร์ใช้ติดบนกล่องพัสดุ ซึ่งมีราคาถูกกว่าชิปแบบซิลิคอนหลายเท่าตัว จึงทำให้ผู้ใช้งานมีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนมาใช้ชิปแบบใหม่ แต่ในอนาคตอันใกล้ วงจรอิเล็กทรอนิกส์แบบพลาสติกจะทำให้เราสร้างจอภาพขนาดใหญ่ขึ้น บางลง กินไฟน้อยลงและต้นทุนถูกลงได้ จอโทรทัศน์แบบแบน (flat screen TV) ที่สร้างบนพลาสติกจึงมีความเป็นไปได้สูงและเปิดแนวคิดใหม่ของการโฆษณากลางแจ้ง จอโค้งงอได้ทำให้สามารถนำไปพันรอบเสาเพื่อแสดงภาพโฆษณาได้ นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถแสดงข้อมูลเหมือนจอภาพบนกล่องหรือหีบห่อ ซึ่งอาจจะเป็นโฆษณาสินค้า บอกข้อมูลสินค้าหรือส่งข้อมูลไปยังสต็อกสินค้า เรียกว่า บรรจุภัณฑ์ฉลาด (smart package) ก็อาจจะปฏิวัติอุตสาหกรรมการค้าส่งและค้าปลีก (retail industry) ดังนั้นอุตสาหกรรมพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นที่น่าสนใจและมีการลงทุนสูงมากในหลายประเทศทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรปและเอเชีย

02 มีนาคม 2551

Plastic Electronics กับประเทศไทย - ตอนที่ 3


เมื่ออุตสาหกรรมพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์เติบโตเต็มที่แล้ว มันจะมีคุณูปการต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างมหาศาล ตั้งแต่เรื่องการผลิตวัสดุเพื่อนำมาใช้เป็นฐานรองหรือวงจร เครื่องจักรและเครื่องมือในการผลิต ไปจนถึงการประกอบอุปกรณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ อุตสาหกรรมที่เคยมีทีท่าว่ากำลังจะซบเซาลง เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมการพิมพ์ จะได้รับอานิสงส์ ทำให้ฟื้นตัวกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

จากการวิเคราะห์สถานภาพการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ของโลกในขณะนี้ ห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องน่าจะประกอบด้วยอุตสาหกรรมต่อไปนี้

  • อุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ ผู้ผลิตวัสดุต้นทาง สารเคมี พลาสติกแผ่นรองวงจร พลาสติกนำไฟฟ้า อนุภาคนาโน
  • อุตสาหกรรมกลางน้ำ ได้แก่ผู้ประกอบวงจรด้วยเทคนิคต่างๆ อุตสาหกรรมการพิมพ์ อุตสาหกรรมออกแบบวงจร
  • อุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่อุตสาหกรรมผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทต่างๆ เช่น RFID, display, lighting, memory, circuit, solar cell, plastic batteries, sensor, edible electronics
  • อุตสาหกรรมระดับผู้บริโภค ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ (smart packaging), บันเทิง (visual, toy, greeting cards, disposable electronics), แฟชั่น (smart textile), สื่อสาร (mobile), เฟอร์นิเจอร์/ก่อสร้าง (lighting, electronic wallpaper, smart home), สิ่งพิมพ์ (E-paper)


01 มีนาคม 2551

ซาอุดิอาระเบียร่วม IBM ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศนาโนเทคโนโลยี


ช่วงนี้ประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันในตะวันออกกลางทั้งหลาย ล้วนพยายามขับเคลื่อนตัวเองไปสู่ประเทศที่มีความก้าวหน้าสูง โดยพยายามผันกำไรจากรายได้น้ำมัน ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ให้มาพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ดูไบพยายามสร้างสถาปัตยกรรมริมทะเลที่เก๋ไก๋ที่สุดในโลก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สร้างเมืองแห่งพลังงานทางเลือกขึ้น เพราะรู้ว่าอนาคตของพลังงานจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำมันอีกต่อไป ชาติอาหรับต่างรู้ดีเช่นนี้ จึงพยายามนำผลกำไรที่กอบโกยได้ในช่วงนี้ มาลงทุนให้เป็นผู้นำในด้านที่จะเป็นอนาคต เพื่อจะได้อยู่รอดหลังยุคน้ำมัน

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา องค์กรวิจัยแห่งชาติที่ดูแลด้านการวิจัยของซาอุดิอาระเบีย ที่มีชื่อว่า King Abdulaziz City for Science and Technology ได้ร่วมกับบริษัท IBM เพื่อจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology Centre of Excellence) โดยศูนย์นี้จะดำเนินการวิจัยมุ่งเป้าในศาสตร์แนวหน้าของโลก ได้แก่ การพัฒนาเซลล์สุริยะ การเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด และปิโตรเคมียุคนาโน (ประเทศอาหรับมีแผนจะเป็นศูนย์กลางปิโตรเคมีของโลก ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย ไม่ว่าจะเป็น เครือซีเมนต์ไทย ปตท. ทีพีไอ จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะต้นทุนแพงกว่า) น่าชื่นชมประเทศซาอุฯ ที่การตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติของเขา ค่อนข้างมีทิศทาง ซึ่งก็เน้นทำที่ 3 เรื่องนี้เท่านั้น ในขณะที่ของเรายังไม่หาจุดเน้นไม่เจอ และก็ยังเป็นความถนัดของคนไทย ที่ชอบทำวิจัยในเรื่องที่ตนเองถนัด มากกว่าประเทศถนัด

(ภาพบน - แม้แต่ประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันอย่างซาอุดิอาระเบีย ก็ทุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์สุริยะ เพื่อเป็นพลังงานทางเลือก)